วันนี้ (2 ส.ค. 2559) เครือข่ายพลเมืองสงขลา และเครือข่ายชุมชน รวมทั้งองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ร่วมกันจัดเวทีถกแถลง “คนใต้คิดอย่างไร กับ รัฐธรรมนูญฉบับชิวชิว” ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา โดยมีนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 21 คน ร่วมแสดงความคิดเห็น
ดูคลิปการสัมมนาโดยเพจพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่
สัมมนา”คนใต้คิดอย่างไร? กับรัฐธรรมนูญ ฉบับ ชิวชิว
Posted by พลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่ on Monday, August 1, 2016
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการพูดคุย นายประสิทธิชัย หนูนวล เป็นตัวแทนองค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ 30 องค์กร ร่วมอ่านแถลงการณ์ “5 เหตุผลที่ไม่รับร่าง และ 3 ข้อเสนอต่อ คสช.” รายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์ร่วม 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ การลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นสิทธิส่วนบุคคลอีกเช่นกันที่สามารถแสดงออกแจ้งบอกจุดยืนพร้อมเหตุผลต่อสาธารณะได้ จึงนำมาซึ่งการจัดเวที คนใต้รับหรือไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชิว ๆ” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันนี้ (2 สิงหาคม 2559) และจากความเห็นร่วมของ 30 องค์กรประชาชนภาคใต้ รวมทั้งนักวิชาการ อาจารย์ ปัญญาชน นักพัฒนาเอกชน แกนนำภาคประชาชน ในภาคใต้ ต่างมีความเห็นที่ไปในทิศทางเดียว ที่จะ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยหลากหลายเหตุผล อาทิ 1. มีการปิดกั้นการแลกเปลี่ยน การแสดงความคิดเห็นอย่างน่าเกลียด จนเกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อไม่ให้ถกไม่ให้วิพากษ์ ก็สมควรไม่รับร่าง 2. เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคนไทยรู้สาระเนื้อหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญน้อยมาก รับรู้แต่ย่อสาระสำคัญที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง เมื่อไม่รู้จะให้รับร่างได้อย่างไร 3. ร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีสาระสำคัญที่ด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างชัดเจนในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสิทธิชุมชน การสาธารณสุข การศึกษา การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสาระการปฏิรูปล้วนไม่ปฏิรูปจริง เพราะยังเลื่อนลอย “ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด” 4. ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีแก่นแกนของจุดยืนในการเพิ่มอำนาจรัฐราชการและลดอำนาจภาคประชาชน เจตนาสมยอมให้กลุ่มทุนและรัฐราชการร่วมกันยึดกุมการบริหารประเทศอย่างรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจ ไม่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ปกป้องสิทธิชุมชน และเหตุอันนี้จะนำมาสู่การล่มสลายของสังคมภายใต้การยึดกุมของกลุ่มทุน 5. ในบทเฉพาะกาล และคำถามพ่วง มีความชัดเจนให้มีการสานต่ออำนาจ คสช.จากการให้อำนาจรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งย่อมหมายถึง 2 รัฐบาลหรือแปลว่า คสช.สามารถสานต่ออำนาจได้ยาวนานถึง 8 ปี ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ทางเครือข่าย 30 องค์กรภาคประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขอเรียกร้องต่อ คสช. เพียง 3 ประการ คือ 1. ขอให้ คสช.ประกาศอย่างชัดเจน เปิดกว้างให้ประชาชนสามารถวิพากษ์ วิจารณ์ ให้ความเห็น รณรงค์ สร้างกระแสทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ในโค้งสุดท้าย ล้างบาปความผิดพลาดในการปิดกั้นคุกคามที่ผ่านมา อันเป็นการเคารพเสียงประชาชน ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ก็ตาม 2. ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ทาง คสช.จะดำเนินการต่ออย่างไร ทั้งนี้ทางเครือข่าย 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้เห็นว่า เมื่อประชาชนไม่รับ คสช.ก็หมดความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ขอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งฉบับกลับมาใช้ใหม่ ใส่บทเฉพาะการเรื่องการตั้งกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเข้าไป และจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วจึงค่อยพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปโดยกลไกของประชาชน 3. ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช.จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะไม่ลงเลือกตั้ง จะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และจะไม่เสียสัตย์เพื่อชาติอย่างเช่น พลเอกสุจินดา คราประยูร ในครั้งการรัฐประหาร รสช. นี่คือ 5 เหตุผลที่ไม่รับร่าง และ 3 ข้อเสนอให้ คสช.ดำเนินการก่อนวันลงประชามติ 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ 2 สิงหาคม 2559 รายชื่อ 30 องค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ที่ร่วมจัดงานและร่วมออกแถลงการณ์ 1. เครือข่ายพลเมืองสงขลา |