บ้านแหง ลำปางร้องเพิกถอนใบอนุญาตป่าไม้ฯ ยกเลิกให้นายทุนทำเหมืองถ่านหิน

บ้านแหง ลำปางร้องเพิกถอนใบอนุญาตป่าไม้ฯ ยกเลิกให้นายทุนทำเหมืองถ่านหิน

วันนี้ 28 เมษายน 2557 เวลา 8:00 น. ชาวบ้านแหง ต.บ้านแหง  อ.งาว  จ.ลำปาง และกลุ่มรักษ์บ้านแหง ประมาณ 300 คน เดินขบวนออกจากหมู่บ้าน มาตามเส้นทาง จากสามแยกซุปเปอร์ไฮเวย์พะเยา-งาว ถึง ที่ว่าการอำเภองาว เรียกร้องให้ยกเลิกใบอนุญาตป่าไม้

ชาวบ้านระบุว่า ก่อนหน้านี้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ออกใบอนุญาตให้ บริษัท เขียวเหลือง จำกัดใช้พื้นที่ป่าไม้-ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว แต่มีประชาชนในพื้นที่ได้แสดงออกถึงการคัดค้านไม่ยินยอมให้นายทุนนำป่าไปทำเหมือง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานรับผิดชอบ และชาวบ้านแหงมานานถึง5 ปี และการอนุญาตให้ใช้ป่าสงวนฯ ในครั้งนี้ยังผิดระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 เนื่องจาก การที่บริษัทจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ 4-8/2553 ได้  กฎหมายกำหนดว่า “จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร  และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน”

โดย เมื่อชาวบ้านแหงเดินทางมาถึงที่ว่าการอำเภองาว แต่ นายสมเกียรติ ตันตระกูล นายอำเภอติดภารกิจเข้าไปประชุมในตัวจังหวัด   นายโกศล ชุมพลวงศ์ ปลัดอำเภออาวุโส เป็นผู้แทนเจรจากับชาวบ้าน โดยข้อเสนอของชาวบ้าน คือ ให้อำเภอฯ ประสาน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ทรัพยากรธรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ให้มาดำเนินการยกเลิกใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าฯ ซึ่งหากผู้ว่าฯ และผู้แทนหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวไม่เดินทางมาเพื่อเจรจากับชาวบ้านภายใน 1 ชั่วโมง ขบวนชาวบ้านจะยกระดับการชุมนุมโดยจะเคลื่อนขบวนไปปิดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์พะเยา-งาว จนกว่าจะได้ข้อตกลง

ทั้งนี้แถลงการณ์ของกลุ่มรักษ์บ้านแหงฯ ระบุว่านับตั้งแต่เริ่มมีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว  ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด  ในเขตพื้นที่บ้านแหงเหนือ หมู่ที่ ๑,  ๒ และ ๗  ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง  เมื่อปี ๒๕๕๓ หน่วยงานราชการและบริษัทฯ ได้ร่วมกันเร่งรัดดำเนินการในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ  เช่น

๑. รายงานการไต่สวนพื้นที่ประกอบคำขอประทานบัตร  แปลงที่ ๔-๘/๒๕๕๓  เป็นเท็จ  โดยการไต่สวนฯ พื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่  ระบุว่าไม่พบถนนหนทางและทางน้ำสาธารณะ (ห้วย หนอง คลอง ลำธาร ฯลฯ)  ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริง เพราะมีถนนหนทางและทางน้ำสาธารณะหลายเส้นทางที่ประชาชนใช้สอยประโยชน์ร่วมกันเพื่อการสัญจรไปมาและทำการเกษตร

๒. เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑  รัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งเป็นภรรยา  เสนอ ครม. ให้พิจารณายกเลิกพื้นที่ตามมาตรา ๖ ทวิ ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ โดยนำแหล่งถ่านหินในเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ๘ พื้นที่ทั่วประเทศ เปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนสำรวจและทำเหมืองแร่ถ่านหิน

๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ บริษัทของสามีจดทะเบียนบริษัทเพื่อดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินที่แอ่งงาว 

๓. บริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการป่าไม้ การทำไม้ ปลูกสวนป่า เพื่อหลอกซื้อที่ดินชาวบ้าน แต่พอซื้อได้แล้ว กลับนำที่ดินมาขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายหลัง

๔. ขอประทานบัตรทับที่ดินทำกิน ทั้งที่เจ้าของที่ดินไม่ยินยอม

๕. สวมรอการประชาคม เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินต่อไปให้ได้ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนด้วยการบิดเบือนความเห็นที่ได้จากการประชุม

          ในการประชุมชี้แจงข้อมูลของบริษัท เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ที่ศาลาเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านแหงเหนือ โดยมีปลัด อบต.บ้านแหง เป็นผู้บันทึกการประชุม  และผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ และหมู่ ๗ เป็นผู้รับรองรายงานการประชุม ข้อเท็จจริงที่บันทึกได้ในแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง พบว่าขัดแย้งกับรายงานการประชุม โดยรายงานการประชุมบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ใครเห็นด้วยให้บริษัทขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหิน ให้ยกมือขึ้น” แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงที่บันทึกไว้ได้ในช่วงเวลาเดียวกันระบุว่า “ใครเข้าใจในเรื่องที่อธิบายเกี่ยวกับการชี้แจงการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหิน ให้ยกมือขึ้น”

๖. มติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ มิชอบด้วยกฎหมาย

          สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหงมีมติเห็นชอบการขอประทานบัตรและการประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินของบริษัท โดยนำรายงานการประชุมชี้แจงข้อมูลของบริษัทเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ที่บ้านแหงเหนือ มาใช้เป็นหลักฐานพิจารณาลงมติของสภา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชน      

          ๗. ขอประทานบัตรทับที่ดิน ส.ป.ก. ของชาวบ้าน ๕๐๐ กว่าไร่

ทั้งหมด คือ สาเหตุที่ทำให้ราษฎรกลุ่มรักษ์บ้านแหงเรียกร้องหาความยุติธรรมมาโดยตลอด  การออกมาเดินรณรงค์และชุมนุมเรียกร้องในวันนี้  ด้วยเหตุผลและความจำเป็น  ได้แก่

(๑) หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ออกใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้-ป่าสงวนฯ เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินแก่ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด  แล้ว  เพื่อจะเร่งรีบออกประทานบัตรให้แก่บริษัทฯ    โดยไม่สนใจใยดีว่ายังมีที่ดินทำกินของราษฎรบ้านแหงเหนือ  หมู่ที่ ๑ และ ๗ ติดอยู่ในพื้นที่คำขอประทานบัตรประมาณ ๑๐๐ กว่าไร่  ที่ยังไม่ยินยอมหรือขายให้บริษัทดังกล่าวเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่ถ่านหิน และ ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๘  การที่บริษัทดังกล่าวจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ ๔-๘/๒๕๕๓  ได้  จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร  และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับและออกใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยยังมีความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง ๕ แปลง  อยู่ในขณะนี้

(๒) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหินของบริษัท  เขียวเหลือง  จำกัด และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีหนังสือแจ้งมติความเห็นชอบไปยังบริษัท เขียวเหลือง จำกัด เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา  ทั้ง ๆ ที่ราษฎรบ้านแหงเหนือที่อาศัยอยู่รอบบริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง ๕ แปลง ไม่ได้มีส่วนร่วมและรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการจัดทำรายงานอีไอเอเลยตั้งแต่ต้น  ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ เป็นอย่างยิ่ง.

อนึ่งกรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ พื้นที่บ้านแหงเหนือ  หมู่ที่ ๑ และ ๗  ต.บ้านแหง  อ.งาว  จ.ลำปาง มีรายละเอียดคือ

– โครงการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว  ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด  ปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขอประทานบัตร

– พื้นที่คำขอประทานบัตรทั้งหมดประมาณ  ๑,๕๐๐ ไร่  ตามคำขอ ๕ แปลง ๆ ละประมาณ ๓๐๐ ไร่  คือ  คำขอประทานบัตรแปลงที่ ๔-๘/๒๕๕๓

– ปริมาณสำรองถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว  ประกอบด้วย แอ่งย่อยสองแอ่ง  คือ แอ่งบ้านแหงเหนือ และแอ่งบ้านบ่อฮ่อ  รวมกันประมาณ ๔๘ ล้านตัน

– ประเภทเหมือง : เหมืองเปิดหน้าดินโดยการขุดและระเบิดไปที่ระดับลึกสุดประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ เมตรจากผิวดิน 

– ที่จุดกำเนิด-พื้นที่ทำเหมืองในพื้นที่บ้านแหงเหนือ : มีการกองถ่านหิน  คัดกรอง  แต่งแร่  คัดแยก  และขนถ่านหินเกรด-ขนาดและคุณภาพต่าง ๆ ไปขายให้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นเป็นหลัก  ส่วนการขายให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแม่เมาะหรือที่อื่น ๆ เป็นธุรกิจรอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ