ลุ้นชม “ฝนดาวตกวันแม่” หลังเที่ยงคืน 12 สิงหาคม นี้

ลุ้นชม “ฝนดาวตกวันแม่” หลังเที่ยงคืน 12 สิงหาคม นี้

สดร.  ชวนลุ้นชม “ฝนดาวตกวันแม่” หลังเที่ยงคืน 12 สิงหาคม นี้

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยคืน 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2559  มีปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” ชาวไทยเรียก “ฝนดาวตกวันแม่” แนะชมหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ปีนี้โชคดีไร้แสงจันทร์รบกวน ลุ้นให้ปลอดฝนเห็นด้วยตาเปล่าทั่วไทย

ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ฝนดาวตกในรอบปีมีเป็นจำนวนมาก แต่ฝนดาวตกที่นักดาราศาสตร์ในซีกโลกเหนือให้ความสนใจไม่แพ้ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และ ฝนดาวตก       เจมินิดส์ คือ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคม ของทุกปี ในเมืองไทยเราจึงเรียกว่า “ฝนดาวตกวันแม่” ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2559 ตามเวลาในประเทศไทย จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่าทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ และมีสีสันสวยงาม

ในปีนี้คาดการณ์ว่าจะเห็นฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ถึง 150 ดวง/ชั่วโมง ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนดาวตกสูงสุด คือ ประมาณ 02.00-03.00 น. โดยเฉพาะบริเวณประเทศทางฝั่งตะวันออกของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยในเวลาดังกล่าว กลุ่มดาวเพอร์เซอุสจะอยู่ที่ตำแหน่งกลางท้องฟ้าพอดีและถือเป็นปีที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าประมาณเที่ยงคืน ถ้าสภาพอากาศปลอดโปร่งจะสามารถสังเกตเห็นได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมาก  แต่คงต้องลุ้นกับสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน มักจะมีเมฆปกคลุม จึงทำให้มองเห็นค่อนข้างยาก

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสังเกตฝนดาวตกคือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ชีกโลกของเราหันเข้าหาทิศทางที่ดาวตกพุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ในขณะที่เวลาหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก จะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่ช่วงหลังเที่ยงคืนจนถึงเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราไม่เร็วนัก มีเวลาที่สามารถชี้ชวนกันดูได้ และมองเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น 

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปบริเวณที่มีเศษฝุ่นเหล่านี้ จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ จึงสังเกตเห็นฝุ่นของดาวหางลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบ ทำให้ชาวโลกได้สัมผัสความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม– 24 สิงหาคม ของทุกปี

 

20161008104224.jpg

ภาพโลกโคจรเข้าไปในสายธารของสะเก็ดดาว ซึ่งดาวหางสวิฟท์- ทัตเทิล ได้เหลือทิ้งไว้ หลังจากที่มาเยือน ระบบสุริยะชั้นใน

ซึ่งครั้งล่าสุดที่ดาวหางดวงนี้เข้ามาใกล้คือ ปี ค.ศ. 1992

(ภาพโดย Bob King :http://astrobob.areavoices.com )

 

20161008104301.jpg

ตำแหน่งของกลุ่มดาวเพอร์เซอุสอยู่ด้านล่างของกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย ซึ่งเป็นกลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ