วันนี้ ( 3 ก.พ.2557) ผู้แทนสภาพลเมืองเชียงใหม่ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทวงถามการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะกลางเมืองเชียงใหม่ ที่เคยเป็นทัณฑสถานหญิงเดิมและย้ายออกไป ร่วมปีไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ประชาชนมีข้อเสนอหลายลักษณะยื่นให้จังหวัดไปแล้ว
โดยพื้นที่สาธารณะกลางเมืองเชียงใหม่ที่เป็นทัณฑสถานหญิงเดิมนี้ มีแผนงานจะปรับปรุงพัฒนามานานแล้ว เมื่อมีการย้ายทัณฑสถานหญิงออกไปนอกเมือง มีแนวคิดที่หลากหลายต่อพื้นที่ในเขตประวัติศาสตร์ใจกลางเมืองเชียงใหม่แห่งนี้ว่าจะรื้อทัณฑสถานเดิมทิ้ง หรือจัดทำให้เป็นพื้นที่โล่ง หรือมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ใดเพิ่มเติม
ทั้งนี้เมื่อต้นปี 2556 ประชาชนชาวเชียงใหม่มีการ เปิดสภาพลเมือง วาระ “ข่วงหลวง-เวียงแก้ว” โดยมี นายชำนาญ จันทร์เรือง นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เจียงใหม่ และนางพรรณงาม สมณา เครือข่ายแม่ญิง เชียงใหม่ เป็นผู้เสนอวาระ เพื่อขอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบและประชาชนได้หารือกันถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว โดยมีนักวิชาการด้านต่างๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เพื่อพิจารณา และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการเชียงใหม่ เป็นผู้แทนให้ข้อมูลและรับฟังข้อเสนอจากประชาชนในการเปิดสภาพลเมืองครั้งนั้น และได้ข้อสรุปร่วมกันเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวมาแล้วคือ
- ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวโดยมีองค์ประกอบที่หลาก หลายรวมทั้งมีสัดส่วนของประชาชนร่วมเป็นกรรมการทั้งนี้สภาพลเมืองจะนำเสนอรายชื่อกรรมการร่วมด้วย
- ในการดำเนินการใช้พื้นที่ดังกล่าว ต้องมีกระบวนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เปิดเผย และมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน
- ขอให้นำข้อเสนอของอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่จัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม 2551-มิถุนายน 2552 เป็นข้อมูลในการพิจารณา และหากมีข้อเสนอนอกเหนือจากนี้ ขอให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวางไม่น้อยกว่ากระบวนการดังกล่าว
- ให้คณะทำงานสภาพลเมืองประเด็นข่วงหลวงเวียงแก้ว ติดตามความคืบหน้าในกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรายงานให้สภาพลเมือง และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รับทราบเพื่อการมีส่วนร่วมเป็นระยะ อย่างต่อเนื่อง
หลังการเปิดสภาพลเมือง สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการการรับฟังความคิดเห็น และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการสนับสนุนโครงการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นแนวคิดการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว โดยสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีกระบวนการในการรับฟังอย่างกว้างขวาง และสภาพลเมืองได้นำข้อเสนอการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวที่ได้จากการเปิดสภาพลเมืองมอบให้แก่สำนักบริการวิชาการ และมีข้อสรุปซึ่งเป็นข้อเสนอในวงคือ
- ด้านการดำเนินการรื้อถอน มีความเห็นหลักๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน 2 ความเห็น คือ กลุ่มแรก ให้รื้ออาคารและสิ่งก่อสร้างออกทั้งหมด กลุ่มที่สองเห็นว่า ควรเก็บอาคารคุกไว้บางอาคาร ทว่าทั้งสองความเห็นต่างมีความเห็นร่วมกันคือ ควรทำการขุดค้น หรือทำสิ่งใดเพื่อเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อน
- ด้านการขุดค้นทางโบราณคดี ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรใช้เทคโนโลยีช่วยในการจุดสำรวจระยะแรก และควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย
- รูปแบบการจัดสรรพื้นที่ ปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ที่มีลาน หรือข่วงสาธารณะ สามารถใช้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย ใช้พื้นที่ได้ทุกเพศทุกวัยทุกศาสนา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ระบบนิเวศวิทยากลางเมือง ด้วยการปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้พื้นถิ่นไว้รอบๆ เพื่อให้เกิดความร่มรื่น ใช้พื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งความเห็นนี้สอดคล้องกับการศึกษาของคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว เมื่อปีพศ. 2551
- การมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ด้วยการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ หรือคณะทำงานภาคประชาชน ร่วมกับหน่วยงานหลักตั้งแต่เริ่มดำเนินการ และการดำเนินการใดๆ ควรเป็นการสร้างเพื่อการใช้ประโยชน์ของคนเชียงใหม่เป็นหลัก มิใช่นักท่องเที่ยว
- การดำเนินการประกวดแบบข่วงหลวงเวียงแก้ว พร้อมแนวคิดการบริหารจัดการ โดยนำผลสรุปจากการสำรวจความความคิดเห็นที่ได้จากการศึกษามากำหนดเป้นกรอบแนวคิดในการออกแบบ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตัดสินใจร่วมกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และศิลปินแห่งชาติในสาขาที่เกี่ยวข้อง
- จัดทำสื่อกลาง เพื่อการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การดำเนินการ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้า ผลักดัน และสนับสนุนให้การพัฒนาพื้นที่ ทัณฑสถานหญิงดำเนินต่อไปตามแนวทางที่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนมา คณะทำงานสภาพลเมือง และพลเมืองผู้สนใจเรื่องการพัฒนาพื้นที่ฯ ใคร่ขอให้ทางจังหวัด ได้ชี้แจงแนวทาง และขั้นตอนการดำเนินการต่อในการพัฒนาพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเดิมต่อไปให้สาธารณะทราบ
ผู้แทนสภาพลเมืองซึ่งทำหนังสือทวงถามผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ มีกระแสข่าวการดำเนินงานของสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะทำตามข้อเสนอที่สอดคล้องกับสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทำหรือไม่ ชุมชนบริเวณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะดังกล่าว จึงขอให้สำนักงานจังหวัด ได้ชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการ ให้แก่ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน โดยขอให้การชี้แจงเป็นในรูปแบบ การจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกัน
ทั้งนี้การติดตามทวงถามครั้งนี้ผู้แทนสภาพลเมืองนัดหมายกันจะยื่นทวงถามในวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ นี้ที่การแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของจังหวัดเชียงใหม่