วิศวกรอาสาไขปริศนาน้ำผุด ทรายพุ

วิศวกรอาสาไขปริศนาน้ำผุด ทรายพุ

ไขปริศนาน้ำผุด ทรายพุ หลังแผ่นดินไหว

        กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ขนาด 6.3 แมกนิจูด ศูนย์กลางบริเวณรอยต่อ อ.พาน และอ.แม่ลาว จ.เชียงราย  ซึ่งเป็นกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา  ได้เกิดรอยแยกของแผ่นดิน  ทรายพุบริเวณพื้นดิน รอยเสาบ้าน  ตลอดจนเกิดน้ำผุดขึ้นกลางบ้าน  พบมากบริเวณ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว บริเวณบ้านโป่งปูเฟือง อ.แม่สรวย และหมู่บ้านท้าวแก่นจันทร์ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวจ จ.เชียงราย  ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลว่า  พื้นดินที่ตนเองอยู่จะเกิดโพรงหรือไม่ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า  และการจะซ่อมแซมบ้าน ควรอยู่ในบริเวณเดิมหรือไม่ ขณะที่บ่อน้ำที่เกิดโคลนผุดขึ้นมา ควรจะซ่อมแซมหรือสามารถใช้งานต่อได้หรือไม่

          หลังเกิดเหตุการณ์ ในบางพื้นที่กรมทรัพยากรธรณีได้เข้ามาสำรวจเบื้องต้น  ตลอดจนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจ แต่ยังไม่มีคำตอบให้กับความกังวลของชาวบ้าน  โอกาสที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิศวกรอาสาจากหลายสถาบันการศึกษามาสำรวจอาคารในจังหวัดเชียงราย  รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี วสท. ร่วมกับทีมข่าวพลเมืองได้ลงพื้นที่บ้านโป่งปูเฟือง อ.แม่สรวย และหมู่บ้านท้าวแก่นจันทร์ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย  เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ให้คำปรึกษาและแนะนำเบื้องต้นถึงปรากฏการณ์และแนวทางแก้ไขเบื้องต้น  พร้อมให้ความรู้ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่  ว่าจะเกิดอะไรตามมา และควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?   

ทีมข่าวพลเมือง  : ทีมวิศวกรอาสาได้ลงพื้นที่บ้านโป่งฟูเฟือง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ที่ชาวบ้านบอกว่าพบทรายขึ้นมาแล้วก็มีรอยเลื่อน ตรงจุดนั้นเกิดจากอะไร แล้วชาวบ้านควรปฏิบัติตัวอย่างไร

อ.สุทธิศักดิ์ :  ตรงนั้นเป็นพื้นที่พื้นดินที่มีตะกอนทรายอยู่ ตะกอนทรายดังกล่าวเป็นตะกอนทรายที่มันหลวมตัว คือมันเกิดในสภาวะธรรมชาติที่มันหลวมตัวอยู่แล้ว แล้วมันก็อิ่มตัวด้วยน้ำ คือมันมีระดับน้ำใต้ดินอยู่ค่อนข้างสูง พอแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ปรากฏว่าตะกอนทรายที่มันหลวมเกิดการทรุดตัวลง การทรุดตัวลงของตะกอนทรายทำให้แรงดันน้ำใต้ดิน ซึ่งมันมีอยู่ด้านใต้เกิดการดันตัวขึ้นมา แต่เมื่อตะกอนทรายหรือทรายทรุดตัวแล้ว มันก็ทำให้ดินทรายบริเวณนั้นน่าจะแน่นตัวขึ้นในระดับหนึ่ง หรือมีโอกาสที่จะเกิดแบบนี้ยากขึ้น

          ที่เราเห็นเป็นรอยแตกและเห็นเป็นตะกอนทรายโผล่ขึ้นมา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าปรากฏการณ์ทรายเหลวจากที่มันยุบมันก็ดินตัวขึ้นมา การที่เกิดรอยแตกเป็นแนวยาว ถามว่าเป็นอันตรายหรือเปล่า ในหลักการแล้วถ้าไม่ใช่เป็นรอยแตกที่อยู่บริเวณตลิ่ง หรือบริเวณที่ลาดชันซึ่งมันอาจจะมีการเสี่ยงหรือสไลด์ลงไปได้โดยทั่วไปแล้วก็ถือว่าไม่อันตราย

          อันที่สองก็คือจะไม่อันตรายก็ต่อเมื่อ รอยแตกพวกนั้นที่เกิดขึ้นอาจจะมีพวกแก๊สหรือมันมีไอระเหยที่มันมีความเหม็นขึ้นมาก็ต้องให้มันหายไปก่อน ซึ่งมันก็จะเป็นการปล่อยพวกแก๊สที่อยู่ใต้ดินออกมาซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราไปดูอยู่ใกล้บ่อน้ำพุร้อน  ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นน้ำพุร้อนหรือเป็นลักษณะที่ต่อเนื่องจากน้ำพุร้อนที่เป็นแร่ธาตุที่ปล่อยขึ้นมา ก็รอให้มันหายไป ถ้าหายไปแล้วเหลือแต่รอยแตก เหลือแต่ทรายแล้วก็ไม่อยู่ใกล้บริเวณที่จะไหลได้ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว   โอกาสที่จะมีโพรงใหญ่ข้างใต้ดินถึงขนาดยุบลงไปไม่น่าจะมี   จริงๆแล้วมันเกิดการสั่นทำให้ดินแน่นขึ้นด้วยซ้ำไปเลยทำให้ทรายมันดันขึ้นมา

ทีมข่าวพลเมือง : รวมถึงบริเวณที่มีน้ำผุดในบ้านชาวบ้านที่บ้านท้าวแก่นจันทร์ อ.แม่สรวย บ่อน้ำตื้นเกิดโคลนและน้ำขุ่น   และรอยแยกที่เกิดขึ้นในวัดท้าวแก่นจันทร์ใกล้ๆกับที่วัดหรือเปล่า และบ่อน้ำตื้นของชาวบ้านบริเวณนั้น

อ.สุทธิศักดิ์ :  เรานึกภาพว่าบ่อน้ำตื้นต่างๆ มันเป็นทางออกที่ดีของดินทราย เมื่อมันยุบตัวแล้วมันก็พยายามจะไหลตัวขึ้นมาถ้ามันไหลออกมาตามรอยแตกไม่ได้ มันก็จะสร้างรอยแตกขึ้นมาด้วยการดัน ถ้าเกิดมันดันขึ้นมาเจอพื้นของชาวบ้านมันก็ทำให้พื้นของชาวบ้านแตก ถ้าดันขึ้นมาแล้วมันไปเจอถนน ถนนก็แตกแต่ถ้าเกิดมันมีบ่อน้ำตื้นอยู่แล้ว ตรงนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบใหญ่เลย เพราะมันออกง่ายมันก็จะดันขึ้นมาในบ่อน้ำตื้นแล้วก็ทำให้บ่อน้ำตื้น  ในช่วงแรกอาจจะมีกลิ่นกำมะถันหรือกลิ่นอะไรก็แล้วแต่เกี่ยวข้องกับน้ำพุร้อนหรือเกี่ยวข้องกับน้ำพุร้อน ที่อาจจะเกี่ยวข้องกันมันเกิดขึ้น

          เมื่อมันหมดไปหรือว่าแผ่นดินไหวมันหมดแล้ว วิธีการที่น่าจะเหมาะสมก็คือเราก็ลองขุดเอาทรายนั้นออก ค่อยๆขุดออก สักหนึ่งเมตร สองเมตรแล้วดูว่าน้ำไหลเข้ามาหรือเปล่าน้ำไหลตามปกติไหม อาจจะมีกลิ่นมีสีมันได้ลักษณะที่มันควรจะเป็นไหม ถ้าไม่แน่ใจก็ลองเอาน้ำไปตรวจเรื่องของความเป็นกรดเป็นด่างเพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนใช้

ทีมข่าวพลเมือง : เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศครั้งนี้ขึ้น จะมีอะไรที่ตามมาแล้วเราจะต้องปรับตัวหรือปฏิบัติตัวอย่างไร

อ.สุทธิศักดิ์ : แผ่นดินไหวที่ใหญ่ขนาดนี้ 6.3 ริกเตอร์ อันดับแรกก็คือว่ามันเป็นตัวกระตุ้นให้พวกเราซึ่งไม่คุ้นเคยกับแผ่นดินไหวจำเป็นจะต้องมาทำความเข้าใจและใส่ใจกับความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวทั้งหมด อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ผู้ที่อันตรายก็ต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่อันตรายขนาดไหน การศึกษาในพื้นที่ไม่ว่าจะประถมหรือมัธยมที่พิเศษกว่าที่อื่นในระดับชุมชนควรจะต้องพลิกโฉม จะต้องให้เกิดการพลิกโฉมในเรื่องของการให้การศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้วก็ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจนอันที่หนึ่ง

          อันที่สองคือมาตรฐานของการออกแบบการสร้างอาคารซึ่งแต่ก่อนนี้เราอาจจะรู้สึกว่าจะทำดีไหม มันไม่เห็นมีแผ่นดินไหวเลย  มันอาจจะไม่เป็นไรก็ได้ แต่ ณ เวลานี้ทุกท่านเห็นชัดกันหมดแล้วว่าแผ่นดินไหวทำอันตรายให้กับพวกเลยจริงๆ เพราะฉะนั้นท่านต้องเริ่มที่จะจริงจังออกแบบการก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างให้ต้านทานแผ่นดินไหว ซึ่งตรงนี้แน่นอนว่าหลายหน่วยงานก็ต้องเข้ามาช่วยกัน

          ส่วนท้องถิ่นเองอันดับแรกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองก็คือในท้องถิ่นในชุมชนท่าน สังเกตได้ว่า ณ หมู่บ้านเดียวกันบ้านแบบไหนพัง บ้านแบบไหนไม่พัง บ้านแบบไหนเสียหาย บ้านแบบไหนไม่เสียหายเพื่อที่จะสร้างองค์ความรู้ด้านกับท้องถิ่นโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง องค์ความรู้ท้องถิ่นเกิดขึ้นกลายเป็นความเชื่อที่ถูกต้องเพราะว่ามันเห็นกับตา  เมื่อความรู้จากส่วนกลางเข้าไปมันจะประสานกันพอดีทำให้เกิดองค์ความรู้ที่แท้จริงในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องมีองค์ความรู้ทั้งสองสิ่งที่ประสานกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ทีมข่าวพลเมือง : ในเชิงวิชาการพอมันเขย่าอย่างขนาด 6.3    แมกนิจูดอย่างนี้ และความถี่ของอาฟเตอร์ช็อคที่เราเจอจำนวนมาก  800 กว่าครั้งมันเป็นความถี่ที่เป็นปกติหรือเปล่า แล้วรอบของการเกิดแผ่นดินไหวมันจะมาเร็วขึ้นไหม

อ.สุทธิศักดิ์ : ขนาดของแผ่นดินไหว 6.3 แมกนิจูด เป็นขนาดค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาเป็นจำนวนมาก  โดยหลักการแล้วอาฟเตอร์ช็อคก็จะน้อยกว่าประมาณหน่วยหนึ่งเช่น ขนาดความแรง 6.3 แมกนิจูด  อาฟเตอร์ช็อคที่แรงก็จะเป็นขนาด 5.3  แมกนิจูดอาจจะบวกลบก็แล้วแต่  เพราะฉะนั้นจำนวนที่จะต้องเกิดก็จะต้องมีอยู่พอสมควร  เพียงแต่ว่าจำนวนดังกล่าวเราต้องตีกรอบก่อนว่าแผ่นดินไหวที่เริ่มทำให้อาคารเสียหายรุนแรงได้น่าจะอยู่ประมาณ 5 แมกนิจูดขึ้นไป อาคารที่ก่อสร้างไม่ดี อาคารที่อาจจะมีการเสียหายอยู่บ้างแล้ว ขนาดความแรง 5  แมกนิจูดอาจจะเสียหายเพิ่มได้ เพราะฉะนั้นถ้าจากนี้อาฟเตอร์ช็อคไปมันเกิดน้อยกว่าขนาด 5 แมกนิจูดเราไม่น่าจะกังวลมาก โดยเฉพาะอย่างแมกติจูดประมาณ 4 ,3,2  ถือว่าไม่น่าจะมีอะไร โอกาสที่มันจะเกิดน้อยกว่าหนึ่งหน่วยในเมนช็อค มันก็ยัง 5.3 แมกนิจูด มันก็ถือเป็นตัวที่อาจจะกระตุ้นอาคารที่มันเสียหายอยู่แล้วให้อันตรายขึ้นได้ ฉะนั้นจากนี้ไปมันก็ยิ่งเป็นตัวบอกใหญ่ว่าการก่อสร้างอาคาร การซ่อมแซมอาคารจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงให้มากขึ้นต่อเรื่องแผ่นดินไหว

ทีมข่าวพลเมือง : เหตุแผ่นดินไหวขนาดนี้จะส่งผลไปยังรอยเลื่อนอื่นๆ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังหรือเปล่า

อ.สุทธิศักดิ์ : ตามทฤษฏีถ้าเทียบระหว่างส่งผลไปยังรอยเลื่อนที่มีพลังกับรอยเลื่อนไม่มีพลัง  มันอาจจะส่งไปยังรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่แล้วมากกว่า สามารถเป็นไปได้ที่จะเกิดการผลักดันพลังงานออกไป เพียงแต่ว่าถามว่ารู้ไหม ไม่มีใครรู้ ก็ต้องมีการตรวจวัดอย่างใกล้ชิด อย่างที่เรารู้ว่าแผ่นดินไหวเราคาดเดาไม่ได้ แต่เราคาดตำแหน่งที่จะเกิดได้  สมมุติว่ามันมีการส่งจริงๆ นั่นหมายถึงว่าแผ่นดินไหวเล็กๆที่เครื่องมือปกติวัดไม่ได้กับรอยเลื่อนสักรอยเลื่อนหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน ถ้าเรามีเครื่องมือตรวจวัดความละเอียดที่มากกว่าเครื่องมือปกติ เราจะสามารถที่จะรู้ได้ว่า ตรงนี้มันมีโอกาสที่จะขยับตัวเพิ่มขึ้นได้ซึ่งตรงนี้เราต้องการการตรวจวัดที่ละเอียดขึ้น

ทีมข่าวพลเมือง : อาจารย์ลงพื้นที่ที่เชียงราย ข้อสังเกตของบ้านเรือน หรือว่าวิธีคิดหรือวิธีทำบ้านเรือนของชาวบ้าน มีข้อแนะนำไหมคะ ว่าพื้นที่แบบนี้ถ้าจะปรับภายใต้ข้อจำกัดของชาวบ้านควรจะไปในแนวทางไหน

อ.สุทธิศักดิ์ : จริงๆแล้วทิศทางของการสร้างบ้านตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันรวมถึงอนาคต เราจะเห็นว่าบ้านของชุมชนต่างๆ เริ่มจะเปลี่ยนจากบ้านไม้ยกสูงมาเป็นบ้านไม้ก่ออิฐชั้นล่าง แล้วก็มาเป็นบ้านก่ออิฐหรือปูนร้อยเปอร์เซ็นต์ หนึ่งชั้นสองชั้น เพราะฉะนั้นเรากำลังมุ่งไปสู่โครงสร้างที่มีความเสี่ยงมากขึ้นถ้าไม่ได้ออกแบบเพื่อต้านทานเผื่อดินไหวอย่างจริงจัง

            ขณะเดียวกันถ้าหากเราย้อนหลังกลับไปเราจะเห็นว่า ณ เวลาที่เกิดแผ่นดินไหวบ้านไม้ต่างๆกลายเป็นมีความเสียหายน้อย เพราะฉะนั้นชุมชนเองอาจจะต้องย้อนกลับมาคิด ต้องมาดูกันใหม่ จริงๆแล้ววัฒนธรรมหรือความสมัยนิยมที่จะต้องมีบ้านปูนเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์อาจจะต้องมาคิดใหม่แล้ว จริงๆบ้านไม้แต่เดิมซึ่งจริงๆ ก็อยู่สบายแล้วยังปลอดภัยด้วย น่าจะลองมาคิดดูก่อนที่ภูมิปัญหาท้องถิ่นในเรื่องของฝีมือช่างจะหายไปของการทำไม้ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มหายไปพอสมควร เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นประเด็นซึ่งผมอยากจะแนะนำชุมชน ซึ่งที่เห็นมาจะเห็นว่าบ้านที่เสริมคอนกรีดส่วนใหญ่จะมีความเสียหายค่อนข้างมาก แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าบ้านที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กมีความอันตราย แต่ต้องบอกว่าบ้านที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่ได้ออกแบบตามหลักมาตรฐานที่ป้องกันแผ่นดินไหวอันนั้นน่าจะมีอันตรายสูง

  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ