ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ‘พ.ร.บ.ประชามติร่าง รธน.59’ ลงโทษคนขัดขวางคุกสูงสุด 10 ปี

ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ‘พ.ร.บ.ประชามติร่าง รธน.59’ ลงโทษคนขัดขวางคุกสูงสุด 10 ปี

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 59 ให้ กกต.คุมกติกา คุณสมบัติอายุ 18 ปีขึ้นไป อยู่ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 90 วัน ลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตก่อน 30 วัน ใครขวางการปฏิบัติงาน คุก 1 ปี ปรับ 20,000 ประทุษร้ายเพิ่มอีกเท่าตัว ฉีกบัตร คุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น เผยแพร่ข้อความบิดเบือน หรือปลุกระดมข่มจู่ คุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่น

20162204195254.jpg

22 เม.ย. 2559 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หลังจากที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 171 ต่อ 1 เสียงในวาระลงมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีทั้งหมด 3 หมวด ได้แก่ หมวด 1 การจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการและขั้นตอนการออกเสียง, หมวด 2 หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียง แบ่งออกเป็น 9 ส่วน และหมวด 3 การควบคุมการออกเสียงและบทกำหนดโทษ รวม 66 มาตรา

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ก็คือ มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ 

ส่วนมาตรา 7 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” โดยให้ กกต.ดูแลให้การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงเป็นไปโดยสุจริตและมิให้มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด

ผู้มีสิทธิออกเสียง และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง กำหนดให้บุคคลสัญชาติไทย หรือได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันออกเสียง ส่วนการลงคะแนนออกเสียงสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด หากประสงค์จะขอใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงในจังหวัดที่ตนอยู่ ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนก่อนวันออกเสียงอย่างน้อย 30 วัน และให้หมดสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงที่ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิออกเสียงของหน่วยออกเสียงนั้น เว้นแต่จะได้แจ้งเปลี่ยนแปลงก่อนวันออกเสียงไม่น้อยกว่า 30 วัน

ขณะที่คนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ ย่อมมีสิทธิลงคะแนนออกเสียง ในกรณีที่ กกต.เห็นสมควร อาจกำหนดให้มีการจัดที่ออกเสียงเป็นกรณีพิเศษ โดยจัดให้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิออกเสียง และเมื่อได้ลงทะเบียนแล้ว ให้หมดสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 

สำหรับบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง ตามมาตรา 26 ประกอบด้วย เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช, อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง, ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย, วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

สำหรับการนับคะแนนออกเสียง กำหนดให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงดำเนินการนับคะแนนออกเสียงจากบัตรออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียง ณ ที่ออกเสียงของแต่ละหน่วย และให้กระทำโดยเปิดเผย เมื่อนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงานผลการนับคะแนนออกเสียง จำนวนบัตรออกเสียงที่มีอยู่ทั้งหมด จำนวนบัตรออกเสียงที่ใช้ และจำนวนบัตรออกเสียงที่เหลือของหน่วยออกเสียงนั้น 

ทั้งนี้ ให้กระทำโดยเปิดเผยและรายงานผลต่อคณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงโดยเร็ว ซึ่ง กกต.อาจดำเนินการให้มีการรายงานผลการออกเสียงอย่างไม่เป็นทางการได้ แต่เมื่อแสดงผลการออกเสียงถึงร้อยละ 95 ของจำนวนหน่วยออกเสียง ให้หยุดการแสดงผลการออกเสียงต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ การประกาศผลการออกเสียง ให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง รวมผลคะแนนออกเสียงจากทุกหน่วยออกเสียงภายในเขตออกเสียงและที่ออกเสียงนอกเขตจังหวัด เพื่อรายงานผลการรวมคะแนนออกเสียงให้ กกต.ทราบโดยเร็ว หากไม่มีการร้องคัดค้าน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการออกเสียงและจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

ส่วนการควบคุมการออกเสียงและบทกำหนดโทษ พบว่า ห้ามมิให้ กกต., เลขาธิการ กกต., ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัด, กกต.จังหวัด, อนุกรรมการ, ผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง, กรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง, ผู้อำนวยการประจำหน่วยออกเสียง, กรรมการประจำหน่วยออกเสียง, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการออกเสียง จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดเพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของ กกต. กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยมิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่หรือตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียง โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ หรือจงใจกระทำการด้วยประการใดๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุด หรือเสียหาย หรือกระทำการด้วยประการใดๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าเป็นเจ้าพนักงานหรือเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท

ผู้ใดกระทำการในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง อาทิ ออกเสียงหรือพยายามออกเสียง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงนั้น, ใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรออกเสียงมาออกเสียง, นำบัตรออกเสียงออกไปจากที่ออกเสียง, นำบัตรออกเสียงที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าได้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย, ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรออกเสียงเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรออกเสียงของตน หรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดบันทึกภาพบัตรออกเสียงที่ตนได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว และขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วยออกเสียงที่สั่งให้ออกไปจากที่ออกเสียง เพราะเหตุที่ผู้นั้นขัดขวางการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

ถ้านำบัตรออกเสียงใส่ในหีบบัตรออกเสียงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนออกเสียงโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรออกเสียงเพิ่มขึ้นจากความจริง, กระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไป ณ ที่ออกเสียง หรือเข้าไป ณ ที่ออกเสียง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าว ภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียง และก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ผู้ใดกระทำการก่อความวุ่นวาย, ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้, หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม, เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ นำไปหรือขัดขวางการส่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียง, เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนัน, เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอยางใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้ ทั้งนี้ เป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อ กกต. ก่อนหรือในวันออกเสียง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ใน (7) ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง และวรรคต่อมา “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านฉบับเต็ม: พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559

ที่มา: มติชนออนไลน์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ