ถึงแม้เสียงในสังคมจะแตกกัน มีเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมรับน้อง แต่จัดอย่างสร้างสรรค์กระแสสังคมมีแนวโน้มสนับสนุน อีกหนึ่งเรื่องราวการสานสัมพันธ์รับขวัญน้องใหม่ ของสโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ ใช้กลไกกระบวนการวิศวกรสังคม สร้างสรรค์กิจกรรม “เอิ้นขวัญน้องใหม่ สายใยมนุษยศาสตร์” รับน้องแบบฮักแพงหลอมรวมใจเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวสัมพันธ์ ในปีการศึกษา 2566
แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 ตามพรบ.วิทยาลัยครู มุ่งพัฒนาให้บัณฑิตมีอัตลักษณ์ “มีอุดมการณ์ มองกว้าง คิดไกล ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม นำการพัฒนา” ปัจจุบันเปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรีจำนวน 10 สาขา ในปีการศึกษา 2566 นี้ มีนักศึกษาใหม่เข้าเรียนประมาณ 490 คน
กิจกรรมสานสัมพันธ์รับขวัญน้องใหม่ในครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก ต้องรับมือกับน้อง ๆ ที่หลากหลายทางความคิดมากมาย แต่พี่ Staff ผ่านกระบวนการฝึกทักษะวิศวกรสังคม ได้นำทักษะ Soft Skill 4 อย่างมาใช้ ได้แก่
- ทักษะในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงทักษะด้าน Public Speaking (Communication Imformation and Media Literacy)
- ทักษะในการทำงานกับผู้อื่น (Collaboration) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเป็น Leadership คือ ทักษะในการเป็นผู้นำ และ Teamwork ทักษะในการทำงานเป็นทีมกับผู้อื่น
- ทักษะในการคิดวิเคราะห์และทักษะในการแก้ปัญหา Problem Solving (Critical Thinking)
- ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และคิดเชิงนวัตกรรม (Creativity and Innovation)
ซึ่งเป็นคุณลักษณะของวิศวกรสังคมที่พี่ Staff ได้ฝึกอบรมและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่สามารถบริหารจัดการกับน้องนักศึกษาผ่านไปอย่างปลื้มปิติ เอ่ยได้เลยว่ามาร้อยคนรับได้ร้อยคนมาพันคนต้อนรับได้พันคน
กำหนดการเริ่มจากพิธีเปิดโดยมี ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีฯ พร้อมด้วยประธานสาขาแต่ละวิชา กล่าวให้โอวาท จากนั้นเป็นพิธีเชิญตราคณะฯ และตราแต่ละสาขา ต่อด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกแขนน้องใหม่ ช่วงบ่ายเป็นการเข้าฐานกิจกรรมและเกมการละเล่นต่าง ๆ อย่างสรรค์สร้างแฝงด้วยแนวคิด ช่วงค่ำตัวแทนน้องใหม่แต่ละสาขาเล่าความรู้สึก จากนั้นเป็นพิธีจุดเทียนส่องใจเป็นแสงสว่างส่องทาง และพิธีปิด
กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการให้เสรีภาพคนรุ่นใหม่ คือรุ่นพี่ Staff ได้คิดอ่านขับเคลื่อนในสิ่งที่สร้างสรรค์ภายใต้กรอบเงื่อนไขที่เป็นธรรมในทุกขั้นตอน ผลลัพธ์ที่ออกมามักจะเกินความคาดหวังเสมอ ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องดีที่สุดแต่ก็ให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
“อยากจัดงานรับน้องครั้งนี้ สร้างไว้ให้เป็นตำนานเพื่อเล่าขานให้รุ่นต่อ ๆ ไป เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมในปีถัดไปหรือทำให้ดีกว่าครั้งนี้ ฝากถึงผู้จัดกิจกรรมอื่น ๆ ให้รุ่นน้องครั้งต่อไป อยากให้คิดใหม่เปลี่ยนการจัดกิจกรรมไปจากเดิม ให้คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นที่เอ่ยถึงในระดับประเทศ”
ธนารักษ์ ถึงคำภู รองนายกสโมสรคณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์
น้องธนารักษ์ เล่าว่า ช่วงเตรียมงานได้รับบทบาทหน้าที่เป็นเหมือนออแกไนซ์เซอร์ วางแผน มอบหมายงานให้ทีม ภารกิจเรามีทั้งหมด 10 ฝ่าย ถูกถ่ายทอดความรู้จากรุ่นพี่ และประสบการณ์ตัวเองจากการได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ทีม Staff มีทั้งหมด 60 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการสโมสรนักศึกษาฯ 30 คน ไม่เพียงพอต้องขอความร่วมมือจากนักศึกษาชั้นปีที่สอง 30 คน
ก่อนวันงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจมากว่างานจะออกมาสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ตลอด 3 ปีที่ผมศึกษาอยู่ การรับน้องคณะมนุษย์ฯ ในครั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ พิธีอัญเชิญตราคณะมนุษยศาตร์ฯ และตราแต่ละสาขา มีกิจกรรมสันทนาการขับร้องเพลงเพื่อดึงดูดน้องปีหนึ่งอยู่ร่วมกิจกรรม ดีใจที่กิจกรรมครั้งนี้สำเร็จไปตามสิ่งที่คาดหวังไว้ น้องใหม่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก ที่สำคัญได้ฟังเสียงสะท้อนจากน้อง ๆ แล้วปิติมาก ได้แก่ จะนำรูปแบบการจัดงานไปสานต่อในปีถัดไป ขอบคุณที่มีคนพาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
เป็นเสียงพลังของคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงบนวิถีการมีพี่น้อง
“ภาพจำที่เกิดขึ้นในวันนี้เหมือนกันกับบรรยากาศ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ถูกบ่มเพาะจากกิจกรรมรับน้องตอนที่เข้ามาเป็นนักศึกษาใหม่ (ปี 2546) แบบนี้ที่ใช่เลย การรับน้องบนความหลากหลายสไตล์มนุษย์ ทีม Staff ปีนี้มาฟื้นฟูความเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมที่งดงามยิ่งตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อสืบสานฟื้นฟูความเหนียวแน่นของชาวมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรมของพี่ผู้มาก่อนที่ต้องดูแลน้องโอบกอดช่วยเหลือเกื้อกูลกันส่งต่อความห่วงใยจากรุ่นสู่รุ่น”
อ.สายฝน ปุนหาวงค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนบริหารโครงการและงบประมาณ
อ.สายฝน เปิดเผยว่า เป็นการปลูกฝังและบ่มเพาะความสมานฉันท์ ความผูกพันระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน บินสู่ที่สูงไม่ได้” สิ่งนี้ที่ครูในดวงใจที่เป็นผู้ให้ (ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร : อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร) คอยย้ำเตือนเสมอมา
กิจกรรมทุกอย่าง พี่และน้องเป็น key player เสมอกัน เคารพกันและกันและยอมรับความแตกต่างที่หลากหลายสไตล์มนุษยศาสตร์ ครั้งแรกที่เปิดเรียนเริ่มต้นที่หอประชุมแห่งนี้และวันสำเร็จการศึกษาก็ที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน อยากให้เก็บภาพความทรงจำที่งดงามในวันนี้ไว้เป็นพลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญา ขอให้น้อง ๆ ลูกศิษย์ใช้ชีวิต 4 ปี ที่นี่ อย่างมีคุณค่าและความหมาย เป็นบัณฑิตที่เป็นที่พึ่งของคนทุกข์ยาก ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อตอบแทนภาษีของพี่น้องประชาชน
เป็นการย้ำชัดบทบาทหน้าที่พร่ำสอนให้บัณฑิตมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในขณะที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาไปแล้วของคณาจารย์
กระบวนเวทีวัฒนธรรมจะดึงดูดและหลอมรวมผู้คนได้ง่ายที่สุด “ความม่วนซื่นโฮแซว” เป็นเอกลักษณ์ของคนอีสาน เสียงพิณ เสียงแคน ร้องลำมันฝังอยู่ใน DNA ทุกข์สุขจับมือกันเดินผ่านไปจนสิ้นสุดกิจกรรม ปลดปล่อยเต็มที่และ “ขอให้มีความสุขร่วมกับมิตรสหายที่อยู่ตรงหน้า เพราะไม่รู้วันข้างหน้าเราจะมีโอกาสได้ร่ำลากันหรือไม่” เป็นเวลามากกว่า 50 ปี ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร “ได้บ่มเพาะหล่อหลอม ความเหมือนที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์” ถือเป็นการส่งต่อ“มรดกทางวัฒนธรรม ในการรับน้องใหม่สไตล์มนุษย์” ที่สร้างคุณค่าและความหมายสืบไป
ขอบคุณภาพจาก face book คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์