‘8 เหตุผล’ ภาคประชาสังคม ค้าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ร้องออก กม.ใต้ รธน.-ผ่านสภาผู้แทน

‘8 เหตุผล’ ภาคประชาสังคม ค้าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ร้องออก กม.ใต้ รธน.-ผ่านสภาผู้แทน

11 องค์กรภาคประชาชน แถลงการณ์คัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … ร้อง สนช.ยุติการผ่านร่างกฎหมาย ชี้ควรดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ภาพและเนื้อหา: Rungroj Petcharaburanin

 

20151903235934.jpg

19 มี.ค. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ทิศทางเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทย” เพื่อเปิดเวทีให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … หลักความจำเป็น และความพอสมควรแก่เหตุของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในการชุมนุมสาธารณะ และแสวงหาแนวทางและการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ กลุ่มผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนสร้างความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนในสังคม 

การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นที่ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม ภาคประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม และสื่อมวลชน เข้าร่วมประมาณ 50 คน

20151903235854.jpg

ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในเวทีเสวนาว่า การชุมนุมเป็นเครื่องมือการประกันเสียงข้างน้อยในสังคมให้สามารถแสดงออกต่อเรื่องราวที่เขาถูกกระทบได้ คปก.ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่อยู่ในบรรยากาศที่เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ถ้ากฎหมายไม่ได้รับการยอมรับ เป็นการกีดกันบางฝ่ายจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา

“เสรีภาพการชุมนุม นำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ แม้แต่การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายหลายๆ ฉบับ ก็ได้มาจากเสรีภาพในการชุมนุม เพราะการชุมนุมเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งเสรีภาพ สิทธิอื่นๆ ของคนเล็กคนน้อย และการแก้ปัญหาของประชาชนในอนาคตข้างหน้า” ไพโรจน์ กล่าว

20152003000147.jpg

ส่วนสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จะทำให้ทุกอย่างจะจบลงภายใต้กระบวนการยุติธรรม แต่ปัญหาไม่จบ การชุมนุมเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อจำกัดการชุมนุม การเรียนรู้ทางการเมืองก็เป็นไปได้ยาก การชุมนุมต้องได้รับการคุ้มครอง และมีบางเรื่องที่ควรจำกัด” 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเสวนามีการอ่านแถลงการณ์คัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นกิจกรรมปิดท้าย โดยตัวแทนจาก 11 องค์กรภาคประชาชน โดยระบุเหตุผล 8 ข้อ เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการดำเนินการผ่านร่างกฎหมายในช่วงเวลานี้ หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ….
เผยแพร่วันที่ 19 มีนาคม 2558

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวภายใน 30 วันนั้น องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมขอแสดงความเห็นคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … ฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. นิยามผู้จัดการชุมนุมมีความหมายกว้างขวางมากเกินไป เนื่องจากนิยามตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 10 วรรคสอง ครอบคลุมถึงผู้ที่เชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม แต่การบัญญัติให้รวมถึงบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการบัญญัติที่มีความหมายอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะตีความรวมไปถึงผู้ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์นัดหมายให้มีการชุมนุม หรือเห็นด้วยกับการชุมนุมและช่วยประชาสัมพันธ์แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในความเป็นจริง ซึ่งการเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้นจะมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายตามมา

2. นิยามศาลและการตัดเขตอำนาจศาลปกครอง ตามที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดนิยามของศาลว่าหมายถึงศาลแพ่งและศาลจังหวัด รวมถึงมาตรา 13 และมาตรา 26 กำหนดให้คำสั่งและการกระทำของเจ้าพนักงานไม่เป็นคำสั่ง หรือการกระทำทางปกครอง ซึ่งจะส่งผลสองประการคือ ไม่สามารถนำมาตรฐานวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้ และศาลปกครองไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบคำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

3. การกำหนดห้ามชุมนุมภายในรัฐสภา ทำเนียบ ศาลและห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐหรือรบกวนการปฏิบัติ หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากการชุมนุมของภาคประชาชนส่วนใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อเรียกร้องหน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหา หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การห้ามชุมนุมในสถานที่หรือบริเวณดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากประชาชนต้องการเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง และโดยสภาพการชุมนุมย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้สถานที่ดังกล่าวอยู่แล้ว การบัญญัติลักษณะดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการห้ามการชุมนุมไม่ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เลย

4. การกำหนดให้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง นั้นไม่สอดคล้องกับธรรมชาติในการชุมนุม เนื่องจากบางกรณีเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น การชุมนุมของแรงงานซึ่งนายจ้างปิดสถานประกอบการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน แม้จะขอผ่อนผันระยะเวลาการชุมนุมได้แต่ระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถใช้ระยะเวลาได้ถึง 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน รวมถึงหากไม่แจ้งการชุมนุมเจ้าพนักงานสามารถมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้ทันทีทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายก็ได้

5. การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงตามขนาดที่กำหนด อาจทำให้เป็นปัญหาในการควบคุมผู้ชุมนุม เนื่องจากหากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากแต่ไม่สามารถสื่อสารได้ทั่วถึงได้ การชุมนุมจะไม่เป็นเอกภาพและจะยิ่งก่อความไม่สะดวกแก่ประชานในการใช้พื้นที่

6. การเดินขบวนและการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง การจำกัดการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งในบางกรณีผู้ชุมนุมนั้น เริ่มการชุมนุมในพื้นที่ต่างจังหวัดและเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครในช่วงกลางคือเพื่อมาให้ถึงตอนเช้า

7. การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุม ตามมาตรา 21 และมาตรา 22 นั้นอาจทำให้ศาลกลายเป็นคู่กรณีกับประชาชนในการชุมนุม ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และหากประชาชนต้องการฟ้องว่าการสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นอาจทำให้เป็นปัญหาในภายหลัง

8. การกำหนดโทษทางอาญา เนื่องจากการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพจึงไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญา โทษที่รุนแรงที่สุดตามพระราชบัญญัตินี้นั้นควรเป็นการสั่งเลิกการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายอาญาก็ให้ดำเนินคดีด้วยกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวควรมีลักษณะเป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ใช่การบัญญัติในลักษณะการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น การกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม การสร้างกลไกในการรับข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

องค์กรตามรายขื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพความคิดเห็น การแสดงออกขั้นพื้นฐานจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่อาจแสดงความเห็นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. ในช่วงเวลานี้ หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม 
สมานฉันท์แรงงานไทย
กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
เครือข่ายสลัมสี่ภาค

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ