ก(ล)างเมือง ตอน บันทึกหมู่บ้านซับแดงและสมคิด สิงสง

ก(ล)างเมือง ตอน บันทึกหมู่บ้านซับแดงและสมคิด สิงสง

บันทึกความทรงจำกว่า 40 ปี ของสมคิด สิงสง ผู้เขียนบทเพลง “คนกับควาย”

 “หมู่บ้านซับแดง” คือหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในอาเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสาคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในสมัย พ.ศ.2516 – 2519 เพราะที่นี่ มีการจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบในชื่อ “ฝ่ายการศึกษากลุ่มเยาวชนซับแดง” โดยมีสมคิด สิงสง และ ประเสริฐ จันดา สองนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ก่อตั้ง แต่ถูกทางการเพ่งเล็งว่ามีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ จนต้องล้มเลิกไป 

แต่เมื่อเวลาเลยผ่าน สมคิด สิงสง ผู้เคยเขียนเพลง “คนกับควาย” ให้กับวงคาราวาน และวรรณกรรมเพื่อชีวิตอีกหลายเล่ม จนได้รับประกาศเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินมรดกอีสาน ก็ยังคงอยู่ที่บ้านซับแดงและทำงานเพื่อพัฒนาชนบทต่อไป 

ติดตามบันทึกความทรงจำกว่า 40 ปีของหมู่บ้านที่เคยถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแห่งนี้ ในรายการก(ล)างเมืองตอน “บันทึกหมู่บ้านซับแดงและสมคิด สิงสง” 

20152603171353.jpg

ผมสมคิด สิงสง ปัจจุบันก็ทำไร่ทำนา เขียนหนังสือ สนใจอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคิดว่านี่ก็คงจะเป็นช่วงชีวิตที่ต้องเลือกแล้ว เลือกที่จะอยู่ในมุมที่สงบแล้วก็ร่มเย็นด้วยธรรมชาติ

ยุคสมัยนั้น ถ้าพูดถึงบรรยายกาศโดยรวมของบ้านเมือง…

ผมเข้าไปกรุงเทพฯ ในช่วงที่บ้านเมืองเราตกอยู่ภายใต้ภาวะนำโดยทหาร หรือที่ใช้คำว่า เผด็จการโดยทหาร ก็ไม่ผิด ในช่วง พ.ศ. 2500 พ.ศ.2504  พ.ศ.2505 โดยประมาณ แล้วสมัยที่พวกผมอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นช่วงบรรยากาศก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การเมืองการปกครองก็อยู่ในมือของทหาร

นอกจากทำมาหากินอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง การขีด การเขียน การแสดงความคิดเห็น และก็ได้มีการร่วมกันจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร เป็นต้นว่า ไปออกค่ายอาสาพัฒนา หรือทำกิจกรรมที่ไปกระทบกับการเมืองการปกครองโดยตรง

ปี พ.ศ.2516 พวกผมอยู่ปีที่ 4 ของชีวิตนักศึกษาก็ได้เข้าร่วมในกิจกรรมต่อต้านอำนาจรัฐในช่วงเวลานั้น จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพลงคนกับควายก็เกิดในช่วงนั้น แต่ไม่ชัดเจนว่าเกิดก่อนหรือหลังมันก็ผ่านมากว่า 40 ปีแล้วก็ลืมเลือนไปบ้าง

การมีส่วนร่วมของกลุ่มมิตรสหาย ก็ต้องพูดว่าอาจจะมีส่วนประกอบกันอยู่เพราะว่ามันเกิดขึ้นจากเสียงเกากีต้าร์ของคุณหงา สุรชัย จันทิมาธร มันก็สะท้อนเข้ามาในความรู้สึกนึกคิดว่า น่าจะทำเป็นเพลงภาษาไทยสักเพลงหนึ่งขึ้นมาให้ได้บรรยากาศ คนกับควาย ด้วยชีวิตชาวนาในยุคนั้น

หลังจากที่เดินออกมาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ผมก็ตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน ก็ได้กลับมาบ้าน กลับมาบ้านก็ได้เอาเรื่องราวของเหตุการณ์ 14 15 16  14 ตุลาคมในกรุงเทพฯ มาพูดมาให้พี่น้องชาวบ้านฟัง ในใจก็คิดว่า อยากชวนพี่น้องชาวบ้านนี้ ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสะดวกสบาย ตามอัตภาพ ก็ได้ชวนเอาเพื่อนรักอย่างคุณประเสริฐ จันดำ มาด้วย

ทีนี้ก็ต้องถามว่า มาอยู่บ้านมาทำอะไร…

บรรยากาศโดยทั่วไปมันก็อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว มันก็เป็นบรรยากาศของความแห้งแล้ง มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งนากว้างๆ พวกเราก็พากันไปอยู่นาไปอยู่กระท่อมปลายนา ปรับปรุงกระท่อมขึ้นมาทำเป็นที่หลับที่นอน หาอยู่หากินอยู่ตามท้องไร่ท้องนา

ทีนี้ เพราะว่าพวกเรามันเป็นพวกคนเขียนหนังสือ เพราะฉะนั้นก็สิ่งที่ทำเป็นประจำก็คือเขียนหนังสือ เขียนแล้วทำอย่างไร เขียนแล้วก็ส่งหนังสือเข้าไปกรุงเทพฯ ในแวดวง สำนักพิมพ์บ้าง ในแวดวงหนังสือพิมพ์บ้าง นิตรสารก็มีผลงานไปตีพิมพ์ เป็นเรื่องสั้น เป็นบทกวี บทร้อยกรองอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นหนังสือจากกรุงเทพฯ ก็ทยอยเดินทางมาแต่ละเที่ยวรถโดยสาร จนต้องไปเปิดตู้ไปรษณีย์ เวลาไปเปิดตู้ไปรษณีย์ก็หอบหนังสือมา หอบหนังสือ หอบนิตรสารต่างๆมา เต็มกระท่อมปลายนา เด็กเล็ก วัยหนุ่มสาวที่ออกจากโรงเรียนแล้ว ก็พากันแวะเวียนมาก็พามาลูบๆ คลำๆ หนังสือ หลายคนก็ถามว่า ทำอย่างไรพวกผมถึงจะอ่านได้ ?

ทำอย่างไรพวกผมถึงจะเขียนได้? เพราะว่าออกจากโรงเรียนมานานมันลืม ก็เลยหาวิธีว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะมีโอกาสได้สอนหนังสือให้เด็กที่เขาหมดโอกาสกลุ่มนี้ ในที่สุดคิดได้ว่า เราไม่ต้องขออนุญาตจากใครหรอก เราก็ตั้งกลุ่มเยาวชนบ้านซับแดงขึ้นมา แล้วก็ตั้งกิจกรรมฝ่ายการศึกษาของกลุ่มเยาวชนขึ้น เปิดการเรียนการสอนขึ้นในภาคค่ำ ฟืนไฟก็ไม่มี ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดสอนกัน ผมก็ผันตัวเองมาเป็นครู คุณประเสริฐ จันดำ ก็มาเป็นครูจำเป็น และก็มีเพื่อนๆที่เป็นครูอาชีพจริงๆ อยู่แถวนี้จำนวนหนึ่ง ก็มาช่วย บรรยากาศก็คึกคักขึ้น ในช่วงนั้นทำอย่างไร ก็เอากันแบบรวบรัดเลย หนังสือเยอะๆก็ชี้ให้อ่านเลย คนนั้นอ่านเล่มนี้ คนนี้อ่านเล่มนั้น ใครที่อ่านไม่ได้ตรงไหนแล้วค่อยมาถาม ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย หนังสือที่อยู่ในกระท่อมของพวกผมมันก็คือหนังสือประเภทก้าวหน้าในยุคนั้น

20152603171421.jpg

ในยุคที่ หลังจากโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้แล้วนี่ บรรยากาศการเมืองการปกครองของประเทศก็ผ่อนคลายไปมาก หนังสือที่ประเทืองปัญญาต่างๆ ก็ทะลักออกมาในช่วงนั้น เพราะฉะนั้นหนังสือพวกนี้ก็ตกมาถึงกระท่อมพวกผม แล้วก็ตกลงมาถึงสายตาของ เยาวชน คนหนุ่มคนสาว ในยุคนั้นที่กระตือรือร้นที่อยากอ่าน เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ความคิดก้าวหน้าจึงสะท้อนไปในจิตสำนึกในอารมณ์ความรู้สึกของคนยุคนั้น รุ่นนั้น

และนานๆครั้งถึงจะเดินทางไปกรุงเทพฯ วันหนึ่งขณะที่เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนๆที่ยังเรียนหนังสืออยู่ บังเอิญเพื่อนคนหนึ่งมีพี่ชายทำงานในระบบของราชการและเกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงเขาก็เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้…พี่ชายเขา เตือน “เฮ้ย ไอ้คิด เขาหมายหัวแล้วนะ”

มันเริ่มต้นจากที่เรามาทำกิจกรรม กิจกรรมที่ผิดหูผิดตาทางราชการ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ การพาชาวบ้านตัดถนน ตอนนั้นเรามีกลุ่มเยาวชนซับแดงเป็นช่วงเดียวกันที่มีการก่อสร้าง ถนนเส้นทางหลวงจากขอนแก่นมาชัยภูมิ ทีนี้ชาวบ้านละแวกนี้หลายหมู่บ้านที่ไม่มีบ้านติดถนนหนทาง ก็เริ่มตื่นตัวว่าจะทำอย่างไร ถนนถึงจะเจาะเข้าไปหาหมู่บ้านเขา ทุกคนก็วิ่งมาหา ผมก็เลยบอกว่า มันก็ไม่ยาก

ทุกคนกลับไปปรึกษากันในหมู่บ้าน ตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นมาแล้วเอากลุ่มเยาวชนนั้นขับเคลื่อน ร่วมกันกับกลุ่มเยาวชนบ้านซับแดง ทำให้เราได้พาเขาตัดถนนด้วยแรงกำลังชาวบ้าน โดยไม่ต้องมีเงินงบประมาณแผ่นดินของราชการ เรื่องนี้ กำนันผู้ใหญ่บ้านก็รายงานให้อำเภอทราบ อำเภอก็สงสัยว่า มันมีเบื้องหลังอะไรหรือเปล่าก็เริ่มใส่สีอะไรต่างๆให้พวกเรา หรือคอมมิวนิสต์หนุนหลังพวกมันหรือเปล่า จากนั้นก็มีรายงานความเคลื่อนไหวของเราเข้าไป ในระบบข่าวสารของทางราชการภาพในสายตาของราชการกลายเป็นว่านายสมคิดกับชาวบ้านซับแดงเป็นปฏิปักษ์กับทางราชการ

20152603171443.jpg

จนถึงปี พ.ศ.2519 ขบวนการหนึ่งที่เรียกว่า “ขบวนการนวพล” อันนี้เป็นขบวนการหนึ่งที่ค่อนข้างจะเปิดเผย เป็นฝ่ายที่ขัดแย้งกับฝ่ายประชาชนหัวก้าวหน้าอย่างชัดเจน จนนำมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก็คือเหตุกาณ์แตกหักระหว่างฝ่ายประชาชนหัวก้าวหน้า ซึ่งมีนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน ประชาชนทั่วไป รวมถึงชาวไร่ชาวนา แต่ตัวพ่อเองไม่ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่ก็รู้แล้วว่า ตัวเราคงอยู่ไม่ได้แล้ว อันตรายแล้ว ในที่สุดก็พยายามที่จะเล็ดลอดกลับมายังซับแดง เพราะช่วงนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ พอดี กลับมาถึงก็ยังไม่ไว้ใจก็ยังอยู่แบบที่ไม่ยอมเปิดเผย หลบๆ ซ่อนๆ อยู่

จนวันหนึ่ง วันนั้นเป็นบุญออกพรรษา ขณะที่กำลังกินข้าวเช้า หลบซ่อนอยู่นอกหมู่บ้าน อยู่ตามท้องไร่ท้องนาได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ 2-3 ลำ บินต่ำ ข้าวอยู่ในมือยังไม่ทันจะได้ใส่ปากมีชายวัยรุ่นคนหนึ่งวิ่งมาบอก ทหารมาเต็มหมู่บ้านเราแล้ว เฮลิคอปเตอร์ลงจอดที่สนามโรงเรียน พอได้ยินอย่างนั้นผมก็กระโดดลงเถียงนา บอกเราอยู่ไม่ได้แล้ว หมู่บ้านซับแดงถูกปิดตาย คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า เส้นทางจราจรต่างๆ มีกำลังทหารตำรวจ ติดอาวุธ ตรึงกำลังรอบด้าน กระทั่งเลยเที่ยง ประมาณบ่าย 2-3 โมง เกิดพายุฝนมาครั้งใหญ่เลย ทำให้กำลังพลที่มาปิดล้อมต้องถอนกำลัง เฮลิคอปเตอร์ก็บินขึ้นก็เป็นช่วงเดียวกัน พวกพ่อก็เลย ออกจากที่หลบซ่อน มุ่งหน้าไปทางที่มันไม่มีภูเขาคืนนั้นทั้งคืน เดินยันสว่าง ทีแรกก็ไม่รู้จะไปไหนคิดแต่ว่าต้องไปที่หมายคือจะต้องหลบออกไปให้พ้นจากประเทศไทย

ปลายปี พ.ศ.2519 ที่เข้าป่า ก็กลับมาขยายเขตงานต่อสู้กับรัฐบาล สิ่งที่ทำได้ก็คือ เขาเรียกว่าทำงานการเมือง เล่าสถานการณ์บ้านเมืองสู่สหายฟัง แล้วก็ทำตามสิ่งที่ตัวเองถนัดคือเขียนหนังสือ เขียนหนังสือในป่าบ้าง เขียนหนังสือลักลอบส่งเข้ามาเผยแพร่ในเมืองบ้าง ในช่วงนั้นสร้างงานวรรณกรรมขึ้นมาหลายเล่มในช่วงหลบหนีเข้าป่า จนถึงปี พ.ศ. 2524 – 2525 สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก ก็เลยคิดว่าคงจะไม่ไหวแล้ว การต่อสู้ในเขตป่าเขาคงจะไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว จึงตัดสินใจเข้าเมือง ตอนนี้ก็ได้มีครอบครัวแล้ว เข้าเมืองก็ไปอยู่กรุงเทพฯ นานหลายเดือน 5-6 เดือนเลย ในที่สุดก็ตัดสินใจไปรายการตัวต่อทางราชการ รายงานตัวและอยู่อย่างเปิดเผย

ในวันที่ไปรายงานตัว พ่อก็เตรียมคำแถลงไป แถลงว่า “เราไปต่อสู้มาไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอะไร ให้คิดว่าเป็นการไปต่อสู้เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน มีความปรารถนาอยากให้บ้านเมืองเรานี้อยู่ดีอยู่เย็นเป็นสุข ตามอัตภาพ”

หลังจากมีพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ขึ้น ชาวบ้านก็เลยเลือกให้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ต่อมาก็เป็นประธานกรรมการบริหารหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในเวลาต่อมาเป็นอยู่ 2 สมัย ในที่สุดก็เลยวางมือให้รุ่นต่อไป เพื่อที่จะกลับมามีบทบาทในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และงานเขียนหนังสือโดยตรง

20152603171525.jpg

คำถาม พ่อคิดว่าอุดมการณ์หรือแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายเก่า คือหัวก้าวหน้าสมัยนั้นยังมีความสำคัญกับเมืองไทยตอนนี้ไหมครับ

มันคนละบริบท คนละสถานการณ์ ก็ใช่อยู่ที่ว่า ประวัติศาสตร์บางอย่างก็ซ้ำรอยเก่า แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะซ้ำเก่าได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็มีพัฒนาการใหม่ๆ ที่สำคัญก็คือ ถ้าเราจะแสวงหาแนวทางที่ก้าวหน้า ก้าวหน้าทางความคิดก็ต้องรู้ทันสถานการณ์ หมายความว่าต้องไม่ละเลยอดีต ต้องเรียนรู้อดีต ทำความเข้าใจปัจจุบัน จึงจะวาดฝันอนาคตได้อย่างเหมาะสม.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ