ชมย้อนหลัง…เด็กมีเรื่อง ตอนลิเกปลอดสารพิษ
“เมื่อก่อนเราอยากได้ ต้องยอมไปอยู่ให้เข้าใช้เป็นปีๆ กว่าจะได้เล่น แต่ทุกวันนี้ สอนให้ฟรีๆ เขายังไม่ค่อยจะเอา” … คำตัดพ้อจากพ่อครูแม่ครูผู้สืบสานศิลปะการแสดงลิเก บอกเล่าถึง สถานการณ์ลมหายใจของศิลปะพื้นบ้านที่กำลังลดเลือน ลิเกเขมร์ หรือ ลิเกพื้นบ้านเมืองสุรินทร์ คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า มีมานานมากแล้ว น่าจะตั้งแต่ราวๆ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือ นานกว่านั้น
ในอดีตเป็นการแสดง ที่นิยมเล่นในงานมงคล รื่นเริง เฉลิมฉลอง หรือ ช่วงพักจากฤดูเก็บเกี่ยวโดยการแสดงจะใช้ภาษาเขมร ล้วนๆ และแสดงกัน ตลอดทั้งคืน บนเวทีที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ในหมู่บ้าน เนื้อเรื่องคำร้องจะเขียนขึ้นโดย นำเอาเรื่องราว จากนิทานโบราณ มาดัดแปลงเสริมแต่งขึ้น เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน โดยการนำเอาทำนองเพลง ทั้งเจรียง กันตรึม ลูกทุ่ง มาใช้ในการแสดงลิเก นับเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้ชม สนุกสนาน และ ติดอก ติดใจ เป็นที่น่าเสียดาย
ปัจจุบันจะหาชมลิเกเขมร์ หรือลิเกสุรินทร์นี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ปัญหา การลดน้อยของคณะลิเก ที่เกิดจากทั้ง เรื่องเศรษฐกิจความเป็นอยู่ การไร้ผู้สืบทอด และปัญหาอื่นๆ ซึ่งไม่ต่างไปจากศิลปวัฒนธรรมแทบทุกแขนงที่ที่กำลังต้องเผชิญ 3 ปี ก่อน ที่บ้านบึงนคร อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มเด็กๆ ในหมู่บ้านวัยประถม มัธยมต้น ภายใต้ ชื่อ กลุ่มลิเกเด็กดอกหญ้าดิน ขึ้น โดยมี พ่อครูเสวย และชาวคณะจากลิเกชื่อดัง สังเวยมัจจุราช คณะลิเกชื่อดังแห่งเมืองสุรินทร์ ที่ก็มีพื้นเพอยู่ใน หมู่บ้านเดียวกัน คอยเป็นผู้สั่งสอน ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ "ลิเก ไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ใจรักอย่างเดียวมันไม่พอ"
ความคิดเห็นที่ตรงกัน ของทั้งเด็กๆ และพ่อครูผู้ฝึกหัด เพราะนอกจากท่วงท่าการร่ายรำที่งดงาม การเล่นลิเก ยังไม่มีบทที่ตายตัว จำเป็นต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณของผู้เล่น ให้การจะคิดแก้ปัญหาต่อเติมเสริมเรื่องและมุขตลกๆ เพื่อให้ถูกใจคนดู ในขณะเดียวกันก็มักจะสอดแทรกเกร็ดความรู้ หรือ คำสอนต่างๆ เอาไว้ด้วย อย่างแนบเนียนนั้น ผู้เล่นจำเป็นต้องมีพื้นความรู้ มีข้อมูลเหล่านั้นอยู่พอสมควน อีกทั้งลิเกเขมร์ หรือลิเกสุรินทร์ เป็นลิเกแบบเครื่องทรง คือ ชุดเครื่องแต่งกาย จะประดับประดาด้วยเพชรนิลจินดา ครบครัน เหมือนลิเกภาคกลาง สนนราคาค่าชุด อย่างประหยัด และถูกที่สุด ก็ยังคงอยู่ในราคา หลักหมื่น โดยยังไม่รวมเครื่องประดับ จำพวกสร้อยคอ มงกุฎ และอีกมากมาย เส้นทางสู่ การเล่นลิเก จึงไม่ง่ายนักสำหรับคณะลิเกเกิดใหม่ จึงถือว่ากลุ่มลิเกเด็ก ดอกหญ้าดิน เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างโชคดี ที่มีทั้งพ่อครูลิเกดี อยู่ในหมู่บ้าน หนำซ้ำยังอนุเคราะห์ ชุดแต่งกาย รวมทั้งยังเปิดการแสดงร่วมกัน
จากกลุ่มเด็กตัวน้อยๆ ฝึกร้อง ฝึกรำ บ่มเพาะ โดยพ่อครู แม่ครู จนได้ขึ้นเวที ระยะเวลา 3 ปี กลุ่มดอกหญ้าดิน จึงคิดพัฒนาการแสดง จากแต่เดิมตั้งใจเพียงแค่สืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ให้คงอยู่ เริ่มชักชวนการสืบค้น ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อช่วยกันสื่อสาร บอกกล่าวให้คนในชุมชนได้รับรู้ พัฒนาศิลปะการแสดง ให้กลายเป็นศิลปะรณรงค์ ช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชน กลุ่มลิเกเด็กเบิกฤกษ์ ศิลปะแบบรณรงค์ ครั้งแรก ด้วยประเด็นด้วยสถานการณ์การใช้ สารเคมีในงานเกษตรกรรมของหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งการปลูกผัก ปลูกข้าว ซึ่งส่งผลเสีย ติดตามมาอย่างมากมาย ลิเกแบบรณรงค์แบบเด็กๆ จะเป็นอย่างไร ผู้ชมจะชื่นชอบและเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
ติดตามได้ใน รายการเด็กมีเรื่อง ตอน “ลิเกปลอดสารพิษ” เสาร์นี้ 22 ธันวาคม 2555 เวลา 09.30 น. ทาง ไทยพีบีเอส
ขอบคุณ ภาพ และเรื่องเล่าโดย Umanuke Utp และ Tanin Tanintorn