นักข่าวพลเมือง : ถนนทรุด

นักข่าวพลเมือง : ถนนทรุด

ปัญหาภัยแล้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งในด้านเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งผลกระทบที่ตามมาคือ ‘ปัญหาดินทรุดตัว’ 

ตัวอย่างในพื้นที่บริเวณฝั่งเลียบคันคลองพระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ถนนเกิดการทรุดตัวและแม้ว่าจะได้รับการซ่อมแซมแบบชั่วคราวแล้ว แต่ยังก็สร้างความลำบากในการสัญจรของชาวบ้านและผู้คนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว

“นี่ก็ทรุดมาได้เดือนหนึ่งแล้ว มันจะเป็นรอยแยก รอยแตกออกมา ส่วนที่มันแยะๆ อยู่แล้วรวมถึงน้ำแล้งมันเลยไปใหญ่ ทุกปีมันไม่แล้งปีนี้เป็นปีแรก” ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณเลียบคลองพระยาบรรลือให้ข้อมูล ทั้งบอกด้วยว่าดินทรุดตัวนั้นเกิดจากปัญหาภัยแล้ง

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาวิกฤตภัยแล้ง น้ำดินอากาศ และการรับมือ ถึงสาเหตุของดินทรุดที่เกิดขึ้นว่ามาจากภัยแล้งและการสูบน้ำซึ่งมีอยู่ต่อเนื่อง โดยมักจะเกิดกับถนนที่ก่อสร้างบนชั้นดินอ่อน 

“ถนนเลียบคลองส่วนใหญ่เขาก็เอาดินที่ขุดมาจากก้นคลองนำมาก่อสร้าง ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพิบัติก็คือน้ำลดเร็วเกินไป สาเหตุที่น้ำลดเร็วเกินไปก็แน่นอนครับ ทั้งปัญหาภัยแล้งกับการสูบน้ำ สองปัจจัยนี้ก็เลยเป็นปัจจัยที่ทำให้ไร่ คันดิน คลอง เสียหาย” ศ.ดร.อมร กล่าว

แม้ว่าถนนบริเวนเลียบคลองพระยาบันลือจะได้รับการซ่อมแซมแบบชั่วคราวแล้ว แต่ก็ยังสร้างความลำบากต่อการสัญจรของชาวบ้านและผู้คนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว

มานพ บุญช่วย ชาวบ้าน อำเภอลาดบัวหลวง เล่าว่า เมื่อถนนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตนเองจึงใช้ถนนอีกฝั่งคลองเพื่อเลี่ยงอันตราย

“ใช้ถนนนี้เป็นหลักเนี่ย แต่ที่นี้มันพัง ก็ใช้ฝั่งข้ามฝั่งนู้น แล้วฝั่งนู้นมันก็ทรุดอีก มันทรุดเหมือนกันอีก” มานพ รุบะ 

เช่นเดียวกับ สืบพงศ์ ฤกษ์โสภ ชาวบ้านา อำเภอลาดบัวหลวง ที่ใช้เส้นทางอื่นในการสัญจร “เห็นพื้นมาถ้าขรุขระมากก็จะอ้อมไปเข้าทางนี้มากกว่ามีป้าอยู่คนหนึ่งเขาอยู่ทางด้านนู้น ส่วนมากจะบอกเขาว่าถ้าเห็นรอยแยกให้หลบอยู่ในบ้านอย่างเดียว”

สภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ชาวบ้านที่สัญจรไปมาต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ให้มากยิ่งขึ้นจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือทุกสถาณการณ์ โดยต้องมีความรู้พื้นฐานในการตั้งรับกับปัญหาดินทรุด

“ก่อนที่มันจะวิบัติ มันจะมีรอยแตกจากด้านบนก่อน และไม่ใช่เฉพาะรอยแตกอย่างเดียว จะเห็นการต่างระดับ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้วก็มีแนวโน้มที่ว่ามันจะสไลด์ ถ้าหากพบรอยแยก รอยร้าวบนพื้นถนน ต้องทำการตรวจสอบและอาจจะต้องปิดถนนชั่วคราว” ศ.ดร.อมร กล่าว

ภาวะภัยแล้งเกิดขึ้นได้ในทุกปี แต่ถ้าหากมีการเตรียมความพร้อมที่ดีในการรับมือกับปัญหาร่วมกันระหว่างชาวบ้านและภาครัฐ ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ที่มีความเสี่ยง สอดส่องดูแลรักษาความปลอดภัยก็จะสามารถช่วยทุเลาปัญหาดินทรุดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ให้เบาบางลงได้

นักข่าวพลเมือง C-Reporters
ออกอากาศ : พฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2558 เวลา 12.00 น.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ