16 มี.ค. 2558 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …. หวังสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกสารปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค ให้เท่าทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ภายในงานสมัชาผู้บริโภคและรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2558 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ จัดโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.คุ้มมครองผู้บริโภค) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการ คอบช. เขต 7 ภาคใต้ กล่าวถึงกระบวนการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระว่า ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งหากผ่านแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการทำงานขององค์การอิสระ จะร่วมมือกับ สปช. ในการปฏิรูปโดยการใช้พิมพ์เขียว (blueprint) เพื่อการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดขององค์กรผู้บริโภคสากลที่ว่าด้วยเรื่อง สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (consumer right to healthy food)
“การจัดงานสมัชชาผู้บริโภคและวันผู้บริโภคสากลครั้งนี้ ผู้บริโภคจะได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสังเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ และแก้ปัญหาผู้บริโภคในเชิงนโยบาย สิ่งที่ผลักดันมาตลอดในประเด็นอาหารปลอดภัยคือ ฉลากไฟจราจร เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยง่ายและถูกต้อง” กรรมการ คอบช. เขต 7 ภาคใต้ กล่าว
ภญ.ชโลม กล่าวถึงข้อเสนอโดยรวมว่า “เรื่องความมั่นคงของระบบอาหารที่ต้องทำร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนส่วนอื่น ยังคงยึดความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมสารเคมีเป็นพิษ (ยาฆ่าแมลง) นโยบายการสร้างพื้นที่สีเขียว (เกษตรอินทรีย์) หรือการลดปัญหาการปนเปื้อนจากบรรจุภัณฑ์ โดยปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเป็นผู้ได้รับผลกระทบปลายทางแต่ไม่มีหน่วยงานที่สามารถจัดการปัญหาแบบบูรณาการได้”
ด้าน บุญยืน ศิริธรรม กรรมการ คอบช. เขต 6 ภาคตะวันตก กล่าวถึงความสำคัญของกฎหมายองค์การอิสระฯ ว่า กฎหมายฉบบนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิได้เต็มที่ในฐานะพลเมือง ซึ่งมีสาระสำคัญคือ สร้างความเข็มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคโดยมีบทบาทหน้าที่ ดังนี้ 1.เปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะขณะนี้หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในการเปิดเผยชื่อสินค้า 2.เป็นปากเสียงให้กับผู้บริโภคในการถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะผู้ประกอบการเข้มแข็งและมีความหลากหลายกว่า
3.เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะต้องมีคนช่วยให้ผู้บริโภคเท่าทัน เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทต้องมีความรู้เฉพาะด้าน เช่น เรื่องพลังงาน ฯลฯ 4.รับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้บริโภคแบบครบวงจร (one stop service) เป็นการช่วยจัดการปัญหา และยกระดับการจัดการเป็นเชิงระบบนโยบาย 5.ตรวจสอบงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งรัฐและเอกชน และ 6.ดำเนินงานเชิงรุก ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพื่อทำให้สามารถเปิดเผยข้อมูลสินค้าได้อย่างอิสระ ฯลฯ
“หากมีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจับปรับลงโทษผู้กระทำผิด และในส่วนขององค์การอิสระทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ตรวจสอบและให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐ” กรรมการ คอบช. เขต 6 ภาคตะวันตก กล่าว
ภญ.ชโลม กล่าวเสริมว่า องค์การอิสระ ต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตจะเป็นงานเชิงรุก ทั้งการสร้างกลไกให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ให้เท่าทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดี สร้างระบบชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมและพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิผู้บริโภคสากล โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับข้อมูลความรู้อันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน
“เชื่อมั่นว่ารัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา จะผ่านร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และเป็นของขวัญให้ผู้บริโภค ตามนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ” ภญ.ชโลม กล่าว