พระแท่นโมเดล ถอดองค์ความรู้ 10 พื้นที่ระดับตำบลพัฒนา คนมีคุณภาพ

พระแท่นโมเดล ถอดองค์ความรู้ 10 พื้นที่ระดับตำบลพัฒนา คนมีคุณภาพ

การถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข้งในมิติ “คนมีคุณภาพ” ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา และตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

วันที่ 19 เมษายน 2566 ทีมงานสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร ร่วมกับสำนักงานภาคกลางและตะวันตก โดยนายศุภสิทธิ์ ศรีสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก นางดวงเดือน พร้าวตะคุ และนางสาวเรวดี อุลิต  ได้ลงพื้นที่ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อร่วมกระบวนการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 ซี่งมุ่งเน้นการศึกษาและถอดองค์ความรู้ในมิติของ “คนมีคุณภาพ” เพราะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณสมบัติและทักษะในการดำเนินงานพัฒนาของ “แกนนำ” ที่เป็นหน่วยสำคัญที่จะนำพาให้ขบวนองค์กรชุมชนสามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่ประสบผลสำเร็จและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้

สำหรับพื้นที่ในการศึกษาและถอดองค์ความรู้ของภาคกลางและตะวันตกครั้งนี้ได้แก่ ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา และตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี (จากการศึกษาในมิติ “คนมีคุณภาพ” ทั้งสิ้น 10 พื้นที่ 5 ภาค)  โดยในการศึกษาและถอดองค์ความรู้ดังกล่าวได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก รศ.ดร.สุภาวดี  ขุนทองจันทร์และทีมงานจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาดำเนินการศึกษาและจัดกระบวนการ

กระบวนการดังกล่าวทำให้พบรายละเอียดของการพัฒนาทั้งที่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และบางส่วนก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยกลุ่มแกนนำในพื้นที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ คน งาน เงิน และการบริหารความสัมพันธ์กับภาคีร่วมพัฒนา อาทิเช่น

302460

ตำบลหนองบัว ที่กลุ่มแกนนำมีความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรและทุนที่มีอยู่ในชุมชน เข้ามาพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีเข้ามาเติมเต็มศักยภาพการทำงาน ทั้งการวางระบบฐานข้อมูลภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น ระบบข้อมูลโภชนาการ ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ต่อการพัฒนางาน  รวมถึงการดำเนินงานร่วมกันของคนในชุมชนที่ลุกขึ้นมาสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อให้มีรายได้และสวัสดิการร่วมกันจากภูมิปัญญาทางด้านอาหารอย่าง “ภูมิปัญญาของการทำพริกแกง” ที่มีการพัฒนาต่อยอดจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นอย่างดี

กลุ่มแกนนำดังกล่าวยังได้อาศัยกลไกสำคัญ คือ “สภาองค์กรชุมชน” เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการเปิดพื้นที่งานพัฒนาขยายผลการต่อยอดคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ รวมถึงการขับเคลื่อนในงานประเด็นที่ทาง พอช.ได้สนับสนุนอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่แกนนำทุกคนยึดถือร่วมกันว่าผู้นำชุมชนทุกชุมชนต้องเป็นเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ ก่อนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการดำเนินงานและสมาชิก และการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยผ่านโครงการบ้านพอเพียงก็เป็นอีกโครงการที่แกนนำดังกล่าวมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกันทำจนประสบผลสำเร็จ

302053
แกนนำตำบลหนองบัว

ตำบลพระแท่น นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่กลุ่มแกนนำมีความสามารถในการบริหารจัดการคน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากคนทุกฝ่าย ทุกเพศ ทุกวัยในตำบล โดยดึงเอาศักยภาพของแต่ละคนเข้ามามีบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาในพื้นที่ ทำให้คนทุกเพศวัยและทุกสถานะได้มีส่วนร่วมผ่านแนวทางพัฒนาโดยใช้หลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน รวมถึงการพัฒนาเขิงเศรษฐกิจในพื้นที่ของแกนนำที่ได้รับความรู้จากการเข้าร่วมกระบวนการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน หรือ CBMC (Community Business Model Canvas) ที่ทาง พอช.ได้สนับสนุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์และพัฒนาการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนได้เป็นอย่างดี

โดยตำบลพระแท่นมีจุดเด่นทั้งในเรื่องของการสร้างตลาดสีเขียวคีย์โฮลฟาร์มเมอร์มาร์เก็ตเพื่อเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยและสร้างรายได้ให้ครัวเรือนต่างๆ การพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์จาก “ไข่ผำ” ที่นับว่าเป็น Superfood มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก และอาศัยความร่วมมือจากคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และทักษะเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงคนทุกกลุ่มในชุมชนให้มีรายได้ รวมถึงระบบการจัดการขยะของคนในตำบลพระแท่นที่ให้คนทุกวัยได้เข้ามาร่วมดำเนินการจนเกิดเป็นรูปธรรมให้พื้นที่อื่นได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้

302462
302089

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงเศษเสี้ยวของเรื่องราวที่น่าสนใจต่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาโดยกลุ่มแกนนำที่เป็น “คนมีคุณภาพ” ในพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล ซี่งยังมีเรื่องราวอีกมากมายปรากฎเป็นรูปธรรมอยู่ในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าแกนนำดังกล่าวล้วนคำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตนอกเหนือจากตนเองแต่ยังมองถึงคุณภาพชีวิตของคนในตำบลร่วมกัน ใช้ทักษะและความสามารถในการเชื่อมโยงทรัพยากรและทุนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน บนแนวทางการบริหารจัดการที่สอดคล้องไปตามบริบทและสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่  และความรู้ ทักษะ กระบวนการและหลักการ หลักคิดในการทำงานของแกนนำเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษาและถอดเป็นองค์ความรู้ นำมาสู่ปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน ของ พอช.ในทิศทางข้างหน้าได้เป็นอย่างดี

ผลของการศึกษาดังกล่าวจะถูกนำรวมในการวิเคราะห์ สังเคราะห์โดยภาคีวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และจะได้นำเสนอผลของการศึกษาในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2566 นี้ ในการนี้จึงเป็นการเรียนเชิญล่วงหน้านะครับ มาร่วมกันรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็งในมิติ “คนมีคุณภาพ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ