อ่านใหม่แบบคนตัวเล็ก

อ่านใหม่แบบคนตัวเล็ก

11

 เรื่อง: สิริกัญญา ชุ่มเย็น       Illustration: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

หากสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา แม้วงการหนังสือไทยจะประสบปัญหาหนักหน่วง เพราะการผลิตที่มีต้นทุนสูงขึ้น ในทางกลับกัน ยอดจำหน่ายกลับลดลงอย่างน่าตกใจ แต่ดูเหมือนท่ามกลางความเสี่ยงทางธุรกิจเช่นนี้ ยังมีคนบางกลุ่มสวนกระแส ลุกขึ้นมา ‘เปิดสำนักพิมพ์’ อย่างไม่กลัวเจ็บตัว แม้จะเห็นตัวอย่างมาไม่น้อยว่า ธุรกิจสำนักพิมพ์ขนาดเล็กนั้นอยู่ยากแค่ไหน ในสังคมที่การอ่านยังเป็นแค่งานอดิเรก

แต่พวกเขาเหล่านี้ยืนยันว่า หัวใจสำคัญที่ซ่อนอยู่ในการทำงานที่ดูเหมือนจะไม่ยิ่งใหญ่นี้ คือความพยายามจะผลักดันหนังสือให้ไปถึงมือผู้อ่าน โดยไม่ปล่อยให้มันวางอยู่บนชั้น ท่ามกลางหนังสืออีกหลายพันหลายหมื่นเล่มในร้านขนาดใหญ่ รอวันเวลาที่ผู้อ่านจะมาค้นพบด้วยตนเอง (ราวกับพรหมลิขิตบันดาลให้คู่รักที่ตัวอยู่คนละซีกโลกโคจรมาพบกันในวันเวลาที่เหมาะสม) ซึ่งการรอคอยเช่นนั้นหาใช่เรื่องผิด เพียงแต่ว่าพวกเขาเป็นคนขายประเภทที่อยากสื่อสารกับผู้อ่านโดยตรง

เราจึงใคร่ขอเชิญชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์ชื่อ ‘ตำหนัก’ ที่ผลิตงานวรรณกรรมซึ่งเป็นของขมในการขายมาแล้ว 5 เล่ม

และ ‘ไจไจบุ๊คส์’ เจ้าของงานแปลแปลกๆ อย่าง ซัม-สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย ด้วยการตั้งต้นจากข้อสงสัยที่ว่า เหตุใด พวกเขาจึงตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือสกุลที่นับวันยิ่งดูเหมือนไปถึงมือผู้อ่านยากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะด้วยรสนิยมของผู้บริโภคและเรื่องของสายส่ง

กลิ่นหอมจากกระดาษทำมือ

ก่อนมาทำ สำนักพิมพ์ตำหนัก (Tamnak Press) ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ เล่าว่า เขาเคยทำสำนักพิมพ์ร่วมกับเพื่อนนักเขียน (ดิว-สุปรีดี จันทะดี) ในชื่อ ‘มีงานบุ๊ก’ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อาจเพราะผลิตหนังสือครั้งละ 1,500 – 2,000 เล่ม ตามจำนวนขั้นต่ำที่สายส่งรับฝากขาย ซึ่งเป็นจำนวนที่นับว่ามากเกินไป ทำให้จำนวนหนังสือมีเหลือมากกว่าจำนวนที่ขายได้

888
ภาพ : ธศศิน อินทะพันธุ์

ภู่มณียอมรับว่า ความไม่ประสีประสาในเวลานั้นได้สร้างความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ทั้งการสื่อสาร การตลาด และการลืมคำนึงถึงกลุ่มผู้อ่านที่แท้จริง ในช่วงจังหวะที่มีความพร้อมจะลงมือทำสำนักพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราว เขาจึงทดลองการผลิตและจัดจำหน่ายรูปแบบใหม่

แรงบันดาลใจเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่เขาลาออกจากอาจารย์ประจำมาเป็นอาจารย์พิเศษ การมีเวลาไปนั่งเขียนและอ่านหนังสือที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง (ร้าน Penguin Ghetto) ซึ่งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ราวกับว่าที่นั่นเป็นสำนักงาน ทำให้เขาพบว่าในร้านแห่งนั้นจะมีพื้นที่สำหรับวางขายงานทำมือ ดังนั้น นอกจากลูกค้าที่เข้ามาสั่งกาแฟแล้ว มุมที่พวกเขามักให้ความสนใจคือมุมสินค้าดังกล่าว พวกเขาจะหยิบมันขึ้นมาดู พลิกหน้าพลิกหลัง ซื้อบ้างไม่ซื้อบ้าง นั่นทำให้ภู่มณีแอบคิดด้วยความตื่นเต้นว่า “เฮ้ย! หนังสือทำมือนี่ไม่ธรรมดาเลยว่ะ

เสน่ห์จากของทำมือ ทำให้เกิดการทดลองคิดต่อยอดว่า “ถ้าสมมติเราใส่ตัวอักษรลงไปในสมุดทำมือ นอกจากคนจะหยิบมันขึ้นมาพลิกหน้าพลิกหลัง เขาก็น่าจะอ่านสักสองสามบรรทัดล่ะนะ เพราะหนังสือแบบนี้มันดูเป็นมิตรดี”

สุดท้ายเขาตัดสินใจว่าจะลองทำมันขึ้นมาสักชุด ชวนเพื่อนๆ นักเขียนที่รู้จักมักคุ้น ให้ส่งต้นฉบับมาพิมพ์ใน “รวมเรื่องสั้นภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558”

999
ภาพ : ธศศิน อินทะพันธุ์

ภู่มณีเล่าถึงกระบวนการจัดทำรวมเรื่องสั้นภาคฤดูร้อนฯ ว่า “หลังจากทำอาร์ตเวิร์กและออกแบบปกเสร็จ ก็เริ่มประชาสัมพันธ์ โดยอัพโหลดรูปปกขึ้นหน้าเฟซบุ๊ก พร้อมกับเปลี่ยนชื่อและรูปโปรไฟล์เป็น ‘Tamnak Press’ แรกๆ คนก็งงว่ามันคืออะไร (เพื่อนบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Tamnak Press ก็คือผม) แต่หลังจากที่แท็กชื่อให้นักเขียนทุกคนแล้ว คนก็เริ่มเข้าใจว่าเราขายหนังสือ และสนใจสั่งซื้อ เพราะนักเขียนแต่ละคนจะมีกลุ่มคนอ่านงานของเขาอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่เปรี้ยงปร้างมากหรอกนะครับ เลยต้องนั่งคิดต่อว่าจะทำไงให้มไปได้ไกลกว่านี้ ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีคนมาลงชื่อสั่งซื้อกันมากพอสมควร”

เขาไม่ลืมที่จะเล่าถึง นโยบาย ‘อ่านก่อนจ่าย’ ของสำนักพิมพ์ คือให้ผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือลงชื่อและที่อยู่เอาไว้ เขาจะจัดส่งหนังสือไปให้ถึงบ้าน เมื่อได้รับหนังสือแล้วค่อยโอนเงินมาให้ จะโอนเมื่อไรก็ได้ตามสะดวก ภู่มณีบอกว่าได้วิธีคิดนี้มาจาก วัฒนชัย แจ้งไพร (คนเขียน ‘ไกด์เร่ร่อน พรมแดนในรอยจูบ’) ผู้ซึ่งขายหนังสือด้วยวิธีนี้

วัฒนชัยเล่าว่าต้องไว้ใจคนอ่าน เพราะคนอ่านเป็นปัญญาชน ไม่มีทางเบี้ยวแน่นอน ที่สำคัญ คนอ่านจะเห็นคนขาย (นักเขียน, สำนักพิมพ์) เป็นเพื่อนด้วย “ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่ดีนะครับ เราทำสำนักพิมพ์กันไม่ได้ต้องการติ่ง เราต้องการเพื่อนมากกว่า”

และแม้จะต้องสำรองจ่ายค่าพิมพ์หนังสือไปก่อน ภู่มณีไม่ได้มองว่านี่คือปัญหา เพราะสำนักพิมพ์มีแนวทางชัดเจนว่าเน้นการทำหนังสือตามออเดอร์ ขายได้แล้วค่อยนำเงินทุนมาคืนตัวเอง เหลือกำไรก็เก็บไว้ใช้พิมพ์เล่มต่อๆ ไป

ภู่มณีบอกว่า นอกจากเงินทุนแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กในทัศนะของเขา มี 3 ข้อคือ

“หนึ่ง… เนื้อหาที่ร่วมสมัย ผมเชื่อว่าความร่วมสมัยจะไปเกาะเกี่ยวความรู้สึกคนอ่านได้ง่าย อย่าง รวมเรื่องสั้นภาคฤดูร้อนฯ มีการออกฉบับทดลอง บางคนอ่านไปแค่ 2 – 3 บรรทัด รู้สึกว่า “เฮ้ย! โดนว่ะ” แล้วสั่งซื้อเลย

“สอง… คือช่องทางและวิธีการสื่อสาร อย่างน้อยต้องรู้ว่าจะสื่อสารทางไหน สื่อสารอย่างไร ให้พวกเขารับรู้ได้รวดเร็วและกระชับที่สุด ย้ำว่าต้องรวดเร็วและกระชับที่สุดนะครับ สาม… จะพูดยังไงดี (หัวเราะ)”

เอ่อ…ไหนว่าสาม บางทีอาจคืออารมณ์ขันก็เป็นได้

เอาล่ะ มาว่าถึงเรื่องการทำงาน กระบวนนั้นการทำงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เริ่มจากการประกาศรับต้นฉบับ เรื่องไหนสดใหม่ และสนุกกว่า ก็เลือกพิมพ์งานนั้น ในฐานะที่เป็นทั้งบรรณาธิการและนักเขียน ภู่มณี อธิบายว่า

“ข้อได้เปรียบของคนตัวเล็กๆ คือคล่องแคล่วกว่า เพราะหากเทียบกับสำนักพิมพ์ใหญ่ เนื้อหางานเขียนของสำนักพิมพ์เราก็ไม่ได้เฉพาะกลุ่มหรือแปลกแยกไปจากหนังสือที่มีในตลาดมากนัก เพียงแต่เราทำงานกันเร็ว และตัดสินใจในแต่ละขั้นตอนได้เอง เพราะงานวรรณกรรมมันไม่มีมาตรฐานกลาง ถ้ามีก็เป็นคำลวงทั้งนั้น”

เขาพยายามจะทำให้สำนักพิมพ์สามารถเดินไปข้างหน้า ผลิตงานออกมาให้ได้ทุกเดือน เปลี่ยนคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ เพื่อกระจายกลุ่มคนอ่าน เพราะมองว่าการออกหนังสือให้หลากหลายเป็นการรักษามารยาทอย่างหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตไม่ได้มุ่งแต่จะขายหนังสือเอากับผู้อ่านเพียงกลุ่มเดียว เพราะบางคนก็ไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดซื้อหนังสืออ่านได้ทุกเดือน และแม้รู้ดีว่าการทำสำนักพิมพ์ ที่เน้นผลิตแต่งานวรรณกรรมเป็นอะไรที่เหนื่อยและไม่ค่อยได้กำไร แต่เขายืนยันว่านี่เป็นสิ่งที่คนรักวรรณกรรมจริงๆ ต้องยอมสละเวลาเพื่อทำมัน เหมือนที่อีกหลายสำนักพิมพ์ขนาดเล็กกำลังพยายามกันอยู่ นั่นเพราะไม่ใช่แค่เชื่อมั่นในความตั้งใจของตนเอง แต่เขายังเชื่อว่า หนังสือสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

“เราทำสำนักพิมพ์กันมาก็อยากให้คนได้อ่าน ได้คิด ได้ตั้งคำถาม ได้รับรู้ถึงความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในบ้านเมืองของเรา”

มนุษย์ทดลองในโลกทดลอง

777
ภาพ : ปภาณิน เกษตรทัต

ธนาคาร จันทิมา  คือคนหนุ่มไฟแรงอีกคน ที่ไม่กลัวความผิดพลาดจากการทดลอง เขาตัดสินใจเปิดตัวสำนักพิมพ์ด้วยการจัดพิมพ์วรรณกรรมแปลของนักเขียนชาวอเมริกัน ที่ยังไม่เคยมีผลงานเล่มใดได้รับการแปลเป็นภาษาไทย

เพราะผ่านการเป็นผู้ดูแลร้านหนังสืออิสระอยู่นานพอควร ธนาคารจึงได้เรียนรู้ว่า ธุรกิจหนังสือก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ นั่นคือกลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ควบคุมกลไกทั้งระบบ ในขณะเดียวกันเขาสังเกตเห็นอยู่เสมอว่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็กมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญการผลิตหนังสือ ทำงานด้วยความรัก แต่พอผลิตเสร็จก็หมดแรง คิดเรื่องการตลาด การสื่อสาร หลายสำนักพิมพ์โยนหน้าที่ให้ร้านหนังสือ คนเขียนรีวิว บ้างรอนาทีทองจากงานสัปดาห์หนังสือฯ บ้างโทษสายส่งกระจายไม่ดี หรือร้านหนังสือขนาดใหญ่ไม่มีที่วาง…

นั่นทำให้เขาตระหนักได้ว่า สิ่งที่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กแรกตั้งอย่าง ‘ไจไจบุ๊คส์’ (โลโก้ของสำนักพิมพ์ พัฒนารูปแบบมาจากคำว่า חי ในภาษาฮิบรู เรียงต่อกันสองคำ แปลว่า ‘มีชีวิต’) พอจะทำได้ก็คือ ใส่ความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ และความอบอุ่นลงไปในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ pre-production จนกระทั่ง post-production โดยศึกษากลวิธีด้านการตลาดต่างๆ จากหลากหลายสำนักพิมพ์ อย่างเช่น การใช้ภาพดึงดูด คลิปสร้างเสียงบอกต่อ การคิดก็อปปี้ให้โดนใจผู้อ่าน หรือแม้กระทั่ง มู้ด แอนด์ โทน ของการออกแบบ ที่ทำให้การขายหนังสือค่อนข้างประสบความสำเร็จ และนำมาดัดแปลงในแบบที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์

“วิธีที่ผมลองทำอาจกำลังเดินไปสู่ความล้มเหลว เพียงแต่ผมเห็นว่ายังมีช่องทางที่เราจะเคลื่อนไหวแบบกองโจรได้ เช่น ช่วงไหนของปีที่เฟซบุ๊คว่าง ไม่ค่อยมีหนังสือใหม่ เราก็ลองออกเดือนนั้น (หัวเราะ) ช่วงสัปดาห์ไหนคนเงินเดือนออก หรือห้างไม่มี sale เราอาจทำ pre-order  มันคือโจทย์ที่ว่า เราสื่อสารให้คนรู้จักหนังสือเราได้ไหม เราหาคนอ่านเจอหรือเปล่า หนังสือของคุณทำให้เพื่อนอยากซื้อไปอ่านเพราะมันน่าสนใจ ไม่ใช่ซื้อเพราะความเกรงใจ คุณเชื่อในหนังสือของคุณอย่างเดียวไม่พอ ผมเชื่อว่าหนังสือเป็นเรื่อง human touch ด้วย ถ้าคนอ่านไม่หยิบขึ้นมาเปิดอ่านซะแล้ว หรือไม่มีใครช่วยแนะนำ หนังสือจะตะโกนเรียกเองได้อย่างไร”

และทั้งที่รู้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ โดยเฉพาะหนังสือในหมวดวรรณกรรม ธนาคารถึงขนาดเคยคิดเล่นๆ ว่า ไหนๆ ร้านหนังสือก็ไม่มีพื้นที่สำหรับงานแนวนี้แล้ว เวลาขอ ISBN กับทางหอสมุดแห่งชาติ อยากจะเปลี่ยนตัวเองไปกรอกเป็นแนว ‘จิตวิทยา’ ‘พัฒนาตนเอง’ ‘ศาสนา’ ‘ฮาวทู’ ‘แนะอาชีพเสริม’ ไปเลยดีไหม เป็นการกระทำอารยะขัดขืน

ในที่สุด เขาก็ตัดสินใจว่าจะพิมพ์หนังสือ ด้วยเหตุผลสั้นๆ เพียงว่า ทั้งที่มันอ่านสนุกขนาดนี้ ทำไมถึงยังไม่มีคนแปลซัม (SUM): สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย! เป็นภาษาไทย

“เป็นการเริ่มต้นที่เอาแต่ใจมาก เพราะคิดว่าเราสองคน ผมกับ กิ่ง (ณัฐกานต์ อมาตยกุล นักแปลและหุ้นส่วนสำนักพิมพ์) อ่านเล่มนี้แล้วชอบมาก คิดว่าทำแล้วต้องมีคนชอบสิ คิดแบบนี้นี่เตรียมเจ๊งเลย แต่ว่าตลอดเส้นทาง ตั้งแต่เริ่มทำ เราได้คำปรึกษาจากพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ในวงการหนังสือหลายท่าน ทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้สำนักพิมพ์อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ยอดที่ขายออก แต่เป็นยอดคงเหลือ…ผมมองหน้ากิ่ง สายตามันถามตรงกันว่า “ไจไจ ปะล่ะ?” คำถามนั้นมันเลยกลายเป็นคำตอบ จากนั้นเราก็จะไม่ตั้งคำถามบั่นทอนอีก แต่เดินหน้าหาวิธีการขายใหม่ๆ ไปด้วยกัน”

และเนื่องจากเป็นการทำหนังสือเล่มแรก ธนาคารจึงยกความประทับใจทั้งหมดให้การได้ร่วมงานกับทีมงานที่พร้อมกันมาลงแขก เอาเหงื่อมาแลกใจ เพราะในทางปฏิบัติ สำนักพิมพ์ไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เขาได้รับความช่วยเหลือเรื่องการดูแลต้นฉบับจาก เวีย สุขสันตินันท์ (ผู้ก่อตั้งเพจวรรณกรรม papercuts) และพิสูจน์อักษรมืออาชีพ อย่าง ปภาณิน เกษตรทัต เพื่อนสมัยเรียน ส่วนงานออกแบบก็ได้กราฟิกดีไซเนอร์หน้าใหม่ฝีมือน่าจับตา อย่าง มานิตา ส่งเสริม มาช่วย โดยสำนักพิมพ์ให้อิสระเต็มที่

“ตอนเห็นดราฟต์ปกครั้งแรก ผมค่อนข้างตกใจว่ามันไม่ใช่ปกวรรณกรรมแบบที่เราคุ้นเคย มีหลายอย่างให้ตั้งคำถาม แต่แล้วความกลัวก็หายไป เมื่อเราถามตัวเองว่า หนังสือที่เราเลือกมาก็เป็นแนวใหม่ใช่ไหม ถ้าใช่ งานปกก็ควรจะให้ความรู้สึกสะดุดเหมือนกัน”

223
ภาพ : ปภาณิน เกษตรทัต

เมื่อนึกถึงความแปลกใหม่เช่นนั้น หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่คำนิยมอย่างหนังสือเล่มอื่น แต่ธนาคารเลือกให้เป็นพื้นที่แสดงความจริงในใจ ความประทับใจส่วนตัวของกลุ่มคนซึ่งรู้จักงานชิ้นนี้ดีที่สุด – ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการทำหนังสือเล่มนี้นี่เอง

ดูเหมือนแนวคิดในการทำงานจะทำให้ทุกอย่างราบรื่นดี แต่ที่สุดแล้วธนาคารก็ต้องยอมรับว่าเรื่องสำคัญอย่าง ‘เงินทุน’ ก็สร้างปัญหาให้กับการทำสำนักพิมพ์ไม่น้อย เพราะไจไจบุ๊คส์เกิดจากเด็กสองคนที่ไม่มีทุนทรัพย์อะไร แต่รักการอ่าน และต่างเป็นฟรีแลนซ์ด้านการเขียน จึงเชื่อว่าทักษะด้านการเขียน การแปล การทำคอนเทนต์คืออาวุธสำคัญ เขาและณัฐกานต์จึงตกลงกันว่าจะแยกย้ายกันทำงานแล้วแบ่งเงินมาลงขัน

“ทุกอย่างต้องมีการวางแผน มีการคำนวณ และใช้เวลา สายป่านเราสั้น เราก็เล่นว่าวไม่ต้องสูงมาก สำนวนว่า ทุบหม้อข้าวตีเมืองจันท์ สงครามครั้งนั้นไม่ได้เอาชนะด้วยความหิว แต่เกิดจากเงื่อนไขว่า แผนการนั้นพลาดไม่ได้ จึงต้องคิดให้รอบคอบมาเป็นอย่างดี เมื่อเราไม่มีเงินมาก เราก็ต้องใช้กลยุทธ์อื่นๆ เรื่องเงินยังคงเป็นปัญหา แต่เราจะทำให้ปัญหามันไม่ใหญ่มากได้ยังไง นี่เป็นเรื่องท้าทาย”

ธนาคารบอกว่าคำถามแรกๆ ที่เริ่มคิด เมื่อนึกถึงปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กก็คือ ‘ใคร’ จะอ่านงานแนวนี้บ้าง วัยเกษียณ หรือวัยรุ่น (ที่เพิ่งรู้จักคำว่าสูญเสียครั้งแรก) พวกเขาคาดหวังอะไรจากการซื้อหนังสือไปอ่าน เราจะหาพวกเขาเจอและจะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้อย่างไร คำถามเหล่านี้จะทำให้เกิดการบริหารการใช้ทุนได้ถูก เพราะในเมื่อพิมพ์ในจำนวนน้อย  ก็ต้องเลือกช่องทางขายให้แม่น

“ผมก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร เวลาใช้คำว่า ‘อยู่รอด’ มันดูเหมือนอยู่กำลังอยู่ในวรรณกรรมทริลเลอร์ สงครามซอมบี้ หรือดิสโทเปียแบบ Hunger Game เพราะถ้ามองเป็นธุรกิจมันต้องไปไกลกว่าคำว่ารอด แต่ที่สุดแล้ว เราต้องมีความหวังครับ กำหนดเป้าหมายทั้งสั้นและไกลอยู่เสมอ ทุกระยะ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะหากไปต่อไม่ไหว อย่างน้อยก็เป็นการเรียนรู้ และเราก็จะได้ไม่ก้าวไปถึงจุดล่มจมหรือเจ็บตัว”

คุณสมบัติของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเปรียบได้กับวงดนตรีอิสระ อาจไม่โดดเด่นเท่าศิลปินที่ขึ้นเวทีประกวด แต่จุดเด่นคือคอนเซปต์ รูปแบบการนำเสนอ ซึ่งประโยชน์ของมันคือ ทางเลือกสำหรับผู้อ่าน ธนาคารเล่าต่อว่า เขาเคยไปยื่นเสนอสำนักพิมพ์หลายแห่งว่าอยากแปลหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อถูกปฏิเสธ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า อาจเป็นเรื่องความถนัดเฉพาะทางขององค์กร รวมถึงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่คนทำงานต้องโอบอุ้มไว้ หาใช่ความไม่เปิดกว้าง ผลที่ตามมาก็คือ เขาตัดสินใจ ‘ต่อเรือเล็ก แล้วหันหัวเรือออกจากฝั่ง’

เพราะหนังสือมีฟังก์ชั่นหลากหลาย บางเล่มเปลี่ยนวิธีคิดคนได้ บางเล่มช่วยขยายมุมมอง บางเล่มถากถางปัญหารุงรังในความคิด บางเล่มดับกระหายทางใจ หรือหลายเล่มอ่านแล้วยิ่งทำให้หิวโหยกว่าเดิม เขามองว่า หากสังคมยอมรับความหลากหลายได้ การทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ก็ย่อมเป็นไปได้เช่นกัน

“หนังสือที่มีคุณค่า ต้องไม่ทำร้ายใคร เช่นเดียวกับสร้างพื้นที่การอยู่ร่วมกันของความหลากหลายให้เป็นไปได้ เท่านั้นก็งดงามพอแล้ว”  ธนาคารกล่าวทิ้งท้าย

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ