ภาคประชาชนเตรียมร้อง ‘ประธาน คตง.’ ยับยั้งรัฐบาลจ่ายค่าโง่กรณีทุจริตคลองด่าน

ภาคประชาชนเตรียมร้อง ‘ประธาน คตง.’ ยับยั้งรัฐบาลจ่ายค่าโง่กรณีทุจริตคลองด่าน

9 มี.ค. 2559 ดาวัลย์ จันทรหัสดี ชาวตำบลคลองด่าน และมูลนิธิบูรณะนิเวศ แจ้งว่าในที่ 10 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เรียกร้องให้ทาง คตง. เร่งจัดทำความเห็นและนำเสนอทางออกแก่รัฐบาล เพื่อระงับการจ่ายค่าโง่กรณีการทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านกว่า 9 พันล้านบาท แก่กลุ่มบริษัทเอกชน

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2558 เห็นชอบให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายงบรวมเป็นเงินกว่า 9,600 ล้านบาท เพื่อชำระค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยจะแบ่งการชำระเงินออกเป็น 3 งวด คือ งวดแรก- ภายในวันที่ 21 พ.ย. 2558 ชำระ 40% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงินกว่า 3,174 ล้านบาท และอีกกว่า 21.71 ล้านเหรียญสหรัฐ

งวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พ.ค. 2559 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ และงวดที่ 3 ภายในวันที่ 21 พ.ย. 2559 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ

20160903163941.jpg

20160903163955.jpg

คลองด่านในปัจจุบัน ถ่ายเมื่อเดือน ก.พ. 2559
ภาพโดย: อัครพล ตีบไธสง

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เคยแสดงความเห็นไว้ในการเสวนาเรื่อง “คลองด่าน 2 หมื่นล้าน ทำไมต้องเสียค่าโง่” ซึ่งจัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่า รัฐบาลน่าจะชะลอการจ่ายเงินค่าโง่จำนวน 9,000 กว่าล้านบาทให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนใน 3 ประเด็น คือ 1. รอคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวกระทำผิดหรือไม่ 2. การพิจารณาความรับผิดทางละเมิดต่อเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องยังอยู่ที่ศาลปกครอง และ 3. กรณีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องบริษัทเอกชนผู้ขายที่ดินหลอกนำที่ดินสาธารณะมาขายแก่กรมเพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้

นายวิชา ยังกล่าวย้ำด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการพิจารณาคดีทุจริตโครงการนี้ยังไม่จบสิ้น การให้จ่ายเงินให้บริษัทเอกชนเป็นเพียงมติ ครม. ซึ่งไม่ถือเป็นกฎหมาย และสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ (คลิกอ่านข่าว)่

ทั้งนี้ ปัจจุบันการต่อสู้คดีอาญากรณีการฉ้อโกงสัญญาที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นผู้ฟ้องคดีบริษัทเอกชน 19 ราย (คดีอาญาศาลแขวงดุสิต 254/2547) ยังไม่ถึงที่สุด และยังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา

สำหรับ คดีทุจริตสร้างบ่อบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน นับเป็นคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่ใหญ่ที่สุดคดีหนึ่งของประเทศไทย โดยเริ่มต้นโครงการในปี 2537-2538 และรัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสัญญาโครงการเมื่อ 24 ก.พ. 2546 ด้วยหลักฐานว่าบริษัทเอกชนทำผิดเงื่อนไขของการทำสัญญา 

นอกจากนี้จากการตรวจสอบการทุจริต ของคณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้นมาพบว่า การรวบรวมที่ดินเพื่อขายแก่โครงการเป็นการรวบรวมโดยมิชอบ โดยรัฐต้องสูญเสียราคาที่ดินเป็นจำนวนเงิน 1,956 ล้านบาท จากราคาประเมิน 900 ล้านบาท และการเปลี่ยนมติให้ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่ ต.คลองด่าน ซึ่งต้องรวบรวมน้ำเสียจากฝั่งตะวันออกของ จ.สมุทรปราการ มาบำบัดที่ฝั่งตะวันตก ยังทำให้รัฐต้องเพิ่มงบประมาณโครงการจากเดิม 12,866 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท เป็นมูลเหตุให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในนามของรัฐบาลบอกยุติสัญญาและระงับการจ่ายเงิน

20160903160335.jpg

ภาพจาก: ดาวัลย์ จันทรหัสดี 

ข้อมูลเพิ่มเติมคดีคลองด่าน

ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน” บทเรียน 3 หมื่นล้าน ราคาที่คนไทยต้องจ่าย
แนะรัฐรอศาลฎีกาชี้ก่อนจ่ายค่าโง่คลองด่าน หวั่นเหมือนจำนำข้าว-กลุ่มเอกชนได้เปรียบ

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ