บทเรียนจากรอยเลื่อน ตอน เขื่อนแม่สรวย

บทเรียนจากรอยเลื่อน ตอน เขื่อนแม่สรวย

     เขื่อนแม่สรวยกับแผ่นดินไหว คือภาพสะท้อนความกังวลของชาวบ้านที่อยู่ท้ายเขื่อน  ชาวบ้านได้พยายามลุกขึ้นมาหาคำตอบ โดยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเขื่อนร่วมกับกรมชลประทาน แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงกังวลใจถึงความปลอดภัยของตัวเขื่อนอยู่

     แม้จะผ่านมาร่วม 3 เดือน หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่จังหวัดเชียงราย  วันนี้ชาวบ้านที่มีทำกินอยู่บริเวณท้ายเขื่อนแม่สรวย ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย ยังคงต้องปลูกข้าวบนที่นาของตัวเองอยู่ ยายผิว  วุฒิธิ หนึ่งในชาวนาที่มีที่นาอยู่ใต้เขื่อนเล่าว่า “เมื่อก่อนก็รู้สึกกลัว จะมาทำนาแถวนี้ไม่กล้ามา กลัวเขื่อนจะแตก แต่บ้านของยายผิวอยู่ติดภูเขา ถ้าเขื่อนแตกอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบ้านที่อยู่ใต้เขื่อน เช่นบ้านสันกลาง ตำบลแม่สรวย ส่วนที่นี่ของตัวเองถ้าหากเขื่อนแตกก็จะได้รับความเสียหายหมด” 

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 เขื่อนแม่สรวยก่อสร้างขึ้นโดยกรมชลประทาน ซึ่งกักเก็บน้ำจากลำน้ำแม่รวยเพื่อผันน้ำใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรในอำเภอแม่ลาว อำเภอพาน อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่ใจจังหวัดพะเยา แต่หลังจากสร้างเขื่อนได้ไม่นานได้ปรากฏรอยแตกร้าว แม้จะมีการซ่อมแซมเป็นระยะ แต่ชาวบ้านบอกว่าขาดการชี้แจงที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ ทำให้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ชาวบ้านยิ่งกังวลใจมากขึ้น ตัวอย่างเช่นนางดวงใจลือสนั่น และ นางประนอม ชมภู แม่ค้าในตลาดบ้านสันกลาง ตำบลแม่สรวย จังหวัดเชียงรายซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนแม่สรวย บอกกับทีมงานว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่มา 50 กว่าปีแล้ว เขื่อนมาสร้างทีหลัง เวลาเขื่อนมันแตกมันร้าวผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ไม่เคยมาชี้แจงเลย สิ่งที่ชาวบ้านต้องการที่สุดตอนนี้คือการชี้แจง เพื่อนสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา

      เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการทำงานเขื่อนแม่สรวย โดยมีตัวแทนชาวบ้านท้ายเขื่อนและตัวแทนจากกรมชบประทานเข้าร่วม ณ ห้องประชุม อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพื่อถมช่องว่างในการตรวจสอบข้อมูลเขื่อนที่ก่อนหน้านี้การรายงานจะรายงานไปแต่ส่วนกลางเท่านั้นทำให้ขาดการทำงานร่วมกับชุมชน ข้อตกลงในวันนั้นคือชาวบ้านและกรมชลจะร่วมกันตรวจสอบเขื่อนเดือนละครั้ง

      นายชิน มณีวรรณ หนึ่งในคณะกรรมการทำงานเขื่อนแม่สรวยเล่าว่า ที่ผานมาได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการของกรมชลประทาน เข้าไปสำรวจอาคารใต้สปิลเวล์เขื่อน ไปครั้งแรกจะเก็บภาพเปัจจุบันอาไว้ และเดือนต่อๆไป ก็จะดูจากภาพปัจจุบันว่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด 

     นอกจากการทำงานร่วมกันเพื่อให้สามารถสื่อสารกันชัดเจนมากขึ้นแล้ว ชาวบ้านยังเห็นถึงความจำเป็นถึงการมีแผนรองรับหากเกิดกรณีเขื่อนวิบัติ   เพราะพวกเขายังคงต้องดำเนินชีวิต บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงกับภัยที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้

 

    ทีมข่าวพลเมือง รายงานจากจังหวัดเชียงราย

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ