รับฟ้อง-ไม่ไต่สวนฉุกเฉิน! ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ กทม.ไล่รื้อ

รับฟ้อง-ไม่ไต่สวนฉุกเฉิน! ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ กทม.ไล่รื้อ

20162904192236.jpg

ที่มาภาพ: ชุมชนป้อมมหากาฬ

29 เม.ย. 2559 ชาวชุมชนป้อมมหากาฬยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนคำสั่งของ กทม.ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินช่วงบ่ายนี้ เพื่อให้คุ้มครองชั่วคราว เนื่องนจากเป็นกรณีเร่งด่วนที่ กทม. มีคำสั่งให้รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างใน 30 เม.ย.นี้

ผู้สี่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ แต่ไม่มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินตาม แต่สำหรับชาวชุมชนก็ถือว่ากรณีปัญหาได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

20163004135431.jpg

นายพรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ

ที่มา: ชุมชนป้อมมหากาฬ

ทั้งนี้ คำขอต่อศาลปกครองของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ 4 ข้อ คือ

1.ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 มี.ค.2559 ที่ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชนป้อมมหากาฬออกจากพื้นที่

2.ขอให้ศาลได้เพิกถอนแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในส่วนที่กำหนดให้ใช้พื้นที่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬเป็นสาธารณะของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

3.ขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติตามข้อตกลง 3 ฝ่าย (MOU) ระหว่าง กทม. มหาวิทยาลัยศิลปากร และชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ สมัยอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นผู้ว่ากทม. ทำขึ้นเมื่อ 7 ธ.ค.2548 โดยสัญญาระบุว่าจะนำผลการศึกษามาเป็นแนวทางพัฒนาชุมชนเพื่อให้โครงการรัฐเกิดประโยชน์สูงสุด 

4.ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

20162904192424.jpg

ที่มาภาพ: ชุมชนป้อมมหากาฬ

กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการเวนคืนมายาวนานกว่า 24 ปี ตั้งแต่มีการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 และมีหมายประกาศกำหนดระยะเวลาให้ย้ายออกจากชุมชนมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึง ปี 2556 ซึ่งได้มีการเวนคืนพื้นที่ส่วนหนึ่งทำเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว

ทั้งนี้ การเวนคืนพื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นไปตามโครงการอนุรักษ์และปรับปรุงป้อมมหากาฬ หนึ่งใน 20 โครงการแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยจัดอยู่ในกลุ่มโครงการระยะต้น ที่มีความสำคัญสูง และมีความพร้อมมากกว่าโครงการอื่นๆ ซึ่งระบุไว้ว่า ผลที่ได้จากการอนุรักษ์และพัฒนาส่วนใหญ่เน้นการเปิดมุมมองและพื้นที่โล่ง การปรับปรุงโบราณสถาน การสร้างเอกลักษณ์และขอบเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่โครงการ

สถานการณ์ล่าสุด กรุงเทพมหานครมีประกาศลงวันที่ 28 มี.ค. 2559 ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชนมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 เม.ย.นี้

จากประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าว ชุมชนป้อมมหากาฬเห็นว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่มีกระบวนการที่จะพยายามแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อชาวชุมชน ให้ได้รับความเสียหายในทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพ สิทธิชุมชน สิทธิทางวัฒนธรรม และสิทธิต่างๆ ที่ไม่สามารถที่จะแก้ไขเยียวยาได้

นอกจากนี้ยังพบว่าการดําเนินการดังกล่าวนี้เป็นการละเลยเพิกเฉยต่อบันทึกความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยศิลปากร และชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2548 ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยจนเกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในรูปการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬให้เป็นชุมชนบ้านไม้โบราณ

 

สรุปประเด็นคำฟ้องของชุมชนป้อมมหากาฬ

ชุมชนป้อมมหากาฬ มีความประสงค์ขอฟ้อง 1.กรุงเทพมหานคร 2.ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ 3.คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า

ตามที่ กรุงเทพมหานครได้มี ประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 มีนาคม 2559 ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชนป้อมมหากาฬออกจากพื้นที่ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 นั้น ชาวชุมชนป้อมมหากาฬเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่และทรัพย์สินในบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบัน ซึ่งอาศัยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้พระราชทานที่ดินบางส่วนบริเวณป้อมมหากาฬให้ข้าราชบริพารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับวัดเป็นที่อยู่อาศัย และชาวบ้านบางส่วนเช่าที่ดินจากผู้ได้รับพระราชทานที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และที่ดินวัดบางส่วน นับระยะเวลาที่บรรพบุรุษ และชาวบ้านอาศัยอยู่มาได้มากกว่า 100 ปี 

ชุมชนป้อมมหากาฬจึงได้รับความเสียหายจากคำสั่งทางปกครองฉบับดังกล่าว ที่จะต้องถูกรื้อ ทำลาย ทรัพย์สิน ให้ได้รับความเสียหาย และทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย มีผลกระทบต่อการประกอบการอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน 

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจึงเห็นว่าคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยกรุงเทพมหานคร ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2535 ไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ยังขัดต่อเจตนารมณ์ในการปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครเอง อีกทั้งยังกระทบซึ่งสิทธิ เสรีภาพ อนามัย และทรัพย์สิน ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬและครอบครัวอย่างร้ายแรง โดยมีประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2535 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2535 เพื่อเวนคืนอสังหารริมทรัพย์ในชุมชนป้อมมหากาฬทั้งหมด เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ 

หลังจากกรุงเทพมหานครได้เข้ารื้อสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชนบางส่วน เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน และจัดทำเป็นสวนสาธารณะแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ดังกล่าวมีคนไร้บ้าน หัวขโมย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาใช้เป็นที่พักพิงจำนวนมาก เป็นแหล่งเสื่อมโทรม มีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมายหลายกรณี เช่น การชิงทรัพย์ การประทุษร้าย ฆ่าตัวตาย เป็นต้น เพราะเหตุที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลขาดความเอาใจใส่ และบำรุงรักษาสวนสาธารณะแห่งนี้ 

อีกทั้ง บริเวณภายในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะแก่การทำสวนสาธารณะ เพราะเป็นพื้นที่ปิดทึบ ถูกล้อมรอบด้วยตัวป้อมมหากาฬ และกำแพงรอบๆ สูงกว่า 6 เมตร ทำให้บุคคลทั่วไปจะเข้ามาใช้ประโยชน์ในสวนสาธารณะแห่งนี้ทำได้ยาก และไม่ปลอดภัยต่อผู้มาใช้สวนสาธารณะแห่งนี้ด้วย ในปัจจุบันจึงไม่มีผู้คนเข้ามาใช้บริการแต่อย่างใด เป็นเพียงที่รกร้างว่างเปล่า ขาดการดูแลเอาใจใส่

และวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินตามกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ว่า เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานของชาตินั้น ขณะที่ ชุมชนป้อมมหากาฬตั้งชุมชนมานานนับร้อยปี ไม่เคยทำลายหรือทำให้โบราณสถาน (ป้อมมหากาฬ) เสียหาย หรือการมีอยู่ของชุมชนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ (ป้อมมหากาฬ) แต่อย่างใด กลับกันชาวชุมชนป้อมมหากาฬและชาวชุมชนทุกคนต่างร่วมกันหวงแหนโบราณสถานของชาติ (ป้อมมหากาฬ) ไว้ให้เป็นสมบัติของชนชาวไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

ประเด็นที่ 2 การกำหนดวัตถุประสงค์เวนคืนที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ ในรูปแบบสวนสาธารณะที่กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการบนพื้นที่บางส่วนของชุมชนป้อมมหากาฬไปแล้วนั้น ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้จริง และยังขัดต่อวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าวอีกด้วย 

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจึงได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่มีส่วนได้เสียกับเรื่องดังกล่าวและเป็นประชาชนในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะที่เป็นงานวิชาการในการบริหารจัดการชุมชนป้อมมหากาฬ ที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ โครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ “ป้อมมหากาฬ” ของ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่คณะผู้วิจัยฯ ได้ศึกษาหาทิศทางในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬรูปแบบใหม่ โดยเน้นมิติทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน มาผสานกับแกนกลางของแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ ภายใต้แนวคิดเรื่อง ชุมชนบ้านไม้โบราณ

คณะผู้วิจัยฯ มีข้อเสนอโดยสรุปว่า การรักษาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬไว้ย่อมเป็นเสมือนการรักษาประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยของชาวบ้านชิ้นหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ที่จัดแสดงบ้านเรือนไม้โบราณและการอยู่อาศัยของคนไทยในช่วงร้อยกว่าปี และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ภายในพื้นที่เพียงไม่กี่ไร่ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2535 ที่กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถาน และสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ของชุมชนชาวป้อมมหากาฬ

อีกทั้งข้อเสนอของงานวิจัยดังกล่าว ยังสอดคล้องกับข้อเสนอของชุมชนชาวป้อมมหากาฬ ที่ต้องการช่วยภาครัฐดูแลรักษาพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬให้มีความสะอาด สงบเรียบร้อย ปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการพื้นที่แห่งนี้ รวมถึง อนุรักษ์บ้านไม้โบราณ รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ให้ชนรุ่นปัจจุบันและชนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬขอเรียนให้ศาลทราบว่า ชาวชุมชนป้อมมหากาฬมิได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาฯฉบับดังกล่าว และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (คดีหมายเลขแดงที่ อ.169/2547) แต่เห็นว่าผู้ถูกฟ้องมิได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ของกฎหมายอย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นแล้ว จึงไม่มีอำนาจที่จะออกประกาศให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬแต่อย่างใด

อีกทั้งชาวชุมชนป้อมมหากาฬเห็นว่า กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ชาวกรุงเทพมหานคร รวมถึงชาวชุมชนป้อมมหากาฬด้วย มีทางเลือกที่จะแก้ไขปัญหาของชาวชุมชนป้อมมหากาฬและชาวชุมชนป้อมมหากาฬ โดยการเสนอให้มีการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬรูปแบบใหม่ โดยเน้นมิติทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน ในรูปแบบ “ชุมชนบ้านไม้โบราณ” เพื่อให้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่สาธารณะได้ และสามารถบริหารจัดการให้พื้นที่แห่งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร รวมถึงชาวชุมชนป้อมมหากาฬเองด้วย

ประเด็นที่ 3 ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้อาศัยอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว หลังจากที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ไม่เป็นอันกิน อันนอน ต้องดิ้นรนต่อสู้ให้ได้รับความเป็นธรรมมานานกว่า 24 ปี ชาวชุมชนป้อมมหากาฬบางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวกับการเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ บางคนต้องละทิ้งอาชีพเพื่อเป็นผู้นำชุมชนที่จะปกป้องชุมชนและโบราณสถาน 

และที่สำคัญที่จะต้องเรียนให้ศาลทราบว่า ในชุมชนป้อมมหากาฬ มีประชากรโดยรวมประมาณ 300 คน ในจำนวนนั้นประกอบด้วย เด็กและเยาวชน คนชรา และคนพิการ จำนวนมาก หากผู้ถูกฟ้องไล่รื้อชุมชนดังกล่าวออกจากพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ก็จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบุคคลกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาโดยรอบบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ในขณะที่กรุงเทพมหานครมิได้มีการมาตรการเยียวยาหรือช่วยเหลือที่ชัดเจนและจริงจัง ที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบคลายความเดือดร้อนจากโครงการของภาครัฐแต่อย่างใด แต่กลับแสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา ผู้ถูกฟ้องทั้งสามมีนโยบายที่ไม่ชัดเจน ไม่มีความแน่นอน ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของชาวชุมชนป้อมมหากาฬแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 4 แผนการสร้างสวนสาธารณะภายในบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ เกิดจากแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งอย่างที่ได้เรียนให้ศาลได้ทราบแล้วว่า การสร้างสวนสาธารณะในพื้นที่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ไม่มีความเหมาะสมทั้งทางด้านกายภาพและสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วนั้น และข้อสนับสนุนเรื่องงานวิจัยต่างๆ ชี้ให้เห็นแล้วว่า แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ที่จะสร้างสวนสาธารณะบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬเป็นแผนแม่บทที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนและล้าสมัย อีกทั้งยังทำลายวิถีชีวิตความเป็นกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งขัดต่ออำนาจหน้าที่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจึงขอให้ศาลได้เพิกถอนแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในส่วนที่กำหนดให้ใช้พื้นบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นสวนสาธารณะ ของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ที่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ประเด็นที่ 5 ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมกับกรุงเทพมหานครหลายต่อหลายครั้ง โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2548 เมื่อกรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา จนเกิดบันทึกความร่วมมือ (MOU) 3 ฝ่าย ระหว่างกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยศิลปากร และชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อดำเนินโครงการศึกษาวิจัยฯ “ชุมชนบ้านไม้โบราณ” 

ผลจากงานวิจัยดังกล่าว มีส่วนสำคัญยิ่งที่นำมาสู่การพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ เกิดการจัดระเบียบ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในชุมชนให้มีความสะอาด น่าอยู่อาศัย จัดระบบชุดองค์ความรู้ด้านต่างๆ ของชุมชน พัฒนายกระดับชุมชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางสังคม วัฒนธรรม เกิดการทำงานร่วมกับชุมชนอื่นๆ ในเขตพระนคร เช่น ประชาคมบางลำพู ชุมชนบ้านพานถม ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน ชุมชนตรอกศิลป์ เป็นต้น เมื่อผลการวิจัยฯดังกล่าวออกมา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬและชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนในทุกด้านดังที่กล่าวมา และกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้ถูกฟ้องรายอื่น ก็ไม่มีท่าที ที่จะบังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีกต่อไป แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ทำให้มีนโยบายไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬอีกครั้ง 

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬและชาวชุมชนป้อมมหากาฬเห็นว่าการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งปวง เพราะการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) ได้มาทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ และตกลงสัญญาว่าจะนำผลการศึกษาตามแนวการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อให้โครงการของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ แต่กรุงเทพมหานคร กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ทั้งที่การลงนามข้อตกลงของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) ในขณะนั้น มีผลผูกพันต่อกรุงเทพมหานครด้วย และมีผลผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งกรุงเทพมหานครได้สนับสนุนเงินงบประมาณแผ่นดิน เพื่อจัดทำรายงานวิจัยฯ ฉบับดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่กลับละเลยไม่ปฏิบัติตามรายงานการวิจัยฯที่เป็นข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนา

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬเห็นว่าข้อตกลง 3 ฝ่ายยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะคู่ตกลงรายอื่นยังมิได้ยินยอมเปลี่ยนแปลงข้อตกลงแต่อย่างใด ชาวชุมชนป้อมมหากาฬขอศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติตามข้อตกลง 3 ฝ่าย ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548

คำขอของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ

1.ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 มีนาคม 2559 เรื่อง ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชนป้อมมหากาฬออกจากพื้นที่

2.ขอให้ศาลได้เพิกถอนแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในส่วนที่กำหนดให้ใช้พื้นบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย        

3.ขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติตามข้อตกลง 3 ฝ่าย (MOU) ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548

4.ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

29 เมษายน 2559

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ