กลุ่ม Bersih คือใคร ในการประท้วงที่มาเลเซีย

กลุ่ม Bersih คือใคร ในการประท้วงที่มาเลเซีย

unnamed (1)

คอลัมน์ ไม่ใช้อารมณ์     เรื่อง สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์    ภาพ: ณฐพัฒญ์ อาชวรังสรรค์

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 กว่าปีที่พรรคอัมโนและพรรคแนวร่วมรัฐบาลแห่งชาติบริหารประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนานผ่านการเลือกตั้ง โดยมีมวลชนคือกลุ่มคนเชื้อสายมาเลย์ มาลายู ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยใช้นโยบาย Malaysian New Economic Policy มาอย่างยาวนาน กล่าวคือเป็นการให้สิทธิ์พิเศษแก่คนมาเลย์ก่อน อาทิ ส่วนลดอสังหาริมทรัพย์ การศึกษา การรับคนเข้าทำงาน รวมถึงด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ขณะเดียวก็ยังสามารถควบคุมสื่อ ทั้งยังขยายอำนาจไปทั่วทั้ง 12 รัฐ แต่ก็เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเล่นพรรคพวก ทุจริตคอรัปชั่น แทรกแซงการเลือกตั้ง และนั่นก็สร้างแรงกดทับให้แก่คนส่วนน้อยอย่าง เชื้อสายจีน อินเดีย ในมาเลเซียมาโดยตลอด

เครื่องมือสำคัญที่ทำให้พรรคอัมโนและแนวร่วมสามารถครองอำนาจได้อย่างยาวนานก็คือ ‘การเลือกตั้ง’หากแต่นั่นก็เป็นปัญหา เพราะที่ผ่านมามีความไม่ชอบมาพากล ความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้งเช่นกัน

โดยเฉพาะการออกมาเปิดเผยงานวิจัยเรื่องการเลือกตั้งครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด Observers: GE13 partially free but not โดยสถาบัน Think Tank ของมาเลเซีย ที่ชี้ให้เห็นความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้ง เช่น พรรคร่วมรัฐบาล BN เป็นเจ้าของสื่อหลายประเภทสามารถควบคุมสื่อได้ ได้เปรียบในการใช้หน่วยงานของรัฐในการหาเสียง ความไม่โปร่งใสของเอกสารที่ใช้ในการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งเลือกข้างทางการเมือง ปัญหาของขนาด และเขตเลือกตั้ง มีความไมชอบมาพากลเรื่องเงินของพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง

การสะสมปัญหาเหล่านี้มีมาอย่างยาวนาน จนเมื่อปี 2007 ได้เกิดกลุ่มที่เรียกร้อง ‘การเลือกตั้งที่สะอาด’และยุติธรรม หรือ ‘Bersih’ และนั่นเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ Bersih 1.0 โดยข้อเสนอ จัดทำบัญชีเลือกตั้งใหม่ ปฎิรูปการลงคะแนนทางไปรษณีย์ ให้เสรีภาพแก่สื่อ

ถัดมาปี 2011 ภายหลังการเลือกตั้งปี 2008 ผ่านไปก็มีการชุมนุม Bersih 2.0 โดยเพิ่มข้อเสนอเข้าไปอีกคือ เพิ่มระยะเวลาในการหาเสียงอย่างน้อย 21 วัน ให้หน่วยงานคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นอิสระและเป็นกลาง ยุติการเล่นการเมืองแบบสกปรก

จากนั้นปี 2012 มีการชุมนุม Bersih 3.0 ข้อเสนอคือให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออก เนื่องจากไม่มีความรับผิดชอบ ให้ปฏิรูปการเลือกตั้งให้ยุติธรรมก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะมีขึ้นภายในปี 2013 และเชิญต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง

Bersih 4.0 เป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค จากพรรคร่วมรัฐบาล จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกองทุน 1MDB ซึ่งเป็นเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย เข้าบัญชีตัวเอง แม้สุดท้าย นาจิบ ราซัค จะออกมาปฎิเสธ และยืนยันว่าจะไม่ลาออกก็ตาม

กลุ่ม Bersih คือกลุ่มพันธมิตรนอกรัฐบาล เช่น NGO ประชาชน กลุ่มเพื่อนอันวาร์ Amnesty International Malaysia  และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ไม่พอใจต่อระบบเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม เช่น พรรคอิสลามมาเลเซีย  (Parti Islam SeMalaysia) พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party) พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Parti Sosialis Malaysia) และพรรคชาตินิยมซาราวัค (Sarawak National Party) แต่ด้วยกฎหมายที่เข้มงวดในการชุมนุมทำให้ไม่สามารถปักหลักระยะยาวได้ จึงทำได้เพียงการออกมาแสดงตัวและเรียกร้องข้อเสนอเป็นครั้งคราวเท่านั้น

ก่อนการชุมนุม Bersih 4.0 ได้มีการออกมาเปิดเผยงานวิจัย จากศูนย์เมอร์เดกาเพื่อการวิจัยประชามติ (Merdeka Center for Opinion Research) ซึ่งเป็นองค์การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองในมาเลเซีย เรื่อง ความคิดเห็นของของมาเลเซีย ต่อกลุ่ม Bersih  (National Public Opinion Survey PERCEPTION TOWARDS BERSIH 4 RALLY ในช่วงระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม 2015 ก่อน Bersih 4.0 เพียง 1 สัปดาห์

โดยเป็นการสำรวจจากบุคคลที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง อายุ 21 ปี จากทั่วทั้ง 12 รัฐ ในมาเลเซีย โดยกลุ่มตัวอย่างประกอบไปด้วย เชื้อชาติมาเลย์ 60 %   จีน 31 % อินเดีย 9 %

01
ที่มา (Public Opinion Survey 2015 Peninsular Malaysia Voter SurveyN=1010, 15-21 August 2015)

ผลจากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 47 ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม Bersih ร้อยละ 43 เห็นด้วย ร้อยละ 26 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ14 ค่อนข้างไม่เห็นด้วย ร้อยละ 8 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 2 ยังสับสน

ในขณะที่เชื้อชาติมาเลย์เห็นด้วย ร้อยละ 23 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 70 / จีน เห็นด้วยร้อยละ 81 ไม่เห็นด้วย 10 / อินเดีย เห็นด้วยร้อยละ 51 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 22

ส่วนเหตุผลที่เห็นด้วยและสนับสนุน Bersih  ร้อยละ 39 % ต้องการให้มีการปฎิรูปสถาบันทางการเมือง ร้อยละ 25 ไม่พอใจการบริหารงานรัฐบาล ร้อยละ13 ไม่พอใจในตัวนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ร้อยละ11 ไม่พอใจที่รัฐเก็บภาษีสินค้าและบริการ (goods and service tax)  ร้อยละ 2 ไม่พอใจในประเด็นทุจริตเงินกองทุน 1MDB

สำหรับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ Bersih เหตุผล ร้อยละ 52 กลัวความรุนแรงความวุ่นวาย ร้อยละ 22 คิดว่า Bersih ไม่สามารถทำอะไรได้  ร้อยละ 4 กลัวว่าจะทำให้คนมาเลย์ลดความสำคัญลง ร้อยละ 2 อื่นๆ

โดยภาพรวมแล้วกลุ่มที่สนับสนุนและเห็นด้วยยังเป็นเชื้อสายจีนและอินเดีย ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยคือเชื้อสายมาเลย์ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่จากปรากฎการณ์การเลือกตั้งในรอบ 2-3 ครั้งที่่ผ่านมา ผสมกับการเคลื่อนไหวของ Bersih เกือบ 10 ปี แม้ว่าจะยังไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งยุติธรรมได้ แต่คะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลก็ลดน้อยถอยลงมาอย่างต่อเนื่อง น่าสนใจว่าความเสื่อมของรัฐบาล และการใช้อำนาจกำจัดขั้วตรงข้ามรวมถึงสื่ออย่างต่อเนื่องโดยนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ความไม่พอใจที่สะสมมาตลอดจะส่งผลให้ปรากฎการณ์ Bersih 5.0 ออกมาในรูปแบบไหน และทิศทางการเมืองของมาเลเซียต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ