‘โอกาส’ ของการคอรัปชั่น

‘โอกาส’ ของการคอรัปชั่น

CorruptionOpportunityGraph

เรื่องเเละภาพ: ยรรยง บุญ-หลง

รัฐบาลที่เก่ง ต้องสามารถกำจัดคอรัปชั่นได้ เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปกับการคอรัปชั่นนั้น คิดเป็นจำนวนมหาศาล

โดยส่วนใหญ่รัฐบาลมักใช้วิธีจำกัด ‘การตัดสินใจ’ ของนักการเมืองให้น้อยลง เพื่อลดโอกาสของการคอรัปชั่น แต่วิธีนี้ยังเปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำทำการคอรัปชั่นได้อยู่เหมือนเดิม

มีวิธีอื่นไหม ที่จะลด ‘การตัดสินใจ’ ของนักการเมืองและข้าราชการประจำ?

  1. ลองสมมุติ (แบบสุดโต่ง) ว่า ถ้าประชาชนมีสิทธิตัดสินใจในทุกเรื่องและทุกนโยบายเลย ไม่ว่าเป็นเรื่องเล็กแค่ไหนก็ตาม ผ่านทางระบบที่คล้ายกับ Online Banking … โอกาสที่นักการเมืองจะได้ตัดสินใจก็กลายเป็นศูนย์ โอกาสของคอรัปชั่นก็วิ่งเข้าหาศูนย์เช่นกัน (มุมขวาของกราฟ)

แน่นอน การซื้อเสียงอาจยังเกิดขึ้นได้ แต่เนื่องจากผู้อุปถัมภ์ต้องจ่ายเงินตลอดเวลาในเรื่องเล็กๆ ทุกเรื่องที่มีการโหวต เรืองโลจิสติกส์ของการจ่ายเงินจะยากลำบากขึ้นมาก

และที่สำคัญ ความสามารถที่จะรับรู้ว่าใครโหวตให้แก่เรื่องอะไรบ้าง… ระบบออนไลน์สามารถตั้งค่าให้ผู้โหวต ทำการโหวตได้โดยไม่มีหลักฐานว่ามาจากเขตไหน ผู้อุปถัมภ์ซื้อเสียงจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขตไหนโหวตเรื่องอะไรบ้าง จะได้ข้อมูลเพียงผลโหวตโดยรวมเท่านั้น

  1. คราวนี้ลองสมมุติ (แบบสุดโต่ง) ว่า ประชาชนไม่มีสิทธิตัดสินใจอะไรเลย โอกาสที่นักการเมืองจะทำการคอรัปชั่นย่อมพุ่งขึ้นสูงตามแกน Y ของกราฟ

… แต่นั่นเป็นเพียงแค่ ‘โอกาส’ ที่จะทำการคอรัปชั่น ไม่ได้หมายความว่าผู้มีอำนาจเหล่านั้นต้องทำการคอรัปชั่นเสมอไป ผู้นำเกาหลีเหนือ Kim Jong-un อาจเป็นผู้นำที่ดีงาม ตั้งอยู่ในจารีตและศีลธรรมอันดีก็ได้

แต่เราก็ไม่มีทางมองเห็นได้….

จุด ‘n’ ในกราฟ

คือจุดที่ประชาชนเริ่มที่จะสามารถมองเห็นการตัดสินใจต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ถ้ายิ่งเคลื่อนไปทางด้านขวา เราก็ยิ่งมองเห็นการตัดสินใจต่างๆ ได้ง่าย

ในทางกลับกัน ถ้ายิ่งเคลื่อนไปทางซ้ายของจุด ‘n’ มากเท่าไร เราก็จะเริ่มมองไม่เห็นการตัดสินใจต่างๆ ของนักการเมืองและข้าราชการมากขึ้นเท่านั้น

จุด ‘D’ ในกราฟ

เป็นโมเดลของระบบการเมืองของประเทศบางประเทศ ที่ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้น้อยมาก ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีโอกาสรับรู้และมองเห็น ‘คอรัปชั่น’ ได้น้อยมากเช่นกัน พวกเขาอาจรู้สึกดีที่ประเทศไม่มีการคอรัปชั่น (เพราะพวกเขามองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้)

จุด ‘B’ ในกราฟ

คือประเทศที่เริ่มมีการโหวตโดยประชาชน แต่ไม่บ่อยครั้งนัก และเป็นประเทศที่ประชาชนสามารถมองเห็นการคอรัปชั่นของนักการเมืองได้ไม่ยากอีกด้วย … คนในประเทศนี้มักไม่พอใจ และไม่มีความสุขกับระบบการเมืองของตน เพราะแม้พวกเขาได้มีโอกาสตัดสินใจ (โหวต) แต่ก็ยังเห็นการคอรัปชั่นรอบตัวอยู่ตลอดเวลา คนในประเทศเหล่านี้อาจมีความต้องการกลับไปที่จุด ‘D’ เพราะอย่างน้อยก็มีความสุข ไม่ต้องรับรู้การคอรัปชั่นเหมือนการอยู่ที่จุด ‘B’

จุด ‘A’ ในกราฟ

คือประเทศที่มีการโหวตประชามติโดยตรงจากประชาชนบ่อยครั้ง ไม่ว่าเป็นนโยบาย หรือที่เรียกกันว่า proposition ต่างๆ

ประชาชนที่อยู่ในเมืองอย่าง ซานฟรานซิสโก จะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการอ่านและศึกษานโยบายต่างๆ ที่พวกเขาเองเป็นผู้เสนอขึ้นไปเพื่อการโหวต

แต่พวกเขาก็จะเห็นการคอรัปชั่นลดน้อยลงไปมากเช่นกัน เพราะนักการเมืองไม่ได้เป็นผู้ตัดสินนโยบายต่างๆ …. นักการเมืองและข้าราชการกลายเป็นเพียงผู้จัดการนโยบายให้สำเร็จลุล่วงไปเท่านั้น ไม่ได้มีโอกาสในการเลือกนโยบายโดยตรง

ในปัจจุบัน ประเทศบราซิลได้ใช้ระบบ e-voting (Electronic Voting) มานานเกือบ 20 ปีแล้ว โดยเครื่องโหวตดังว่าสามารถนำไปตั้งไว้ได้ทุกที่ และง่ายต่อการตรวจสอบระบบโดยองค์กรสากล (เครื่องโหวตสามารถแกะออกมากตรวจได้โดยง่าย) เป็นผลให้งบประมาณที่ต้องใช้ในการโหวตประชามติลดลงไปมาก

เมื่องบประมาณในการทำประชามติแต่ละครั้งลดลงไปมาก รัฐบาลก็ทำประชามติได้บ่อยครั้งขึ้น

ประเทศตะวันตกก็เริ่มตื่นตัวเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ในระดับเมืองและเขต ได้มีการให้ประชาชนโหวตประชามติ (ออนไลน์) ว่าจะใช้งบประมาณรัฐอย่างไรบ้าง

ในปัจจุบันเราใช้ระบบที่ทันสมัยโอนเงินผ่าน e-Banking โดยใช้มือถือ เราใช้ระบบการหาแฟนผ่าน Line และ WeChat …. แต่ทำไมพอมาถึงเรื่องการเมือง เรากลับใช้ระบบโบราณที่ จอร์จ วอชิงตัน ใช้เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ?

…. หรือว่าเรื่องเงิน กับ เรื่องแฟน มันสำคัญกว่าเรื่องการเมือง!

CrowdReferendum2
กราฟตัวอย่างระบบการตัดสินใจ และโหวตออนไลน์

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ