พลเมืองโต้กลับร้อง ‘ข้าราชการตุลาการ’ อริยะขัดขืนยืนยัน ‘คดีพลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร’

พลเมืองโต้กลับร้อง ‘ข้าราชการตุลาการ’ อริยะขัดขืนยืนยัน ‘คดีพลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร’

20151203154146.jpg

ภาพจาก: พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen 

วันนี้ (12 มี.ค. 2558) เวลา 13.00 น. นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ 4 คน ประกอบด้วย อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ เยาวชนนักกิจกรรมที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ปี 2553 และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ แท็กซี่นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ “ลัก” รวมทั้ง ณัทพัช อัคฮาด น้องชายพยาบาลกมนเกด อัคฮาด หนึ่งในผู้สูญเสียจากคดี 6 ศพวัดปทุมฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อประมุขฝ่ายตุลาการผ่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

กลุ่มพลเมืองโต้กลับเรียกร้องให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะดำเนินการพิจารณาคดีพลเรือนทุกคนในศาลอาญา โดยไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจป่าเถื่อนของคณะรัฐประหารที่ใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้เห็นต่าง 

อานนท์ นำพา อ่านแถลงการณ์กลุ่มพลเมืองโต้กลับ เรียกร้องข้าราชการฝ่ายตุลาการ 2 ข้อ คือ 1) ขอท่านได้โปรดยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งอำนาจนิติบัญญัติอันมีอยู่แต่เดิมโดยชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ธำรงไว้ซึ่งหลักการที่เสมือนเสาหลักในการอำนวยความยุติธรรม ไม่ยินยอมให้คดีของพลเรือนตกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่กระท่อนกระแท่นของศาลทหาร 

2) แสดงความกล้าหาญตามศักดิ์ของตุลาการ อริยะขัดขืนต่อประกาศและคำสั่งอันป่าเถื่อนของคณะรัฐประหาร ยืนยันหลักการแห่งกฎหมายว่า คณะรัฐประหารเป็นคณะกบฏ กฎ ประกาศ หรือคำสั่งใดๆ ของคณะรัฐประหารหาได้มีผลเป็นกฎหมาย รวมทั้งร่วมต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมแก่ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด

จากนั้น พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กล่าวเปิดตัวกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ตามแนวคิด “เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน” ระหว่างวันที่ 14 – 16 มี.ค. จากบางบัวทองถึง สน.ปทุมวัน ระยะทาง 50 กิโลเมตร เพื่อเข้าให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน

20151203154237.jpg

“แถลงการณ์พลเมืองโต้กลับ” วันที่ 12 มีนาคม 2558

ขอเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมธำรงไว้ซึ่งอำนาจตุลาการตามระบอบประชาธิปไตย หลักนิติรัฐและนิติธรรม ยุติการนำพลเรือนขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลทหาร และอริยะขัดขืนต่อประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร

กราบเรียน ท่านประธานศาลฎีกา ( ผ่านท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา )

อ้างถึง คดีระหว่าง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา กับนายอานนท์ นำภา กับพวก ผู้ต้องหา ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 และ ฉบับที่ 40/2558 รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่จะเป็นการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร

สืบเนื่องจากวันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ลงนามประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ฉบับที่ 1/2557 โดยอ้างสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ของประเทศ และมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล และความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรง เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว แต่กลับกลายเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอีก 2 วันถัดมา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ หลังจากนั้น คณะรัฐประหารได้มีประกาศอีกหลายฉบับตามมา รวมทั้งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 ถึงมาตรา 112 และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 รวมถึงความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมสากลทั่วไป

ศาลทหารในประเทศไทย นอกจากจะไม่ได้มาตรฐานสากลตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นแบบระบบศาลทหารแยกออกมาต่างหาก โดยมีทหารเป็นผู้พิพากษาทั้งหมด และศาลทหารดำรงอยู่ตลอดเวลาเคียงคู่กับศาลพลเรือน ซึ่งระบบศาลทหารแบบนี้แทบจะไม่มีประเทศไหนใช้แล้ว หากเรายอมรับว่าเหตุผลความจำเป็นของการมีศาลทหารประการหนึ่งซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นอ้างเสมอ คือ ข้าราชการทหารและวินัยทหารมีลักษณะพิเศษ จึงจำเป็นต้องมีศาลทหารโดยเฉพาะเพื่อตัดสินคดีของทหาร ก็หมายความว่า ศาลทหารต้องมีเขตอำนาจเฉพาะกรณีคดีของทหาร มีทหารเป็นคู่ความเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่พลเรือนต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ศาลทหารที่ขยายเขตอำนาจของตนออกไปครอบคลุมถึงคดีที่พลเรือนเป็นจำเลยด้วย ในขณะที่วิธีพิจารณาความในศาลทหารนั้นไม่ได้ให้หลักประกันแก่จำเลยที่เป็นพลเรือนเพียงพอ และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a fair trial) ซึ่งศาลทหารนั้น มีกระบวนการและหลักปฏิบัติในหลายประการที่ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน เช่น กระบวนพิจารณาที่ไม่รับรองสิทธิในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานไว้เพียงพอ หรือคู่ความไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา เป็นต้น

เมื่อกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารไม่ยุติธรรมเพียงพอ แต่ก็มาในนามของ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” เช่นนี้ ทำให้ระบอบเผด็จการทหารอาจกำหนดให้ศาลทหารมีเขตอำนาจเหนือพลเรือน เพื่อให้ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” ของศาลทหารเป็นเครื่องมือในการกำจัดพลเรือนที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารนั่นเอง

หากพิจารณาจากที่มาและพฤติกรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว เราจะพบว่าการกระทำรัฐประหาร 2557 เกี่ยวพันกับกรณีการสังหารหมู่ประชาชนจนนำไปสู่การสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอย่างลึกซึ้ง นั่นคือ หลังการสังหารหมู่ประชาชนจนนำไปสู่การสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการ และมีนายทหารจำนวนมากในคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวข้องในระดับสั่งการและปฏิบัติการ แม้นายอภิสิทธิ์ – สุเทพ ถูกฟ้องอาญาและได้รับการยกฟ้องกรณีการออกคำสั่ง ก่อนจะถูกฟ้องอีกครั้งจากกลุ่มญาติผู้สูญเสียฯที่นำเรื่องไปที่ ปปช.

แต่นายทหารที่เกี่ยวข้องใน ศอฉ. รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใดใด แม้ว่าศาลอาญาจะได้มีคำสั่งจากคำพิพากษาไต่สวนการตายในหลายคดี เช่น กรณีนายพัน คำกอง, นายชาญณรงค์ พลศรีลา, นายชาติชาย ซาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมถึงกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร นี่ยังไม่นับอีกหลายสิบสำนวนที่รอนำสู่การพิจารณา หากไม่เกิดการกระทำรัฐประหาร 2557 ขึ้นมาเสียก่อน ทั้งนี้โดยไม่อาจกล่าวข้ามความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯแบบเหมาเข่งด้วยเช่นกัน

และคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า “ขอถามข้อเท็จจริงว่ามีคนใช้อาวุธในประชาชนหรือเปล่า มีหรือเปล่า ขอให้พูดดังๆ มีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงหรือเปล่า และมีคนยิงใส่ทหารหรือเปล่า ถ้ามีก็จบ” นั้น เป็นการพูดแบบเอาสีข้างเข้าถู เพราะผู้เสียชีวิตที่ศาลได้มีการพิจารณาและมีคำสั่งไต่สวนการตายว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารนั้น ล้วนแต่เป็นผู้เสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2553 ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของ 6 ศพวัดปทุมฯ นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่จนทุกอย่างบริเวณพื้นที่ชุมนุมอยู่ในความสงบแล้ว

ดังนั้น คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นคำกล่าวที่เลื่อนเปื้อน เป็นการโยนความชั่วออกจากตัว โดยยกเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระกันมาโยงเข้าด้วยกัน เพื่อจะเอาตัวให้พ้นผิดจากกรณีการมีส่วนร่วมในการสั่งสังหารประชาชนและสั่งสลายการชุมนุมใน ปี 2553 ผ่านการกระทำรัฐประหาร 2557 นั่นเอง หากพิจารณาจากพลเมืองทั้งสี่ที่ถูกตั้งข้อหา และจะต้องถูกส่งขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารนั้น ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีการสั่งสังหารประชาชนและสั่งสลายการชุมนุมใน ปี 2553 และการกระทำรัฐประหาร 2557 ทั้งสิ้น เช่น นักศึกษาและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย, ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ดูแลคดีการชุมนุมทางการเมือง 2553 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีละเมิดกฎอัยการศึก ฯลฯ และญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ปี 2553 เป็นต้น

การแสดงความเห็น การตั้งคำถาม การปฏิเสธให้ความร่วมมือ การประท้วง ดื้อแพ่งอย่างสันติวิธี เป็นสิ่งที่พลเมืองกระทำได้ตามกฎหมาย ประการสำคัญ มันยังเป็นส่วนสำคัญที่แยกไม่ออกจากศักดิ์ศรีแห่งการเป็นพลเมือง ที่ย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีอำนาจมหาศาล การดำเนินคดีต่อพลเรือนที่ดื้อแพ่งต่อการปกครองของทหารโดยศาลทหาร จึงเสมือนการบังคับข่มเหงต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง ให้ต้องสยบยอมต่อระบบอำนาจนิยมของทหารนั่นเอง

ด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล และอาศัยสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เหล่าพลเมืองโต้กลับทั้ง 4 จึงขอเรียกร้องมายังท่านและข้าราชการฝ่ายตุลาการทุกท่านดังนี้

1) ขอท่านได้โปรดยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งอำนาจนิติบัญญัติอันมีอยู่แต่เดิมโดยชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ธำรงไว้ซึ่งหลักการที่เสมือนเสาหลักในการอำนวยความยุติธรรม ไม่ยินยอมให้คดีของพลเรือนตกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่กระท่อนกระแท่นของศาลทหาร 

2) แสดงความกล้าหาญตามศักดิ์ของตุลาการ อริยะขัดขืนต่อประกาศและคำสั่งอันป่าเถื่อนของคณะรัฐประหาร ยืนยันหลักการแห่งกฎหมายว่า คณะรัฐประหารเป็นคณะกบฏ กฎ ประกาศ หรือคำสั่งใดๆของคระรัฐประหารหาได้มีผลเป็นกฎหมาย รวมทั้งร่วมต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมแก่ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด

ทั้งนี้ หากคณะรัฐประหารได้บังอาจใช้อำนาจใดมาแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ของท่านให้บิดเบี้ยวไปจากกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขอท่านได้โปรดดำรงไว้ซึ่งเกียรติแห่งข้าราชการฝ่ายตุลาการ อย่าได้หวั่นหวาดไปตามอำนาจอันป่าเถื่อนนั้น และทำหน้าที่ของท่านด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสืบต่อไป

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นายอานนท์ นำภา พลเมืองที่ 1, 
นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พลเมืองที่ 2,
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พลเมืองที่ 3 และ
นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ พลเมืองที่ 4

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ