‘กลุ่มลูกชาวบ้าน’ เผยปัญหา หลัง ม.บูรพาออกนอกระบบ ยันต้องมี ม.รัฐ รองรับ ปชช.

‘กลุ่มลูกชาวบ้าน’ เผยปัญหา หลัง ม.บูรพาออกนอกระบบ ยันต้องมี ม.รัฐ รองรับ ปชช.

ป้ายค้าน ม.นอกระบบโผล่อีก ที่มหาวิทยาลัยบูรพา หลังการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 2 แห่ง ด้านตัวแทนกลุ่มลูกชาวบ้านรับออกมาแขวนป้ายผ้าแสดงจุดยืน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์หลังมหาวิทยาลัยบูรพาออกนอกระบบ  เผยไม่อยากให้มหาวิทยาแห่งอื่นออกนอกระบบเพราะเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะตามมา ชี้ต้องมีมหาวิทยาลัยของรัฐรองรับประชาชน 

20150703234333.jpg

7 มี.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือ ม.นอกระบบ ซึ่งเกิดเป็นกระแสในมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า เมื่อคืนวันที่ 6 มี.ค. 2558 ปรากฏป้ายผ้าเขียนข้อความ “ม.นอกระบบอีกแล้วเหรอ… เผด็จการจ๋า” บริเวณภายในมหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ภายหลังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา

ตัวแทนกลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตที่ทำกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งเคยรณรงค์คัดค้าน ม.นอกระบบ ให้สัมภาษณ์ว่า ในครั้งนี้ที่กลุ่มลูกชาวบ้านออกมาแขวนป้ายผ้าแสดงจุดยืนคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยอยู่บนหลักการที่ว่า สภาพสังคมไทยไม่เหมาะแก่การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะต้องหาเงินส่วนหนึ่งในการนำมาบริหารมหาวิทยาลัย เนื่องจากเมื่ออกจากระบบไปแล้วการได้รับงบอุดหนุนจากรัฐจะน้อยลง  

ยกตัวอย่างในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาจมีช่องทางสำหรับหารายได้มาบริหาร เช่น การให้เช่าที่ดิน  แต่มหาวิทยาลัยบูรพาไม่มีพื้นที่ในการหารงบประมาณมาอุดหนุนแบบนั้น  ภาระค่าใช้จ่ายจึงมาตกอยู่กับนิสิต ที่สำคัญการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่ตรงกับหลักการที่ว่าสถาบันการศึกษาควรเป็นรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้และเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ 

“ต้องมีมหาวิทยาลัยของรัฐรองรับประชาชน” ตัวแทนกลุ่มลูกชาวบ้านกล่าว พร้อมระบุว่า ไม่อยากให้มหาวิทยาแห่งอื่นออกนอกระบบ เพราะเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะตามมา

ตัวแทนกลุ่มลูกชาวบ้าน ให้ข้อมูลด้วยว่า ครั้งก่อน ช่วงปี 2549-2551 ที่ มหาวิทยาลัยบูรพาผ่านร่าง พ.ร.บ.มหาลัยบูรพา จนมีผลให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา ได้มีการออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่ได้ทำงานในพื้นที่แต่จะเป็นการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในกรุงเทพฯ มากกว่า ทำให้การคัดค้านไม่เป็นผล

ตัวแทนกลุ่มลูกชาวบ้าน กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนขึ้นคือ การคิดค่าเทอมแบบเหมาจ่ายทำให้ค่าเทอมสูงขึ้นจากเดิมมาก  รวมถึงมีการตั้งคณะใหม่ขึ้นมาคือ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งมองว่าคุณภาพการศึกษาลดลง   อย่างกรณีของคณะเภสัชศาสตร์ ที่เปิดรับนิสิตรุ่นแรก ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2554  ไม่ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ ทั้งที่มีการเก็บค่าเทอมแพงแต่การศึกษาไม่มีคุณภาพ รวมถึงมีการที่มหาวิทยาลัยตัดสินใจปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรให้ เช่น สาขาการสอนสังคมศึกษาที่สังกัดอยู่ในคณะศึกษาศาสตร์ 

นอกจากนี้ยังพบว่า การตรวจสอบการทำงานของมหาลัยก็เป็นการตรวจสอบตัวเอง ซึ่งมองว่าเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น  ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพา ยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาการปลอมแปลงลายมือชื่อนิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต รวมถึงเอกสารหลักฐานจำนวนมากเพื่อนำไปตั้งเรื่องเบิกเงินงบประมาณโครงการศึกษาดูงานด้านกฎหมายนอกสถานที่ของอาจารย์กลุ่มหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มลูกชาวบ้านมองว่าตรงนี้เกิดจากการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยบูรพา ออกนอกระบบเมื่อ วันที่ 9 ม.ค. 2551 ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549  ซึ่งมีการจัดตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และได้มีการนำกฎหมายเกี่ยว พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มาพิจารณาและทำการผลักดันให้มหาวิทยาลัย 7 แห่ง ออกนอกระบบประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยทักษิณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

20150703235942.jpg

ที่มาภาพ: thaipublica.org

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ