‘Open House เขตพัฒนาเศรษฐกิจไทย’ หน่วยงานรัฐกระชับความเชื่อมั่นนักลงทุน

‘Open House เขตพัฒนาเศรษฐกิจไทย’ หน่วยงานรัฐกระชับความเชื่อมั่นนักลงทุน

29 ก.พ. 2559 คณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) จัดสัมมนา ‘เดินหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจของไทย’ ภายใต้โครงการ ‘Open House เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทย’ ณ ห้องรอยัล พารากอนฮอลล์ 3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากตัวแทนสถานทูต นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงาน

20160103180827.jpg

 

ยก จ.สระแก้ว นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่า ประเทศไทย ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ’ ได้รับการรับรองทางกฎหมายเป็นเพียงระเบียบสำนักนายก แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. … เตรียมเสนอต่อ ครม. (ตามแผนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ภายใน เม.ย. 2559) และการตั้งเขตเศรฐกิจพิเศษคือการวางยุทธศาสตร์เชิงรุกสำหรับการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งไทยมีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ 

20160103181429.jpg

จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่าใน 6 จังหวัดเป้าหมาย เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก ซึ่งประกอบด้วย ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว ตราด และหนองคาย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีทั้งพื้นที่หน่วยงานราชการอื่นครอบครองทำประโยชน์ และพื้นที่ว่างเปล่าที่มีผู้บุกรุกและผู้ใช้ประโยชน์อยู่ ซึ่งต้องมีกระบวนการโอนให้เป็นที่ราชพัสดุและให้กรมธนารักษ์ดำเนินการต่อ ในการจัดพื้นที่เป็นผืนเดียวเพื่อเตรียมรับผู้ประกอบการ

สำหรับพื้นที่พร้อมสุดคือ จ.สระแก้ว พื้นที่ประมาณ 660 ไร่ อ.สะเดา จ.สงขลา พื้นที่ประมาณ 1,196 ไร่ และ อ.แม่สอด จ.ตาก พื้นที่ประมาณ 666 ไร่ ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่จะมีการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อมาที่ จ.มุกดาหาร อยู่ระหว่างการชดเชย คาดว่าในเดือน มี.ค.จะเดินหน้าประกาศเชิญชวนนักลงทุนได้ ส่วน จ.หนองคาย มีความพร้อมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พื้นที่ จ.ตราดทางตอนใต้ ปัจจุบันต้องมีการเคลียร์พื้นที่กองขยะน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะแล้วเสร็จ ส่วน ที่ จ.ตาก ในพื้นที่ที่เหลือ คาดว่าใน 2-3 เดือนจะดำเนินการแล้วเสร็จ

วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ความพร้อมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ลงนามสัญญาเช่าไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา สำหรับสิ่งที่ต้องทำต่อคือการหารือร่วมกับสภาพัฒน์ว่าความต้องการของผู้ประกอบการคืออะไร ซึ่งปัจจุบันมีบริการศูนย์กระจายสินค้า โรงงานและคลังสินค้า โดยเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับการวางผังแม่บท 

ส่วนพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา คาดว่าจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อส่งออกไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับ อ.แม่สอด จ.ตาก ก็จะเน้นการแปรรูปสินค้าเกษตร ทั้งนี้ 3 พื้นที่นี้รวมแล้วมีขนาดกว่า 2,000 ไร่ 

20160103181232.jpg

ที่มา: http://www.treasury.go.th/main.php?filename=SEZ 

แจงปัจจัยดึงดูดนักลงทุน หวั่นไม่ร่วม TPP ทำไทยเสียเปรียบแข่งเวียดนาม

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวให้ข้อมูลว่าขณะนี้มีเขตเศษฐกิจพิเศษใน 140 ประเทศทั่วโลก ก่อให้เกิดการจ้างงาน 66 ล้านคน โดยที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานถึง 30 ล้านคน เขตเศรษฐกิจพิเศษยุคแรกมักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีท่าเรือ ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ชายแดนซึ่งตอบสนองการส่งออกและการค้าชายแดน

ดร.อัทธ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องสิทธิประโยชน์เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจากการวิจัยของประเทศเวียดนาม มี 4 ปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินใจ คือ 1.ขนาดตลาด หรือ GDP ซึ่งปัจจุบันในอาเซียนตลาดขนาดใหญ่ที่สุดคือ อินโดนีเซีย รองลงมาคือไทย 2.รายได้ต่อหัวประชากร 3.ประชากร 4.โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนงานวิจัยของมาเลเซียพบว่ามีปัจจัยอันดับหนึ่งคือค่าจ้างวิศวกร สำหรับงานศึกษาของจีนปัจจัยประกอบด้วย 1.ความพร้อมในการลงทุนของนักลงทุนในประเทศ 2.โครงสร้างพื้นฐาน 3.ทักษะฝีมือแรงงาน และ 4.การผ่อนคลายกฎหมายในประเทศส่งผลต่อความง่ายในการลงทุน

นอกจากนั้นยังมีงานศึกษาของนักวิชาการต่างชาติที่ระบุถึงปัจจัยอื่นๆ อีกเช่น ความสามารถในการเชื่อมโยงกับตลาดโลก เสรีภาพในทางสังคมและการเมือง และความใกล้ไกลกับตลาด 

อย่างไรก็ตาม ดร.อัทธ์ ยังได้ระบุถึง 4 ข้อดี ที่ต้องลงทุนในไทย คือ 1.โครงสร้างพื้นฐาน ถนนดีสุดในอาเซียน โดยมีความสะดวกอยู่ในลำดับที่ 44 ของโลก 2.ทักษะฝีมือแรงงานดีกว่าเพื่อนบ้าน 3.อุตสาหกรรมไทยได้เข้าสู่อุตสาหกรรมที่เน้น นวัตกรรม 4.เป็นศูนย์กลางอาเซียนซึ่งมีโลเคชั่นดีที่สุด

ดร.อัทธ์ กล่าวในส่วนข้อเสนอว่า ในการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราต่างคนต่างขายไม่ได้ ยกตัวอย่างมุกดาหาร กับแขวงสวรรค์ณเขต ประเทศลาว ซึ่งขายของคล้ายกัน ไม่ควรแข่งกันขาย แต่ควรคิดมิติเรื่องการเชื่อมโยงกัน เช่น มุกดาหารทำเรื่องการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพแรงงานให้ลาว หรือการนำวัตถุดิบของลาวมาออกแบบในไทยแล้วส่งออก อาจใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางด้านศุลกากร (GSP) สร้างฮับการส่งออก หรือการสร้างศูนย์ packaging (บรรจุภัณฑ์) พร้อมเสนอรูปแบบการบริหารงานโดย CEO สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์รวมในเรื่องการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ ดร.อัทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยในขณะนี้มีความน่าสนใจลงทุนเพียงระดับปานกลาง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านแข่งขันกันให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนสูงกว่าไทย อย่างไรก็ตามนักลงทุนจะพิจารณาขนาดของตลาดและการเข้าถึงตลาดโลกประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย ซึ่งระยะสั้นการที่ไทยยังไม่เข้าเป็นสมาชิก ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) อาจทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนามได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรพิจารณาในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ไทยจะให้แก่นักลงทุนเข้มข้นมากขึ้น

20160103181533.jpg

20160103181548.jpg

 

เชื่อเขตเศรษฐกิจไทยจูงในนักลงทุน ภาระผู้ประกอบการไม่ใช่ประเด็น

จักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษปัจจุบันให้เช่าพื้นที่ยาว 50 ปี และกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายให้เป็น 99 ปี โดยอัตราค่าเช่าคือ สงขลา 40,000 บาท ต่อไร่/ปี ตาก 36,000 บาท ต่อไร่/ปี สระแก้ว 32,000 บาท ต่อไร่/ปี ส่วนที่ตราด มุกดาหาร และหนองคาย 24,000  บาท ต่อไร่/ปี โดยทั้งหมดจะมีการปรับขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ ทุก 5 ปี

20160103181141.jpg

ที่มา: http://www.treasury.go.th/main.php?filename=SEZ 

ส่วนการประกาศราคาค่าเช่าที่ซึ่งอาจเป็นราคาที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จักรกฤศฏิ์ว่า ถือเป็นราคาที่จูงใจมาก เมื่อพิจารณาประกอบกับปัจจัยด้านการลงทุนอื่นๆ ซึ่งภาระผู้ประกอบการอาจไม่ใช่ประเด็นหลักนัก

ในส่วน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบายว่า คุณสมบัติของผู้เสนอการลงทุน คือ เป็นนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท หรือเป็นการร่วมธุรกิจที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีผลงานในการทำนิคมสำเร็จอย่างน้อย 1 โครงการ 

กรมธนารักษ์ จะเปิดประมูลให้เอกชนเสนอโครงการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรายเดียวทั้งแปลง โดยการคัดเลือกมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ 1.การยื่นเสนอโครงการลงทุน ซึ่งประกอบด้วย Land use และ Master planning การศึกษาความเป็นไปได้ในทางการเงิน การลงทุน และผลตอบแทน รูปแบบการทำธุรกิจ (Business Plan) กรอบระยะเวลาในการดำเนินการ และส่วนที่ 2 คือ การยื่นเสนอผลประโยชน์ตอบแทนการเช่า ซึ่งมีค่าธรรมเนียมฯ ขั้นต่ำ ตามที่ทางราชการระบุไว้ ซึ่งในส่วน จ.มุกดาหารและหนองคาย จะเริ่มได้ในเดือน มี.ค.นี้

สำหรับขั้นตอนและระยะเวลาในการประเมินโครงการ จะใช้ประมาณ 117 วัน หรือราว 3 เดือน ตั้งแต่การประกาศสรรหาผู้ลงทุน ไปจน กนพ.ให้ความเห็นชอบ

20160103181036.jpg

ที่มา: http://www.treasury.go.th/main.php?filename=SEZ 
 
 

เตรียมพานักลงทุนลงพื้นที่ดูความพร้อม จ.สระแก้ว

ด้านสำนักข่าวไทย รายงานว่า ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในงานว่า กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยได้รับสนใจอย่างจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ และในสัปดาห์นี้จะนำนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจ ลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ซึ่งถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมทุกด้าน และจะเป็นแบบอย่างหรือโมเดลให้แก่ 9 เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อนำไปปรับใช้

นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดตาก และสงขลากำลังปรับปรุงพื้นที่เพื่อดึงดูดการลงทุน เพื่อสามารถขยายการค้าและการลงทุนได้ในอนาคต แม้ว่าจะมีข้อคิดเห็นจากนักวิชาการว่า การให้สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยและแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไป แต่เห็นว่า สิทธิประโยชน์ของไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม และไทยยังมีจุดแข็งด้านการค้าชายแดนที่เหมาะสม ทั้งการอำนวยความสะดวก การเชื่อมต่อด้านระบบการขนส่ง ซึ่งหากมีเขตเศรษฐกิจพิเศษตามด่านชายแดนต่างๆ จะยิ่งช่วยให้การค้าชายแดนของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย ได้แก่ โลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดน และหน้าด่านในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการค้าชายแดนอย่างเดียว 1.1 ล้านล้านบาท และยังมีการค้าชายแดนที่ไม่ได้เก็บข้อมูลอีกมูลค่าจำนวนมาก ดังนั้นจึงเชื่อว่า ในปีนี้จะมีมูลค่าการชายแดนของไทย จะมีมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และในเดือนมีนาคมจะประชุมเพื่อสรุปเป้าหมายการค้าชายแดนในปีนี้

20160103181742.jpg

ที่มา: เอกสาร คู่มือการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ฉบับปรับปรุง มีนาคม 2559

หมายเหตุ: 

ประเภทอุตสาหกรรม/ อุตสาหกรรมเป้าหมาย

กิจการเป้าหมายของแต่ละพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 มีดังนี้

 

20160103180442.png



ที่มา: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) http://www.ieat.go.th/sez

20160103193438.jpg

20160103193449.jpg

20160103193503.jpg

20160103193456.jpg

20160103193509.jpg

20160103193516.jpg

ที่มา: http://www.treasury.go.th/main.php?filename=SEZ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ