“ข้อกังวลใจของเราคือว่า มันยังไม่ใช้วิธีการที่จะยกเครื่องใหม่ คือจะสร้างบ้านใหม่มันน่าจะดีกว่า คือให้ทุกคนมีที่นั่งมีที่อยู่ในบ้านหลังนี้ ในรัฐธรรมนูญที่จะออกแบบใหม่นี้ แต่ตอนนี้มันเหมือนคนส่วนหนึ่งออกแบบบ้าน แล้วก็ลืมคนอีกส่วนหนึ่ง และก็คนอีกส่วนหนึ่งพยายามส่งเสียง แต่ก็ถูกปิดกั้น อย่างนี้มันก็จะไม่สมบูรณ์“ พฤ โอ่โดเชา ปกาเกอะญอหนุ่มจากสะเมิง บอกเล่าความคิด
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2558 ในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ พฤ ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เชิญตัวพูดคุย หลังสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือจัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ ครั้งที่ 2 เพื่อระดมข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเคลื่อนขบวนไปทำกิจกรรมสัญลักษณ์จุดเทียนส่องรัฐธรรมนูญ อ่านแถลงข่าว และยื่นข้อเสนอต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ (อ่านข่าวเก่า: https://thecitizen.plus/node/4765)
ทีมงานนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสพูดคุยกับพฤ โอ่โดเชา ถึงเจตนารมณ์การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ และความคิด ความหวังของเขาต่อการปฏิรูปประเทศที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา เจตนาการออกมาของเราคืออะไร?
เจตนาของพวกผมคือ เป็นชนเผ่าเข้ามาร่วมกับขบวนประชาชนเพื่อการปฏิรูปเพื่อที่จะนำปัญหาของชนเผ่าเข้าไปกับคณะของประชาชน เรื่องหนึ่งคือ สิทธิชุมชนดั่งเดิมจะไม่มีบัญญัติให้เรามีสิทธิมีเสียงถ้าไม่มีกลุ่มนี้ พวกเราจะเดือดร้อนไม่รู้จะต่อกลอนอย่างไรกับนโยบายที่จะเข้าไปทำลายชุมชนของผมไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บทป่าไม้หรือโครงการขนาดใหญ่
สองคือที่ผ่านมาพวกผมเข้าไปใช้กลไกลของกรรมการสิทธิมาโดยตลอดในการยับยั้งและใช้รัฐธรรมนูญเดิมตรงนี้ยืนยันในสิทธิแต่ว่าถ้าตอนนี้เขายุบรวมแล้วทำหน้าที่กันคนละอย่าง คือรับธรรมนูญคือยุบรวม ทำให้ทำหน้าที่คนละอย่างก็จะทำให้ที่พึ่งของพวกผมก็จะไม่มี
อีกข้อหนึ่งคือ สิทธิชนของชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ ขอให้เขาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่มี ถ้าไม่มีสิทธิของพวกผมก็ไม่มี อย่างเช่นที่อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีอัตลักษณ์ชนพื้นเมือง ผมก็ไม่เห็น ไม่แน่ใจว่าอัตลักษณ์ชนพื้นเมืองคือ ที่อยู่ ที่ทำกินด้วยไหมไม่แน่ใจว่าจะครอบคลุมด้วยไหม ที่เราต้องการคือ ต้องการให้ครอบคลุมไปถึงวิถีความเป็นอยู่ทางวัฒนธรรมและพหุวัฒนธรรมทั้งหมดที่จะบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญคุ้มครองวิถีดั่งเดิมถ้าไม่ครอบคลุม พวกผมที่อยู่ดั้งเดิมมีกฎหมายอุทยานมาทับ ทำให้พวกผมกลายเป็นชุมชนใหม่ที่บุกรุกป่า แต่จริงๆ แล้วชุมชนของปกาเกอะญออยู่มาก่อนแล้ว กฎหมายอุทยานหรือป่าสงวนมาทับ อีกอันคือ แผนแม่บทป่าไม้ที่ดำเนินการ อย่างทวงคืนผืนป่าจะกระทบกับพวกผมมากถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญคุ้มครองตรงนี้ไม่มีสิทธิคุ้มครองชัดเจน พวกผมจะทำอย่างไร มีความเหลื่อมล้ำหลายเรื่อง เลยมีความจำเป็นที่จะมา
และอีกข้อหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการพูดถึงการกระจายการถือครองที่ดิน ก็จะทำให้หัวใจหลักการกระจายการถือครองที่ดินไม่ถูกดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เคยเขียนไว้ และข้อกังวลของคนไม่มีที่ดินก็จะมีปัญหา อย่างคนที่เคลื่อนไหวการปฏิรูปที่ดินคนที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ชนเผ่าอย่างพวกผมก็มายื่นข้อเสนอ และก็มีคนมารับอย่างชัดเจน โดยมีคุณทิฑัมพร กองสอน สปช.น่าน มอบหมายให้คุณเดโช ไชยทัพ ซึ่งเป็นอนุกรรมการ มารับแทน เราตกลงและนัดหมายกันแล้วว่าจะมียื่นที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
เราไม่รู้ว่าช่องทางไหนที่คนที่มีปัญหาหรือได้รับผลกระทบจะส่งเสียงไปทางช่องทางไหน เพราะไม่มีช่องทางที่จะให้ตัวแทนชาติพันธุ์ ตัวแทนของกลุ่มปัญหาต่างๆ ก็ไม่ได้มี นี่ก็คือสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการนำเสนอออกไปสู่ผู้ที่กำลังออกแบบประเทศไทย และเราก็คิดว่ามีความชอบธรรม เพราะว่าเขากำลังพูดคุยกันเรื่องของการปฏิรูปปัจจุบัน เราก็ทำตามที่เขาปฏิรูปกันอยู่ คิดว่ามันก็เป็นอันเดียวกัน เพียงแต่เราส่งเสียงขึ้นไป
ก่อนหน้านี้ก็เคยไปยื่นในลักษณะแบบนี้ในหลายเวทีด้วยหรือไม่?
ก่อนหน้านี้พวกผมก็ไปยื่นในหลายๆ เวทีอย่างเช่นสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ได้ไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลกับที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไปยื่นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย หลายครั้งแล้วที่ไป ยื่นผ่านสื่อมวลชนก็ยื่น ทำเวทีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุสรณ์สถาน ทำกันหลายที่ และที่นี่ก็เป็นเวทีของภาคเหนือที่เรามีการพูดคุยกันเป็นครั้งที่ 2 จากภาคประชาชนต่างๆ ก็มารวมปัญหากันแล้วก็พูด
หลังถูกควบคุมตัว คิดอย่างไร?
เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นแล้ว พวกผมก็กังวลว่า ต่อไปพวกผมจะสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร จะเอาเรื่องของผมขึ้นไปให้กับนโยบาย หรือผู้ปฏิบัติงานทราบอย่างไร สิทธิของคนที่อยู่ในป่าในดอย คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ จะมีช่องทางอย่างไร ช่องทางตามปกติ กลไกลที่มีอยู่ ออกมามันไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่เราต้องการเราก็ทำอะไรไม่ได้ พอเราทำอะไรไม่ได้เราก็พูดออกไปไม่ได้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมาอย่างนี้แล้ว มันจะเป็นแปลงอย่างไรอีก มันจะเปลี่ยนได้อีกหรือไม่ แล้วพวกผมที่ส่งเสียงมานานแล้ว จะมีช่องทางหรือวิธีการอย่างไรบอกกับคนข้างบนอย่างไร
จริงๆ แล้วความหวังก็คือ การปฏิรูปประเทศครั้งนี้หรือการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะดีกว่าทุกครั้ง น่าจะมีทุกสิทธิทุกเสียงมารวมกันเสนอ มีส่วนร่วม และทุกปัญหาที่มีมายาวนานถูกเอามาวางและก็มีการคลี่เพื่อหาทางออกให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างกรณีกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่ผ่านมาแท้จะมีรัฐธรรมนูญคุ้มครอง เราก็ยังถูกไล่ลื้อ ถูกจับกุม สิทธิที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ที่หากินก็ยังไม่ถูกยอมรับ ยังถูกกระทำอยู่
เวทีรับฟังความคิดเห็นที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการนำเสนอประเด็นของเรา หรืออย่างไร ?
คือช่องทางที่เขาบอกว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็น พวกผมก็ไม่รู้อย่างเขาบอกว่า จัดไปเมื่อสองวันก่อน (20 ก.พ. 2558) พวกผมก็ไม่รู้ อาจจะลองไปถามคนที่อยู่บนเขา ในป่าในดอยดูว่าเขารู้เรื่องไหม เขาไม่รู้ ตัวแทนของคนที่เดือดร้อนและส่งเสียงมาตลอดก็ไม่ได้เข้าไปรู้เรื่อง และอีกอย่าง คือพอเราส่งเสียงไปแล้ว ไปถึงข้างบน แล้วไม่เห็นด้วย เขาจะเชิญตัวแทนพวกเราที่เสนอปัญหาไปนำเสนอไหม ก็คิดว่าคงไม่มี และถ้าหากว่านำเสนอไปแล้วเกิดความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง เราจะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่แบบที่เรานำเสนอไป พอเราจะเสนอแก้ไข เขาก็บอกว่า มันผ่านระบบผ่านกระบวนการแล้วเราจะส่งเสียงอีกก็ไม่ได้ ก็ถูกปิดกั้นตั้งแต่ต้นทาง แล้วแบบนี้มันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือการปฏิรูปที่ดีอย่างไรถ้าวางกลไกลแบบนี้
ข้อกังวลใจของเราคือว่า มันยังไม่ใช้วิธีการที่จะยกเครื่องใหม่ คือจะสร้างบ้านใหม่มันน่าจะดีกว่า คือให้ทุกคนมีที่นั่งมีที่อยู่ในบ้านหลังนี้ ในรัฐธรรมนูญที่จะออกแบบใหม่นี้ แต่ตอนนี้มันเหมือนคนส่วนหนึ่งออกแบบบ้าน แล้วก็ลืมคนอีกส่วนหนึ่ง และก็คนอีกส่วนหนึ่งพยายามส่งเสียง แต่ก็ถูกปิดกั้น อย่างนี้มันก็จะไม่สมบูรณ์
ย้อนถึงความพยายามของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีแนวนโยบายกระทบต่อวิถีมายาวนาน พฤ รู้สึกอย่างไร?
จริงๆแล้วกะเหรี่ยงมีมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เพื่อให้นำไปปฏิบัติ ซึ่งเราก็ต้องการให้นำตรงนี้ไปปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านและสมบูรณ์ อันนี้ฐานเดิมตรงนี้ก็มี ก็อย่างให้นำไปใช้
กรณีรำลึกถึงพะตีปูนุ ดอกจีมู ตอนช่วงที่มีแนวนโยบายให้อพยพคนออกจากป่าซึ่งทางเหนือก็จะมีหมูบ้านหลายหมู่บ้านอพยพมาซึ่งหมูบ้านพะตีปูนุ เป็นอีกหมู่บ้านที่ถูกอพยพ คือบ้านห้วยหอย ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และทางรัฐบาลในสมัยนั้นบอกว่าอย่างไรก็ตามก็ต้องจัดการ และมีขบวนสมัชาเดินทางไปร่วมเรียกร้องที่ กทม. พะตีปูนุก็เดินทางๆ ไปร่วมด้วย ซึ่งขณะเรียกร้องรัฐบาลก็มีทีท่าว่าจะไม่ฟัง พะตีปูนุก็คิดหนักก็กระโดนน้ำที่คลองเปรมประชา ก็มีคนไปช่วยมา หลังจากนั้นก็ส่งกลับ
พะตีปูนุก็คิดเรื่องที่รัฐบาลจะไล่คนออกจากป่าอยู่ จะไม่อ่อนข้อให้กับนโยบาย ทีนี้พะตีปูนุก็ยืนยันว่าคนจะต้องอยู่กับป่า ถ้าจะไล่เราออกจากป่า เราขอตายดีกว่า แกก็พูดอย่างนี้ แล้วแกก็ขึ้นรถไฟ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2540 จากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ พอถึงแถว อ.แม่ทา ก็กระโดดรถไฟ และเสียชีวิตที่นั่น หลังจากนั้น แผนการอพยพก็เงียบไป พวกเราก็อยู่กัน อย่างผมก็ได้อยู่กับหมูบ้านของตัวเองอย่างมีความสุข แต่ไม่ได้สุขมากคือว่า การอพยพก็ไม่มี คือมีแค่การเข้ามาจับกุมในด้านต่างๆ
พะตีปูนุก็เป็นบุคคลสำคัญที่พวกเราจะต้องรำลึกถึงบุญคุณคนคนนี้ และก็เป็นการปลูกฝังให้ปกาเกอะญอรู้ว่าผู้เฒ่าเมื่อก่อนเขาต่อสู่เพื่อแผ่นดินถิ่นเกิดอย่างไร บ้านเกิดตัวเองอย่างไร ต้องการจะอยู่กับป่า และต้องการบอกสังคมว่าเราอยู่มาก่อน เราอยู่มานานแล้ว เราอยู่ที่นี้เราเกิดที่นี่เราก็ขอตายที่นี่ ก็ทำให้คนอย่างผมมีแรงที่จะออกมาต่อสู่เรื่องนี้ต่อไปเพราะผู้เฒ่า เขายืนยันว่า เราต้องสู่เพื่อสิ่งสิ่งนี้ คุณค่ามันอยู่ที่บ้าน ที่ครอบครัวทุกวันนี้ก็สู่กันมานานแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการย้อมรับ ไม่ได้ถูกแก้ไขปัญหาเลยมีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู่ต่อไป การรำลึกถึงพะตีปูนุ ดอกจีมูก็เป็นการรำลึกเรื่องราวของคนอยู่กับป่าต่อไป ผ่านวีระชนที่ช่อว่า พะตีปูนุ ดอกจีมู ของชาวปกาเกอะญอ
ความพยายามพิสูจน์ข้อเท็จจริงในพื้นที่ ของคนที่อยู่กับป่ามีมาอย่างยาวนาน กับกฎหมายที่ระบุว่าจะพยายามรักษาผืนป่าจากการบุกรุกยังคงขัดกับการใช้ชีวิตพวกเขา กลุ่มชาติพันธุ์และที่ผ่านมีความพยายามต่อสู่เรียกร้องเพื่อที่จะยื่นยันสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ของการอยู่กับป่า ตามวิถีดังเดิมมาแล้วอย่างต่อเนื่องในทุกรัฐบาล