หวั่นรัฐฯ ตั้งธง TPP เหตุคิดเรื่องเยียวยา-เร่งแก้กฎหมายก่อนเจรจา

หวั่นรัฐฯ ตั้งธง TPP เหตุคิดเรื่องเยียวยา-เร่งแก้กฎหมายก่อนเจรจา

เอฟทีเอว็อทช์ตั้งคำถามในเวทีกรมเจรจาการค้า นายกฯ ตั้งธง TPP หรือไม่ จึงให้คิดเรื่องเยียวยา ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบ เร่งแก้กฎหมายตาม TPP ก่อนเข้าเจรจา เวทีรับฟังความคิดเห็นเผยข้อมูลกำลังมีงานศึกษาผลกระทบโดยสถาบันปัญญาภิวัฒน์ เสร็จในสิ้น ม.ค.นี้ 

20161401005550.jpg

13 ม.ค. 2559 กรมเจรจาการค้า กระทรวงพานิชย์เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ TPP โดยจัดเป็นรอบนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ทั้งนี้ มีการเปิดเผยว่า กำลังมีงานศึกษาผลกระทบโดยให้สถาบันปัญญาภิวัฒน์เป็นผู้ศึกษา และจะแล้วเสร็จในสิ้นเดือนม.ค.นี้

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ขณะนี้เกือบทุกหน่วยราชการพูดกันว่า นายกรัฐมนตรี เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการเยียวยา หากมีปัญหาอะไรจะรับผิดชอบเอง อยากถามว่าจริงหรือไม่ แล้วนายกจะรับผิดชอบได้อย่างไร ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นต้องไม่ใช่การตั้งธงเพื่อเยียวยา 

หากคิดจะเข้าร่วม TPP โดยไม่ได้ศึกษาอะไรเลย ประเทศก็มีความเสี่ยงมาก และรัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่มาจากการประหาร ไม่ควรตัดสินใจเรื่องที่จะมีผลกระทบระยะยาวอย่างไม่รอบคอบเช่นนี้

“ขอให้คณะทำงานทำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่จงใจบิดเบือนตัวเลขเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นเอกสารที่ใช้ในวันนี้ เป็นเอกสารที่ชี้นำในทางไม่ถูกต้อง จากข้อ 2 ของเอกสารทำให้เข้าใจว่าถ้าเราไม่ร่วมกระบวน TPP จะพลาดมูลค่าการค้าที่ 39% ทั้งที่มีงานวิจัยจากทีดีอาร์ไอชี้ชัดว่า หากนับเฉพาะประเทศสมาชิก TPP ที่ไทยยังไม่ได้มี FTA ด้วย คิดเป็น 9% เท่านั้น ไม่ใช่ 39% อย่างที่พยายามจะทำให้เข้าใจ”

“ตอนนี้มีอย่างน้อย 2 หน่วยงานภาครัฐที่กำลังแก้กฎหมายเพื่อเอาใจบริษัทต่างชาติ ด้วยการลอกเนื้อหาของ TPP ทั้งที่ยังไม่ได้ตกลงใจจะเข้าร่วม กรมบัญชีกลางอ้างว่าต้องการทำ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อความโปร่งใสและธรรมาภิบาล แต่ขณะนี้กลับเป็นการเปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามเนื้อหาของ TPP และกรมทรัพย์สินทางปัญญา อาจเข้าข่ายหลอกลวง สนช.เพราะวางแผนแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเรื่องทริปส์ผนวกเข้าไปให้สอดคล้องกับ TPP ทั้งที่รายงานของ สนช.ให้แก้ไขเฉพาะตามความตกลงทริปส์ ให้ทำซีแอลเพื่อการส่งออกประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยาเท่านั้น” กรรณิการ์กล่าว

ผู้ประสานงานเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวต่อมาว่า กระบวนการที่สำคัญคือต้องมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และที่สำคัญคือผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะเรามีความเสี่ยงเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะ หลายเรื่องที่เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์จะทำได้หรือเปล่า เพราะอาจถูกฟ้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาษระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS)

“บางเรื่องที่ดูเหมือนจะดี เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมมันดีจริงหรือเปล่า มีหลายสนธิสัญญาทางสิ่งแวดล้อมที่อเมริกาไม่ลงนาม ในประเด็นแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชน ขัดกับที่ไทยทำอยู่ หรือในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันดับต้นๆ ของโลก หากในอนาคตให้สิทธิบริษัทเมล็ดพันธ์ แล้วทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจะเยียวยาได้อย่างไร เอฟทีเอที่ผ่านมาก็มีผลกระทบ ไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรที่เป็นจริงเลย ดังนั้นการจะทำอะไรต้องใช้เวลาตอนนี้ศึกษาให้รอบคอบ ไม่ใช่เพราะฝ่ายนโยบายตั้งธงให้เร่งทำ ข้าราชการก็มาปั้นแต่งข้อมูลแล้วนำเสนอต่อฝ่ายนโยบาย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลทักษิณ” กรรณิการ์กล่าว

ด้าน อภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นความน่าเชื่อถือของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ หากย้อนไปถึง FTA ไทย-อียู ซึ่งขณะนั้นมีคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน เป็นกลไกในการจัดการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน 

แม้จะกล่าวว่า ครั้งนี้ไม่ใช่การกำหนดท่าทีของการเจรจา แต่เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำให้กระบวนการน่าเชื่อถือตั้งแต่แรก ไม่ใช่จัดกันเอง รวมถึงวันนี้ที่เชิญสมาคมไทยอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทยาของประเทศเข้ามาร่วม ทั้งที่เวทีรับฟังของภาคธุรกิจเป็นวันถัดไปที่สมาคมบริษัทยาข้ามชาติได้รับเชิญ กระบวนการเหล่านี้ไม่โปร่งใสไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก

ณัฐกานต์ กิจประสงค์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การให้สถาบันที่เป็นของบริษัทเอกชนที่น่าจะมีส่วนได้เสียการข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศทำงานวิจัย เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งประเด็นสำคัญเรื่องการมีส่วนได้เสียจากผลการศึกษา รวมไปถึงความเข้าใจในข้อมูลเนื้อหาด้วย จากการเข้าร่วมในเวทีครั้งสุดท้ายของสถาบันฯ ผู้ที่เป็นผู้ศึกษาหลักถามว่า UPOV1991 คืออะไร ทั้งที่เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญที่จะมีผลต่อเกษตรกรโดยตรง แต่สถาบันฯ ไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้เลย ทำให้การศึกษานี้ไม่น่าเชื่อถือเลย ควรต้องหาหน่วยงานอื่นที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมั่นใจว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมาศึกษา

“นอกจากศึกษาข้อตกลงที่ประเทศสมาชิกตกลงกันไว้แล้ว กระบวนการเข้าร่วมหลังจากนี้ คือต้องเจรจาทวิภาคีเป็นรายประเทศ มีความเสียหายอื่นที่คาดการณ์ว่าจะเกิดหรือไม่ ต้องแลกอะไรที่มากไปกว่าข้อตกลงที่เขาเจรจากันไว้ก่อนหรือไม่ จะคุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้รอบด้านเช่นกัน” ณัฐกานต์กล่าว

ในข้อนี้ทีมเลขาฯ กล่าวว่ามีการตั้งคณะกรรมการไปแล้วและจะประชุมครั้งแรก 28 ม.ค.นี้ โดยมีองค์ประกอบจากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม มีนักวิชาการ 1 คน มีรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจว่าไม่มีองค์ประกอบของภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้เสียอื่นเลย

ทัฬ ปึงเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหารสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า สมาชิกในส่วนสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมก็ไม่เห็นด้วยกับ TPP ทั้งหมด นอกจากนี้ยังหากมีการเข้าร่วม TPP ส่วนสำคัญคือ เรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยาหรือ Data Exclusivity (DE) จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาค่อนข้างมาก บริษัทยาชื่อสามัญจะรับผลกระทบเต็มๆเพราะจะไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เลย

“เสนอให้แปลข้อตกลงเป็นภาษาไทยให้เร็ว แล้วมาดูเทียบกับกฎหมายในประเทศทีละเรื่องให้ชัดเจนเลย ว่ามีอะไรที่ทำได้ มีอะไรที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศบ้าง เรามีการเจรจาการค้ามาหลายครั้งแต่เราไม่เคยเอาบทเรียนในอดีตเข้ามาแก้กฏหมายในประเทศเลย” ทัฬ กล่าว

 

ที่มาภาพ: http://www.thaidentalmag.com/dent-stream-detail.php?type=10&id=335

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ