เรื่องเล่าลูกชาวเล
โดย พรสุภา ป้อมเย็น กลุ่มสื่อสร้างสรรค์เพื่อความเข้มแข็งภาคพลเมือง
“ต้องปกป้องได้สิครับ เราอย่ายอมแพ้อย่างเดียว” …
คำพูดของพงษ์ เด็กหนุ่มที่เติบโตมาในเรือ มีทะเลเป็นเหมือนสวนหลังบ้าน
ท้องฟ้าเต็มไปด้วยกลุ่มก้อนเมฆหนา ที่จับตัวกันเป็นผืนกระจายออกไป ชาดหาดถูกคลื่นลูกใหญ่ซัดเข้ามาอย่างไม่ปราณี ท้องฟ้าส่งเสียงคำราม คล้ายกำลังส่งสัญญาณบางอย่าง ประหนึ่งว่า ที่นี่ กำลังเจอมรสุมลูกใหญ่ที่ยากต่อการเผชิญหน้า
เท้าเล็กๆของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง กำลังย่ำไปบนพื้นทราย ในใจพลางนึกไปถึงเรื่องราวในอดีต ที่อีกไม่นานมันคงจะเกิดขึ้นอีกครั้งที่บางสะพาน
อ๋อเป็นคนบ่อนอก ซึ่งมีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตคล้ายกับที่บางสะพาน ที่สำคัญ อ๋อ เคยเข้าร่วมการต่อสู้อยู่ในกระบวนการเสื้อเขียว “ถึงแม้เราจะอยู่กันต่างพื้นที่ แต่ว่าสิ่งสำคัญคือเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม จ. ประจวบคีรีขันธ์”
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่ออ๋อ ได้พบกับ โค้ชและเต้ย ที่อยู่บ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน พวกเขาต่างบอกเล่าเรื่องราว สถานการณ์ที่ตนเองได้รับรู้มา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคาดหวังถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น บางสะพานกำลังอยู่ในช่วงของวิกฤตการปรับเปลี่ยน การพัฒนาในคราบทุนนิยม ได้เข้ามามีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน การดำรงชีวิต รวมไปถึงการประกอบอาชีพของชาวบ้านในแถบนี้ จากพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม มีการเข้ามาของกลุ่มทุน แรงงานต่างพื้นที่ รวมทั้งการเกิดมลพิษที่มากยิ่งขึ้น ความรู้สึกเป็นห่วง และหวงแหนสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นภายในจิตใจของพวกเขา
จากการคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ในชุมชน เมื่อพวกเขามาถึงบางสะพาน และได้พบกับพงษ์ เด็กหนุ่มที่มีความผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เกิด ทำให้ได้รู้ว่าตั้งแต่มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป จากที่เคยหาปลาได้ง่าย ก็หายากขึ้น จากที่เคยจับปูได้เยอะ ก็ได้น้อยลง มีธนาคารปูเกิดขึ้น ยิ่งเป็นหลักฐานได้อย่างชัดเจนว่า ปูกำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ มีการทำซั้งกอขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ คล้ายกับปะการังเทียม ที่ให้สัตว์เล็กๆได้มาอยู่อาศัยและวางไข่ แต่พื้นที่เหล่านั้นกำลังจะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีม่วง
พื้นที่สีม่วงคือ พื้นที่ที่ทางผังเมืองกำหนดขึ้นมา สีม่วงคือพื้นที่ที่เป็นของอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม สีเขียวคือพื้นที่ทางการเกษตร สีส้มหรือสีแดงคือพื้นที่ชุมชนหนาแน่น ส่วนสีขาวคือพื้นที่ว่างเปล่า รอการเปลี่ยนสี เมื่อก่อนนั้น เขตบางสะพานจะเป็นพื้นที่สีเขียว คือเป็นพื้นที่ทางการเกษตรและการท่องเที่ยว แต่ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง เพราะความต้องการของกลุ่มนายทุนกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการจะขยายกิจการของตัวเองในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในอีกหลายๆแห่ง ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมนี้เอง คือที่มาของพื้นที่สีม่วง ที่จะขยายมากขึ้น
หลังจากที่กลายเป็นพื้นที่สีม่วงแล้ว ได้ส่งผลกระทบต่อชาวประมง เนื่องจากไม่สามารถออกเรือไปหาปลาได้ น้ำทะเลก็จะเสีย เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านต้องหาที่อยู่ใหม่ เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ และอีกไม่นาน พื้นที่แห่งนี้ก็คงไม่ต่างอะไรจาก “มาบตาพุด” อย่างแน่นอน
การพัฒนานั้น คือการนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยไม่ทำให้สิ่งดีๆที่มีอยู่แล้วสูญหายไป ซึ่งการพัฒนาที่ดี ควรมาจากคนในชุมชนที่ช่วยกันพัฒนา เกิดจากความรู้ความเข้าใจของคนในชุมชน ไม่ใช่เกิดจากใครก็ได้ ที่มาบอกว่าเราควรพัฒนา
ทั้งที่รู้ว่าชุมชนบางสะพานกำลังประสบปัญหานิคมอุตสาหกรรมเข้ามาลุกล้ำในพื้นที่ แต่ด้วยความที่พวกเขาเป็นเพียงแค่เยาวชนกลุ่มหนึ่ง จึงไม่สามารถที่จะไปต่อกรกับกลุ่มนายทุนที่เข้ามาได้โดยตรง ฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาพอจะทำได้ คือการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่รับรู้มา ความเคลื่อนไหวของคนในชุมชน การเข้ามาบุกรุกของกลุ่มนายทุน โดยใช้สื่อที่เรียกว่าวิทยุชุมชน ซึ่งพวกเขาสามารถนำข้อมูลจริงๆไปพูดให้กับชาวบ้านได้รับทราบ เป็นตัวกระจายเสียงบอกเล่าเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเข้ามา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งที่จะถูกทำลายลงไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดการตื่นตัว และเกิดความหวงแหนในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การจัดรายการวิทยุในครั้งนี้ พวกเขาได้ใช้เสียงเพลงและการเล่นดนตรี มาเป็นตัวช่วยในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น โดยการนำเอาเรื่องของชุมชนมาเรียบเรียงเป็นเพลง โดยหวังว่าเสียงเพลงของพวกเขา จะมาสามารถสื่อให้คนในชุมชนได้รับรู้ถึงมรสุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ผู้ใหญ่หลายคนต่างคาดหวังให้พวกเราเป็นแกนนำในอนาคต อยากให้เดินตามรอยเท้าของเขา แต่ในความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องเหยียบซ้ำรอยเท้าใคร แต่เราสามารถสร้างรอยเท้านั้นขึ้นมาเอง และเดินเคียงคู่ไปด้วยกันได้ มิใช่หรือ ?" … อ๋อ หนึ่งในกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทิ้งท้ายไว้ด้วยแววตามุ่งมั่น
ติดตามเรื่องราวจากรายการเด็กมีเรื่อง ตอน เรื่องเล่าลูกชาวเล วันเสาร์ ที่ 29 ธันสาคม 2555 เวลา 09.30 น.ที่ ไทยพีบีเอส
SPOTเรื่องเล่าลูกชาวเล.mp4 (Embedding disabled, limit reached)