ชีวิต ทัศนะ เเละงานเขียนของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัย 66 ปี

ชีวิต ทัศนะ เเละงานเขียนของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัย 66 ปี

ab7ab654-af48-4dba-a598-869611e0c9e2

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

ตอนที่ผมเดินทางไปถึงสถาบันปรีดีฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นิธิ นิธิวีรกุล นักประพันธ์หนุ่มผู้เขียนนวนิยาย ดังนั้นจึงสิ้นสลาย รออยู่ที่นั่นก่อนแล้ว วันนั้น ผมไหว้วานเขาให้มาเป็นช่างภาพเฉพาะกิจ และเขาตอบตกลงโดยไม่ลังเล

แดดร่มลมตกวันนั้น สำนักพิมพ์สามัญชน ของบรรณาธิการ เวียง-วชิระ บัวสนธ์ จัดงานเสวนาเปิดตัวนวนิยายเล่มหนึ่ง จากสายตา มีนักอ่านกว่า 200 ชีวิต เข้าร่วมงาน

หลังทักทายกัน นิธิหยิบนวนิยายเล่มดังกล่าวออกจากกระเป๋า เขาพลิกให้ดูหน้าแรก บนนั้นมีลายเซ็นของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปรากฏอยู่ พร้อมเขียนกำกับไว้ว่า มิตรภาพ 

หากจำไม่ผิด ผมเคยเจออาจารย์เสกครั้งแรก ในงานศพ ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ นอกจากได้ยกมือไหว้ ผมยังมีโอกาสได้ร่วมโต๊ะอาหารกับอาจารย์ด้วย

สารภาพตามตรง ผมไม่เคยคิดอยากได้ลายเซ็นอาจารย์เสกสรรค์ เพราะหากเราเชื่อว่าการอ่านเป็นเสมือนการหล่อหลอมตัวตนเเละความคิด ตัวหนังสือของอาจารย์เสกก็เป็นเบ้าเเบบสำคัญในชีวิตผมอยู่แล้ว เท่านั้นก็เพียงพอ

ภายในงาน มีภาพหนึ่งที่นิธิกดชัดเตอร์ตอนที่อาจารย์เสกกำลังยิ้ม ผมชอบภาพนี้เป็นพิเศษ ดูแล้วทำให้มีความรู้สึกอยากยิ้มตามไปด้วย

12274767_1014531831903550_1867721488730810345_n

ส่วนในวงพูดคุยที่มี นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กับ อธิคม คุณาวุฒิ ซึ่งนับเป็นหัวใจหลักของงานเปิดตัวนวนิยาย คนหาปลา ฉบับสมบูรณ์ อาจารย์เสกสรรค์เล่าให้ฟังถึงเรื่องสุขภาพก่อนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามวัย มีสุขภาพที่แย่ลง มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่อยากให้ลงรายละเอียด เเค่ต้องพบแพทย์เป็นประจำ ซึ่งไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร

“เป็นโรคของคนที่ถลุงสังขารตัวเองมามาก หมอบอกเข่าข้างขวาผมไม่มีหมอนรองเหลืออยู่เลย เพราะหนุ่มๆ ขึ้นเขาลงห้วยเป็นแรมเดือน เข้าป่า ออกทะเล แบกกระเป๋าหนักๆ ลืมคิดว่าของมันต้องเปราะ”

ก่อนหน้านั้น อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ผู้ร่วมเสวนาอีกวงบอกว่า ประเด็นหลักที่พบจากการอ่านคนหาปลาคือ เห็นภาพทุนนิยม ระบบอุปถัมภ์ และชาตินิยมในวังน้ำเขียว ผ่านอุปนิสัยของตัวละครหลายตัวในเรื่อง

กล่าวคือชุมชนวังน้ำเขียวคือภาพย่อส่วนของสังคมไทย

อาจารย์เกษียรยังรู้สึกเศร้าสลด และตั้งคำถามต่อเมืองไทยว่า จะมีชะตากรรมเหมือนวังน้ำเขียว ชุมชนในนวนิยายเรื่องนี้หรือไม่

ชะตากรรมที่ว่าคืออะไร นี่เป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องไปค้นหาจากในเล่ม ซึ่งอาจารย์เสกสรรค์พูดไว้ประมาณว่า การหาทางออกจากชะตากรรมไม่ใช่เรื่องง่าย

419c8b29-019c-416a-b9c1-13548bb22a01

“ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เศร้า แต่ความจริงคุณรู้ไหมว่า คนที่ต่อสู้เพื่อบางสิ่งมาทั้งชีวิต สุดท้ายตายอย่างไม่มีความหมายตั้งเยอะ ผมจำได้ว่าไปเยี่ยมพวกเขาบางคน เอ่ยชื่อตอนนี้ไม่มีใครรู้จัก หรืออย่างชุมชนคนหาปลามันเป็นอดีตหมดแล้ว คุณไม่คิดว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหรือ คุณขับรถไปสิ จะเห็นว่ามีทะเลสาบขนาดใหญ่  แต่ใต้น้ำนั้นคือชีวิตของผู้คน จริงๆ ผมแอบใส่ความฝันในบทสนทนาที่ใช้ฉากถ้ำ เป็นความฝันของมนุษย์ การอยู่ร่วมที่สงบ โดยย่อส่วนให้เล็กลง”

ช่วงหนึ่ง อธิคมถามว่า นวนิยายคนหาปลาถูกเขียนขึ้นเมื่อ 30 ปี ก่อน แต่ ณ ปัจจุบัน ประเด็นเหล่านี้ยังเข้ายุคเข้าสมัย อาจารย์เสกสรรค์คิดเห็นเช่นไร

“มันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องแก่นแกนของตัวปัญหา คนรุ่นเก่าที่อยู่มานานพอสมควรอย่างผมนี่ พอจะพูดทีรู้เลยว่าต้องการสื่อสารอะไร มันซ้ำเดิม จริงๆ นิยายเรื่องนี้ ไม่ได้มีเจตนาถึงขั้นว่า ต้องการจำลองสถานการณ์ปัจจุบันหรืออะไรอย่างนั้น เราเพียงแต่สานต่อกฎเกณฑ์หรือนามธรรม ซึ่งเขียนไปแล้ว”

สำหรับในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา สิ่งที่อาจารย์เสกสรรค์สะเทือนใจมากที่สุด คือเรื่องของการสูญเสียมิตรสหายจำนวนมาก

“ไม่พูดไม่จากัน โทรศัพท์ไปก็กดทิ้ง เรารู้สึกว่า น่าจะแก่เฒ่าไปด้วยกัน พอถึงวัยหนึ่งกลับต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป แต่โชคดีว่าผมเดินทางธรรมมา เข้าใจเรื่องศาสนา ก็พอจะปลงๆ ได้ พอจะสบายใจ แต่มันตลกตรงที่ หลายบ้านเคยไป ก็ไม่ได้ไป เขาก็ไม่มาหา มันก็เศร้าอยู่ ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้ ผลกระทบมาจากโครงสร้างและสถานการณ์ ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งนั้น คนที่ทิ้งผมไปอาจไปรำพึงรำพันหมือนกันก็ได้ กระนั้น มีเรื่องที่น่ายินดีคือบางคนพอผ่านไปสักพัก ก็หันมาคุยกัน ยังเคารพนับถือกันอยู่”

แล้วศาสนาที่อาจารย์เสกสรรค์พูด หมายถึงอะไร

“เมื่อเดือนตุลาฯ ผมไปแคมป์ นอนในป่า ชื่อว่าผาคอยนาง ใกล้ค่ำ ผมค่อยๆ หย่อนตัวลงไปในความมืด มีปลาตัวเล็กๆ กระโดดอยู่ ห้วงนั้นผมรู้สึกว่า น้ำ ปลา ผม และป่าผืนนี้เราอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นผมคิดเลยว่า ทำไมต้องรอถึงแก่ขนาดนี้ ถึงได้เข้าใจความสุข หรือมันมีกฎเกณฑ์อะไรมากั้น คือถ้าไม่มีศาสนา ไม่มีอะไร เราคงเป็นคนแก่ที่น่าสมเพช ผมเคยเห็นคนแก่ที่น่าสมเพช เช้าขึ้นมานี่จ้องแล้วว่าจะด่าใครดี”

เมื่อถามถึงงานเขียนเล่มต่อไป อาจารย์เสกสรรค์บอกว่า กำลังรวบรวมเรื่องสั้นชุดใหม่ เป็นชุดซ้ายผ่านศึก

“เป็นเรื่องของคนที่ออกจากป่าใหม่ๆ แล้วปวดร้าวเมื่อเจอเรื่องนั้นเรื่องนี้ รวบรวมซ้ายเก่าบ้าๆ บอๆ แต่อย่ามาเหมาว่าเป็นผม ผมได้ฟังเรื่องของมิตรสหายมาเยอะ ถึงวัยชราแตกกันฉิบหาย ตีกันจนวุ่นวายไปหมด มันคือชีวิตจริงของคนรุ่นก่อน”

6464b1dc-38aa-4c3a-af39-7803fff37b0d

ความฝันอย่างหนึ่งของอาจารย์เสกสรรค์คืออยากเป็นนักประพันธ์ ซึ่ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการช่อการะเกด ให้ทัศนะว่า
บัดนี้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในช่วงอายุ 66 ปี ได้เป็นนักเขียนนิยายเต็มตัวแล้ว

“ที่ผ่านมาความยากจนบีบให้ต้องไปทำนู่นนี่ จบปริญญาเอกเขาให้สี่พันบาท สุดท้ายผมเลยต้องไปเขียนคอลัมน์ ออกมาเป็นรวมเล่มมากที่สุดเลย แทนที่จะมีนิยายหลายๆ เล่ม” อาจารย์เสกสรรค์ ว่าอย่างนั้น

ช่วงท้าย ผู้ชมท่านหนึ่งอ้างถึงคำกล่าวของอาจารย์เกษียรที่บอกว่า

“เดี๋ยวนี้พี่เสกมีคำขวัญอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ โลกก็เปลี่ยนเราไม่ได้เหมือนกัน”

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ