เรื่องเล่าหลังเลนส์ สองกำลังสื่อ ตอน เสียงร่ำไห้ในป่าแม่ขาน

เรื่องเล่าหลังเลนส์ สองกำลังสื่อ ตอน เสียงร่ำไห้ในป่าแม่ขาน

เรื่องเล่าหลังเลนส์ สองกำลังสื่อ ตอน เสียงร่ำไห้ในป่าแม่ขาน 

เสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.05 น. ทาง Thai PBS

โดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์เพื่อความเข้มแข็งภาคพลเมือง

น้ำแม่ขานสายเล็กๆ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงในเขตอำเภอสะเมิง  จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะทางของลำน้ำที่ยาวกว่า  35  กิโลเมตร ได้หล่อเลี้ยงผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์เป็นที่หาอยู่หากินของสัตว์ป่า ชาวบ้าน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก จนเมื่อลำน้ำแม่ขานไหลเรื่อยไปบรรจบกับน้ำแม่ปิงที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ก็ได้กลายเป็นลำน้ำสายใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่ราบต่อไป

แต่ในยุคสมัยที่ธรรมชาติกำลังเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า กำลังหมดไป หลายพื้นที่ประสบสภาวะน้ำท่วม ในขณะที่บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง มนุษย์พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่วิทยาการสมัยใหม่จะคิดได้

ประเทศไทยมีแผนโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด 21 แห่งเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง แต่ทว่า มีคำถามมากมายตามมา ประโยชน์และผลเสียทีได้รับนั้นคุ้มกันหรือ ? และจะมีกี่ชีวิตที่อาจจะต้องเดือดร้อน ?

โครงการการสร้างเขื่อนแม่ขาน เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งกำลังจะมีขึ้นใน ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ขานตอนล่างและพื้นที่บางส่วนของโครงการชลประทานแม่แตง เขื่อนดังกล่าวมีความจุที่ 80.90 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1893.22 ล้านบาท

และโครงการการสร้างเขื่อนแม่ขานนี้กำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านสองพื้นที่บนลำน้ำสายเดียวกัน

บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวปะกาเกอญอ ชาวปะกาเกอญอเชื่อว่าจิตวิญญาณของพวกเขาอยู่ในป่า ป่าคือผู้ให้ชีวิต พวกเขาได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญารักษาป่าและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากบรรพบุรุษตามวิถีปะกาเกอญอ ทำให้ผืนป่าและลำห้วยของที่นี่ยังคงสมบูรณ์ แม้กระทั่งเสื้อผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันก็ล้วนแล้วแต่ทอและย้อมสีจากพืชผลในป่า

 แต่ในวันนี้…หากมีการสร้างเขื่อนแม่ขานขึ้นมา หมู่บ้านของพวกเขาจะถูกน้ำท่วม ชาวบ้านมากมายจะต้องทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อยู่กันมา  หลายหมู่บ้านรายรอบจะถูกตัดขาดทางสัญจร พื้นที่เลี้ยงวัวควาย รวมถึงผืนป่าในเขตลุ่มน้ำแม่ขานจะจมลงใต้น้ำจากเขื่อนแม่ขานทันที และอนาคตของพวกเขาคงมืดมน อย่างที่พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์แห่งหมู่บ้านชาวปะกาเกอญอกล่าวไว้

“ปะกาเกอญอนี้ต้องมีป่า ป่านี้เป็นพ่อแม่ ถ้าไม่มีป่าเราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าน้ำท่วมก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ก็เหมือนเขามาทุบหม้อข้าว”

ไม่เพียงบ้านสบลานเท่านั้นที่จะประสบปัญหา…พื้นที่ปลายน้ำอย่างที่บ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุ 200 กว่าปีของคนพื้นเมืองจะต้องถูกน้ำท่วม เรือกนาไร่สวน วิถีชีวิตเรียบง่ายที่ผูกพันกับศาสนาและธรรมชาติจะต้องจมหายไปกลายเป็นเมืองบาดาล อย่างที่คุณป้าชาวสวนท่านหนึ่งกล่าวไว้

“เราอยู่ที่นี่ วิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่มีเงินก็กินได้อยู่ได้ หาผักหาไม้กิน ถ้าไปอยู่ข้างนอก ไม่มีเงินก็อยู่ไม่ได้ อย่างเรามีมะนาวเราก็แบ่งกันกิน ถ้าเป็นข้างนอกไม่ได้ละ…ต้องซื้อกินทุกอย่าง”

สองหมู่บ้านบนลำน้ำสายเดียวกันจึงจำต้องร่วมแรงร่วมใจ พ่อหลวงพันธ์ จันทร์ดี แห่งบ้านแม่ขนิลใต้ ได้มีโอกาสเดินทางมาเพื่อพบปะพูดคุยกันเรื่องผลกระทบของการสร้างเขื่อนกับ พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ปะกาเกอญอที่บ้านสบลาน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยกันชะลอโครงการเขื่อน

พวกเขาสรุปกันได้ว่าจะจัดกิจกรรม “กิจกรรมนิเวศศึกษา เดินป่าลุ่มน้ำขาน” ตั้งแต่บ้านสบลาน อ.สะเมิง โดยเดินเท้าเลาะเลียบไปตามลำน้ำขาน มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่บ้านแม่ขนิลใต้ ในระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2557 ซึ่งตรงกับวันหยุดเขื่อนโลก โดยชักชวนสื่อมวลชน นักเรียนนักศึกษา คนต่างจังหวัด และกลุ่มเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมาร่วมเดินด้วย

คนสองหมู่บ้านเชื่อว่า กิจกรรมนิเวศศึกษา เดินป่าลุ่มน้ำขาน ครั้งนี้จะทำให้คนภายนอกชุมชนได้ซึมซับความงดงามและความเรียบง่ายของธรรมชาติ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของลำน้ำขานสายเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตทั้งคนและสัตว์ และช่วยกันเป็นเรี่ยวเป็นแรงในการปกปักผืนป่าแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน

งานนี้ เชอร์รี่  รุณี และเพื่อนๆ เด็กนักเรียนโรงเรียนวิถีชีวิตศูนย์การศึกษาโจ๊ะมาโลลือหล่า บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ จะพาเหล่านักแสดงตัวน้อยๆ มาเปล่งเสียงแทนป่าแทนสัตว์ที่พูดออกมาไม่ได้ ในละครเรื่อง “ลูกไม้แม่ขาน” และ พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ จะเป็นผู้ขับกล่อมบททาซึ่งเป็นบทกวีแฝงปรัชญาลึกซึ้งของชาวปะกาเกอญอ เพื่อประกอบการแสดงครั้งนี้

ชาวบ้านแม่ขนิลใต้เป็นเจ้าภาพในงานนี้ พวกเขาร่วมเป็นพลังสำคัญในการสื่อสารครั้งนี้เช่นกัน มีชาวบ้านอาสาทำอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ คอยต้อนรับนักเดินทางทีจะมาเยือน ทั้งยังช่วยเป็นเรี่ยวแรงจัด เครื่องเสียง แสงไฟ เก้าอี้ที่นั่งต่างๆ ให้พร้อม และเตรียมเวทีสำหรับการแสดงละครเรื่อง “ลูกไม้แม่ขาน”

เด็กๆ นักแสดงอย่างรุณี และ เชอร์รี่ บอกว่าละครที่พวกเขาจะเล่นนั้น พวกเขาจะเป็นตัวแทนของป่า เป็นตัวแทนของสัตว์ ที่อยากให้คนข้างนอกรู้ว่าผืนป่าและสรรพชีวิตต่างๆ มีความผูกพันลึกซึ้งต่อกันเช่นไร

คนสองหมู่บ้านที่ร่วมมือร่วมใจกันครั้งนี้ ต้องการประกาศให้ทุกคนภายนอกได้รับรู้ว่าบางครั้ง การพัฒนาบางอย่างได้ผลดีเพียงน้อยนิด ทว่าอาจแลกกับความเสียหายมหาศาล วิถีชีวิตดั้งเดิมจะต้องจมหาย สัตว์ป่า ต้นไม้ จะต้องล้มตาย

…และความเสียหายมากมายเหล่านี้ ไม่อาจซื้อคืนได้ด้วยเงิน

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ใน รายการสองกำลังสื่อ ตอน เสียงร่ำไห้ในป่าแม่ขาน เสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.05 น. Thai PBS

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ