ยังสู้ต่อ! ชุมชนคลองไทรฯ เผชิญหน้า ส.ป.ก. ‘เคลียร์พื้นที่แปลงว่างก่อนการจัดสรร’

ยังสู้ต่อ! ชุมชนคลองไทรฯ เผชิญหน้า ส.ป.ก. ‘เคลียร์พื้นที่แปลงว่างก่อนการจัดสรร’

ชุมชนคลองไทรฯ ตบเท้าขึ้นศาลกระบี่ขอเบิกความแสดงอำนาจพิเศษ ด้าน ส.ป.ก ปาดหน้ายื่นคัดค้านก่อน อ้างต้องรื้อย้ายชาวบ้านให้เป็นที่ดินแปลงว่าง ก่อนจัดสรรให้เกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของ ส.ป.ก. ศาลนัดไต่สวน 3-4 พ.ค.นี้

20160303133351.jpg

 รายงานโดย: นักข่าวพลเมือง สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

ขอศาลกระบี่เบิกความไม่ใช่บริวารเอกชน หวั่นถูกบังคับออกจากพื้นที่

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2559 เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดกระบี่ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ประมาณ 80 คน เดินทางไปให้กำลังใจ นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ และตัวแทนชุมชนคลองไทรพัฒนา สมาชิก สกต.ในฐานะผู้ร้องรวม 10 คน จาก 53 คน เพื่อขอให้ศาลไต่สวนแสดงอำนาจพิเศษ และปฏิเสธการเป็นบริวารของบริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด พร้อมระบุชาวบ้านได้ตั้งตั้งรกรากอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ ปี 2551

ประทีป ระฆังทอง ประธานสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด กล่าวว่าที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2546 ชาวบ้านรวมตัวเข้าตรวจสอบดำเนินการเปิดโปงผลประโยชน์ของนายทุน และรณรงค์ขับไล่นายทุน จน ส.ป.ก.ต้องฟ้องขับไล่นายทุน แต่เมื่อชนะคดีชาวบ้านกลับถูกขับไล่ไปด้วย 

“ส.ป.ก.ไม่น่าทำอย่างนี้กับชาวบ้านเลย” ประทีป กล่าวด้วยน้ำเสียงแสดงความผิดหวัง

ประทีป กล่าวด้วยว่า ล่าสุดชาวบ้าน ทราบข้อมูลโดย ส.ป.ก. จ.กระบี่ ได้แจ้งกับทนายความที่เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านว่า ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้ใช้ มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ขับไล่ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ ออกจากพื้นที่ของ ส.ป.ก. เพื่อทำให้เป็นที่ดินแปลงว่าง จึงจะดำเนินการจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ต้องการที่ดินทำกิน และมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของ ส.ป.ก.

ส่วนกรณีที่ถูก ส.ป.ก.กล่าวหาว่า เป็นบริวารของบริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด เพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่พร้อมกับบริษัทฯ นั้น ประทีป กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะแกนนำของชุมชนคลองไทรเคยถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่ถึง 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งประเด็นที่ยกขึ้นกล่าวหาฟ้องชาวบ้านไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ สุดท้ายศาลจึงมีคำสั่งยก

กรณีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2558 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดกระบี่ เข้าไปปิดบริเวณศาลาประชุมอเนกประสงค์ของชุมชนคลองไทร โดยข้อความในหมายบังคับคดี ได้แจ้งให้บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด พร้อมบริวารออกไปจากที่พิพาท และให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษ ภายใน 8 วัน นับจากวันปิดประกาศ

ต่อมาตัวแทนชุมชนและทีมทนายจึงเดินทางไปยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล ในวันที่ 25 พ.ย. 2558 ที่ศาลจังหวัดกระบี่ เพื่อยืนยันว่าชุมชนไม่ใช่บริวารของ บริษัทฯ แต่เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง 

อีกทั้งเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และเป็นสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีวัตถุประสงค์เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐ และตามหลักสิทธิมนุษยชน

หลังจากได้ยื่นคำร้องฯ ศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 29 ก.พ.59 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดกระบี่

 

ส.ป.ก ปาดหน้ายื่นคัดค้านคำร้องชาวบ้านฯ ชี้ต้องเคลียร์พื้นที่ก่อนการจัดสรร 

ต่อมาในวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนซึ่งเป็นผู้ร้องได้เดินทางไปตามนัดของศาลจังหวัดกระบี่ และได้ทราบว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2559 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดกระบี่ ได้ยื่นคัดค้านคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ ของนายธีรเนตร ไชยสุวรรณ และพวกรวม 53 คน 

“ชุมชนคลองไทรไม่มีความชอบธรรมในการอยู่อาศัยในพื้นที่ แม้จะอ้างมติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2552” คำคัดค้าน เขียนโดย นายมานะ วงศ์จันทร์ พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ ในฐานะทนายความโจทก์ (ส.ป.ก.) 

ทั้งนี้ มติคณะกรรมการดังกล่าว ระบุว่า “ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแจ้งส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป”

คำคัดค้านของ ส.ป.ก. ระบุว่า ตามความเป็นจริงกรณีที่ดิน ส.ป.ก. ในเขต จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ เพียงแต่ ผ่อนผันให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่า กระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ ดังนั้นจึงหาใช่การให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามกระบวนการจัดที่ดินตามกฎหมายไม่

ดังนั้น หลังจากคดีสิ้นสุด ส.ป.ก.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ต้องการเคลียร์พื้นที่แปลงดังกล่าวให้เป็นแปลงว่าง ก่อนนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป และหากเกษตรกรชุมชนคลองไทรพัฒนาประสงค์ที่จะรับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ก็ขอให้ยื่นคำร้องเพื่อขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงดังกล่าว 

นั่นหมายความว่ากระบวนการจัดสรรที่ดินจะเกิดขึ้นหลังจาก ส.ป.ก. ได้ขับไล่บริษัทฯ ซึ่งในความเป็นจริงมีเพียงคนงาน 1 ครอบครัว หรือ 3-4 คนเท่านั้น และชุมชนคลองไทรพัฒนา ออกจากพื้นที่หมดแล้ว

 

ศาลรับคำร้องชุมชนคลองไทรฯ นัดไต่สวน 3-4 พ.ค.นี้

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว ศาลจังหวัดกระบี่รับคำร้องของชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา และนัดให้มาแถลงข้อมูลต่อศาลอีกครั้ง 3-4 พ.ค. 2559 

ดังนั้นสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้จึงจะมีการชะลอการการบังคับคดีโดยการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่ในส่วนชาวบ้านเองมองว่าหลังจากนี้แม้ศาลจะชี้ว่า ชาวบ้านไม่ใช่คนของบริษัทฯ แต่ ส.ป.ก.ก็อาจฟ้องคดีบุกรุกกับชาวบ้านได้อีก

ประทีป กล่าวว่า การที่ ส.ป.ก.ยื่นคัดค้านชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกิน ขณะที่นายทุนที่บุกรุกที่ดิน ส.ป.ก.ระยะเวลากว่า 30 ปี ส.ป.ก.กลับไม่เคยไปดูแลปกป้องสมบัติของชาติ แต่กับชาวบ้าน ส.ป.ก.จะผลักดันให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาบุกรุกที่ดินของ ส.ป.ก.

“เราพยายามยื่นหนังสือขอเข้าทำประโยชน์ให้ถูกต้อง รวมทั้งขอเช่าที่ดิน ส.ป.ก.ในนามสหกรณ์การเกษตรฯ มาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ ส.ป.ก.กลับเพิกเฉยไม่พิจารณา กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง” ประทีปกล่าว

 

ร้อง ส.ป.ก.แก้ไขปัญหาที่ดิน ยึดถือแนวทางไม่สร้างผลกระทบ

ประทีป กล่าวด้วยว่า เจ้าที่ ส.ป.ก.ควรยึดถือ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 66/2557 ข้อ 2.1 ที่ระบุว่าการกระทำการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ 

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ มีมติการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นประธานฯ ที่หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง ส.ป.ก.ต้องยึดถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ

1.การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง

2.แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตกติของประชาชนในระหว่างการแก้ไขปัญหา ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

3.การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมายควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม

4.การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้กับผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น

5.ขอให้อนุกรรมการฯ และคณะทำงานฯที่จะแต่งตั้งขึ้นนำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไปประกอบการพิจารณาด้วย

20160303133542.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ