นัดไต่สวนคำขอคุมครองฯ 11 ก.ค.นี้ หลังภาคประชาชนฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน ‘ประกาศ กกต.’ คุมความเห็นประชามติ

นัดไต่สวนคำขอคุมครองฯ 11 ก.ค.นี้ หลังภาคประชาชนฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน ‘ประกาศ กกต.’ คุมความเห็นประชามติ

iLaw – สสส.นำทีมภาคประชาชน ฟ้องศาลปกครองสูงสุด ขอเพิกถอนประกาศ กกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 ชี้ขัดต่อหลักประชาธิปไตย พันธกรณีระหว่างประเทศ กระทบเสรีภาพประชาชน ด้านศาลนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว 11 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

20160707222733.jpg

ที่มาภาพคีรี คีรี

6 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) พร้อมกับประชาชนอีก 11 คน รวมเป็น 13 คน เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 ซึ่งออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อหลักประชาธิปไตย และพันธกรณีระหว่างประเทศ และกระทบสาระสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

20160707222133.jpg

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องประกอบด้วย 1.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ 2.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดย ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน 3.นายจอน อึ๊งภากรณ์ 4.นายเอกชัย ไชยนุวัติ 5.นายไพโรจน์ พลเพชร 6.นางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ 7.นางสาวพัชณีย์ คำหนัก 8.ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี 9.ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช 10.นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ 11.ดร.นฤมล ทับจุมพล 12.นางสาวเกศริน เตียวสกุล และ13.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง 

iLaw รายงานว่า ปัญหาสำคัญประกาศของประกาศ กกต. ฉบับดังกล่าว คือ มีเนื้อหาคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การกำหนดลักษณะต้องห้ามในการแสดงออกโดยใช้คำว่า “บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง” หรือ “ลักษณะรุนแรง” หรือ “ก้าวร้าว” หรือ “หยาบคาย” หรือ “ปลุกระดม” หรือ การกำหนดว่า ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน และต้องนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็น 

หรืออย่างการกำหนดว่า การจัดเวทีสัมมนา หรือการอภิปรายที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา หรือองค์กรด้านสื่อสารมวลชนเข้าร่วม รวมไปถึงการห้ามชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ เพื่อนำไปปสู่การปลุกระดมทางการเมือง เป็นต้น

ข้อกำหนดเช่นนี้จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานจนเกินสมควรไม่ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กระทบต่อต่อสาระสำคัญของสิทธิที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ประกอบกับกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า หากยังมีการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่อาจทำให้การออกเสียงประชามติครั้งนี้บรรลุตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการลงประชามติได้ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดทำประชามติสูญเสียความชอบธรรม กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศในอนาคต และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานี้ กกต. ได้ผลิตรายการ “7 สิงหาประชาร่วมใจ” เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ สัดส่วนผู้รวมรายการดังกล่าวให้โอกาสกับกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและส่วนราชการมากกว่าภาควิชาการและประชาสังคม และไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือมีความเห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญได้ร่วมรายการอย่างเท่าเทียม ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยระเบียบของกกต.เอง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ และเพิกถอนมติคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกประกาศดังกล่าว และขอให้ศาลปกครองสั่งระงับการออกอากาศรายการดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดียังขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยเร่งด่วน คือ

1.งดการบังคับใช้ประกาศ กกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษา เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทั่วไปใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งรณรงค์ได้

2.ระงับการออกอากาศรายการ “7 สิงหาประชาร่วมใจ” ที่กกต.เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่าง ๆ จนกว่าจะแก้ไขและเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มีความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมมีสัดส่วนเท่าเทียมกัน

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ กล่าวหลังจากยื่นฟ้อง ว่า พวกเราองค์กรด้านสิทธิ และนักวิชาการและภาคประชาชนที่มายื่นฟ้องศาลปกครอง เพราะประกาศ กกต.ฉบับนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ทำให้ประชาชนขาดข้อมูลเพื่อไตร่ตรองว่าจะตัดสินใจอย่างไรในการลงประชามติ และเนื้อหาในประกาศหลายส่วนตีความเลยไปจากตัวพ.ร.บ.ประชามติ เช่น การห้ามจำหน่ายเสื้อ การห้ามจัดการพูดคุยโดยไม่มีสถาบันการศึกษา เราเชื่อว่า การรณรงค์ไม่ผิดเป็นสิ่งที่ทำได้ทั่วโลก หน้าที่ของ กกต.คือทำให้ประชามติมีความเที่ยงรรม แต่กับมาตัดสิทธิประชาชนโดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เราจึงขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกกลุ่มขบวนการประธิปไตยใหม่ ในฐานะผู้ร่วมฟ้องกล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากประกาศ เพราะหลังจากขายเสื้อเราถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ เช่น ถ้าใส่เสื้อแล้วไม่ถอดจะถูกจับ เราคิดว่าควรมีพื้นที่ให้เราแสดงออกเพราะประชามติครั้งนี้สำคัญ

ต่อมาเวลา 18.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว คดี iLaw และคณะ ฟ้องเพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องการแสดงความคิดเห็นประชามติ ในวันจันทร์ที่ 11 ก.ค. 2559 เวลา 09.00 น.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม: http://ilaw.or.th/node/4179

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ