คืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลัง คสช.กำหนดพื้นที่ 5 จังหวัด ผู้ว่าฯ กนอ.เผยราคาที่ดินที่แพงขึ้น ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรา 44 ประกาศเพิกถอนที่ป่า ที่ดินปฏิรูป และที่สาธารณะอื่นๆ ให้เป็นที่ราชพัสดุ
เผยที่ดินแพง ทำรัฐฯ ใช้มาตรา 44 กำหนดที่ป่า เขตปฏิรูป ที่ดินสาธารณะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
29 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร หนองคาย สระแก้ว และตราด ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วทั้ง 5 จังหวัด โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินจากป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูป และที่ดินสาธารณะ ให้เป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำมาใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขั้นตอนต่อไป กนอ.จะเจรจารายละเอียดกับกรมธนารักษ์ ตกลงเรื่องเงื่อนไข ค่าเช่า และอื่นๆ โดยจะมีระยะเวลาการเช่าอย่างน้อย 50 ปี
นายวีรพงศ์ ยอมรับว่า หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น จึงแก้ปัญหาด้วยการนำที่สาธารณะมาใช้ ด้วยการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ดังกล่าว
สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดที่ประกาศแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยจะเริ่มโครงการปี 2561 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะต้องยื่นขอ บีโอไอ ภายในปี 2560
และเฟสต่อไปรัฐบาลมีแผนจะประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีกใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และ อ.สะเดา จ.สงขลา
กนอ.แจงกระบวนการเดินหน้า เล็งเสนอใช้ มาตรา 44 ลดขั้นตอนทำอีไอเอคู่กับการของบประมาณ
ด้าน ประชาชาติธุรกิจ ระบุ นายวีรพงศ์ เปิดเผยระหว่างการเสวนาเรื่อง “ตอบโจทย์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ” จัดโดย กนอ. ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่ก่อสร้างนิคมฯ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในเฟสแรก 5 จังหวัดอย่างชัดเจนแล้ว
กนอ.แบ่งการพัฒนานิคมฯ ออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 มี 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก 2. ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ 3.ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ส่วนระยะ 2 มี 2 พื้นที่ คือ 1.ต.คำอาฮวน อ.เมืองมุกดาหาร และ 2.ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
นายวีรพงศ์กล่าวว่า กนอ.ได้กำหนดกรอบเวลาการดำเนินงาน ปี 2559 จะเร่งรัดก่อสร้างนิคมฯ ระยะที่ 1 ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการจัดตั้งนิคมฯ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ออกแบบรายละเอียดงานก่อสร้างนิคมฯ ปี 2560 เริ่มก่อสร้างนิคมฯ และปี 2561 เปิดดำเนินงาน
ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มศึกษาความเหมาะสม ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบก่อสร้าง ในปี 2561 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 และจะเปิดดำเนินการในระยะ 2 ปี 2563
“กนอ.จะพยายามเร่งดำเนินงานทั้ง 2 ระยะให้รวดเร็วที่สุด ระยะการดำเนินงานก่อนเริ่มก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 20 เดือน แบ่งเป็นการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ ประมาณ 8 เดือน ส่วนนี้จะไม่สามารถลดขั้นตอนได้ ที่เหลือเป็นขั้นตอนในการขออนุมัติงบประมาณ จึงมองว่าน่าจะลดขั้นตอนการดำเนินงานได้เร็วกว่านี้ ดังนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือ กนพ. ให้ลดขั้นตอนการดำเนินงาน หรืออาจใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเข้ามาแก้ไข เพื่อให้สามารถจัดทำอีไอเอควบคู่กับขั้นตอนการของบประมาณ” นายวีรพงศ์กล่าว
นายวีรพงศ์กล่าวว่า สำหรับงบลงทุนตลอดทั้ง 2 ระยะ คาดว่าจะใช้ 6,656 ล้านบาท จากจำนวน 4,437 ไร่ คิดเป็นไร่ละ 1.5 ล้านบาท และ กนอ.จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้า โรงบำบัดน้ำเสีย ประปา และจะเปิดให้เช่าทั้งหมด โดยอัตราค่าเช่าจะไม่สูงกว่าพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีอัตราระหว่าง 1-2.5 แสนบาทต่อไร่ต่อปี โดย กนอ.คาดว่าจะมีค่าเช่าประมาณ 1-1.5 แสนบาทต่อไร่ต่อปี ส่วนรูปแบบการเช่าที่ดินจะใช้ตามระเบียบใหม่ของกรมธนารักษ์ที่มีระยะเวลาการเช่า 50 ปี และต่ออายุได้อีก 49 ปี
ภาครัฐเตรียมมอบสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุน เริ่มที่ อ.แม่สอด จ.ตาก-อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
ความคืบหน้าล่าสุดวันนี้ (29 พ.ค. 2558) ข่าวทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและการส่งเสริมการลงทุนเขตธุรกิจ โดยภายหลังการประชุม หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (รมช.คค. และเลขา สศช.) ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่าขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมที่ดินเพื่อให้เอกชนเช่าระยะยาว 30 – 50 ปี ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 6 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด เรียบร้อยแล้ว เตรียมโอนให้กรมธนรักษ์ และประกาศให้เอกชนเช่าต่อไป จากนั้นเอกชนที่สนใจให้ติดต่อขอเช่าที่ดินที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด
“อัตราค่าเช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะถูกมาก เช่น ที่ จ.สระแก้ว หากเป็นที่ดินดิบๆ เอาไปถมที่ดินเอง สร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปาเอง จะเสียค่าเช่าในอัตรา 32,000 บาท/ไร่/ปี หรือเดือนละไม่ถึง 3,000 บาท แต่หากไม่ต้องการพัฒนาที่ดินเอง ให้นิคมจัดสร้าง ถนน น้ำประปา ไฟฟ้าให้จะเสียค่าเช่า 160,000 บาท/ไร่/ปี”
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเอกชนสนใจที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วจำนวน 6 ราย อยู่ในประเภทกิจการต่างๆ ดังนี้ กิจการผลิตลวด และแปรรูปสินค้าเกษตร ต้องการลงทุนที่ จ.สระแก้ว กิจการผลิตชั้นวางสินค้าพลาสติก ที่ จ.สระแก้ว กิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้และเหล็ก จ.ตาก และ จ.สระแก้ว และกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ จ.สระแก้ว และ จ.มุกดาหาร
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า เอกชนที่สนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติดต่อได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยจะใช้เวลาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 วัน จากนั้นจะได้คำตอบว่าจะต้องขออนุญาตด้านใดบ้าง ใช้เวลานานเท่าใด ถ้าต้องการลงทุนจริงๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมจะเดินเรื่องติดต่อประสานหน่วยงานต่างๆ ให้ทั้งหมด
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คค. และเลขา สศช. กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง จะแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ภาคเอกชนและภาครัฐโดยการลงทุนผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำหรับวิธีการดำเนินการ ภาคเอกชน และ กนอ.จะต้องยื่นแสดงความจำนงขอใช้พื้นที่ โดยขณะนี้ กนอ. ได้ยื่นข้อเสนอขอใช้พื้นที่มาแล้วว่าต้องการใช้พื้นที่จำนวนกี่ไร่ ซึ่งเมื่อกระทรวงการคลังประกาศเรื่องอัตราค่าเช่าพื้นที่แล้ว จะเปิดให้มีการแสดงความจำนงในการเข้าไปพัฒนาพื้นที่
จากนั้นขั้นตอนต่อไป กนอ. และภาคเอกชนผู้แสดงความจำนงทุกรายจะต้องยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในแผนการพัฒนาฯ จะต้องมีเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดหาลูกค้าที่ต้องแสดงให้เห็นจำนวนลูกค้าที่มีอยู่ทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ และต้องแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสาธารณูปโภค รวมทั้งต้องมีแผนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการเข้าไปใช้พื้นที่ จะต้องมีเกณฑ์ในเรื่องผลงานที่ผ่านมา รวมทั้งดูว่าแผนนั้นสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ และการขออนุญาตต่างๆ นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะมีการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อไป
รมช.คค. และเลขา สศช. กล่าวต่อว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ได้พิจารณาในวันนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ซึ่งระยะที่ 1 เริ่มต้นจากบริเวณชายแดน เริ่มจากการนำเข้าสินค้าเกษตรที่จะต้องมีนำเข้าให้ถูกต้อง ให้มีโรงงานแปรรูปที่บริเวณชายแดน จึงได้มีการขอพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมกันนี้ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนได้อย่างเสรี แต่ละประเทศต้องไม่มีกำแพงขวางกั้นเรื่องสินค้าเข้า-ออก ซึ่งประเทศไทยมีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายจุด ที่แต่ละจุดมีความหนาแน่นของปริมาณการจราจรค่อนข้างมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้เริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนก่อนในระยะแรก เพื่อแก้ปัญหาความแออัดและอำนวยความสะดวกให้สินค้าเข้า-ออกได้ง่ายขึ้น
ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ตอนใน ที่ไม่ได้อยู่ในเขตชายแดน ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี ระยองเป็นหลัก และจะต่อขยายออกไปครอบคลุมถึงปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ปลอดจากน้ำท่วมและสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาทำงานได้ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่จะอยู่ในระยะที่ 2 อาจจะอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนก็ได้ แต่จากการวิเคราะห์ประเมินแล้วพบว่าพื้นที่บริเวณชายแดนนักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็มีความสนใจแต่อาจจะไม่มีความคุ้นเคยกับบริเวณชายแดน ซึ่งสิ่งที่จะไปยังชายแดนได้จะเป็นเรื่องการใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ กับการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ฉะนั้นในระยะที่ 2จะมีการพิจารณาประกาศส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเรื่องพื้นที่ตอนใน ซึ่งจะพิจารณาตามศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ โดยให้ศึกษาเพิ่มเติมใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 2.กลุ่มนวัตกรรม บริษัทที่เข้ามาทำงานศึกษา วิจัย หรือทำงานด้านห้องปฏิบัติการ ห้องแล็ป การออกแบบต่างๆ 3. กลุ่มการท่องเที่ยว 4.กลุ่มเกษตรและอาหาร 5.กลุ่มยาง อุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ
6. กลุ่มนิคมอากาศยาน 7.กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล 8.กลุ่มภาคบริการการศึกษานานาชาติ ที่ส่งเสริมให้มีการรับหลักสูตรนานาชาติที่มีมาตรฐานมาใช้กับประเทศไทยเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และมีการสอนพหุภาษาทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา และ 9.กลุ่มศูนย์กลางด้านสุขภาพ หรือ Medical HUB ใน 4 ส่วน คือ การให้บริการด้านสุขภาพ การให้บริการส่งเสริมสุขภาพ การให้บริการทางด้านวิชาการและงานวิจัย และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ประชุมให้ความสำคัญเป็นอย่างมากใน 2 พื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้เกิดขึ้นภายในปี 2558 จึงมุ่งเป้าหมายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสองพื้นที่แรกที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กับ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อนุมัติหลักการแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมจะทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
อีกทั้ง จะมีการสร้างถนนขนาด 4 ช่องจราจรจาก จ.ตาก ไป อ.แม่สอด ทำเส้นทางเชื่อมด่านชายแดนทั้งสองแห่งของ อ.แม่สอด รวมทั้งต่อขยายรันเวย์สนามบินแม่สอด ขณะที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จะทำถนนเชื่อมระหว่างพื้นที่ตลาดโรงเกลือ และมีการออกแบบด่านชายแดนแห่งที่สองของ อ.อรัญประเทศ นอกจากนี้ จะมีงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับแก้ปัญหาคอขวดที่เข้าไปสู่บริเวณชายแดนในพื้นที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน 10 จังหวัดระยะแรก
ดูอีกครั้ง 5+3 พื้นที่ ใช้ มาตรา 44 กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคำสั่ง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 17/2558 เรื่อง “การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” (คลิกดู) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ
ระบุแผนที่แนบท้ายคำสั่ง ดังนี้
1. ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก
2. ต.คำอาฮวน อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร
3. ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
4. ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
5. ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย
ที่ดินที่ตกเป็นที่ราชพัสดุตามคำสั่งนี้ และที่ดินอื่นที่คณะกรรมการกำหนดให้ใช้ประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
1. ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
2. ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา
3. เมืองหนองคาย จ.หนองคาย
00000
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๘ เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แถลงยุทธศาสตร์สำคัญ ๙ ด้าน เพื่อใช้เป็นหลัก หรือแนวทางในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม จะผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้มีการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการนี้จำเป็นต้องเร่งรัดกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อันจะทำให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการดังกล่าวให้หมายถึงคณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด “พื้นที่พัฒนา” หมายความว่า พื้นที่ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นเพื่อใช้พัฒนาอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การท่องเที่ยว หรือการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดให้มีหรือส่งเสริมให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และหมายความรวมถึงพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่อยู่ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้วย “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” หมายความว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๘ เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ ๒/๒๕๕๘ เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ ๒ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ ข้อ ๒ ให้ที่ดินดังต่อไปนี้ตกเป็นที่ราชพัสดุ โดยให้มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพที่ดินต่าง ๆ (๑) ที่ดินในท้องที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เฉพาะภายในแนวเขตตามแผนที่หมายเลข ๑/๘ ท้ายคำสั่งนี้ โดยให้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙๔๕ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (๒) ที่ดินในท้องที่ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เฉพาะภายในแนวเขตตามแผนที่หมายเลข ๒/๘ ท้ายคำสั่งนี้ โดยให้มีผลเป็นการเพิกถอนเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลคำป่าหลาย ตำบลบ้านโคก ตำบลดงมอน ตำบลกุดแข้ ตำบลโพนทราย ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี และตำบลหนองแวง อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๓๖ และถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (๓) ที่ดินในท้องที่ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เฉพาะภายในแนวเขตตามแผนที่หมายเลข ๓/๘ ท้ายคำสั่งนี้ โดยให้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (๔) ที่ดินในท้องที่ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เฉพาะภายในแนวเขตตามแผนที่หมายเลข ๔/๘ ท้ายคำสั่งนี้ โดยให้มีผลเป็นการถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ข้อ ๓ ให้บรรดาที่ดินที่ตกเป็นที่ราชพัสดุตามคำสั่งนี้ และที่ดินอื่นที่คณะกรรมการกำหนดให้ใช้ประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแผนที่หมายเลข ๖/๘แผนที่หมายเลข ๗/๘ และแผนที่หมายเลข ๘/๘ ท้ายคำสั่งนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการจัดทำผังเมืองรวมขึ้นใช้บังคับสำหรับที่ดินอันเป็นพื้นที่พัฒนาหลังจากมีการจัดตั้งพื้นที่พัฒนาแล้ว การจัดตั้งพื้นที่พัฒนาตามวรรคหนึ่งให้หมายความถึงการจัดให้เช่าที่ดินตามข้อ ๖ ข้อ ๔ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับแนวเขตตามแผนที่ตามข้อ ๒ หรือข้อ ๓ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ข้อ ๕ ในกรณีที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงใดที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินตามแผนที่ตามข้อ ๒ อันเป็นเหตุให้ที่ดินที่ตกเป็นที่ราชพัสดุตามข้อ ๒ มีพื้นที่ไม่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน หรือมีลักษณะไม่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำที่ดินอันเป็นที่ราชพัสดุดังกล่าวแลกเปลี่ยนกับที่ดินของเอกชนรายนั้นได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการจะสั่งให้ชดใช้เงินให้แทนการแลกเปลี่ยนที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้เอกชนตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงวัดและรัฐวิสาหกิจด้วยที่ดินที่ได้มาตามวรรคหนึ่งให้ตกเป็นที่ราชพัสดุตามข้อ ๒ ข้อ ๖ ในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามข้อ ๒ หรือที่ราชพัสดุอื่นในพื้นที่พัฒนา ให้กรมธนารักษ์ จัดให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ หรือจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือเอกชนเช่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนา ตามระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งอัตราค่าเช่าที่คณะกรรมการกำหนด ระยะเวลาการเช่าตามวรรคหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าคราวละห้าสิบปี และอาจต่อสัญญาอีกได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่ง โดยมิให้นำมาตรา ๕๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับการให้เช่าตามวรรคหนึ่งไม่ถือเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับกับที่ดินตามข้อ ๓ ที่มิใช่เป็นที่ราชพัสดุด้วยโดยอนุโลม ข้อ ๗ ผู้เช่าที่ดินตามข้อ ๖ มีสิทธินำไปให้เช่าช่วงหรือนำไปหาประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้และบรรดาสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่ผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงได้ปลูกสร้างขึ้น ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงเว้นแต่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อ ๘ ให้นำมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับกับการเช่าหรือให้เช่าที่ดินในเขตพื้นที่พัฒนาด้วยโดยอนุโลม แต่ในการให้เช่าแม้จะเกินหนึ่งร้อยไร่ ก็ให้กระทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินตามกฎหมายดังกล่าว ข้อ ๙ บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมาจากการแลกเปลี่ยนตามข้อ ๕ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งปวง และในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษีจากการได้มาหรือจากการแลกเปลี่ยนซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
|