เมื่อเด็กปี 2 ลองทำตามฝัน รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ละครเวที

เมื่อเด็กปี 2 ลองทำตามฝัน รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ละครเวที

“โตไปอยากทำอาชีพอะไร”

คำถามที่อย่างน้อยชีวิตในวัยเด็กคุณจะต้องเจอสักครั้ง สำหรับฉันที่เรียนนิเทศ ปี 2 สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิยาลัยพะเยา แล้ว โปรดิวเซอร์ก็ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ฉันใฝ่ฝัน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าอาชีพที่เราอยากเป็น ถ้าได้ทำเราจะชอบจริง ๆ แน่นอนว่าคำตอบก็คือ ต้องลองเข้าไปสัมผัสประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง

“เราจะทำละครเวทีเป็นสอบปลายภาค ให้คนพากย์กับคนแสดงคนละคน และมีการทำเสียงประกอบสด”

หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาประจำวิชาการสร้างเสียงประกอบสำหรับสื่อดิจิทัลเอ่ยขึ้น ดูเหมือนเพื่อน ๆ ในชั้นจะทำหน้าไม่อยากทำกันเสียเท่าไหร่นัก แต่ฉันกับมีเสียงหัวใจที่สั่นรัวราวกลองที่พร้อมออกรบสุด ๆ นี่แหละจะเป็นโอกาสที่ฉันจะได้ลองทำ และหาประสบการณ์จากงานในครั้งนี้

“ฉันจะทำหน้าที่นี้ออกมาให้ดีได้ไหมนะ”

เมื่อเด็กปี 2 ลองทำตามฝัน

รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ละครเวที

การกลับมาอีกครั้งในครั้งใหม่

การทำละครเวทีในครั้งนี้ถือเป็นงานที่เกินความคาดหมายของใครหลาย ๆ คนในสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ รวมถึงฉันด้วย เพราะงานละครเวทีของสาขาเราได้ห่างหายไปนานถึง 10 กว่าปี ถือเป็นการกลับมาที่ไม่มีใครทันได้ตั้งตัวจริง ๆ

ละครเวทีของเรามีความแตกต่างจากหลาย ๆ ที่ เนื่องจาก อาจารย์ให้โจทย์กับเรา ว่า ให้คนแสดงและคนพากย์เป็นคนละคนกัน อีกทั้งมีให้ทำและสร้างเสียงประกอบ (Foley) แบบสด ๆ ออกจอ Live Streaming อีกด้วย ซึ่งความยากของมันคือการทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย รวมกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ อีกทั้งพวกเรามีระยะเวลาซ้อมกันเพียง 1 เดือนนิด ๆ เท่านั้น

เราทำทั้งหมด 2 เรื่องด้วยกัน ความยาวอยู่เรื่องละไม่เกิน 25 นาที โดยแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมละประมาณ 40 คน แถมคนที่มา Live Streaming ให้พวกเราก็เป็นรุ่นพี่ปี 3 ของเราอีกด้วย

เริ่มต้น

บ่อยครั้งที่เด็กนิเทศต้องเสพสื่อให้มากเข้าไว้เป็นธรรมดา เพื่อให้มีคลังไอเดียเก็บไว้สร้างผลงานของเราให้มีคุณภาพ แต่ฉันเป็นคนหนึ่งที่แทบไม่ค่อยดูละครเวทีเท่าไหร่นัก มันมักเป็นตัวเลือกท้าย ๆ ที่ฉันเลือกดูเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อฉันได้รับหน้าที่ที่อยากทำมาแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด รับผิดชอบต่องาน และทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 มีงานละครเวทีของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์จัดขึ้นพอดิบพอดีเหมือนฟ้าบันดาลให้ ฉันตัดสินใจที่จะหาเวลาไปดูอย่างไม่รีรอ ละครเวทีของเขามีชื่อว่า “ฝ่าลิขิตฟ้า” เป็นเรื่องราวที่สื่อถึงการต่อสู้เพื่อการเป็นผู้หญิงของนายใต้ฟ้า ทั้งบทละครและการแสดงของเขา มันทำให้ฉันอยากสร้างละครเวทีที่ดีกว่าให้ได้ ก็เราเรียนนิเทศนี่นา! ยอมแพ้ไม่ได้อยู่แล้ว

หลังกลับจากการชมละครเวที “ฝ่าลิขิตฟ้า” ไฟในใจของฉันก็เริ่มติดและมีประกายความคิดที่หลากหลายเข้ามา ฉันคิดว่าข้อมูลของวิธีการเล่าเรื่องของละครเวทีของเรายังมีไม่มากพอ ที่จะสามารถสร้างผลงานตัวเองออกมาให้ดีได้ ฉันจึงเริ่มค้นหาข้อมูลการสร้างละครเวทีจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่ออ่านเพิ่มเติมและดูรายการ 4 โพธิ์ดำการละครจนติดงอมแงมไปพักใหญ่

ไม่กี่วันต่อมา บทละครของพวกเราก็แล้วเสร็จจนได้ ฉันได้เริ่มลงมือทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ครั้งแรกด้วยการตรวจสอบบท และใช้ทักษะที่สะสมมาไม่กี่วันก่อนหน้าปรับเปลี่ยนบทบางส่วน ให้เหมาะสมกับการแสดงละครเวทีมากขึ้น และไม่ให้น่าเบื่อจนเกินไป

ไข (WHO?) ตอน เดอะฉำฉา

ละครเวทีของเราเป็นแนวสืบสวน ลึกลับ ผสมดราม่าและคอมเมดี้บ้างเล็กน้อย มีชื่อว่า “ไข (WHO?) ตอนเดอะฉำฉา” เป็นชื่อที่ใครฟังก็ต้องมีเอ๊ะกันบ้าง แต่ก็ยังเป็นชื่อที่ชวนจดจำและน่าสนใจ เรื่องนี้เป็นบทที่เราพัฒนาต่อมาจากบทละครวิทยุที่เราได้ผลิตกันก่อนหน้า ซึ่งชื่อนี้มีความหมายที่เราแอบแฝงไว้ โดยทั่วไปใครหลายคนคงเข้าใจว่า คำว่า “ไข” มาจากคำว่าไขปริศนา และ “WHO” มาจากคำว่าใคร แต่แท้จริงมันสามารถอ่านเล่นคำภาษาเหนือได้อีก นั่นคือ “ไข” สามารถแปลได้ว่าใคร ที่สอดคล้องกับ “WHO” อีกทั้งยังสามารถอ่านต่อกันเป็น ไขฮู ที่เพี้ยนเป็น “ไข้ฮู้” ที่แปลว่า “อยากรู้” ได้อีกด้วย นี่สิถึงสมเป็นละครไขปริศนาหน่อย (หัวเราะ)

“ไข (WHO?)” เป็นชื่อชมรมไขปริศนาของกลุ่มเด็กนักเรียน 5 คนที่รักการสืบสวน แต่ชมรมของพวกเขากำลังจะถูกยุบ แต่จู่ ๆ ก็ได้มีปริศนาใหม่เข้ามา นั่นเป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเขาจะรักษาชมรมของตนเองไว้ได้

ตัวละครดำเนินเรื่องมีทั้งหมด 5 ตัว เป็นสมาชิกในชมรม โดยคาแรคเตอร์แต่ละตัวมีความแตกต่างกันออกไป ตัวละครแรก คือ ประธานชมรม ชื่อว่า “จีจี้” ตัวละครนี้จะมีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก

ตัวละครตัวที่สอง ชื่อว่า “แก้ว” เป็นรองประธานชมรม ขี้บ่น ขี้วีนแถมยังเป็นคู่กัดจีจี้

ตัวละครตัวที่สาม ชื่อว่า “น้ำ” สาวน้อยตัวเล็กใส่แว่นแถมฉลาดสุด ๆ พูดน้อยหน้านิ่ง แต่มีความตลกธรรมชาติอยู่ในตัว

ตัวละคนตัวต่อมา ชื่อว่า “ชบา” เป็นคนช่างสังเกต แถมยังขี้สงสัยอีกต่างหาก เป็นคนคอยห้ามจีจี้และแก้วเวลาทะเลาะกัน

และตัวละครสมาชิกชมรมตัวสุดท้าย ชื่อว่า “ดาว” เป็นคนขี้กลัว คิดมากและชอบระแวงตลอดเวลาอีกด้วย

ด้วยชื่อตอน “เดอะ ฉำฉา” แน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับต้นฉำฉาอย่างแน่แท้ และความเป็นละครเวทีของเราจึงต้องมีการผลิตทำพร็อพประกอบฉาก หนึ่งในนั้นมีต้นฉำฉาที่ต้องทำ ครั้งแรกที่ฉันเห็นเพื่อน ๆ ในฝั่งฉากทำกันฉันจึงได้เข้าใจว่าการทำต้นไม้แบบมหาวิทยาลัยมันเป็นแบบนี้นี่เอง

ด้านฉาก (scenery) ของห้องชมรม ฉากนี้จะเป็นฉากหลักที่เราใช้ในการดำเนินเรื่องเลยก็ว่าได้ เป็นฉากที่ฉันชอบมากที่สุด เนื่องจากมีพร็อพและอุปกรณ์ประกอบฉากที่หลากหลายแถมยังเหมือนฉากที่ฉันจินตนาการไว้อีกต่างหาก ขอชื่นชมเลยว่าทีม Art director สุดยอดกันมากจริง ๆ ที่สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ ถึงแม้งบประมาณจะมีอย่างจำกัดก็ตาม

เริ่มปฏิบัติการโปรดิวเซอร์หน้าใสกับนายละครเวที

ต้องยอมรับก่อนเลยว่าเรียนมา 2 ปีแล้ว พวกเรายังรู้จักชื่อกันไม่ครบเลยด้วยซ้ำ ค่าความสนิทสนมของเราจึงมีน้อยนิดมาก ๆ  ฉันก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราทุกคนจะสนิทกันมากขึ้นและจะไม่ได้ทะเลาะกันนะ ฉันหวังไว้แบบนั้น

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 การนัดประชุมวางแผน การสร้างละครเวทีครั้งแรกก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว วันนี้พวกเราได้แบ่งหน้าที่แต่ละฝ่ายให้ชัดเจนและกำหนดวันเวลาซ้อม รวมถึงกำหนดวันสุดท้ายที่ฝั่งทีม Art director จะต้องส่งงานที่สมบูรณ์  เนื่องจากช่วงนั้นมีงานวิชาอื่นค่อนข้างมากเลยทีเดียว ถ้าไม่วางแผนไว้ก่อนฉันกลัวว่าเราคงจะแบ่งเวลาทำงานไม่ตรงกัน แล้วจะลำบากเอาในตอนท้าย

ในช่วงบ่าย acting coach ของเราได้ลองให้นักแสดงและนักพากย์ นั่งหันหน้าเข้าหากันและลองพูดบทของตนเอง ทุกอย่างใหม่มากสำหรับเรา แต่ครั้งแรกถือว่าทุกคนทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว ทุกฝ่ายได้แยกย้ายไปวางแผน และทดลองทำหน้าที่ของตัวเอง โดยมีฉันโปรดิวเซอร์สาวหน้าใสเป็นศูนย์กลางของการช่วยตัดสินใจ รวมถึงให้คำปรึกษาต่าง ๆ

ด้วยงานละครเวทีนี้ไม่มีการจำหน่ายบัตรรวมถึงไม่ต้องหาสปอนเซอร์ ทำให้หน้าที่ของฉันจึงเป็นโปรดิวเซอร์ประเภท ครีเอทีฟโปรดิวเซอร์ คือ ให้คำแนะนำและออกความคิดเห็นร่วมกับผู้กำกับ ควบคู่กับการทำงานด้านการจัดการให้กับส่วนอื่น ๆ แถมฉันยังเชื่อว่าบางครั้งการที่ผู้กำกับอยู่ใกล้บทมากเกินไป จะทำให้เขามองไม่เห็นช่องว่างบางจุดได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันกับลักยิ้ม ผู้เป็นผู้กำกับการแสดงผมไฮไลต์สี เราถึงได้ทำหน้าที่เป็นแพ็กคู่ด้วยกันตลอด

ลักยิ้ม ผู้กำกับการแสดง

“ซ้อมมากเจ็บน้อยซ้อมน้อยเจ็บมาก”

ประโยคที่อาจารย์มักพูดกับเราอยู่ตลอด

ฉันจึงตัดสินใจให้เพื่อนทุกคนได้ซ้อมกันทุกวันเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ปัญหาของเราก็ได้เกิดขึ้นมาให้โปรดิวเซอร์หน้าใสคนนี้ได้แก้ไขแล้ว ด้วยความที่เรามีการทำละครเวที 2 เรื่อง นั่นทำให้พวกเราต้องแบ่งกันซ้อมกับอุปกรณ์เสียงที่ห้องสตูดิโอ แต่การแบ่งครึ่งเช้า ครึ่งเย็นเห็นจะซ้อมได้ไม่หนำใจเท่าไหร่นัก ฉันจึงคุยตกลงกับโปรดิวเซอร์อีกฝั่งเพื่อขอเจรจาแบ่งวันกันไปเลย

ทั้งนี้ ถ้าเรายังซ้อมสลับวันกันแบบนี้อยู่คงจะไม่ทันเป็นแน่ หลังจากผ่านไปไม่กี่วัน ฉันจึงตัดสินใจเริ่มติดต่ออาจารย์เพื่อสอบถามและหาห้องว่างภายในอาคารเรียนรวมหลังเก่า (PKY) เพื่อต่อบทให้จบเรื่อง และสามารถซ้อมได้ทุกวัน ถึงแม้จะต้องเปลี่ยนห้องซ้อม ย้ายอุปกรณ์ Foley และพร็อพทุกวันก็ตาม

สาเหตุที่ต้องเลือกซ้อมอาคารนี้ เนื่องจาก อุปกรณ์ Foley ที่มีขนาดใหญ่และหนักมาก แถมเราไม่มีรถยนต์อีกต่างหาก นั่นทำให้เราไม่สามารถไปซ้อมไกลกว่านี้ได้

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นี่เป็นการซ้อมนอกสตูดิโอครั้งแรก เราได้ห้องเรียนที่อยู่ชั้นล่างสตูดิโอ อีกทั้ง วันนี้รุ่นพี่ฝ่ายโปรดักชั่น เข้ามาดูเราซ้อมการแสดงเป็นครั้งแรกด้วย ฉันค่อนข้างเกรงหนักเลยทีเดียว ไม่มีรุ่นพี่ที่ฉันรู้จักอยู่ในทีมนี้เลย บรรยากาศค่อนข้างจะเงียบขรึม มีเพียงเสียงของการแสดงเท่านั้นที่ดำเนินอยู่ ถึงจะเกรงยังไงงานของเราก็ต้องติดต่อสื่อสารกับทุกฝ่ายให้เข้าใจตรงกัน และถ้าคุยกันไปสักพักเราคงจะดีขึ้นเอง

14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์คนอื่นรักกัน ส่วนฉันรักละครเวที วันนี้พวกเราจะซ้อมละครเวทีกัน ถึงแม้จะยังไม่สามารถหาห้องซ้อมได้ก็ตาม ก่อนหน้านั้น 1 วันฉันติดต่ออาจารย์ไปเพื่อสอบถามถึงห้องว่างในอาคารเรียนรวมหลังเก่า (PKY) แต่ท่านบอกว่าต้องดูหน้างานเพราะเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะว่างจริง ๆ หรือเปล่า เนื่องจากในช่วงนี้บางสาขาได้ปิดคอร์สไปแล้ว แต่บางสาขายังคงสอนอยู่

ฉันคิดว่าถ้าเราหาห้องซ้อมหน้างานคงเสียงเวลาใช่น้อย อีกทั้งไม่รู้ว่านัดกันไปจะได้ซ้อมจริงหรือเปล่าด้วย  ฉันจึงได้ลองเปิดตารางเรียนของคณะสาขาอื่น ๆ ดู เผื่อเจอห้องคนรู้จักใช้เรียนแต่ปิดคอร์สแล้ว และติดต่อไป จนได้ห้อง PKY2 มาซ้อมจนได้

กลับมาวันที่ 14 ฉันเห็นว่านักแสดงและนักพากย์อารมณ์ยังไม่ไปในทางเดียวกัน บางทีคนพากย์อาจยังไม่เข้าใจถึงการแสดงออกของตัวละครก็เป็นได้ ฉันเลยให้นักพากย์และนักแสดงลองสลับบทบาทหน้าที่กันดู เผื่อจะทำให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจในตัวละครมากขึ้น ฉันหวังว่ามันจะได้ผลจริง ๆ

เวลาผ่านพ้นไป 1 เดือน ฉันเห็นได้ชัดถึงพัฒนาการของทุกฝ่าย ทุกคนพยายามกันอยากหนัก และลักยิ้ม ผู้กำกับของเราก็คอยพยายามปรับการแสดงของนักแสดงและ อารมณ์การพูดของนักพากย์ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้เป็นอย่างดีเลย

ระหว่างนั้น ทีม Foley artist ได้เข้ามาขอคำแนะนำกับฉัน เกี่ยวกับการทำเสียง Foley สดให้ตรงจังหวะและการกระทำของตัวละคร ฉันได้เพียงแต่แนะนำวิธีเบื้องต้นที่ฉันคิดว่าง่ายที่สุด และได้ผลที่สุด นั่นคือ

การจินตนาการว่าสิ่งที่คุณมองเป็นการกระทำจากตัวของคุณเอง มีสติเข้าไว้ และหมั่นฝึกซ้อม

และผลลัพธ์ที่ออกมาพวกเขาทำได้ดีสุด ๆ ไม่ว่าจะด้วยคำแนะนำหรือไม่ก็ตาม

ประสบการณ์ใหม่ยิ่งใหญ่กับการทำเพลงละครเวที

เพื่อไม่ให้ละครเวทีของเราน่าเบื่อจนเกินไป ทุกคนจึงได้ตัดสินใจที่จะใส่เพลงลงไปในละครเวทีด้วย เดิมทีเราจะมีด้วยกันทั้งหมดเพียง 2 เพลง

ในช่วงแรกของการซ้อม พวกเราได้นำเมโลดี้เพลงจากการ์ตูนดังมาใช้ แต่แต่งเนื้อเพลงกันเองใหม่ โดยคนที่แต่งเนื้อเพลงหลัก ๆ คือเนย ผู้กำกับเสียงสุดเก่งของเรา

เนย ผู้กำกับเสียง

ถึงแม้เนื้อเพลงจะดีขนาดไหนสิ่งที่ฉันกังวลคือลิขสิทธิ์เพลง ด้วยที่เรามีการถ่ายทอดสดออกสู่สาธารณะ มีความเสี่ยงมากที่เสียงของเราจะถูกดูดออกถึงแม้เราจะทำเพื่อการศึกษาก็ตาม ฉัน เนย และเพื่อน sound engineer ที่ชื่อว่าเติ้ล พวกเราจึงได้ไปปรึกษาพี่ตี้ พี่ตี้เป็นเจ้าหน้าที่นักวิชาการที่ปรึกษาของสาขาเรา จะอยู่ประจำที่ห้องสตูดิโอ พี่ตี้เคยเล่าให้ฟังว่า อดีตเมื่อหลายปีก่อน พี่ตี้เคยเป็นศิลปินในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาก่อน ออกเพลงแรกที่มีชื่อว่า “ไม่อาจลืมเธอ” ก่อนที่จะได้มาทำงานที่มหาวิทยาลัยพะเยา ตอนที่พี่ตี้เล่าให้ฟังฉันรู้สึกอึ้งมาก พี่ตี้เป็นคนที่สุดยอดจริง ๆ

พี่ตี้ได้แนะนำให้เราทำเพลงกันเอง โดยพี่ตี้จะเป็นคนช่วยเหลือ พวกเราทั้งสามจึงตกลงและนัดเวลาทำเพลงละครเวทีกับพี่ตี้ โดยฉันยังคงต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างสถานที่ซ้อมละครเวทีกับสตูทำเพลงเพื่อดูความเรียบร้อยตลอดการทำงาน

วันแรกของการทำเพลง พี่ตี้สอนให้พวกเราได้ลองหาเรฟเฟอร์เร้นซ์เพลงที่เราอยากได้เป็นแบบ และวิเคราะห์ฮัมทำนองที่อยากได้ออกมา โดยจะมีพี่ตี้เป็นคนเล่นเปียโนทำเพลงใส่ในโปรแกรมให้ 4 สมอง 2 มือจากพี่ตี้ทำให้เราใช้เวลาทำเพลงรวม ๆ ไปเพียงไม่กี่วัน

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาพี่ตี้ได้ให้พวกเราทั้งสามคม เข้าไปอัดเสียงร้องเพลงกันเลย ฉันอยากจะบอกว่ามีอยู่เพลงหนึ่งที่ฉันเสียงสูงเกินกว่าทุกคนจนพี่ตี้ต้องลดคีย์ลงมาหนักเลยล่ะค่ะ (ขำไหล่สั่น)

ขอบคุณภาพจากเติ้ล

พี่ตี้ได้บอกกับพวกเราว่าเพลงละครเรื่องของเรามีน้อยเกินไป ควรทำเพิ่มอีกสักเพลง สองเพลง พวกเราได้มองหน้าทำตาปริบ ๆ แล้วปรึกษากัน ก็ได้ตัดสินใจที่จะเลือกทำเพลงในช่วงที่ควรบิลท์อารมณ์ผู้ชมหนัก ๆ มาทำเป็นเพลง พี่ตี้ได้สอนให้พวกเรากำหนด Theme กับ Mood อารมณ์ของเพลงที่อยากได้ และแปลงเนื้อเรื่องมาเป็นเพลง เข้าใจให้ได้ก่อนว่าตัวละครกำลังรู้สึกอย่างไรและต้องการสื่อสารอะไรออกมา พวกเราอยากได้อารมณ์เพลงที่เศร้า พี่ตี้จึงได้แนะนำให้เลือกเรฟเฟอร์เร้นซ์เพลงจากซีรีส์เกาหลี เพราะอารมณ์เพลงค่อนข้างจะเศร้ากินใจพอสมควร

ในที่สุดเพลงของเราก็แล้วเสร็จ เพลงนี้เป็นเพลงที่เราภูมิใจและชอบที่สุด เนื่องจากเป็นเพลงของเราเอง ทั้งทำนอง เมโลดี้ รวมถึงเนื้อร้องด้วย สำหรับฉันแล้วเพลงนี้เป็นเพลงที่เพราะมาก ๆ เพลงหนึ่งจนอยากทำ MV โปรโมทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ หลังจากการทำเพลงกันมาอยากช่ำชอง มีเพลงสุดท้ายที่เราจะต้องทำเพื่องานที่สมบูรณ์ นั่นคือเพลงเปิดตัวผู้บรรยายของเรานี่เอง เพลงนี้ใช้เวลาทำกันเพียงครึ่งวันเท่านั้น แต่ก็เสียเวลาไปกับการเลือกคำอุทานของพิธีกรที่ ส่วนตัวฉันอยากให้ได้มีกิมมิคเล็กน้อยเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชม

ตำแหน่งที่ใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง

มาถึงช่วงของการซ้อมร่วมกับทีมโปรดักชั่นและสถานที่จริงกันแล้ว สถานที่แสดงจริงครั้งแรกของเรา เป็น PKY 1 เป็นห้องที่อยู่ในอาคารเดียวกันกับที่เราซ้อมกันมาตลอด เวทีของที่นี่ค่อนข้างยาวมากแต่แคบสุด ๆ พื้นที่ให้นักพากย์และคนทำเสียงประกอบ Foley มีน้อย อีกทั้งพื้นที่การทำงานของโปรดักชั่นก็ค่อนข้างไม่สะดวกเท่าไหร่นัก และดูวุ่นวายพอสมควร

ทำให้อาจารย์ได้ตัดสินใจย้ายสถานที่แสดงไปอาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า UB สถานที่แสดงใหม่แห่งนี้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า อีกทั้งรู้สึกโปร่งสบายมากกว่า PKY 1 อีกด้วย

“โปรดิวเซอร์อยู่ไหน!!!!!!”

เสียงดังลั่นสนั่นโรงละครเวทีใหม่ของเราจากหนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาประจำวิชาการสร้างเสียงประกอบสำหรับสื่อดิจิทัล ฉันวิ่งหน้าตั้งเข้าไปเพื่อรับฟังคำวิจารณ์และคำติเตียน ถึงข้อผิดพลาดของตนเองในการซ้อมครั้งนั้น และทำให้ฉันตั้งมั่นกับตัวเองว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก

พวกเราซ้อมกันมาเรื่อย ๆ จนถึงวันซ้อมใหญ่เพื่อน ๆ ทุกคนทำได้ดีมาตลอด จนมาถึงวันนี้ดูเหมือนเราจะหักโหมกันไปหน่อยหรือเปล่านะ เอนเนอร์จี้ของทุกคนดูเริ่มใกล้จะหมด แต่ฉันเชื่อว่าในวันจริงพรุ่งนี้เพื่อน ๆ จะสามารถทำมันออกมาได้ดีแน่นอน

D-DAY วันนี้ที่รอคอย

ในที่สุดวันนี้ก็ได้มาถึง วันที่ 7 มีนาคม 2566 วันแสดงจริงพร้อมถ่ายทอดสดออกสู่สาธารณะ บรรยากาศวันนี้ค่อนข้างสบาย ๆ ไม่มีอะไรพิเศษเท่าไหร่นัก ทีมงานทุกคนรวมถึงนักแสดง นักพากย์ คนทำเสียงประกอบ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเราซ้อมกันมาเยอะมาก ๆ ทำให้ไม่ค่อยตื่นเต้นกันเท่าไหนนัก แต่ไหงฉันกลับตื่นเต้นแทนนะ

เมื่อถึงเวลาแสดงของบรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี ทุกคนแสดงพลังกันออกมาอย่างเต็มที่และดีกว่าตอนซ้อมทุกครั้งที่ผ่านมา สมกับวันแสดงจริง มีข้อผิดพลาดบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ได้เห็นเด่นชัดมากนัก

สามารถคลิกดูละครเวทีย้อนหลังได้ที่นี

ในฐานะที่ฉันเป็นโปรดิวเซอร์แล้ว ฉันดีใจมาก ๆ ที่งานของเราสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ได้เห็นทุกคนพยายามกันมาตลอด 1 เดือน อย่างเต็มที่มาก ๆ มีพัฒนาการและให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี พร้อมที่ปรับตัวเข้าหากันและแก้ไขตามคำแนะนำของผู้กำกับเองก็ดี ของโปรดิวเซอร์เองก็ดี ถึงแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างแต่เราก็พยายามพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดมา

พอนึกแล้วก็ใจหายอยู่ใช่น้อย เวลาที่เราทุกคนได้ใช้ร่วมกันมานานขนาดนี้ต้องจบลงแล้ว การได้มาทำละครเวทีครั้งนี้มันไม่ได้เพียงแค่ความรู้ ความเข้าใจของกระบวนการทำงงานเป็นทีมเท่านั้น แต่เราได้ทั้งมิตราภาพกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ไม่เคยได้คุยกัน กับรุ่นพี่ รวมถึงแม้กระทั่งเพื่อนที่เรารู้จักก็ยิ่งสนิทขึ้นไปอีก

ทีมละครเวทีเรื่อง ไข(WHO?)

และละครเวทีในครั้งนี้คงจะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้หากไม่มีคณะอาจารย์ที่ปรึกษาประจำวิชาการสร้างเสียงประกอบสำหรับสื่อดิจิทัลทุกคน ทั้ง อาจารย์ภัทรา บุรารักษ์ (อาจารย์แนน) อาจารย์ณฐไนย เกษแก้ว (อาจารย์ไนย) และอาจารย์วิวัน สุขเจริญ เกษแก้ว (อาจารย์อ๊อฟ) รวมถึงนายอาทิตย์ บุญกว้าง หรือพี่ตี้ของเราด้วย ที่ได้เปิดโอกาสให้เราทุกคนได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ฉันรู้สึกของคุณและดีใจมากที่ได้มีโอกาสได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยให้ความสนใจ ได้ทำให้เจอผู้คนและประสบการณ์ดี ๆ

การที่ฉันได้ลองใช้ชีวิตในฐานะโปรดิวเซอร์ตลอดระยะ 1 เดือนที่ผ่านมามันทำให้ฉันรู้สึกชอบมันมากขึ้นมากกว่าเดิม โปรดิวเซอร์ไม่ใช่อาชีพหรือหน้าที่ที่มีไว้ให้คนเรียกเท่ ๆ แต่นี่เป็นหน้าที่ที่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเราเอง สมาชิกทีม หรือแม้กระทั่งงาน มีการกล้าตัดสินใจ และเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาอยู่เสมอ เราคือผู้ที่จะกำหนดทิศทางของงานว่าจะออกมาในทางไหน สามารถผลิตผลงานออกมาได้สำเร็จหรือไม่  การที่เราจะคุมคนหลายชีวิตได้นั้น จำเป็นที่จะต้องแสดงความสามารถของเราให้สมาชิกทีมได้เห็นก่อน เพื่อทำให้เขาเชื่อใจและไว้ใจเรานั่นเอง

          สุดท้ายนี้ หากได้มีโอกาสฉันก็อยากลองทำหน้าที่นี้อีกหลายครั้ง และการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงเช่นนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า มันเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ลองทำ เพื่อค้นหาความสนใจ ความถนัดของตัวเพื่อต่อยอดสู่การทำงานที่ดีของเราในอนาคต

กุ๊กกิ๊ก พันธนันท์ กาศโอสถ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ