10 ประเด็นน่าจับตา : องศาเหนือ ปี 59

10 ประเด็นน่าจับตา : องศาเหนือ ปี 59

10 องศาเหนือ  …ดูแล้วจะหนาว

10 ทิศทางที่องศาเหนือจับตาตลอดปี 2559

อะไร  ที่ไหน  อย่างไร  ที่เราต้องปรับทิศและคิดต่อ….

365 วันที่กำลังจะผ่านไป เกิดอะไรขึ้นกับภาคเหนือของเราบ้าง   …. “THE NORTH องศาเหนือ”   ปฏิบัติการสื่อสารของคนเหนือ เพื่อเชื่อมต่อกับโลกไร้พรมแดน ประมวล    10 เรื่องร้อนที่ดูแล้วจะหนาว  มาให้แฟนๆ ได้ทบทวนวันเวลาที่กำลังจะผ่านพ้น เพื่อช่วยกันคิดถึงทิศทางที่จะกำหนดให้บ้านเราเดินไปอย่างเหมาะสม    ติดตามกันเลย

ลำดับ 10  หมอกควันยังลอยคว้าง

10 ปีเต็มที่หมอกควันในภาคเหนือแตะจุดวิกฤต   จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ประจำฤดูของภาคเหนือ     องศาเหนือได้พาไปทำความเข้าใจ สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดหมอกควันที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนทุกปี  สาเหตุของหมอกควัน  มีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป  สังคมที่ขยายตัวและบริโภคมากขึ้น รวมถึงเงื่อนไขหลัก คือลักษณะทางกายภาพของภาคเหนือเอง

เปิดใจรับรู้  และทำความเข้าใจภาพรวมของปัญหานี้ 
ตอน ฝ่าม่านหมอกควัน1

 

หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็พยายามมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควัน  จากข้อสรุปและบทเรียนสำคัญมากมาย ทั้งการเผชิญเหตุระยะสั้น   การปรับตัวในระยะกลาง  และการวางยุทธศาสตร์ในระยะยาว ในการจะจัดการหมอกควันได้อย่างยั่งยืน  หลากวิธีหลายโมเดลในการจัดการหมอกควัน กับ
ตอน ฝ่าม่านหมอกควัน 2

 

ไร่ข้าวโพด…ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญของการเผา โดยเฉพาะที่จังหวัดน่าน เป็นประเด็นที่คนในประเทศเฝ้าจับตา เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องการปลูก การเผา แต่พื้นที่น่านคือต้นน้ำสายสำคัญของประเทศ  คนน่านไม่ได้นิ่งนอนใจร่วมกันหาทางออกจากสถานการณ์ป่าที่หายไป  แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกเขาไม่นิ่งเฉย การปรับวิถีการเกษตรของคนในชุมชนจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ   องศาเหนือได้นำเสนอไว้ใน
ตอน น่านปรับทิศ  
 

 

ปีหน้า 2560 ยังคงต้องตามกันต่อ….ค้นหาหลากหลายแนวทางแก้ไข  ที่ต้องร่วมกันฝ่าม่านหมอกควัน

 

ลำดับ 9  แล้งไม่รู้ลืม

2559  ถูกบันทึกไว้แล้วว่าเป็นปีที่แล้งที่สุดปีหนึ่ง   คงยังจำกันได้ถึงบรรยากาศการต้องลุ้นระดับน้ำที่แห้งขอดในเขื่อนวันต่อวัน  เกิดข่าวแย่งน้ำ   ร้องหาความเป็นธรรมในการจัดการน้ำ รณรงค์ให้ประหยัดน้ำ ฯลฯ ….วิกฤตครั้งนี้   ทิ้งปมให้เราต้องคิดต่อมากมาย

 แม่น้ำปิง ก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดสายหลักของชาวเชียงใหม่ และสายน้ำสำคัญก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำวัง ยม น่าน จนเป็นเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต  ใครจะช่วยฟื้นฟูและดูแลได้บ้าง  “ จับชีพจรแม่ปิง“ คือสิ่งที่องศาเหนือพาไปดูต้นน้ำปิงและสิ่งที่แม่น้ำกำลังเผชิญ
ตอน จับชีพจรแม่ปิง


 

เมื่อคาดว่าน้ำท่าจะไม่พอทำน้ำประปา รัฐขอปรับแผนให้ชาวนางดทำนา การปรับตัวของชาวนาภาคเหนือตอนล่าง ในภาวะภัยแล้งในปี2559  พื้นที่ทำนาทั้งนาปีและนาปรังรวมกว่า 2,900,000 ไร่ในจังหวัดพิจิตรนั้น พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตที่ผ่านอย่างไร องศาเหนือเสนอไว้ใน ตอน นาแล้งเปลี่ยนทาง  

บึงบอระเพ็ดได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของไทย เนื้อที่รวมกว่า 130,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์  จากเคยเป็นแหล่งพึ่งพิงอันอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้าน ทุกวันนี้  บึงบอระเพ็ดมีสภาพเป็นอย่างไร และส่งผลอะไรกับคนนครสวรรค์บ้าง องศาเหนือเสนอไว้ใน
ตอน บึงบอระเพ็ดที่เข็ดขม

 

ลำดับ 8  รับมือภัยพิบัติ

 ภัยพิบัติกับภาคเหนือ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม มักจะมาตามนัดทุกปี ด้วยสภาพพื้นที่เขาสูง ลาดชัน    แต่คนเหนือก็เกิดการเรียนรู้  คนเหนือหลายพื้นที่เก่งขึ้น  เตรียมรับมือได้ดีขึ้น   มีองค์ความรู้  มีเทคโนโลยีสมัยใหม่  และเป็นโมเดลให้พื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ได้ปรับใช้ต่อไป

กระตุกเตือนและปรับมุมมองความคิดกับการจัดการภัยพิบัติใหม่เมื่อคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ทั้งการจัดการ รับมือป้องกันก่อนภัยมา  เพื่อลดความสูญเสีย  และฟื้นฟูเยียวยาเมื่อเกิดภัย   ติดตามได้ใน 
ตอน ปรับทิศ พิชิตโคลนถล่ม  

สะท้อนแง่มุมการร่มมือร่วมในแก้ปัญหาน้ำท่วมของชา จ.น่าน 
กับ ตอน น้ำน่าน จัดการได้

ลำดับ 7 จีน..มาแล้วจ้า!

2559 ภาคเหนือเรา  เจอทุนจีนรุก เร็ว และแรง  ชัดเจนในทุกมิติ  

เลี่ยงไม่ได้ ที่เราต้องเรียนรู้  เพื่อปรับตัวและรับมือกับยักษ์ใหญ่ของโลกใบนี้

“กล้วยหอม”ดาวรุ่งพุ่งแรงในภาคเหนือ  จับทิศทางของผลผลิตทางการเกษตรหลายคนมองว่า สถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงเพราะได้ยินข่าวด้านลบของการทำสวนกล้วยหอมของกลุ่มทุนจีนอยู่บ่อยๆ  แต่สำหรับชาวบ้านบางคน กลับมองว่า นี่เป็นโอกาสให้พวกเขาเห็นช่องทางของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้มากขึ้น “โอกาสที่ว่าคืออะไร”
ตอน กล้วย(ไม่)กล้วย  

ลำไยกับคนเหนือคู่กันมานาน  แต่หากดูเส้นทางการค้าให้ลึกซึ้ง เรากลับพบกับเส้นทางที่จีนมีอิทธิพลต่อตลาดลำไยในแทบทุกมิติ   คนขายลำไย และคนที่เกี่ยวข้องเขาปรับตัวอย่างไร
ตอน ลำไยในเงาจีน 

เมื่อจีนตั้งเป้าใช้การเดินเรือขนส่งสินค้าและคนในน้ำโขง เพื่อให้เรือใหญ่สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น  แนวคิดระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจึงถูกหยิบยกมาอย่างต่อเนื่อง  คนริมโขงผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ร่วมดูแลสายน้ำสำคัญนี้คิดเห็นอย่างไร

ติดตามได้ใน 
ตอน  เรือใหญ่ไล่เรือเล็ก 

เมื่อประเทศไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ชาวจีน  จนทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงถึงปีละกว่า 6 ล้านคนต่อปี  วัฒนธรรมที่แตกต่าง และการสื่อสารที่อาจจะคลาดเคลื่อน   แล้วภาคเหนือเราจะตั้งรับหรือปรับตัวกันอย่างไง  องศาเหนือนำเสนอไว้ใน
 ตอน ปรับ รับทัวร์จีน
 

 

ลำดับ 6 อยู่อย่างไร? ไร้พรมแดน

ภาคเหนือ คือ จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อกับประเทศรอบข้าง

โลกไร้พรมแดน ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอชายแดนเลียบแม่น้ำโขง ที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี กับการพัฒนาที่ไหลหลั่งเข้าไปมากมาย  หลังจากเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปประเทศลาว พร้อมทั้งการเข้ามาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยแผนพัฒนาทั้งหมดนี้จะทำให้เมืองเชียงของเปลี่ยนโฉมหน้าไปในทิศทางใด

ตอน เชียงของ ของใคร

อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการค้าชายแดน กลุ่มธุรกิจท้องถิ่นที่นั่น พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการค้าให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งการถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งภายใต้หน้าตาที่ยังไม่ชัดเจน  คนในพื้นที่ขยับตัวและมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ตอน  ปรับทิศเศรษฐกิจแม่สอด

ชีวิตหนุ่มสาวโรงงานกับจุดเปลี่ยนสำคัญหลังถูกเลิกจ้าง เมื่อต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง กับชีวิตวัยทำงานในนิคมอุตสาหกรรมบนสายพานการผลิตต่อเนื่องนานนับ 10 ปี ทักษะต่างๆของชีวิตในการประกอบวิชาชีพอื่นจึงดูเหมือนไม่จำเป็น จนกระทั่งต้องเปลี่ยนงาน 
ตอน ทักษะไม่ต่อชีวิต วิกฤตคนโรงงาน

ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว ความฝันที่จะให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้าและมวลชนหลักในภูมิภาคอาเซียนคนพิษณุโลกตั้งเป้ากับเรื่องนี้ ตอน ปรับทิศ พิษณุโลก

เมื่อทุนไทยเห็นโอกาสและขยายทุนรุกเพื่อนบ้าน ก่อเกิดธุรกิจใหม่คึกคัก ส่งผลให้แรงงานเมียนมากลับบ้านเกิดตนเอง หวังเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ตอน แรงงานไหลกลับ ทุนไทยไหลออก

พม่า ปิดประเทศมานาน โดยเฉพาะในเขตรัฐฉานซึ่งเป็นพื้นที่ของกองกำลังต่างๆ ก่อนหน้านี้ คนไทยเราจะสัญจรในเส้นทางนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งสำหรับนักปั่นแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับ พ.ศ.นี้…. คนปั่นจักรยานกลุ่มหนึ่ง บรรลุภารกิจครั้งสำคัญ ปั่นจักรยานออกจากชายแดนไทยทางด่านอำเภอแม่สาย ลัดเลาะดอยสูงรัฐฉาน สู่ใจกลางแผ่นดินพม่า แล้วอ้อมกลับไทยอีกครั้งที่ด่านชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ตอน เกาะหลังอาน อ่านเมียนมา

 

ลำดับ 5  ของดีบ้านเฮา เอาไงต่อ?

มรดกล้ำค่าของเมืองเหนือ มีมากมายมหาศาล

คุณค่า วิถี วัฒนธรรม อาชีพ  และทรัพยากรเหล่านี้  จะยืนหยัด/ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดอย่างสง่างามบนโลกใบใหม่….

ภาคเหนือถือว่าขึ้นชื่อ เป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ กาแฟจากภาคเหนือเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก โดยมีผลผลิตออกสู่ตลาดปีละเกือบหมื่นตัน จากสถานการณ์นี้ผู้ปลูกจะมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และทิศทางใดที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ตอน เมืองเหนือ เมืองกาแฟ   
 

เมี่ยง หรือ ใบชา…พื้นที่ป่าเมี่ยงที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งภาคเหนือ พืชชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับภาคเหนือมานานมากหลายคนบอกว่าวัฒนธรรมเมี่ยงกำลังจะตายและคิดโค่นต้นชาเก่าทิ้งเพราะไม่มีคนนิยมกิน    แต่! เมี่ยง ใบชา สามารถพัฒนาเป็นสินค้าท้องถิ่นไปโกอินเตอร์ได้ กับพืชมีอนาคต
ตอน เมี่ยง ขุมทรัพย์ใบชา  

 

เรือหัวพญานาคหางวัลย์ คือ เอกลักษณ์ของชาวน่าน ซึ่งนับเป็นมรดกทางประเพณีที่ยังคงส่งต่อกันจนถึงปัจจุบัน  นอกจากความสามัคคีของฝีพายที่เข้าแข่งขัน ความสนุกสนานและแรงเชียร์จากสองฟากฝั่ง อะไรคือแรงสำคัญให้ประเพณีนี้ยังคงอยู่
ตอน เรือแข่งเมืองน่าน    

 

จังหวัดลำปาง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกให้มีความหลากหลายเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่พบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในการผลิต เพราะถึงแม้จะมีเครื่องจักรอำนวยความสะดวก แต่งาน “เซรามิก” ก็ยังต้องการศิลปะและความเชี่ยวชาญเฉพาะจาก “แรงงานฝีมือ”
ตอน ปรับทิศ เซรามิคลำปาง 

 

ต้นยางนา 987 ต้น ที่อยู่คู่กับถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนมากว่า 130 ปี ยิ่งอายุมาก ยิ่งต้องการการดูแล คนเชียงใหม่จะจัดการดูแลรักษาต้นไม้แห่งความสัมพันธ์ที่คู่กับคนย่านนี้ตลอดไป
ตอน ไม้ใหญ่ เมืองใหญ่   

 

ปี2559  เมืองเชียงใหม่อายุครบ 720 ปี แต่ว่ากว่าจะถึงจุดนี้ ต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่หลอมรวม จนกลายเป็นเมืองเชียงใหม่ เมืองที่มั่งคั่งด้วยอารยธรรมล้านนาเมืองเชียงใหม่ มีความเป็นเมืองเก่า เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เมืองเก่าที่ผ่านร้อนผ่านหนาว  และนี่..คือความภาคภูมิใจของคนเชียงใหม่ 

ตอน 720 ปีเมืองเชียงใหม่ 

 

ลำดับ 4  คนเหนือวัย

ลำพูน ลำปาง แพร่   –  3 จังหวัดภาคเหนือของเรามีดัชนีผู้สูงวัยที่สูงสุดในประเทศ

“สังคมสูงวัย”  ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที   ยังมีแง่มุมอีกมากมายที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน

โครงสร้างประชากรในประเทศไทย กำลังเปลี่ยนโฉมอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีประชากรราว 67 ล้านคน  เป็นผู้สูงอายุประมาณ 15% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละ 5 แสนคน นั่นหมายความว่า ในอีกไม่กี่ปี  ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ส่วนจังหวัดที่มีดัชนีการสูงวัยมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ลำพูน ลำปาง และแพร่  ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ  ติดตามใน The North องศาเหนือทั้ง 2 ตอนนี้

ตอน เฒ่าเท่ากัน 

 

ตอน  โก๋แก่ 

 

                                            ลำดับ 3  นโยบายกับชุมชน ? 

นโยบายระดับชาติ ล้วนมีผลต่อคนในพื้นที่  ทั้งทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ ถ้าจะลดปมขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน มีสิ่งใดที่เราต้องปรับทิศและคิดต่อภาคเหนือ
เมืองที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ 
แต่แนวคิดการจัดสรรหรือเข้าถึงทรัพยากรยังเป็นข้อถกเถียง

กรณี “คนอยู่กับป่า” วิถีความเป็นอยู่ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าปฎิบัติสืบทอดเพื่อดูแลรักษาป่า ที่เป็นทั้งที่อยู่ ที่ทำกิน และแหล่งอาหาร แต่กลับเผชิญกับนโยบายการจัดการของรัฐที่เปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อ “เพิ่มพื้นที่ป่า”  แนวคิดที่ต้องทำความเข้าใจ องศาเหนือพยายามหาคำอธิบายใน
ตอน ปรับทิศสิทธิกลางป่า 

อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีขุมทรัพย์อันล้ำค่าที่เปรียบเหมือนทองคำบนผืนดิน  เทือกเขาหินปูนที่มีฝูงค้างคาวเป็นไฮไลท์ส่งผลให้ชุมชนตื่นตัวเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน นอกจากนั้น เนินมะปรางและ 3 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างยังเป็นพื้นที่ผลผลิตมะม่วงส่งออกของประเทศ  คนที่นั่นอยากกำหนดอนาคตตนเองให้สอดคล้องกับวิถี องศาเหนือนำเสนอไว้ใน
ตอน ทองบนดิน 

 

เมื่อสิ้นอายุสัมปทานเหมืองแล้ว เงื่อนไขประทานบัตร บอกว่าให้ผู้ประกอบการต้องฟื้นฟูให้พื้นที่นั้นกลับมาเหมือนเดิม และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ได้มีการควบคุมอย่างเข้มงวด   องศาเหนือชวนคิดกับบทเรียนเรื่องเหมือง
ตอน ฟื้นชีวิตเหมือง คืนชีวิตคน 

 

ลำดับ 2 ชาวนา 4.0

ว่ากันว่า โครงสร้างระบบเกษตรกรรม กำลังก้าวสู่ยุค 4.0    จากนี้ไป คือการปรับโฉมโครงสร้างขนานใหญ่ และไม่มีวันเหมือนเดิม   ต่อจากนี้   ชาวนาเหนือและชาวนาไทย  จะเดินต่อทางไหนดี ?  ทบทวนกับองศาเหนือ ว่าด้วยเรื่องชาวนาล้วนๆ

ตอน ปรับทิศ ชาวนาไทย

 

ตอน ชาวนาในยุคเปลี่ยนผ่าน 

                                       ลำดับ 1  แสงจากพ่อ…นำทาง

2559  เป็นปีแห่งความสูญเสียของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต  แต่  7 ทศวรรษที่พระองค์ทรงครองราชย์  เต็มไปด้วยพระราชกรณียกิจที่เป็นรูปธรรมให้พสนิกรได้มีแนวทางของการใช้ชีวิตซึ่งนานาประเทศยอมรับ
ท่ามกลางโลกไร้พรมแดน   เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล   “แสงจากพ่อ”  อาจช่วยนำทางสู่ความยั่งยืน .

ตอน ธนาคารข้าวของพ่อ

 

ตอน  ฟื้นชีวิตดิน คืนชีวิตคน

 

ตอน เสียงแว่วของพ่อ

คลิป  7 ทศวรรษทรงครองราชย์ 

 

และทั้งหมดนี้ก็คือ 10 ประเด็น ร้อนหนาว ที่ถ่ายทอดผ่าน The North องศาเหนือ ตลอดปี 2559 หลายประเด็นเราต้องตามกันต่ออย่างใกล้ชิด ปี 2560 จะมีประเด็นอะไรใหม่ๆ ให้เราได้ปรับทิศและคิดต่อด้วยกัน อย่าลืมติดตามนะครับ 
รายการภูมิภาค 3.0 ช่วง The North องศาเหนือ  ทุกวันอาทิตย์ เวลา 13.00-14.00 น. ทาง ThaiPBS 

ติดตามทุกความเคลื่อนไหวในภาคเหนือ
Official Page The North องศาเหนือ : https://www.facebook.com/thaithenorth/

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ