แจง 8 เหตุผลคงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า – ย้ำบัตรทองต้องไม่แยก จน-รวย

แจง 8 เหตุผลคงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า – ย้ำบัตรทองต้องไม่แยก จน-รวย

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกโรงแจง “ระบบบัตรทอง” หลัง “บิ๊กตู่” ไม่เข้าใจหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ยันต้องไม่แยกคนจนคนรวย ต้นเหตุทำสิทธิรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานกลายเป็นรักษาพยาบาลสงเคราะห์ พร้อมเสนอรวมกองทุนรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียว เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบรักษาพยาบาลของประเทศ  

20152804172648.jpg

28 เม.ย. 2558 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เผยแพร่ คำอธิบาย 8 เหตุผลของการคงไว้ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบุตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ระบุให้คนรวยเสียสละไม่ใช้สิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อทำกุศลให้คนจน และให้สิทธินี้มีไว้เพื่อคนจนเท่านั้น

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นว่า นายกรัฐมนตรียังมีความไม่เข้าใจในหลักการ และหัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความเป็นธรรมและความสุขในสังคมอย่างแท้จริง จึงขอแถลงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นของรักษาไว้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่แปรเปลี่ยนเป็นสวัสดิการรักษาพยาบาล สำหรับผู้มีรายได้ต่ำ

ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน ประชาชนไม่ยอมให้รัฐบาลไหนมาทำลาย
ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน แบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่จนได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าสามารถรักษาได้ทุกโรค โดยประชาชนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษี เป็นระบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ทำให้ทุกคนได้รับการรักษา ทุกคนได้ประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ศ.อมาตยา เซน (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้เขียนบทความเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ฝันที่สามารถจ่ายได้ (Universal healthcare: the affordable dream) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ นสพ.เดอะการ์เดียน ซึ่งเป็น นสพ.ชั้นนำของประเทศอังกฤษ ยกย่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยว่า เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวย ก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ และหลักประกันสุขภาพไทยก็ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถลดความยากจน ลดการล้มละลายจากการเจ็บป่วยลงได้อย่างรวดเร็วหลังจากดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่นาน รวมถึงตัวชี้วัดสุขภาพของประชากรก็ดีขึ้น

2. ปกป้องการล้มละลาย เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังในครอบครัว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ดําเนินการประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ.2545- 2554) พบว่าปี พ.ศ.2553 ครัวเรือนที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ.2538 เหลือ ร้อยละ 2.8 ในปี พ.ศ.2551 ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนลงได้กว่า 8 หมื่นครัวเรือน นอกจากนี้กลุ่มผู้ให้บริการที่เคยมีระดับความพึงพอใจต่อระบบนี้ค่อนข้างต่ำในระยะแรกร้อยละ 39 ในปี พ.ศ.2547 กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 79 ในปี พ.ศ.2553 

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ปกป้องไม่ให้คนไทยต้องล้มละลายมากกว่า สามแสนคน ในจำนวนนี้คือ ผู้ป่วยไตวาย 34,000 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัส 230,000 คน ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจวายได้รับยาละลายลิ่มเลือด 1,631 คน ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องผ่าตัด 1,451 คน ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแล 8,157 คน ได้รับเคมีบำบัด 2560 คน ผู้ป่วยต้อกระจกได้รับการผ่าตัดแล้ว 26,863 คน คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นคนที่พอมีฐานะ แต่หากต้องใช้เงินกับค่ารักษาในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง อาจจะทำให้ล้มละลายได้

3. เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง มีอำนาจต่อรองราคายาและอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้รักษาได้ทุกโรค
ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง มีอำนาจต่อรองราคายาและอุปกรณ์การแพทย์ เป็นพลังการต่อรองที่มหาศาล ทำให้คนเข้าถึงยาจำเป็นได้ โดยประเทศไม่สูญเสียงบประมาณเกินความจำเป็น
จากประสบการณ์การการต่อรองราคายาต้านไวรัสเอชไอวี ในปี 2550 ทำให้ต้นทุนด้านการรักษาพยาบาลลดลง จนสามารถนำงบประมาณไปพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยไตวายได้ และมีคณะกรรมการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนชนเข้าถึงยาราคาแพงที่จำเป็นได้ ซึ่งจากการต่อรองราคาในปี 2555 สามารถต่อรองราคายาจำเป็นและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาได้มากกว่า 10 รายการ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,170 ล้านบาท

นอกจากนี้ กลไกการต่อรองราคายา ยังทำให้เห็นประสิทธิภาพของระบบที่เหนือกว่าระบบอื่น ยกตัวอย่าง Stent สำหรับโรคหัวใจที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซื้อได้ในราคา 12,000 บาท ในขณะที่สิทธิราชการต้องจ่ายในราคา 40,000 บาท

4. บริษัทยาข้ามชาติ บริษัทประกัน และโรงพยาบาลเอกชนเสียประโยชน์
เมื่ออำนาจต่อรองสูง บริษัทยาข้ามชาติที่เคยได้กำไรมหาศาลจากราคายาที่ไม่เป็นธรรม ก็สูญเสียทั้งอำนาจต่อรอง และผลกำไรส่วนเกินที่เป็นเม็ดเงินมหาศาลไปด้วย รวมไปถึงเมื่อประชาชนพึงพอใจกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน โรงพยาบาลเอกชนที่เคยตั้งราคาค่ารักษาพยาบาลได้ตามใจ ก็มีฐานลูกค้าลดลง

หากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถอยหลังกลับไปเป็นระบบสำหรับคนจน เป็นระบบอนาถาสำหรับคนจนเท่านั้น อำนาจการต่อรองต่างๆของประเทศก็จะลดลงไป จนในที่สุดผลประโยชน์ต่างๆก็จะเอื้อกับบริษัทยาข้ามชาติ บริษัทประกัน และโรงพยาบาลเอกชนเช่นเดิม

5. สุขภาพเป็นสิทธิของทุกคน ที่รัฐต้องจัดให้ ไม่ใช่บริการที่จะจำหน่ายให้ตามจำนวนเงินในกระเป๋า
แนวคิดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งอยู่บนหลักการของ การรักษาสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่รัฐต้องจัดให้ ไม่ใช่บริการที่จะจำหน่ายให้ตามจำนวนเงินในกระเป๋า ดังนั้นมาตรฐานและคุณภาพการรักษาย่อมต้องเท่าเทียมกันทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน และมุ่งสู่การรักษาให้สามารถคงคุณภาพชีวิตที่ดี โดยรัฐต้องมีหน้าที่พัฒนาระบบ และหางบประมาณจากการนำเงินภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม บนหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข คนป่วยช่วยคนไม่ป่วย ทุกคนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษี

6. ความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพที่ต่างกัน เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข
ระบบหลักประกันด้านสุขภาพของไทยมีหลายระบบและยังมีความเหลื่อมล้ำ เช่น เหลื่อมล้ำจากเงินที่รัฐสนับสนุน ข้าราชการได้มากกว่าคนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคม แต่ละระบบมีความเหลื่อมล้ำจากการรับบริการจากประชาชนที่อยู่ในสวัสดิการสุขภาพที่ต่างกัน รัฐจึงควรลดความเหลื่อมล้ำที่ต้นเหตุ คือบริหารที่ต่างกันของแต่ละระบบ นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันของการรับบริการ และมาตรฐานการรักษา 

จากกราฟแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่ใช้บริการมากกว่าคือกลุ่มข้าราชการ ในขณะที่งบประมาณที่ใช้ต่อหัวประชาชนก็สูงกว่าถึง 5 เท่า ในแง่ประสิทธิภาพก็พบว่า ยาตัวเดียวกันหลายรายการ สิทธิข้าราชการต้องจ่ายในอัตราที่แพงกว่า

7. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีส่วนช่วยพัฒนาสิทธิประโยชน์และมาตรฐานการรักษาของสวัสดิการด้านสุขภาพของประเทศ
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ระบบการรักษาแบบอื่น มองเห็นแนวทางการจัดการและพัฒนาในส่วนที่ด้อยกว่า เช่น ระบบข้าราชการและประกันสังคมปรับวิธีการจ่ายเงินมาใช้วิธีระบบจ่ายเงินแบบค่าวินิจฉัยโรคร่วม (DRG/Rw) การจัดทำระบบบัญชียาหลักของประเทศ ที่ทำให้ทุกระบบการรักษามาใช้บัญชียาหลักเดียวกัน เข้มงวดเรื่องยาไม่จำเป็นต่างๆรวมไปถึง ความต่างของสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบเคียงกับบัตรทอง จนนำมาสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

8. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการบริหารภาครัฐเดียวที่มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ในการพัฒนานโยบาย สิทธิประโยชน์ และบริหารจัดการมาตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด เขต และระดับชาติ
ประชาชนเป็นผู้ร่วมออกแบบกฎหมายมาตั้งแต่ต้น มีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการไปร่วมกำหนดนโยบาย และบริหารงบประมาณในกลไกกรรมการในแต่ละระดับท้องถิ่น ระดับเขต ควบคุมและกรรมการระดับชาติ รวมทั้งมีการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกัน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่

20152804172734.jpg

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ Hfocus รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาชน ได้ร่วมกันแถลงข่าว “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิขั้นพันฐานของทุกคน” เพื่อชี้แจงหลักการการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องเป็นของคนไทยทุกคน 

นายจอน อึ้งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแม้แต่ในกลุ่มผู้บริหารประเทศเอง ยังเป็นกลุ่มที่เข้าใจและไม่เข้าใจต่อหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการรับรู้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และคิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่จะเป็นภาระงบประมาณประเทศ จึงเห็นควรจัดให้เป็นระบบรักษาพยาบาลเฉพาะคนจน และให้คนมีเงินเสียสละออกจากระบบ ซึ่งในข้อเท็จจริงหากนำคนเหล่านี้ออกเมื่อไหร่ จะส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศทันที คุณภาพการรักษาพยาบาลจะลดลง รวมถึงประสิทธิภาพการบริการ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะถือว่าเป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องมีการอธิบายให้ผู้นำประเทศได้เข้าใจ

นายจอน กล่าวว่า หลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหลักการ ซ้ำยังมองว่าเป็นระบบสำหรับคนจนเท่านั้น ทั้งนี้อาจมาจากภาพรอคิวการรักษาที่ยาวและใช้เวลารอนาน ต่างจากการรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน แต่ปัญหานี้กำลังถูกแก้ไขลงโดยการปรับระบบการรอคิว การขยายการให้บริการคลินิกชุมชนซึ่งต้องใช้เวลา อีกทั้งหากต้องการให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีประสิทธิภาพ จะต้องนำคนเข้าสู่ระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนมีเงิน หรือไม่มีเงิน ซึ่งที่ผ่านมาคนในวัยหนุ่มสาวเองคงยังไม่เห็นความสำคัญของระบบนี้ แต่หากเป็นผู้สูงอายุ และครอบครัวที่มีผู้ป่วยเรื้อรังจะเห็นคุณค่าของระบบนี้อย่างมาก

ทั้งนี้หลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าคือต้องไม่ใช่ระบบสงเคราะห์ แต่เป็นระบบบริการรักษาพยาบาลของรัฐสำหรับคนทุกคนในสังคมที่เข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นหลักการที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้กันอยู่ ทั้งนี้ปัจจุบันงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ครอบคลุมทุกโรค และดูแลประชากรกว่า 48 ล้านคน ซึ่งหากทำประกันสุขภาพเอกชนก็ยังไม่ครอบคลุมเท่า ทั้งยังมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากหากเปรียบเทียบกับสวัสดิการข้าราชการที่ใช้งบมากกว่าถึง 5 เท่า หรือ 12,000 บาทต่อคน หากจะประหยัดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ ก็ควรจะที่จะรวมและบริหารเป็นกองทุนเดียว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของประเทศ 

“หากมีการเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วทำให้กลายเป็นระบบสงเคราะห์ เชื่อว่าภาคประชาชนจะต่อสู้และไม่ยอม ซึ่งหากดูปรากฎการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทุกครั้งที่มีการดำเนินนโยบายที่ลดคุณภาพการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ ประชาชนจะลุกขึ้นคัดค้านทันที เพราะประชาชนต่างเห็นคุณค่าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่ปรึกษาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวและย้ำว่า การทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบรักษาพยาบาลชั้นสอง ถือว่าเป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเมื่อไหร่นำคนมีเงินออกจากระบบ ระบบก็จะล้ม เพราะหลักการถูกต้องคือต้องนำคนมีเงินเข้ามา เพื่อเฉลี่ยการรักษาที่ต้องได้รับสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต สว.สมุทรสงคราม หนึ่งในกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจประชาชนและผู้มีอำนาจบริหารประเทศ อย่ามองว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายประชานิยม หรือของพรรคการเมืองใด แต่ระบบนี้เกิดจากปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่กระตุ้นให้หลายฝ่ายมาร่วมกัน จนทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น

“ผู้บริหารไม่ใช่ฟังเพ็ดทูลจากหน่วยงานรัฐ แต่ควรต้องดูผลจากการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ทุกคนในประเทศเข้าไปใช้บริการรักษาพยาบาลได้บนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในระบบยังมีปัญหาอีกมาก ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำประเทศต้องทำ คือต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่มองเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าเป็นภาระ แต่ต้องทำให้เป็นระบบที่เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ที่คนจนคนรวยมีสิทธิเท่ากันหมด และต้องลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาลให้มีมาตรฐานเดียว เพราะยังมีบางกองทุนที่มีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 12,000 บาทต่อคน ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเฉลี่ยที่ 3,000 บาทเท่านั้น”

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทำลายภาพลักษณ์ว่าการักษาแพงถึงจะดี เพราะที่ผ่านมาจากการบริหารระบบที่มีประสิทธิภภาพ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แต่ยังทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง อย่างการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งกรมบัญชีกลางแต่เดิมต้องจ่ายค่าเส้นเลือดเทียมให้กับข้าราชการที่ต้องผ่าตัดหัวใจถึง 80,000 บาทต่อเส้น ซึ่งกรมบัญชีกลางไม่เคยต่อรอง แต่พอมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้เกิดการต่อรองราคา โดยปัจจุบันราคาลดลงเหลือเพียง 12,000 บาทต่อเส้น ดังนั้นรัฐบาลต้องฉลาด ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร เพื่อให้ระบบรักษาพยาบาลเข้าถึงประชาชนทุกคน และรัฐต้องทบทวนว่ารัฐบาลจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรวมกองทุนเพื่อเฉลี่ยงบประมาณรักษาพยาบาลประเทศมีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นธรรมกับคนทุกคนในประเทศหรือไม่

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยผู้ป่วยได้จ่ายภาษีเพื่อเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพก่อนที่จะป่วยแล้ว ดังนั้นเราไม่ได้ใช้บริการรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าโรคเอชไอวีมีค่ายาที่แพงมาก แต่ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบต่อรองราคายา ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ ทั้งส่วนตัวรู้สึกไม่สบายใจที่มีการบอกว่าเป็นระบบสุขภาพสำหรับคนจน เพราะเป็นการนำไปสู่การตีตราที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นางสายชล ศรทัตต์ แกนนำเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการจัดสรรงบเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาราคาแพงอย่างยามะเร็งได้ แม้จะไม่ทุกรายการ แต่ระบบนี้ก็ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้และตายอย่างมีศักดิ์ศรี โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านับเป็นแม่แบบให้กับระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบ ทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาได้ 

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตอยู่ในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 50,000 ราย ทั้งผู้ป่วยล้างไตผ่านหน้าท้องและฟอกไตผ่านเครื่อง ซึ่งจากเดิมผู้ป่วยไตต้องเสียค่ารักษาเดือนละกว่า 6,000 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งหากไม่มีระบบนี้ผู้ป่วยจะเข้าไม่ถึงการรักษา หรืออาจต้องล้มละลายจาการรักษาได้

ด้าน น.ส.บุษยา คุณากรสวัสดิ์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารประเทศควรมองการบริหารให้ครอบคลุม ซึ่งประเทศไทยมี 3 ระบบ โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้งบประมาณ 160,000 ล้านบาท ดูแลประชากร 48 ล้านคน แต่ระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการใช้งบ 60,000 ล้านบาท ดูแลคนประมาณ 5 ล้านคน จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก ขณะที่ระบบประกันสังคมเองก็ใช้งบมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นผู้บริหารประเทศจึงต้องมองอย่างครอบคลุมทุกระบบ ไม่ใช่แค่มองระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ