18 เม.ย. 2559 เวลา 13.30 น. ที่ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ ตัวแทนผู้ฟ้องคดี 12 คน และผู้สนับสนุนการฟ้องคดีรวม 485 คน จากเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช ปทุมธานี กระบี่ ลำพูน นครสวรรค์ สตูล และประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เข้ายื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 กรณียกเว้นผังเมืองทั่วประเทศสำหรับกิจการด้านพลังงานและขยะซึ่งมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
กิจการที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ ผังเมืองรวม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ประกอบด้วย 1.คลังน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง 2.กิจการโรงงานลำดับที่ 88: โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (โรงไฟฟ้าและสถานีส่งไฟฟ้า) 3.กิจการที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ขนส่ง และระบบจำหน่ายพลังงานของกิจการตาม 1. และ 2. (เช่น ท่อส่งน้ำมัน สายส่งไฟฟ้า) 4.กิจการโรงงานลำดับที่ 89: โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ (เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ) 5.กิจการโรงงานลำดับที่ 101: โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม (เช่น โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ) 6.กิจการโรงงานลำดับที่ 105: โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (เช่น หลุมฝังกลบขยะ) 7.กิจการโรงงานลำดับที่ 106 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม (โรงงานรีไซเคิล) 8.กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอย ที่มา: สรุปคำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 http://enlawfoundation.org/newweb/?p=2688 |
“ผังเมืองเป็นเครื่องมือในการปกป้องพื้นที่ของเรา” ปราโมทย์ นพเกตุ ชาว ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ได้รับผลกระทบจากบ่อขยะในพื้นที่หนองแหน และเป็น 1 ใน 12 ผู้ฟ้องคดี
ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันชาวบ้านใน ต.หนองแหนก็ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นของขยะที่มีการการลักลอบนำมาทิ้ง และแม้กระทั่งบ่อขยะที่มีการอนุญาตถูกต้องก็ยังส่งผลกระทบกับชาวบ้านซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชน
แต่การมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ทำให้กังวลว่าจะยิ่งสร้างผลกระทบ เพราะเปิดโอกาสให้มีการประกอบกิจการทั้งการฝังกลบขยะ โรงงานคัดแยกขยะ รวมไปถึงโรงไฟฟ้าขยะ แม้แต่ในพื้นที่สีเขียวตามผังเมืองได้ ประชาชนจะคัดค้านก็ลำบาก
ด้านสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยกตัวอย่างผลกระทบในกรณีโรงไฟฟ้ากากของเสียจากอุตสาหกรรมใน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเดิมต้องการขยายเพื่อกำจัดกากของเสียอันตราย แต่ที่ผ่านมาติดผังเมืองควบคุมอยู่ ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ก็เหมือนเป็นการเปิดช่อง นอกจากนั้นใน จ.ฉะเชิงเทราถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโครงการด้านพลังงานและขยะ เพราะใกล้แหล่งอุตสาหกรรม
สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ส่งผลกระทบทั้งประเทศ เพราะเปิดโอกาสให้ประกอบกิจการในจุดไหนก็ได้ จากเดิมที่กระบวนการในเบื้องต้นจะมีการพิจารณาว่าการสร้างในพื้นที่หนึ่งๆ ขัดข้อกำหนดผังเมืองหรือไม่ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ชาวบ้านต้องมาปะทะโดยตรง ถือเป็นการจัดการในรายพื้นที่ ไม่ใช่รายโครงการที่หากเป็นโครงการย่อยๆ ยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในการติดตามเพื่อรับทราบข้อมูลของโครงการนั้นๆ
ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นต่อมาว่า กรณีปัญหาความมั่นคงทางพลังงานและการจัดการขยะไม่ควรถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการยกเว้นผังเมือง ตรงนี้ไม่ใช่ทางออก ทั้งจะเกิดปัญหาใหม่ ก่อให้เกิดผลกระทบในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น พร้อมเสนอว่าควรมีการพัฒนาแก้ไขผังเมืองให้ดีขึ้น ส่วนการก่อสร้างโครงการต่างๆ ควรพิจารณาความเหมาะสมและแก้ไขเป็นรายพื้นที่ โดยพิจารณาความคิดเห็นของคนในชุมชนร่วมด้วย
สุภาภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านจากหลายพื้นที่ในชื่อ ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ได้พยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาลยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ดังนั้นการฟ้องศาลปกครองจึงเป็นอีกช่องทางเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
สุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดีกล่าวว่า ประเด็นหลักในการต่อสู้คดีในครั้งนี้คือ การใช้อำนาจของ คสช. หากมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนจะต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้
ดังนั้นตัวคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ที่จะยกเว้นการบังคับใช้ผังเมือง โดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 ซึ่งเขียนไว้เหมือนรับรองอำนาจของหัวหน้า คสช.ว่า คำสั่งใดๆ ที่ออกมาให้มีผลทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยถือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด การเขียนเช่นนี้หากตีความว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ ก็เท่ากับตัดอำนาจในการตรวจสอบของประชาชนไปด้วย ซึ่งเราไม่เชื่อในเรื่องนี้
จากการพูดคุยกันแล้ว จึงคิดว่าควรนำคดีนี้มาฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลได้ชี้ให้เห็นชัดเจนทั้งต่อผู้ฟ้องคดีและต่อสังคมด้วยว่า การใช้อำนาจเช่นนี้ต้องมีขอบเขตจำกัด และไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจมากไปกว่านี้อีกแล้ว
“เรามาเพื่อยืนยันในหลักการว่าไม่มีอำนาจใดที่กระทบประชาชนแล้วจะตรวจสอบไม่ได้” สุรชัย กล่าว
สุรชัย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้สิทธิในการปกป้องพื้นที่ผ่านกระบวนการผังเมือง แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 กลับอาศัยอำนาจตาม ม.44 งดเว้นผังเมือง ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐ อีกทั้งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไข ม.44 เนื่องจากไม่ได้บรรลุผลในการปฏิรูป หรือการสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่กลับนำไปสู่การละเมิดสิทธิประชาชน
สำหรับกระบวนการทางคดี สุรชัย กล่าวว่า หลังยื่นฟ้องในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาว่าอยู่ในเขตอำนาจที่จะรับฟ้องหรือไม่ ถ้ารับฟ้องก็จะส่งคำฟ้องไปยังหัวหน้า คสช. เพื่อทำคำให้การกลับมา ซึ่งจะเป็นกระบวนการในการต่อสู้คดี และหากมีคำพิพากษาจะถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนชนจะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมหรือตรวจสอบในพื้นที่ถือเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ส่วนการฟ้องคดีนี้เป็นเพียงกลไกหนึ่งในการต่อสู้ เพื่อยกเลิกความพยายามปลดล็อคเพื่อให้มีโครงการลงไปในพื้นที่
ทั้งนี้ ข้อมูล EnLAW ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง ‘การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท’ ที่มีผลเป็นการยกเว้นผังเมืองทั่วประเทศอันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเชิงพื้นที่ของประชาชน และเป็นกรอบกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละบริเวณให้มีความยั่งยืนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีกิจการที่ได้รับการยกเว้นผังเมืองตามคำสั่งดังกล่าว ประกอบด้วย กิจการโรงไฟฟ้า กิจการด้านพลังงาน และกิจการกำจัดและจัดการขยะจำนวนหลายร้อยโครงการทั่วประเทศตามแผนงานที่หน่วยงานรัฐวางไว้
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนในระยะยาวอย่างร้ายแรง
เนื่องมาจากการปล่อยให้โครงการด้านพลังงานและขยะสามารถเปิดดำเนินการในพื้นที่ใดก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์และควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ คือ
1.เป็นการออกคำสั่งโดยปราศจากฐานอำนาจตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 ขัดต่อหลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจและระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
2.การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ไม่ได้เป็นตามกรอบเงื่อนไขการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 โดยนอกจากไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามที่อ้างไว้ในคำสั่งแล้ว ยังเป็นมาตรการที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนเกิดความจำเป็น
3.เป็นการละเมิดต่อสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางแผนและจัดทำผังเมือง และกระทบต่อสิทธิในสุขภาพและการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่มีบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
นอกจากนั้น หลักการวางและจัดทำผังเมืองเป็นการตรากฎกระทรวงซึ่งเกิดจากข้อตกลงร่วมกันของหลายฝ่ายในสังคมเกี่ยวกับประโยชน์อันหลากหลายที่แตกต่างกัน บนพื้นที่และการยอมรับถึงการจำกัดสิทธิของตนเองในแต่ละกลุ่ม ที่ได้กระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ ตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเคารพต่อข้อตกลงของสังคมดังกล่าว และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลของสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในธรรมชาติ สิทธิในการพัฒนา สิทธิในทรัพย์สิน
การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อวัตถุประสงค์และหัวใจของการผังเมืองและการจัดทำผังเมืองรวม และเป็นการละเมิดข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคมไทย เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อันหลากหลายที่แตกต่างกันบทพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด โดยปัจจุบันพบว่า มีผังเมืองรวมที่มีกฎกระทรวงประกาศใช้บังคับจำนวน 176 ผัง จำแนกเป็นผังเมืองรวมจังหวัด 33 ผัง และผังเมืองรวมเมือง/ชุมชน จำนวน 143 ผัง
ดังนี้ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและทบทวนการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 4/2559 ของ คสช. อันมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองออกกฎที่มีสถานะเทียบเท่ากฎกระทรวงและย่อมอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุดในการทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้ตามหลักนิติรัฐ
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 จึงมอบอำนาจให้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ประโยชน์สาธารณะ และแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทุกคน
รวมทั้ง เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการยืนหยัดธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่อไป