ถ้าจะยึดถือวัฒนธรรมการอ่านเป็นสำคัญ 

ถ้าจะยึดถือวัฒนธรรมการอ่านเป็นสำคัญ 

12325121_1248579235155940_1302892002_n

คอลัมน์: รับเชิญ         เรื่อง: ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล – บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ            ภาพ: เอกสิทธิ์ เทียมธรรม

ย้อนกลับไปในงานหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อปี 2557 บูธสำนักพิมพ์สมมติ ได้สำรวจยอดขายประจำวัน พบกลุ่มหนังสือขายดีและหนังสือขายไม่ดี (ในความหมายที่ยังขายไม่ได้เลย) เราพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับหนังสือประเภทหลัง เพื่อทำให้หนังสือเหล่านั้นได้พบเจอกับผู้อ่านของมันเอง ข้อสรุปคือ เราจะสื่อสารกับผู้อ่านทางหน้าเพจของสำนักพิมพ์ ข้อความนั้นเขียนไว้เช่นนี้

5 อันดับขายไม่ดี

ผู้อ่านไม่ห่อกลับบ้านแม้เราทำพิเศษใส่ไข่ให้แล้วก็ตาม

  1. บาร์เทิลบี
  2. เรื่องเล่าชาววิกล
  3. หมวกทรงกลมลอยวนรอบกรวยฝน
  4. น้ำตาปารวตี
  5. ดวงตาหลังศีรษะ

รับไปเถอะครับ สนพ.จะได้ไม่ปวดหลังปวดเอวกันมากตอนเก็บบูธ

หนังสือที่ไม่มีปากไม่มีเสียงเหล่านี้ บรรจุตัวอักษรที่ป่าวร้องตะโกนสาระสำคัญบางอย่างในชีวิตอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว

ขอโอกาสให้พวกมันได้เจอกับผู้อ่านบ้าง

ด้วยมิตรภาพ

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาและจะไม่อ้อมค้อม เราไม่เห็นผลเสียจากการจัดอันดับหนังสือขายไม่ดี เข้าเป้าและตรงประเด็นที่สุดต้องกล่าวว่า หากเวลาผ่านไป อันดับขายไม่ดีมีการเปลี่ยนแปลง บางเล่มหลุดออกจากอันดับ ซึ่งหมายความว่าจากเดิมที่ขายไม่ดีหรือขายไม่ได้ กลับกลายเป็นพอขายได้หรือมีผู้หยิบจับมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ให้ลองจินตนาการเปรียบเทียบถึงหนังสือของนักเขียนที่หลุดจากอันดับขายไม่ดี กับหนังสือของนักเขียนที่หลุดออกจากอันดับขายดี ไม่แน่ใจเหมือนกันว่านักเขียนที่หัวเราะก่อนหรือนักเขียนที่หัวเราะทีหลังจะคิดอย่างไรกับการหลุดออกจากอันดับที่ว่าทั้ง 2 กรณี

ประเด็นต่อมาของการจัดอันดับขายไม่ดี คือเรื่องการช่วงชิงพื้นที่ แน่นอนว่าในระบบการขายปกติ พื้นที่หน้าร้านหรือการรับรู้ของผู้อ่าน ปกคลุมไปด้วยหนังสือปกใหม่และอันดับหนังสือขายดีจากการจัดของร้านหนังสือต่างๆ คำถามคือ หากนับว่าหนังสือเป็นสินค้าพิเศษหรือสินค้าทางวัฒนธรรมแล้ว การจัดการกับหนังสือยิ่งต้องคิดให้รอบคอบและเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดให้แตกฉานว่า เราจะยึดถือเครื่องมือทางธุรกิจตามรูปแบบของการขายสินค้าทั่วไปได้เพียงพอหรือไม่ หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่น กระทั่ง วิธีคิดแบบอื่นในการจัดการบริหารการขายหนังสือ

มันคงเป็นเรื่องตลกพอๆ กับเป็นความโศกเศร้าชนิดหนึ่งที่ว่า เมื่อช่วงเวลาที่มีหนังสือใหม่ออกพร้อมๆ กัน เวลาเราเดินเข้าออกร้านหนังสือ เราก็จะเห็นปกเหล่านั้นวางโปรโมตไม่ต่างกันในแทบทุกร้าน พร้อมกับป้ายบอกอันดับขายดีอย่างสะดุดตาที่หน้าร้านเพื่อเชิญชวนบอกกล่าวอย่างมีนัยว่า ได้โปรดสนใจเลือกซื้อหนังสือเหล่านี้เถิด (ทั้งๆ ที่หนังสือขายดีและหนังสือใหม่ ก็น่าจะพอกล่าวได้ว่าเป็นที่รับรู้ในวงกว้างพอควรจากสื่อต่างๆ จากการโปรโมตของสำนักพิมพ์นั้นๆ จากการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบของการแนะนำตามหน้านิตยสาร กระทั่ง การบอกต่อกันเองของผู้อ่าน)

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านอีกไม่นาน

คำถาม คำถาม และคำถาม ทำไมไม่แนะนำหนังสืออื่นนอกจากหนังสือปกใหม่และหนังสือขายดีให้ผู้อ่านของตนได้รับรู้บ้าง ทำไมไม่ให้พื้นที่หนังสือบางประเภทได้สบตากับผู้อ่านบ้าง

คำตอบ คำตอบ และคำตอบ เราก็ไม่เดียงสาเกินไปที่จะไม่รับรู้ถึงข้อเท็จจริงทางธุรกิจ หรือระบบการค้าที่หลายครั้งหลายหนจำเป็นต้องมีความเลือดเย็นเป็นที่ตั้ง เราต้องยอมรับให้ได้ในเรื่องที่ร้านหนังสือมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถวางหนังสือได้ครบถ้วนทุกปก จำเป็นต้องวางสันเรียงกันเพื่อประหยัดพื้นที่ หรือระยะเวลาที่ได้อวดโฉมตนเองต่อผู้อ่านอันจำกัด โดยมียอดขายเป็นตัวบ่งชี้ถึงระยะเวลานั้นๆ

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราจะนับเป็นข้อเท็จจริงได้ครบทุกประเด็นหรือ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องพื้นที่จำกัด เพราะต่อให้เป็นร้านใหญ่โตขนาดไหน ก็มีพื้นที่จำกัด ฉะนั้น เรื่อง ‘พื้นที่’ จึงเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับเรื่อง ‘การจัดการ’ ที่เหมาะสมและสมควรต่อวัฒนธรรมการอ่านเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นการจัดการที่มุ่งเน้นเรื่องวัฒนธรรมการขายเป็นหลัก!!! จากการพบเห็น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายต่อหลายร้านให้พื้นที่กับหนังสือแบบเดียวกัน ปกคล้ายคลึงกัน ประเภทเดียวกัน ยกให้ทั้งแผง ทั้งชั้น โดยไม่สนใจหนังสือประเภทอื่น

แค่การจำกัดพื้นที่ต่อหนังสือบางประเภทก็นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่ออีกมาก ยังไม่นับเรื่องการจัดวางที่ผิดหมวด ผิดประเภท หรือบางพนักงานในร้านหนังสือที่ไม่รู้จักหนังสือ!

ที่ว่ามานี้เพื่อจะกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายคือ ร้านหนังสือจำเป็นต้องมี ’บรรณาธิการร้านหนังสือ’ ซึ่งมีหน้าที่ไม่ต่างกับบรรณาธิการ หากบรรณาธิการร้านหนังสือจำเป็นต้องรอบรู้หนังสือทั้งหมดในร้านเป็นสำคัญ แยกแยะได้ว่าหนังสือเล่มไหนควรอยู่หมวดไหน อธิบายและแนะนำหนังสือให้ผู้อ่านที่สอบถามได้

พนักงานร้านหนังสือและผู้จัดการร้านหนังสือจำเป็นต้องทำงานประสานกับบรรณาธิการร้านหนังสือ ในความฝันอันเลื่อนลอยนั้น บรรณาธิการร้านหนังสือจะมีความสำคัญยิ่งต่อร้านหนังสือนั้นๆ (ไม่ว่าเป็นร้านสาขาของยี่ห้อไหนก็ตาม) จะเป็นคนสร้างเสน่ห์ให้ร้านสาขานั้นๆ และที่สำคัญยิ่งในความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงคือ สังคมไทยจะสร้างอีกหนึ่งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการอ่านการเขียน เป็นทั้งผลิตผลโดยตรงจากสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และรับจากผู้คนที่รอบรู้ด้านหนังสือจากนอกระบบการศึกษา หรือเอาให้ง่ายกว่านั้นจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ ร้านหนังสือจำเป็นต้องยกระดับพนักงานในร้านของตนเอง ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดก็ตาม ร้านหนังสือต้องให้โอกาสและทำให้บุคลากรของตนเองมีคุณภาพ มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจน เพราะมันเป็นเรื่องที่ดีกว่ามิใช่หรือ ที่บุคลากรในร้านหนังสือจะเป็นมากกว่าพนักงานจัดหนังสือตามคำสั่ง หรือจดและนับจำนวนเล่มตามคำขอจากหัวหน้า เพราะพวกเขาเหล่านี้มิใช่หรือ ที่เป็นต้นทางหนึ่งของการสร้างวัฒธรรมการอ่าน

โดยสรุป นอกจากเราจะยึดถือเรื่องวัฒนธรรมการอ่านเป็นหลักแล้ว เรายังคาดหวังให้เกิดอีกหนึ่งอาชีพที่มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนและมีผลโดยตรงต่อการอ่านของคนในสังคม แต่จะมีผู้ค้ารายใหญ่คนไหนที่จะสถาปนาความสำคัญของวัฒนธรรมการอ่านให้มาก่อนการเติบโตทางธุรกิจ หรือต่อให้แก้ไขผลักดันเรื่องที่ว่ามาให้แล้วเสร็จ ก็ใช่ว่าสังคมการอ่านของเราจะงอกเงยเพิ่มพูนขึ้นในวันเดียว ปัญหาของวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเรายังมีรายละเอียดอีกมากมายนับไม่ถ้วน

การพูดและคิดถึงประเด็นเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องเพ้อฝันและฝันค้างที่อยากจะให้เกิดขึ้นจริง และมันเป็นเรื่องของผู้คนที่ทำหนังสือบางประเภทเป่าประกาศอย่างทะเยอทะยานและอ้อมน้อมถ่อมตนมาแต่เนิ่นนานถึงการปรับเปลี่ยนและการให้โอกาสต่อหนังสือที่พวกเขาทำ

คงไม่เกินเลยจริงๆ ที่ต้องบอกกล่าวกันว่า ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์วงการหนังสือ สิ่งที่ดีต่อวัฒนธรรมการอ่านไม่เคยเกิดขึ้นจริง มันเป็นเรื่องเพ้อฝันอย่างที่สุด และก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพูดอย่างที่สุดเช่นเดียวกัน!

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ