ภาค ปชช.จี้ ก.พาณิชย์ ควบคุมราคายา ร้องเปลี่ยนรองนายกฯ เอี่ยวบริษัทยาข้ามชาติ

ภาค ปชช.จี้ ก.พาณิชย์ ควบคุมราคายา ร้องเปลี่ยนรองนายกฯ เอี่ยวบริษัทยาข้ามชาติ

ภาคประชาชน จี้ให้กระทรวงพาณิชย์บังคับใช้กฎหมายที่มี ออกมาตรการควบคุมราคายา ปกป้องชีวิตประชาชนจากยาราคาแพง พร้อมเตรียมบุกพบรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ 2 ก.ค.นี้

20151806110842.jpg

18 มิ.ย. 2558 แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดแถลงข่าว ‘การไม่ควบคุมราคายา: บกพร่องโดยทุจริต???’ ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 6 สภาคริสตจักรในประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 17 มิ.ย. 2558

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ยาเป็นสินค้าพิเศษ เป็นสินค้าคุณธรรม เป็นปัจจัยสี่จำเป็นที่รัฐต้องให้การดูแลให้ประชาชนเข้าถึง ด้วยราคาที่ยุติธรรมและต้องทำให้ระบบยาของประเทศมีความมั่นคงด้วย 

สำหรับกลไกการควบคุมราคาสินค้านั้น รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542ซึ่งมีมาตราสำคัญที่เป็นกลไกในการควบคุมราคาสินค้าและบริการได้หลายมาตรา เช่น กำหนดให้แสดงราคาสินค้า (มาตรา 9(5) และมาตรา 28) การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร( มาตรา 9(6) และมาตรา 26) และมาตรการอื่นๆ เช่นมาตรา 25 ว่าด้วยเรื่องอัตรากำไรสูงสุด

ผู้จัดการ กพย. กล่าวต่อว่า ยารักษาโรคเป็นสินค้าที่ต้องแสดงราคา ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับพ.ศ.2558 ที่ต้องมีการประกาศทุกปี และยาก็อยู่ในรายการมาตลอด รวมกับรายการสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย แต่ปรากฏว่า ผ้าอนามัย ผงซักฟอก ยา (สารเคมี) ป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช เหล่านี้มีการประกาศพิเศษให้แจ้งต้นทุน ราคา และรายละเอียด แต่สำหรับยาที่เป็นสินค้าคุณธรรม ที่ต้องมีการควบคุมราคาที่เข้มงวด กระทรวงพาณิชย์กลับละเลยไม่เคยมีประกาศใดๆ ที่ให้ต้องแจ้งต้นทุน ราคา 

ยาไม่มีการใช้มาตรการใดๆ ที่เป็นอำนาจตามกฎหมาย ไม่มีการติดตามตรวจสอบสภาพปัญหา นอกจากนี้เคยมีประกาศ เรื่องกำหนดมาตรการป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคายารักษาโรคแผนปัจจุบัน พ.ศ.2534 ใช้ไปแค่ 6 เดือน ยกเลิกแล้วไม่เคยมีประกาศเรื่องควบคุมราคายาอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

“เหล่านี้แสดงถึงการเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ละเลยประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วไป เอาใจภาคธุรกิจประเทศชาติจะล่มจม หากกระทรวงพาณิชย์ไม่มีเจตจำนงและไม่มีความสามารถในการควบคุมราคายาขอให้มอบกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติยา” ผศ.ดร.นิยดากล่าว

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ความไร้ประสิทธิภาพ และไม่เอาใจใส่ในความเดือดร้อนของประชาชนของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ควบคุมราคายาและไม่ส่งเสริมการเข้าถึงยา 

“กระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายครบมือ ทั้ง พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ แต่ทำแค่การประกาศให้ยาเป็นสินค้าควบคุม แต่ไม่เคยใช้กลไกในกฎหมายทำอะไรที่จะทำให้ราคายามีความยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน ยอมรับว่า ไม่เคยใช้กลไกในกฎหมายดังกล่าวควบคุมเลย โดยอ้างว่าทำไม่ได้เพราะยุ่งยาก” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมี พ.ร.บ.สิทธิบัตร และ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่สามารถสร้างความเป็นธรรมด้านราคาและการเข้าถึงยาได้ แต่กลับไม่เคยใช้กฎหมายหรือตีความสนับสนุนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย

ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวต่อว่า ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไม่มีความสามารถ แต่กลับไม่ประสานกระทรวงสาธารณสุขอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันก็พยายามขัดขวางกลไกควบคุมราคายาใน พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า กรมสิทธิบัตรเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ยาแพงขึ้นหรือถูกลงก็ได้ อยากเห็นกระทรวงพาณิชย์ใช้คู่มือการให้สิทธิบัตรมาใช้ในการให้สิทธิบัตร อยากเห็นการปฏิรูปกระทรวงพาณิชย์อย่างเร่งด่วน

ทางด้านนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า มีกรณีร้องเรียนมาที่สำนักงานว่า ยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดหนึ่งที่องค์การเภสัชกรรมขายในราคา 900 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านรามคำแหงขายให้ผู้ป่วยในราคาราว 20,000 บาท เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ทำไมกลไกการควบคุมราคายาจึงสำคัญ

นิมิตร์ กล่าวถึงของเรียกร้องว่า ครม.ควรแสดงตัวว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความเกี่ยวพัน มีความสัมพันธ์กับบริษัทยาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และขอให้นายกฯ ใช้ภาวะผู้นำให้เปลี่ยนตัวรองนายกฯ ที่มีข่าวว่าเกี่ยวข้อง และเกี่ยวพันกับบริษัทยาข้ามชาติ และเรียกร้องให้เดินหน้าเรื่องการควบคุมราคายาใน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่อย่างเต็มที่

“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเรื่องนี้ ถึงล่าช้า ทั้งในส่วนของรองนายกฯ ที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติ ด้วยเหตุผลว่าการมีกลไกควบคุมราคาไม่เป็นไปตามหลักสากล หรือเพราะว่าหลักสากลเป็นหลักที่เปิดโอกาสให้ บริษัทยา ปล้นชีวิตประชาชน จากการตั้งราคายาอย่างไรก็ได้” นิมิตร์กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องแสดงบทบาทให้สาธารณชนเห็นว่า สนใจเรื่องการค้าพอๆ กับที่ใส่ใจทุกข์สุขประชาชน ต้องใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของสังคม ไม่ใช่ห่วงใยแต่นักธุรกิจจนตีความกฎหมาย หรือไม่ยอมใช้กฎหมายเพื่อจัดการปัญหา ไม่เช่นนั้น เราคงต้องสรุปว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ควบคุมราคายานั้น เป็นความบกพร่องโดยทุจริต 

“ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ให้นักธุรกิจ อุตสาหกรรมยา หอการค้าต่างประเทศเข้าพบ แต่เมื่อประชาชนขอพบกลับถูกกระทรวงพาณิชย์ปฏิเสธ ซึ่งขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชนสังคมที่ทำงานเรื่องนี้ กำลังทำเรื่องขอพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาลิการิยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 2 ก.ค. ช่วงเช้า” นิมิตร์กล่าว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัย กพย. กล่าวว่า “ขอตั้งคำถามกับรองนายกฯ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ว่าจากการที่ท่านกล่าวว่า หากมีการกำหนดให้เปิดโครงสร้างราคายาไม่เป็นสากล เป็นการแสดงความเห็นในฐานะรองนายกฯ หรือคนที่มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับบริษัทยา และแสดงให้เห็นว่าท่านยังไม่เข้าใจว่าในสากลมีกระบวนการควบคุมราคายาหลายแบบ และการกำหนดให้เปิดเผยโครงสร้างราคายาเป็นวิธีหนึ่งที่ทั่วโลกใช้กัน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ