No Country for Young Men

No Country for Young Men

ปกรณ์
ภาพ: Mr.Chaiwat Khumdee

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร 

ว่ากันแบบง่ายๆ และไม่ซับซ้อน

มีเหตุผล 2-3 ประการ ที่เราเห็นว่าควรต้องสัมภาษณ์พูดคุยกับ ‘ปกรณ์ อารีกุล’ หนึ่งใน 14 คนจากกลุ่ม ‘ประชาธิปไตยใหม่’ ซึ่งถูกจับกุมตัวในช่วงบ่ายของวันที่ 26 มิถุนายน และเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ด้วยข้อหาที่บางคนในพวกเขาพูดติดตลกว่า ชูป้ายผ้า เรียกร้องประชาธิปไตย

ประการแรก, แม้จะดูล่าช้า และมีความเห็นของเขาออกไปตามหน้าสื่ออื่นบ้างแล้ว แต่คงออกลูกใจจืดใจดำไปหน่อย หากเราไม่คิดถามไถ่อะไรจากปกรณ์ หนึ่งในคอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ AfterShake ที่เราพอรู้บางอย่างที่ต่อให้ใจแข็งเป็นหินก็ยังต้องสั่นไหวว่า ตอนอยู่ในเรือนจำ เขาส่งข้อความผ่านมิตรสหายบางคนออกมาว่า ยังคิดเขียนต้นฉบับส่งมาให้กองบรรณาธิการ

นั่นทำให้คนข้างนอกอย่างเราๆ ได้ข้อสรุปกับตัวเองเงียบๆ ว่า เสรีภาพเป็นสิ่งล้ำค่าเพียงใด และสมควรหรือไม่ ที่จะให้ใครมาพรากไปโดยทำไม่รู้ไม่ชี้ราวได้มันมาฟรีๆ

ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เขาเองพูดถึงเรื่องนี้อยู่ด้วย โปรดค่อยๆ ติดตาม

ประการถัดมา ไหนๆ ก็ซักถามพูดคุยกันแล้ว เนื้อหาทั้งหมดที่เขากล่าว เราเห็นว่ามีนัยสำคัญเกินกว่าจะเก็บไว้อ่านเพียงลำพัง เพราะนี่ไม่ใช่แค่การถามสารทุกข์สุขดิบกันธรรมดาๆ หรือเอาใจแต่คนที่รักการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย แต่หมายรวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองในประเทศไทย ที่เราได้ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า มีจำนวนเป็นร้อยคน

สุดท้าย ในยุคสมัยที่เด็กมัธยมปลายบางคนส่งกระดาษคำตอบเปล่าๆ ในวิชาหน้าที่พลเมือง โดยไม่ได้จรดปากกาลงเขียนอย่างอื่นนอกจากชื่อ-นามสกุล และเลขที่ของตัวเอง นี่เป็นยุคที่คนรุ่นใหม่มีทัศนะต่อสังคมแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ปัญหาจึงอยู่ที่ ผู้หลักผู้ใหญ่พร้อมเปิดใจรับฟัง หรือคิดจะเนรเทศเขาหรือเธอไปให้พ้นพรมแดนไทย

อย่างไรก็ตาม กองบรรณาธิการ และ ปกรณ์ อารีกุล เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่อยากให้การพูดคุยนี้ดูเครียดจนเกินไปนัก ดังนั้น เราจึงเริ่มต้นด้วยคำถามว่า…

ที่คนพูดกันว่า เข้าไปในคุก ระวังโดนตุ๋ย ตรงนี้กลัวไหม เเล้วจริงๆ เป็นอย่างไร

(หัวเราะ) เอาจริงๆ ผมไม่กลัวนะ คือดูหน้าตาตัวเองแล้วคิดว่า ไม่ใช่สเปกแน่ๆ (หัวเราะ) ถ้าเป็นโรม (รังสิมันต์ โรม) หรือบาส (รัฐพล ศุภโสภณ) อาจจะน่ากลัว พวกนั้นเขาขาวๆ ตี๋ๆ จริงๆ ข้างใน ก็มีผู้ชายหน้าหวาน มากกว่าเราอีกนะ แต่ผมว่าเรื่องพวกนี้ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ คือมันไม่ได้มีการรุมโทรม หรือข่มขืนอะไร

อยู่ในนั้น คิดถึงใครบ่อยที่สุด

อุ่ย แว๊บแรกคิดถึงพ่อกับแม่นะ อันนี้ไม่ได้ตอบให้หล่อ แต่มันกังวลว่าเขาจะเป็นห่วงเรา เป็นห่วงสุขภาพเขา แต่จริงๆ ผมคิดถึงเพื่อนที่ร่วมสู้กันมาด้วย ที่คอยจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่ข้างนอก กลัวว่าเขาจะถูกจับมาเพิ่มอีก

ยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และกฎหมายที่ใช้แจ้งข้อกล่าวหาก็เป็นกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม ถึงอย่างนั้น ก็ยังโดนจับอยู่ดี ตรงนี้รู้สึกอย่างไร

ผมว่าเราไม่มีทางเลือก คือตอนอยู่ข้างในก็มีคนพูดกันเยอะว่า คนอย่างพวกเราไม่สมควรมาอยู่ที่นี่ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด ผมก็บอกเขากลับไปว่า เราไม่มีทางเลือก ถ้าเราแค่คิดและทำในสิ่งที่เชื่อ แล้วโดนจับ มันก็ชี้วัดสังคมที่เราอยู่ได้พอควร

ที่โดนจับเข้าไปนี่ พูดได้ไหมว่าคือนักโทษทางความคิด

ตอนแรกผมไม่รู้เลยว่าผมเป็นนักโทษทางอะไร (หัวเราะ) พอเข้าไปในเรือนจำคนเขาจะถามว่า โดนคดีอะไรมา พอเราบอกว่าชุมนุมทางการเมือง คนฟังจะทำหน้างงๆ นะ คืออย่างที่เอไอบอกว่าเราไม่ใช่นักโทษการเมือง เพราะยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นภัยความมั่นคงทางการเมือง เราแค่คิดต่างจากรัฐบาล ซึ่งก็เป็นนักโทษทางความคิด

ความคิดก่อนเข้าไป กับตอนเข้าไปเเล้ว มีอะไรเหมือน อะไรเเตกต่างกัน

เราเตรียมตัวดีนะ ในเรื่องกำลังใจ คือพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าอยากติดคุกนะครับ แต่อย่างที่บอกว่าพวกเราไม่มีทางเลือก ฉะนั้น อย่างที่ 1 ใน 14 คน บอกว่าเราไม่ได้ยอมรับผิด แต่ถ้าคุณจะทำโทษเราเพราะคุณมีอำนาจ เราก็ไม่หนี เพราะคนที่หนีคือคนผิด ทีนี้พอเราเชื่อมั่นแบบนี้ เราก็เดินเข้าเรือนจำแบบมีกำลังใจ

แต่พอเข้าไปแล้ว แค่ตรวจร่างกาย แก้ผ้าหมด อาบน้ำพร้อมกันก็แก้ผ้าหมด ผมก็ตกใจแล้วนะ (หัวเราะ) คือมันเป็นอารมณ์แบบ ตื่นเต้นตกใจ แต่ต้องเตือนตัวเองว่าเราไม่ผิด การจับเรามาขังต่างหากที่ผิด

10414844_949724115050989_2316117665290297813_n
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

เอาเเบบปุถุชนคนธรรมดา ไม่ต้องสวมหัวใจนักสู้ เล่าให้ฟังหน่อยว่า เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำจริงๆ เเล้วกลัวไหม

เรื่องแรกที่น่ากลัวคือ เราต้องอยู่กับคนหมู่มาก ที่มีคดีความหลากหลาย ถ้าเป็นคุกการเมืองสมัยก่อน คงเป็นอีกแบบ แต่ถ้าพูดอย่างคนธรรมดาคือให้เราไปกินไปนอนพร้อมกับผู้ต้องขังคดี ฆ่าคนตาย ฆ่าข่มขืน ค้ายาบ้า หรือเป็นที่สังคมเรียกพวกเขาว่าอาชญากร มันต้องมีอารมณ์เกรงใจ อารมณ์กลัวกันบ้างแหละครับ

แต่อันนี้ต้องชมวิธีการพูด การทำความเข้าใจตั้งแต่แรกของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นะ คือเขาบอกว่าทุกคนมีโอกาสก้าวพลาด พอก้าวพลาดแล้วคนอื่นเดือดร้อน สังคมเดือดร้อน เราก็มาอยู่ที่นี่เท่านั้นเอง ฟังแล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนก็เป็นคนเหมือนเรา ไม่มีอะไรต้องกลัว

ตอนโกนหัว รู้สึกว่าเราเป็นนักโทษจริงๆ ไหม

จริงๆ เรื่องตัดผมนี่ ต้องบอกเลยว่าเราเป็นฝ่ายเดินไปขอตัดเอง เพราะตอนแรกเรือนจำเขาจะไม่ให้ตัด คือเขาคิดว่าเราจะประกันตัว พอรู้ว่าเราไม่ประกันตัวแน่ๆ เขาก็ให้ตัดรองทรง แต่พอเราถูกแยกแดน เราก็เลยไปโกนหัวกัน คือไม่ได้มีปัญหากับเรือนจำ แต่อยากสื่อสารกับรัฐบาลว่า ถ้าอยากให้เราเป็นนักโทษนัก เราก็จะเป็นให้เต็มรูปแบบ ตัดผมรองทรงมันยังปกติอยู่ พอโกนหัวก็แบบชัดเจนไปเลย

“ความเห็นทางการเมือง ความคิดต่างจากรัฐบาลมันไม่ควรเป็นความผิดอยู่แล้ว คือมันสะท้อนโครงสร้างทางสังคมของเราว่าเป็นสังคมแบบไหน การเมืองก็ควรเอาชนะกันทางการเมือง ไม่ใช่ใช้ปืนมาออกกฎหมายแล้วจับคนคิดต่างเข้าคุก”

เล่าให้ฟังถึงชีวิตประจำวันในนั้นหน่อย

ตอนอยู่แดน 1 รวมกันทั้ง 14 คน ก็ตื่นนอน 6 โมงเช้า แล้วจะมีพี่เลี้ยงพาไปอาบน้ำทันที 7 โมงกินข้าว 8 โมงเข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ หลังจากนั้นช่วงเช้า พี่เลี้ยงก็จะพานั่งหน้าแดน เพราะทางเรือนจำกังวลเรื่องความปลอดภัยของพวกเรา เขาอยากให้เราอยู่ในสายตาตลอด ฉะนั้น ช่วงแรกเราก็จะทำอะไรยากหน่อย คือเดินไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ ต้องมีคนคอยดูแลตลอด ทำให้เราค่อนข้างเกรงใจพี่ๆ ผู้ต้องขัง ที่มาดูแลเรา พอสัก 11 โมง ก็จะออกไปเยี่ยมญาติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง เพราะนอกจากจะไปพบญาติ พบเพื่อน รวมทั้งสาวๆ (หัวเราะ) เราก็จะได้รู้ข่าวสารจากภายนอก

กลับมาจากเยี่ยมญาติราว 11.40 น. ก็จะเป็นเวลากินข้าวเที่ยงนะครับ หลังจากนั้นช่วงบ่าย บางวันก็จะเป็นช่วงว่างๆ อ่านหนังสือ จริงๆ เวลาว่างเนี่ย เราก็อ่านหนังสือกันตลอด โชคดีที่ในเรือนจำมีห้องสมุดทุกแดน มีหนังสือที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) เขียน ผมอ่านจบไปประมาณ 3 เล่ม แต่ช่วงบ่ายบางวันก็จะมี ทนายกับพนักงานสอบสวน มาพูดคุยเรื่องคดี

ในเรือนจำ ข้าวเย็นเขากินเร็วนะ ราวๆ บ่าย 3 ก็กินแล้ว พอสักบ่าย 3 ครึ่ง ก็ขึ้นเรือนนอนกัน คงเป็นเหตุผลเรื่องการจัดการความปลอดภัย พอขึ้นไปบนเรือนนอน ก็จะมีทีวีให้ดูนะครับ ถึงสักประมาณ 6 โมงก็เคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ ซึ่งดีมากเพราะเป็นการสวดมนต์แบบยาว มีบทพาหุง มีการแผ่เมตตา ผมรู้สึกว่าได้ทำสมาธิดีทีเดียว หลังจากนั้นเขาให้ดูทีวีต่อ จนถึง 3 ทุ่มครึ่ง ทีวีก็จะปิด แต่ไม่มีการปิดไฟนะครับ ซึ่งแปลก ผมนอนหลับทุกวันเลย ฮ่าๆ

ตอนหลังพอแยกแดนไปแล้ว กิจวัตรก็จะคล้ายๆ กัน เพราะเป็นระเบียบของเรือนจำ แต่อาจมีเวลาของตัวเองมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น ได้ไปช่วยงานของเรือนจำง่ายๆ เช่น งานธุรการหน้าแดน ช่วยทำกับข้าวบ้าง ผมรู้สึกว่าพอแยกแดนไปแล้ว เราใกล้ชิดกับทั้งพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่เรือนจำมากขึ้น เขาดูแลเราดี มีเมตตากับเรามาก

ที่บอกว่าผู้คุมดูเเลดี ดีอย่างไร

โดยรวมๆ คือเขาให้เกียรติเราครับ แต่เขาก็ทำตามหน้าที่ เขาใช้คำว่าเขามีหน้าที่รับฝาก ไม่ว่าใครจะถูกผิดอย่างไร นั่นเป็นหน้าที่ของศาล ของพนักงานสอบสวน เขาไม่เกี่ยว เพราะพอเดินเข้าเรือนจำมาแล้วเขามีหน้าที่รับฝากเอาไว้ ดูแลให้ดีที่สุดไม่ว่าเราหรือว่านักโทษคนอื่นๆ แต่กับเรา ผมรู้สึกว่าเขาเห็นเราเหมือนลูกหลาน และด้วยความที่คดีมันใหญ่ เขาเลยกังวลเรื่องความปลอดภัย เรื่องเจ็บไข้ไม่สบายเป็นพิเศษหน่อย

ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ตอนนี้มีนักโทษการเมืองอยู่ราวๆ ร้อยกว่าคน มีความเห็นอย่างไร ที่มีคนต้องติดคุกเพราะคดีทางการเมือง

ความเห็นทางการเมือง ความคิดต่างจากรัฐบาลมันไม่ควรเป็นความผิดอยู่แล้ว คือมันสะท้อนโครงสร้างทางสังคมของเราว่าเป็นสังคมแบบไหน การเมืองก็ควรเอาชนะกันทางการเมือง ไม่ใช่ใช้ปืนมาออกกฎหมายแล้วจับคนคิดต่างเข้าคุก

สำหรับเรา ยังพอรู้ว่าอีกไม่กี่วันก็คงได้รับการปล่อยตัว เเต่กับนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ที่ไม่รู้เหมือนเรา ตรงนี้มีความเห็นอย่างไร

ตรงนี้ผมรู้สึกเศร้านะ คือข้างในเราเห็นแววตา เราได้ฟังน้ำเสียง เราได้พูดคุยกัน คือไม่ใช่เฉพาะนักโทษทางการเมืองนะ ทุกคนที่ผมได้คุยด้วย มันมีเหตุที่นำไปสู่การกระทำที่ทำให้เขาติดคุกหมด คือมันเป็นเรื่องโครงสร้าง เรามีนักโทษในเรือนจำทั้งประเทศเกือบ 200,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนจนทั้งนั้น วันที่ศาลตัดสินว่าปล่อยตัว พี่ๆ เขามายินดีกับเรานะ แต่ผมไม่กล้าสบตากับหลายคน เพราะไม่อยากเห็นแววตาที่อยากได้รับอิสรภาพแบบเรา

1618619_10206064931685766_4457337392825086792_n
ภาพ: Na Mana Kin

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข (ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษคดี ม.112) เขียนสเตตัสบนเฟซบุคว่า ไปเรือนจำพิเศษวันนี้ วันที่คนอื่นกลับไปกันหมดแล้ว พอทราบตรงนี้ไหม

ผมรีบไปคอมเมนท์ให้กำลังใจแกเลยนะ คือตอนอยู่ข้างใน พี่สมยศดูแลพวกเราดีมาก แบ่งอาหารแบ่งขนม ให้เรากินตลอด ทั้งยังให้กำลังใจ แนะวิธีการใช้ชีวิตในเรือนจำ ผมยังนึกเสียดายว่าตอนออกมาไม่ได้ไปลาแก เพราะอยู่คนละแดนกัน

“ก่อนติดคุกทุกคนก็มาจากสังคมข้างนอกกันทั้งนั้นแหละ ถ้าสังคมดี เศรษฐกิจดี การเมืองดี ผมว่าคนน่าจะติดคุกน้อยลง”

เจอนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ไหม คุยอะไรกัน

เจอหลายคนเลยครับ แรกๆ พี่เขาก็ให้กำลังใจเรา หาขนม หาอาหารมาให้ทาน คุยกันหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องสารทุกข์สุขดิบ จนถึงสถานการณ์ข้างนอก คือพี่ๆ นักโทษการเมืองหลายคน เขาเข้าคุกมาก่อนรัฐประหาร เขาก็อยากรู้สถานการณ์บ้านเมือง

คนภายนอกมองว่า สังคมในคุกคือดินเเดนป่าเถื่อน พวกเหลือเดนอยู่กัน ตรงนี้จริงไหม

ไม่จริงเลย ผมว่าข้างในก็มีหลายอย่างที่ข้างนอกมี ในเรื่องระเบียบวินัย บางอย่างดีกว่าข้างนอกด้วยซ้ำ คือผมคิดว่าคนหมู่มากอยู่ในพื้นที่จำกัดแบบนั้น ก็ต้องมีกฎเกณฑ์แน่นหนาเป็นธรรมดา ข้างในก็มีคนที่มีเมตตา มีน้ำใจ แบ่งปันทั้งข้าวของ ทั้งรอยยิ้ม แต่ก็มีปัญหาทะเลาะวิวาทกันบ้าง ขโมยของกันบ้าง คือมันมีทุกอย่างแบบที่ข้างนอกมี อย่าลืมนะครับว่า ก่อนติดคุกทุกคนก็มาจากสังคมข้างนอกกันทั้งนั้นแหละ ถ้าสังคมดี เศรษฐกิจดี การเมืองดี ผมว่าคนน่าจะติดคุกน้อยลง

ที่บอกว่าเขียนต้นฉบับ เเต่เอาออกมาไม่ได้

ครับ ในเรือนจำเขาให้เขียนจดหมายได้ ตอนแรกผมเลยตั้งใจว่าจะเขียนต้นฉบับให้ AfterShake ก็เขียนไว้แล้ว แต่ไม่ได้เขียนเรื่องการเมืองหรือเรื่องเรือนจำ เพราะคงโดนเซ็นเซอร์อยู่แล้ว ผมเลยเขียนเรื่อง รวยกระจุกจนกระจาย แต่สุดท้ายก็ส่งไม่ได้อยู่ดี เพราะตามระเบียบเขาห้ามเกิน 15 บรรทัด ผมเขียนไว้ 3 หน้า ฮ่าๆ

ตอนพ่อเเม่มาเยี่ยมบอกว่ามีความหมายมาก มีบางวูบไหมที่คิดว่า เราไม่น่าทำอะไรเเบบนี้เลย

ไม่เลย ผมคิดว่าพ่อกับแม่ก็คงเหมือนกัน พวกเราต่างเชื่อมั่นว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือเขาไม่ได้เสียใจที่เราเป็นแบบ ไอ้พวกนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม ผมคิดว่าเขาแค่รับไม่ได้ที่เห็นลูกตัวเองอยู่ในชุดนักโทษ

บ้านเมืองเราควรดำเนินไปในทิศทางไหน เพื่อไม่ให้มีคนต้องติดคุก เพราะเห็นต่างทางการเมือง

ผมว่าเราต้องยอมรับกันได้แล้วว่าคนมันเห็นต่างกันได้ และความเห็นต่างมันไม่ผิด เรื่องไหนคุณเป็นคนส่วนใหญ่คุณก็ชนะไป ผมก็ยอมรับ เรื่องไหนผมเป็นคนส่วนใหญ่ก็อยากให้คุณอดทนบ้าง แต่ผมว่าถ้านับกันจริงๆ แล้ว ผมเป็นคนส่วนน้อยที่ต้องอดทนมากกว่านะ (หัวเราะ)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ