นักข่าวพลเมือง : ต่อลมหายใจ… หนังใหญ่วัดขนอน

นักข่าวพลเมือง : ต่อลมหายใจ… หนังใหญ่วัดขนอน

ต่อลมหายใจ… หนังใหญ่วัดขนอน 

ศิลปะการแสดงหนังใหญ่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่หาดูได้ยาก เนื่องจากการเข้ามาทดแทนของสื่อบันเทิงสมัยใหม่มากขึ้น แต่ที่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้ทำการฟื้นฟูหนังใหญ่เพื่อต่อลมหายใจศิลปะการแสดงนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

หนังใหญ่วัดขนอน สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยผู้ที่ริเริ่มแกะสลักตัวหนัง คือท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เจ้าอาวาสวัดขนอนซึ่งเป็นช่างเอกสมัยนั้น ซึ่งนับว่าเป็นคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยเหตุที่การแสดงหนังใหญ่ต้องลงแรงและลงทุนมาก อีกทั้งต่อมาไม่ค่อยมีผู้นิยมดู เนื่องจากมีสื่อบันเทิงสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย การแสดงหนังใหญ่จึงค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย แต่หนังใหญ่ก็กลับได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งโดย พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอนคนปัจจุบัน พระครูได้มีโอกาสถวายหนังใหญ่แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสในวันพระราชสมภพ ปี พ.ศ.2532 จึงทำให้หนังใหญ่วัดขนอนได้เข้าเป็นโครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่าน

ภายในวัดขนอนมีโรงมหรสพไว้สำหรับการแสดงหนังใหญ่ เปิดให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติความเป็นมา รวมถึงวิธีการแกะสลักตัวหนังใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีตัวหนังทั้งสิ้น 313 ตัว ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์  โดยส่วนใหญ่เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ 

ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการละเล่นชั้นสูง ตัวหนังมีการแกะสลักลวดลาย ใช้วงมโหรีปี่พาทย์เป็นเครื่องดนตรีประกอบ พร้อมกับลีลาของคนเชิด ประกอบบทพากย์ และบทร้อง  ซึ่งปัจจุบันหนังใหญ่วัดขนอนได้อยู่ในความดูแลของพระครูพิทักษ์ศิลปาคม โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ร่วมดูแล และอนุรักษ์ในหนังใหญ่วัดขนอนให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทยต่อไป 

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม ได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์หนังใหญ่ว่า 

“วัดขนอนเป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษา ที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนต่างๆให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของงานหนังใหญ่ อย่างน้อยๆ ศิลปะการแสดงหนังใหญ่เรามีด้วยกันอยู่ 5 แขนง ที่เราจะได้เรียนรู้ ตั้งแต่ “หัตถศิลป์” คือการแกะสลักด้วยฝีมือเชิงช่างเรามีการเปิดสอนการแกะสลักหนังใหญ่ อย่างที่สองคือเรื่องของ “นาฏศิลป์” คือการกำกับตัวละครให้มีบทบาท อย่างที่สาม “คีตศิลป์” การดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดง เราใช้วงดนตรีปี่พาทย์ อย่างที่สี่ “วาทศิลป์” คำพากย์ คำเจรจา การบอกบทเรื่องราว และสุดท้าย “วรรณศิลป์” คือวรรณกรรมที่เรานำมาแสดงกัน ทางวัดเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ ศึกษากันเราเรียกว่า การสำนึกรักในบ้านเกิด”

การรื้อฟื้น และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายให้ยั่งยืน ไม่ได้เป็นเรื่องของคนท้องถิ่นหรือเจ้าของวัฒนธรรมแต่เพียงผู้เดียว ดังเช่น หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแบบอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า งานอนุรักษ์นี้เป็นเรื่องของทุกฝ่ายในสังคม และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเอง ที่จะต้องมี “ใจ” ศรัทธา และเห็นคุณค่า ในมรดกวัฒนธรรมของตนเองเสียก่อน จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จต่อท้องถิ่น 

นักข่าวพลเมือง C-reporters ข่าวเที่ยง ThaiPBS

วันที่ 14 ก.ค. 2558

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ