ละครชีวิตคนหนองเยาะ
ไพฑูรย์ ธุระพันธุ์ ผู้ประสานงานภาคอิสาน
spot หนองเยาะ (Embedding disabled, limit reached)
“ละครที่เฮาเล่น อยากให้พ่อแม่พี่น้องเบิ่ง เบิ่งแล้วกะสิช่วยกันดูแลรักษาป่า บ่ให้ประวัติศาสตร์ป่าชุมชนเฮาซ้ำรอย ” คำบอกเล่าของน้องกุ๊ก สมจิตร ทำทอง คือจุดเริ่มต้นให้เราต้องตามหาเรื่องของน้องๆกลุ่มเยาวชนรักป่าหนองเยาะ
จากประวัติศาสตร์ของคนรุ่นปู่ย่า ตายาย ที่บันทึกการต่อสู้เพื่อรักษาป่าชุมชนหนองเยาะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ กลายเป็นเรื่องเล่าที่ใช้จูงแขนลูกหลานเดินเข้าป่า ไม่ใช่พาไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐ หรือพาไปหาอยู่หากินอย่างเดียว แต่เป็นการพารอยเท้าเล็กๆ ของกลุ่มเยาวชนรักป่าหนองเยาะ ที่เดินตามรอยเท้าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ไปเรียนรู้เพื่อรักษาป่าผืนนี้ โดยมีเรื่องราวความทุกข์ยาก ความขัดแย้ง และความสำเร็จในการดูแลป่า ที่ผลักดันให้น้องๆ ไม่อยากเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้ที่สมุดอย่างเดียว
ปี 2547 ละครชีวิตคนหนองเยาะ ออกแสดงครั้งแรก พร้อมๆกับการเติบโตของกลุ่มเยาวชนรักป่าหนองเยาะ หลังจากที่ได้เรียนรู้เรื่องราวป่าชุมชนของตน กระบวนการละครทำให้น้องๆกลุ่มนี้ได้เรียนรู้การสื่อสารที่จะนำเรื่องเล่าจากป่าชุมชนหนองเยาะให้ส่งต่อไปยังคนดู โดยเฉพาะผู้คนรอบๆป่าชุมชนหนองเยาะที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจการดูแลรักษาป่า พึ่งพาแต่ไม่ทำลาย
แม้ละครเร่ที่ใช้เวลาเล่นสั้นๆ จะบอกเล่าเรื่องราวของป่าชุมชนหนองเยาะได้ไม่ครบถ้วน แต่สิ่งสำคัญคือ คนที่ลุกขึ้นมาบอกต่อเรื่องราวคือเด็กๆในชุมชน เสียงเล็กๆ แต่มีพลังจะยังคงสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ให้อยู่กับชุมชน เสียงของเด็ก เสียงของผู้คน เสียงของป่า จะเป็นเสียงเดียวกัน
“อยากให้พ่อๆแม่ๆ รู้ว่าเด็กก็ช่วยรักษาป่าได้ ไม่ต้องพึ่งแค่คนใหญ่อย่างเดียว เด็กก็ได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ ได้หมด” เสียงของน้องกิ่ง สิริพร บุญคำ บอกย้ำกับเรา