องุ่น (สุวรรณมาลิก) มาลิก เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2460 เป็นบุตรีของพระรุกขชาติบริรัก์ (ทอง สุวรรณมาลิก) กับ นางบู่ สุวรรณมาลิก จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2480 และได้รับเลือกให้เป็น ‘ดาวจุฬา’ เพราะเธอเต็มไปด้วยความงามสวยคมเด่นเป็นสง่า มีความคิดล้ำหน้า
ครูองุ่น มาลิก ผู้เป็นตัวอย่าง ผู้ให้ และผู้สร้างสรรค์ เธอเป็นครู อาจารย์ เป็นผู้สื่อข่าวและนักเขียนที่หนังสือพิมพ์สยามนิกร เป็นนางแบบถ่ายปกนิตยสารหลายฉบับ เป็นรองบรรณาธิการที่นิตยสารรายสัปดาห์ ดรุณสาร เป็นนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวนาชาวไร่ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นที่ปรึกษาการจัดกิจกรรมของนักศึกษา สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดปัญญา เป็นนักศึกษาปริญญาโท ด้านจิตวิทยา จากเออร์บานา มหาวิทยาลัยอิลินอยส์
ต่อมาในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เธอถูกจับด้วยข้อหาเป็นต่อภัยสังคมร่วมกับนักศึกษาประชาชน ถูกควบคุมตัวเข้าศูนย์การุณยเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างที่เธออยู่ที่นั่นเธอทำหน้าที่เก็บกวาดขยะ เคาะระฆังบอกเวลา นอกจากนั้นเธอจึงเริ่มสร้างหุ่นเย็บมือจากเศษผ้า
หลัง พ.ศ. 2522 เธอกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านในซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 และผลิตหุ่นเชิดมือมากขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กๆ ทุกหนแห่งโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ และได้ก่อตั้งมูลนิธิไชยวนา เพื่อเป็น อนุสรณ์แด่ พระรุกขชาติบริรัษ์ (ทอง สุวรรณมาลิก) ผู้เป็นบิดา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
1. ให้ความช่วยเหลือเด็กยากจนในกรุงเทพฯ และชนบทด้านต่างๆ
2. ให้บริการและคำแนะนำทางการแพทย์และอนามัย เพื่อความผาสุกของประชาชน
3. ส่งเสริมและพัฒนาอนุชนและเยาวชนให้เกิดความสร้างสรรค์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
4. ร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ โดยใช้บ้านของเธอเป็นสำนักงาน
‘สถาบันปรีดี พนมยงค์’ ส่งต่อความคิด สะกิดสังคมเปลี่ยนแปลง
จากความชื่นชมแนวคิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ครูองุ่นได้รับทราบและติดตามมาโดยตลอด เมื่ออาจารย์ปรีดีถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศฝรั่งเศส ครูองุ่น มาลิก ได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินของเธอส่วนหนึ่งในซอยทองหล่อ ให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อก่อสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ สำหรับใช้เป็นสถานที่เผยแพร่แนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์และสันติธรรมของปรีดี พนมยงค์ อีกทั้งให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมอเนกประสงค์โดยเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชน
ตลอดช่วงเวลาต่างๆ บ้านของครูองุ่น มาลิก เป็นที่ต้อนรับพักพิงของบุคคลกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มพัฒนาชนบท และใช้เป็นสำนักงาน ให้สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยบางส่วนใช้พื้นที่ประกอบอาชีพและทำงานเพื่อสังคม
สำคัญหุ่นเชิดมือที่เธอบรรจงสร้างสรรค์คือผลงานที่ถ่ายทอดจากดวงใจได้ถูกเผยแพร่ไปสู่เด็กๆ และเยาวชนตามพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักกันดีก็เกิดขึ้นจากสถานที่แห่งนี้ จนเกิดคณะละครหุ่นเชิดมือที่ลูกศิษย์นำไปต่อยอดตระเวนแสดงไปในภูมิภาคต่างๆ
ครูองุ่น มีสิ่งที่เธอผูกพันและนึกถึงอยู่แทบจะทุกขณะจิต ได้แก่ เด็กผู้ยากไร้ ประชาชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ธรรมะของพระบรมศาสดา แนวความคิดของปรีดี พนมยงค์ การที่เธอใช้เวลาส่วนหนึ่งให้กับการเย็บหุ่นเชิดมือ ก็เพื่อถ่ายทอดความรักของเธอผ่านหุ่นผ้าเหล่านั้นเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับเด็กๆ ทุกคน ไม่ว่าครอบครัวของเขาจะอยู่ในฐานะยากดีมีจนอย่างไร
เธอเห็นว่าเด็กๆ เปรียบประดุจผ้าขาวถ้าได้มอบสิ่งดีดีให้กับเขาตั้งแต่ยังเล็กจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับการดำเนินชีวิตในระยะต่อไป
‘หุ่นผ้าขี้ริ้ว’ หุ่นมือที่ครูเย็บ
ครูองุ่น มักเรียกหุ่นผ้ามือที่เธอเย็บว่า ‘หุ่นผ้าขี้ริ้ว’ เนื่องจากแรกเริ่มได้ใช้ผ้าเก่าหรือเศษผ้ามาปะติดปะต่อเย็บเป็นตัวหุ่น ต่อมาเมื่อมีผ้าผืนใหม่ซึ่งงดงาม ที่ผู้อื่นนำมามอบให้เป็นของขวัญเพื่อให้ตัดเสื้อผ้าสวยๆใส่ เธอจะนำผ้าเหล่านั้นมาตัดเย็บทำหุ่นมือ ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนักพัฒนาสังคม ผ่านมาแวะเยี่ยมเยียนก็จะมอบหุ่นมือที่เย็บจากผ้าให้ไปฝากเด็กในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลกันดาร มอบให้เป็นของขวัญเป็นเพื่อนแก้เหงา
หุ่นผ้าขี้ริ้วเดินทางรอนแรมไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งในเมืองและชนบท มีลูกศิษย์หลายกลุ่มได้นำหุ่นมือที่ครูเย็บไปทำเป็นละครหุ่นเชิดมือออกตระเวนแสดงให้เด็กๆ ได้ดู ในหลายพื้นที่ส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งคุณธรรมความดีให้งอกงามในใจของเด็กๆ
“ต้องการสร้างกองทัพหุ่นเพื่อให้เด็กๆ ได้มีเพื่อนแก้เหงาและเป็นเครื่องมือปลูกฝังคุณธรรมโดยไม่เลือกฐานะเผ่าพันธุ์”
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2533 ร่างของเธอได้รับการบรรจุลงบนพื้นที่ของเธอตามความปรารถนาและตามคำสั่งเสียทุกประการเพื่อจะได้เห็นความร่มรื่นและเป็นพื้นที่รับใช้สังคมตามความปรารถนาไปตลอดกาล
เมื่อครูถึงแก่กรรมไปแล้ว มูลนิธิไชยวนาได้จัดโครงการเผยแพร่ละครหุ่นออกไปแสดงหลายครั้งจวบจนปัจจุบัน ได้มี คณะละครยายหุ่นครูองุ่น มาลิก ซึ่งเป็นความร่วมมือของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร กับมูลนิธิไชยวนา จัดกิจกรรมทางด้านละครหุ่นทั้งการแสดง และจัดอบรมอย่างสม่ำเสมอ
ทุกวันนี้เด็กๆ ที่เคยได้รับหุ่นเชิดมือจากครูได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว เมื่อมีโอกาสแวะเวียนมาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ หรือ มูลนิธิไชยวนา พวกเขาจะเล่าถึงความหลังความผูกพันกับหุ่นเชิดมือของครูที่เป็นเพื่อนคู่ใจในยามเหงา หลายท่านยังเก็บหุ่นมือเหล่านั้นเอาไว้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและความประทับใจที่ ครูองุ่น มาลิก บรรจงสร้างให้จากดวงใจของเธอ…
ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ครูองุ่น มาลิก เพื่อรำลึกถึงและเชิดชูเกียรติ ทางมูลนิธิไชยวนาและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมกันจัดงาน “1 ศตวรรษ องุ่น มาลิก ดอกไม้แสนงาม” ในวันพุธที่ 5 เม.ย. 2560 ณ มูลนิธิไชยวนา (สวนครูองุ่น มาลิก) ทองหล่อซอย 3 ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.