นักศึกษาราชภัฏเชียงรายเดินหน้าค้าน ม.นอกระบบ ก่อนเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมังราย 8 พ.ค.นี้ ระบุการออกนอกระบบคือการผลักภาระของรัฐให้ตกเป็นของประชาชน ยืนยันการศึกษาต้องเป็นหน้าที่โดยพื้นฐานของรัฐในการจัดสรรให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมเรียกร้องขอร่วมกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย
6 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 11.00 น. กลุ่มนักศึกษาในชื่อกลุ่ม Nadia ทำกิจกรรมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายออกนอกระบบ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยกลุ่มนักศึกษาได้ติดป้ายผ้าคัดค้านการออกนอกระบบ และแจกใบปลิวเชิญชวนนักศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ และมีการตั้งโต๊ะเพื่อให้ผู้สนใจได้ร่วมลงชื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยฯ ออกนอกระบบด้วย
หนึ่งในนักศึกษาที่ทำกิจกรรมกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มนักศึกษาได้ทราบข้อมูลว่า ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายจะมีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมังราย นำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายออกนอกระบบไปเป็นมหาวิทยาลัยมังราย โดยมีหนังสือเวียนถึงอาจารย์และพนักงาน แต่นักศึกษากลับไม่ได้รับรู้ข้อมูล จึงวางแผนจัดกิจกรรมในวันนี้ขึ้น
“เราต้องการให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนต่างๆ ของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ขั้นต้น ไม่ใช่มารู้ตรงปลายทาง ถึงรู้แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้” นักศึกษาที่ทำกิจกรรมกล่าว
เขากล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายจำนวนมากแต่งกายด้วยชุดสีดำ เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและการประชาพิจารณ์ดังกล่าว อีกทั้งมีการจัดประชุมกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่ออธิการบดีด้วย
หนังสือดังกล่าวมีหัวเรื่องว่า “คัดค้านการนำ มรช.ออกนอกระบบในขณะนี้ เพราะยังไม่มีความพร้อม” ระบุเนื้อหาว่า ในฐานะข้าราชการ พนักงาน มรช. รวมถึงประชาชนชาวเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงตามชื่อที่ส่งมาไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวและขอคัดค้าน เนื่องจากทุกฝ่ายยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาก่อน และการออกนอกระบบ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องแบกรับภาระทุกด้านสูงมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยไม่มีแหล่งรายได้อื่นเลย เงินทุนก็ไม่เพียงพอ อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนกับนักศึกษา ซึ่งจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของประชาชนได้ ดังนั้นจึงขอให้ยุติการดำเนินการโดยทันที และเตรียมความพร้อมอีกประมาณ 5-10 ปีเป็นอย่างน้อย (คลิกอ่านข่าว)
นักศึกษาที่ทำกิจกรรมกล่าวด้วยว่า การออกนอกระบบผลกระทบที่เห็นชัดที่สุดคือค่าเทอม โดยเฉพาะสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา ซึ่งจะถูกเปลี่ยนให้เป็นการผลักภาระต่อพ่อแม่ผู้ปกครองของนักศึกษา และตัวอย่างมีให้เห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่ไม่ขึ้นค่าเทอม
ต่อมาในเวลา 13.00 น. ศักดิ์ชัย ชัยดิลกวงศ์ นักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านการออกนอกระบบ ระบุว่า
46 ปี นับตั้งแต่การสถาปนาโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดเชียงราย สู่การเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในปัจจุบัน ด้วยความตั้งใจในการเป็น “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู” เจตนารมณ์ดังกล่าวได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงการรับใช้อันใกล้ชิดของมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อท้องถิ่นในภูมิภาค
ณ วันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เราเรียกโดยทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” การพยายามเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้สร้างคำถามและการคัดค้านโดยแพร่หลาย และเราก็ขอร่วมคัดค้านเช่นกัน
เรา ในฐานะนักศึกษาของสถาบัน ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นเชียงราย ที่ต้องการพัฒนาและปกป้องผลประโยชน์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่การรับใช้สังคม ขอประกาศ “คัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย” โดยมีจุดยืนดังนี้
การศึกษา ต้องเป็นหน้าที่โดยพื้นฐานของรัฐ ในการจัดสรรให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นโยบายผลักดันการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เป็นการผลักภาระการลงทุนทางการศึกษาของรัฐให้ตกเป็นของประชาชน จึงสวนทางต่อเจตจำนงของประชาชนอย่างสิ้นเชิง
จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการนำอนาคตทางการศึกษาไปผูกติดกับความเสี่ยงจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เนื่องจากแนวคิดการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ได้ถูกผลักดันอย่างเข้มข้นหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 รัฐบาลได้ยอมทำข้อตกลงเพื่อแปรรูปมหาวิทยาลัยรวมถึงการแปรรูปกิจการอื่น ๆของรัฐกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB เพื่อแลกกับการกู้ยืมเงินจำนวนมากมาฟื้นฟูประเทศ โดยความมุ่งหมายของรัฐบาลเพื่อลดภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐ ด้วยเหตุนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงไม่เคยมีมหาวิทยาลัยใดเลยที่ออกนอกระบบไปแล้ว จะหาญกล้าประกาศลดค่าเล่าเรียนลงอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน ในทางตรงกันข้าม กลับมุ่งเน้นการแสวงหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย ทั้งโดยตรงจากตัวนักศึกษาและการร่วมมือกับกลุ่มทุนนำการศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองให้มากขึ้นเท่านั้น
และตราบที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทยยังมีอยู่สูง โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของครอบครัวที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจย่อมลดต่ำลง แล้วโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาในอนาคตจะเป็นเช่นไร “การลดเงื่อนไขเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา” จึงเป็นหนึ่งในหลักสำคัญที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายควรทุ่มเทให้เกิดผลอย่างจริงจัง ดั่งคติพจน์อันสวยหรู “มหาวิทยาลัยในหัวใจของประชาชน”
เราขอยืนยันว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องเปิดโอกาสทางการศึกษาในระดับท้องถิ่นอย่างทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพทางวิชาการที่มุ่งรับใช้ท้องถิ่น หยุดการกล่าวอ้างถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยด้วยการออกนอกระบบ เพราะเราสามารถร่วมกันเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ในวันนี้ ด้วยจุดยืนดังกล่าว เราจึงมีข้อเสนอดังนี้
มีตัวแทนนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากนักศึกษา ดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
นักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไปในท้องถิ่นเชียงราย สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ คัดค้านและตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ด้วยการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางมากขึ้น เราจะสามารถร่วมกันเปิดโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีก
“โอกาสและคุณภาพการศึกษา ไม่ควรมีเงื่อนไข”
จากนั้นกลุ่มนักศึกษาทำการชูป้ายที่มีข้อความ เช่น “เราไม่เอา ม.นอกระบบ” “มหาวิทยาลัยจะก่อกำแพงด้วย ‘เงิน’ เช่นนั้นหรือ?” “ท่านมองเห็นเม็ดเงิน แต่เรามองเห็นหยาดเหงื่อของผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ” ตามด้วยการอ่านบทกวีและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ประกอบการอ่านบทกวี โดยการเทสีแดงลงบนตัวนักศึกษา 2 คน สื่อสารว่านักศึกษากำลังถูกขูดรีดจนเลือดท่วมตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 13.30 น. โดยมีผู้ให้ความสนใจทั้งนักศึกษา อาจารย์ และประชาชนที่ผ่านไปมา อีกทั้งยังมีการสนธิกำลังจากหน่อยสืบสวนและตำรวจ สภ.บ้านดู่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาร่วมสังเกตการณ์และติดตามกิจกรรมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ล่าชื่อออนไลน์ค้าน ‘ราชภัฏเชียงราย’ ออกนอกระบบ นักศึกษาเตรียมแถลง 5 พ.ค.นี้