ชาวบ้านแม่ถอดฟ้องศาลปกครองให้ถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลริมน้ำวัง

ชาวบ้านแม่ถอดฟ้องศาลปกครองให้ถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลริมน้ำวัง

เมื่อวันที่  ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๖ ชาวบ้านตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ในนาม กลุ่มรักษ์น้ำวัง ยื่นฟ้อง ๕ หน่วยงานรัฐ ได้แก่ ๑) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ๒) กรมโรงงานอุตสาหกรรม ๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ๔) อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ๕) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ถอด ต่อ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ให้สั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เห็นชอบใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า (ร.ง.๔) ที่ออกให้แก่บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไบโอ เอเชีย จำกัด และให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. ๔) ที่ (สรข.๕) ๐๒-๘๓/๒๕๕๖ ทะเบียนโรงงานเลขที่ ๓-๘๘-๖๘/๕๖ลป เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ออกให้แก่บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไบโอ เอเชีย จำกัด เพื่อประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิต ๙.๙ เมกะวัตต์

ชาวบ้านระบุว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่ได้ดำเนินการต่างๆ และออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไบโอ เอเชีย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างบ้านแม่เตี๊ยะนอก หมู่ที่ ๘ กับบ้านท่าสามัคคี หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เลียบและประชิดติดแม่น้ำวัง เพื่อประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิต ๙.๙ เมกะวัตต์ นั้น เป็นการดำเนินการและออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการออกคำสั่ง โดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มีการลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ  

โดยชาวบ้านตำบลแม่ถอด และกลุ่มรักษ์น้ำวัง ได้เคยร้องเรียนคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ตั้งแต่พบว่า การจัดประชุมประชาคมเพื่อขอจัดตั้งโรงงานผลิตชิ้นไม้สับและแปรรูปทางการเกษตร ของบริษัท โกลบัล วู้ดชิพ จำกัด และการขอจัดตั้งโรงงานรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไบโอ เอเชีย จำกัด  ชี้แจงไม่ครบถ้วน ไม่มีการชี้แจงถึงผลดี ผลเสีย มาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสุขภาวะอนามัยของประชาชน

วิทยา งามดี กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี ๒๕๕๕ มีการทำประชาคมหมู่บ้าน แต่มีการนำรายชื่อและลายเซ็นผู้เข้าร่วมประชุมประชาคมตามปกติไปเป็นมติอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงาน ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านให้ยกเลิกประชาคมดังกล่าว และขอให้ยุติและทบทวนขั้นตอนการขอจัดตั้งโรงงาน ไปยัง อบต.แม่ถอด และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง แต่ไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและข้อร้องเรียนของชาวบ้านแต่อย่างใด

ชาวบ้านระบุว่าการร้องเรียนที่เกิดขึ้นมานานนับปี แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ยังไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน และละเลยต่อข้อกฎหมายโดยออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บริษัทฯ ส่วน อบต.แม่ถอดก็ไม่ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามธรรมนูญสุขภาพตำบลแม่ถอด ที่ออกตามความพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านได้ทำหนังสือถึงองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ถอดหลายครั้งหลายหนเพื่อให้ดำเนินการฝ่ายผู้ประกอบการก็ไม่ได้ชี้แจงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสุขภาพของประชาชน แต่อย่างใด ขัดกับหลักการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายตามบทบัญญัติของมาตรา ๖๗ วรรคสอง แต่การก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด ๙.๙ เมกะวัตต์ ของบริษัท ที่กำหนดไว้เพื่อไม่ให้เข้าข่ายประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) (๑๐ เมกะวัตต์ ต้องทำ EIA) ก็สะท้อนถึงการไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนที่โรงงานตั้งอยู่ อีกทั้งใบอนุญาตโรงงานยังเปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถขยายโรงงานได้โดยไม่ต้องทำประชาคม

ชาวบ้านยืนวันว่า การดำเนินการทั้งหมดที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่าผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เพียงเพิกเฉยต่อการร้องเรียนของชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตนเองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านตัดสินใจร่วมกันฟ้องดำเนินคดีต่อ ๕ หน่วยงานรัฐดังกล่าว โดยมีตัวแทนลงชื่อร่วมกันเป็นผู้ฟ้องคดี ๑๕๐ คน

“เราส่งหนังสือไปหลายครั้งถึงหลายหน่วยงาน บอกว่าเราคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะเรากังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแม่น้ำวัง สิ่งแวดล้อม และเพื่อปกป้องสุขภาพของชุมชน เรารวมตัวกันขับไล่ผู้ใหญ่บ้านในกรณีที่บิดเบือนทำประชาคมหมู่บ้านออกไป แต่ ๕ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้สนใจปัญหาและคำเรียกร้องของเราเลย เราจึงตัดสินใจต้องไปฟ้องกับศาลปกครอง” วิทยา หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าว

ทั้งนี้ ความกังวลของชาวแม่ถอดต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ

๑ สถานที่ก่อสร้างโรงงานทั้งสองตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง โดยฝั่งขวาของแม่น้ำวังเป็นแปลงปลูกไม้โตเร็วเพื่อนำมาเข้าโรงงานผลิตชิ้นไม้สับและแปรรูปทางการเกษตร ของบริษัท โกลบัล วู้ดชิพ จำกัด ต่อจากนั้นก็นำชิ้นไม้สับมาผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไบโอ เอเชีย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงงานเดียวกันบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำวัง โดยในระยะ ๒ – ๕ กิโลเมตร จะมีชุมชนล้อมรอบ ประมาณ ๖ หมู่บ้าน

๒ ฝุ่นละออง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกิจกรรมภายในโรงไฟฟ้าชีวมวล เริ่มตั้งแต่การเก็บ ขน ลำเลียงวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิต ฝุ่นละอองก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคน สัตว์ และพืช พบว่าฝุ่นขนาดเล็กในบรรยากาศจะมีความสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด และเกี่ยวโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหืดหอบ และเด็กจะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนปกติด้วย รวมถึงทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน บดบังทัศนวิสัย และเกิดอุปสรรคในการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

๓ น้ำร้อนจากกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) โรงไฟฟ้าชีวมวลที่นี่เป็นแบบกังหันไอน้ำ ซึ่งจะใช้ชิ้นไม้สับและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำให้เดือด แล้วปล่อยน้ำร้อนไปตามท่อผ่านกังหัน เพื่อผลักดันกังหันให้หมุนด้วยความเร็วเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า คำถามก็คือ น้ำร้อนเหล่านี้จะถูกถ่ายเททิ้งลงไปในที่ลุ่มต่ำ เช่น ลำห้วย ลำธาร หรือแม่น้ำวังหรือไม่ อย่างไร

๔ น้ำเสียและกลิ่นเหม็น แหล่งกำเนิดคือกิจกรรมของคนงาน และกระบวนการผลิต อันตรายของน้ำเสียและกลิ่นเหม็นอาจจะไม่รุนแรง แต่จะส่งผลในเรื่องของการอุปโภคบริโภค

๕ เสียงดัง เกิดจากกิจกรรมภายในโรงไฟฟ้า ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนงาน รวมถึงบริเวณชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียง ซึ่งมักส่งผลต่อสุขภาพทั่วไปและจิตใจ ได้แก่ รบกวนการนอนหลับ รบกวนการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนท้องถิ่น ขัดขวางการได้ยินสัญญาณอันตรายต่างๆ

๖ มลพิษทางอากาศ เมื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลจะก่อให้เกิดมลสารในอากาศหรือไอเสีย ได้แก่ ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ ฝุ่นที่เป็นอนุภาคแข็งลอยตัวอยู่ในอากาศ ละอองจากการฟุ้งกระจายของของเหลวหรือของแข็งในตัวกลางที่เป็นก๊าซ นอกจากนี้การเผาไหม้ยังก่อให้เกิดไอระเหยรวมถึงก๊าซและสารประกอบ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น

๗ อาจเกิดแรงกระตุ้นให้ตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติ ถ้าไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส กระถินเทพา ฯลฯ ในแปลงปลูกฝั่งซ้ายของแม่น้ำวังของบริษัททั้งสองเจริญเติบโตไม่ทันนำมาผลิตชิ้นไม้สับ และไม่สามารถหาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้เพียงพอกับความต้องการที่วันละ ๕๐๐ ตัน จะเป็นการส่งเสริมให้มีการบุกรุกทำลายป่าไม้ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในแถบถิ่นนี้อย่างแน่นอน

๘ หากไม่สามารถปลูกไม้โตเร็วในแปลงปลูกที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำวัง เพื่อนำมาผลิตชิ้นไม้สับ และไม่สามารถหาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรปริมาณ ๕๐๐ ตันต่อวัน มาป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลได้เพียงพอ และไม่สามารถเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติได้ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้จะเปลี่ยนไปใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงได้ เพราะแถบถิ่นนี้ ราษฎรในพื้นที่มักพูดหยอกล้อกันเสมอว่า“ถ่านหินหาง่ายกว่าชิ้นไม้สับและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเสียอีก” ซึ่งถ้าเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นถ่านหินจริง จะเกิดผลกระทบรุนแรงอย่างแน่นอน

๙ ถนนในหมู่บ้านอาจได้รับความเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซด์จากไอเสียของรถบรรทุกวัตถุดิบของสถานประกอบ การทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ การสัญจรภายในหมู่บ้านจะคับคั่ง และอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรต่อประชาชนในชุมชน

๑๐ การประกอบการของโรงงานทุกขั้นตอนการผลิต ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรชนิดต่างๆ อาจเป็นอันตรายต่อโพรงจมูก เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ในเด็กและผู้สูงอายุจะเจ็บป่วยง่าย

๑๑ การเดินเครื่องจักรอาจทำให้เกิดเสียงดัง ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง

๑๒ อาชีพเลี้ยงสัตว์อาจเกิดความเสียหายจากการประกอบกิจการ เช่น ไก่ไข่ไม่ออกไข่ เป็นต้น

๑๓ อาชีพปลูกไม้ผลอาจเกิดความเสียหายจากการประกอบกิจการ เช่น ไม่ออกดอกและผล

๑๔ อาจจะเกิดปัญหาจากการที่น้ำใต้ดินไหลไปรวมตัวที่สระน้ำของบริษัททั้งสอง ทำให้ที่ดินสาธารณะ ร่องน้ำ ลำห้วย ที่ต้องไหลไปรวมกันที่แม่น้ำวัง เกิดความแห้งแล้ง และประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงอาจได้รับผลกระทบจากน้ำไม่เพียงพอสำหรับการใช้ทำการเกษตรและน้ำประปาหมู่บ้าน

รวง สาสี ชาวบ้านท่าสามัคคี หมู่ ๑๑ กล่าวว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านถอด หากินอยู่กับป่า หาปูปลาอยู่กับน้ำวัง มีที่ดินไม่มาก น้ำกินน้ำใช้จากน้ำวังทั้งนั้น จากแม่ถอดลงไปจนถึงเขื่อนภูมิพล ถ้ามีโรงไฟฟ้าชีวมวลผลกระทบจะเกิดขึ้นจะกระทบต่อชาวบ้านริมน้ำวังตลอดทั้งสาย

“ถ้าเกิดโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ริมน้ำวัง อยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียงสองกิโล เกิดขึ้นได้ ปูปลาไม่มีแล้ว ฝุ่น มลพิษ น้ำเสีย สิ่งแวดล้อม การหาอยู่หากิน และแม่น้ำวังจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” รวง กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ