บทความ ครอบครัวเธอ ครอบครัวฉัน (หนองผึ้ง)
โดย ทีมผู้ผลิตอิสระ มูลนิธิศักยภาพเยาวชน ไทยัพ
เชื่อว่าทุกคนอยากให้ตนเองมีครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุข แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าแต่ละคนจะสมหวังดังที่ต้องการหรือไม่ มองแล้วก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย ในเมื่อ ไม่ว่าจะใคร ทั้งผู้ที่เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นปู่ ย่า ตา ยาย หรือบุตรหลาน ทุกคนที่เป็นสมาชิกของครอบครัวต่างก็ต้องการในสิ่งเดียวกัน คือครอบครัวที่อบอุ่น อยู่กันอย่างมีความสุข แต่ทำไมคำที่ดูเหมือนง่ายๆ 2 คำนี้กลับทำให้เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายอย่างปากพูดเลย
อาจจะด้วยครอบครัวเต็มไปด้วย ความรัก ความห่วงใย ซึ่งแน่นอน สิ่งเหล่านี้มักจะตามมาด้วยความคาดหวัง พ่อแม่ ผู้ปกครองมักคาดหวังให้ลูกเป็นเด็กดี(แบบที่พ่อแม่คิด) เรียนเก่ง เชื่อฟัง ลูกจะเป็นเด็กน้อยในสายตาพ่อแม่เสมอ ผู้เป็นบุตรหลานก็มักต้องการอิสระ รู้สึกว่าตนเองโตแล้ว ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ เบื่อหน่ายที่มีคนมาวุ่นวาย อยากอยู่ อยากเที่ยวกับเพื่อน การอยู่คนละมุม การมองจากคนละด้าน ทำให้ช่องว่างยิ่งห่างกันออกไป วันหนึ่งเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและบุตรหลานตำบลหนองผึ้งได้เปิดใจคุยกัน ก็ทำให้เห็นลึกลงไปมากกว่าเสียงบ่น เสียงดุด่าว่ากล่าวของพ่อแม่ มองเห็นมากกว่าความเกเรดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ของลูกหลาน ว่าภายในบรรยากาศเหล่านี้อบอวลไปด้วยดวงใจที่เปี่ยมรัก ความห่วงหาอาทรที่ไม่มีอันสิ้นสุด
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการนำพาทีมงานเดินทางไปตามถนนต้นยาง ถนนสัญลักษณ์ของอำเภอสารภีที่ถูกเรียงรายด้วยต้นยางอายุมากโข ต้นโตสูงใหญ่ตั้งตระหง่านสองข้างทางเพื่อมุ่งสู่ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี พื้นที่ที่แกนนำเยาวชนตำบลหนองผึ้งได้ทำหนังสั้นแนวครอบครัวเผยแพร่แก่ผู้ปกครองและเยาวชนในตำบล หนังสั้นเรื่องนี้เยาวชนได้นำแง่มุมในครอบครัวของตนเองและเพื่อนมาสร้างเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวภายในครอบครัวที่เยาวชนมองเห็น รวมไปถึงความคาดหวังและสิ่งที่เยาวชนคิดว่าจะเป็นแนวทางออกหนึ่ง ที่กลุ่มเยาวชนอย่างพวกเขาคิดว่าจะช่วยทำให้ครอบครัวมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเข้าอกเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
น้องแฟกซ์ เล่าให้ฟังว่า “บางครั้งครอบครัวก็มีปัญหาในการไม่เข้าใจกัน ในเรื่องการเรียน ผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจบุตรหลาน เกรดไม่ดี ก็รับไม่ได้ บังคับให้เรียนพิเศษนั่นนี่ เรื่องการคบแฟน ก็เอามาผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องเรียนว่าเกรดไม่ดีเพราะคบแฟน ทำให้ผู้ปกครองกับลูกสื่อสารไม่เข้าใจกัน แล้วเด็กวัยรุ่นเวลามีปัญหาสื่อสารไม่เข้าใจกับผู้ปกครองก็จะหาทางออกโดยการต่อต้าน ทำร้ายตนเอง เป็นเด็กมีปัญหา ขังตัวเองไว้ในห้อง”
น้องไอซ์ บอกว่า “ไม่อยากให้วัยรุ่นใช้อารมณ์ในการพูดคุยกับผู้ปกครอง ให้ใช้เหตุผล และอยากให้ผู้ปกครองรับฟังวัยรุ่นให้มากขึ้น ไม่ด่วนตัดสินใจ”
แกนนำเยาวชนหนองผึ้งได้พยายามสื่อสารกับครอบครัวตนเองจนสถานการณ์ในครอบครัวของแต่ละคนเริ่มดีขึ้น จนได้พัฒนาการสื่อสารในสิ่งที่พวกเขาคิดนี้ไปยังครอบครัวอื่นๆ ในชุมชน โดยพวกเขาบอกว่า อยากให้ชุมชนได้รู้ ได้เข้าใจเหมือนเรา ได้เห็นข้อดี ข้อเสียในเรื่องการพูดคุยในครอบครัวแล้วเก็บเป็นข้อคิดเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนในชุมชนบ้าง
โดยการทำหนังสั้นนี้ผู้ปกครองของแกนนำเยาวชนแต่ละคนก็ได้ร่วมแสดงด้วย ทำให้ทีมงานซึ่งเข้าไปถ่ายทำเบื้องหลังเห็นถึงความน่ารักของแต่ละครอบครัว จนนึกภาพการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่พูดไม่คุยกันก่อนหน้านี้ไม่ออกเลย เคยได้ยินว่า “ความรัก” เป็นยาขนานเอกที่ช่วยให้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ดีขึ้นได้ ถ้าอย่างนั้น “ความเข้าใจ” ก็คงต้องเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ทุกครอบครัวต้องมีติดบ้าน แล้วเราก็จะได้เห็นใบหน้าเปื้อนยิ้มของทั้งผู้ปกครองและบุตรหลาน ทีมงานเดินทางออกนอกพื้นที่หลังการฉายหนังสั้นที่เยาวชนฉายให้คนในชุมชนดู มองเห็นได้ว่าทุกคนที่มาชม ชื่นชอบกันมาก น้องๆ ทีมงานทั้งหมดและผู้ปกครองที่ร่วมแสดงก็ยิ้มหน้าบานกันเป็นทิวแถว…..