เเปล: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ต้นไม้ปลูกหนังสือ
100 ปีหลังจากนี้เราจะยังมีหนังสือที่เรียกได้ว่าเป็น ‘หนังสือ’ จริงๆ หรือเปล่า ห้องสมุดในโลกอนาคตอาจกลายเป็นห้องปลอดเชื้อโพลนโล่ง ที่ไม่มีชั้นหนังสือเลยแต่เต็มไปด้วยจอสกรีนคอมพิวเตอร์แบบบาง แล็บหนังสือดิจิตอลที่อำนวยให้นักอ่านไม่ต้องขยับไปไหนทั้งนั้น แค่นั่งเก้าอี้เฉยๆ แล้วเลื่อนนิ้วไปตามแอพพลิเคชั่นง่ายๆ
อาจไม่มีสัมผัสของหนังสือให้เราไล้ไปตามหน้าปก กรีดแต่ละหน้ากระดาษและซึมซับกลิ่นหมึกพิมพ์จางๆ อีกแล้ว
แต่สำหรับศิลปินสาวชาวสก็อตแลนด์ เคที แพตเทอร์สัน (Katie Paterson) หนังสือยังเป็นสสารที่เชื่อมโยงระหว่างโลกและกระดาษอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ สายสัมพันธ์นี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอผลิตโปรเจ็กต์ ‘ห้องสมุดแห่งอนาคต’ (Future Library) ขึ้นมาโดยมอบหมายให้นักเขียนช่วยกันเขียนงานจำนวน 100 ชิ้นเพื่อที่อีก 100 ปีข้างหน้า มันจะได้รับการรวมเล่มและตีพิมพ์เป็นวาระสุดพิเศษใน พ.ศ. 2657
เป็นงานเขียนฉบับ Limited Edition ตัวอักษรทั้งหมดจะพลิ้วไหวอยู่ในกระดาษจากต้นสนสัญชาตินอร์เวย์กว่า 1,000 ต้น ต้นอ่อนเล็กๆ เพิ่งจะได้รับการรดน้ำพรวนดินในพื้นที่ใกล้เมืองออสโล (Oslo) ไปเมื่อปีที่แล้ว
“ไอเดียของการปลูกต้นไม้เพื่อพิมพ์หนังสือปิ๊งขึ้นมาตอนที่ฉันนั่งหาความสัมพันธ์ระหว่างวงปีกับบทแต่ละบท รวมถึงคุณค่าของวัตถุดิบจากธรรมชาติจำพวกกระดาษ, เนื้อไม้ว่าเชื่อมโยงอย่างไรกับความเป็นหนังสือ แล้วจินตนาการให้นักเขียนผสมตัวเองเข้าไปในธรรมชาติ ปรุงแต่งจน ‘กลายร่าง’ เป็นต้นไม้” แพตเทอร์สันบรรยาย
“ราวกับว่าต้นไม้ซึมซับวาทศิลป์ของนักเขียนได้เหมือนอากาศหรือน้ำ วงปีก็ค่อยๆ เติบโตไปเป็นหน้าบทแต่ละบท เว้นช่องว่างระหว่างเวลาเพื่อรอคอยวันที่จะเติบโตสมบูรณ์”
หนังสือเติบโตเหมือนต้นไม้ ตามระยะปลูก เนิบช้า และมีสมาธิ สวนกระแสเทคโนโลยีที่รุดเดินทางเทียบเท่าแสง ถึงแม้แพตเทอร์สันจะออกตัวว่าโปรเจ็กต์นี้ไม่ได้มุ่งประเด็น ‘อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยตรง’ แต่มันข้องเกี่ยวกับนิเวศวิทยาไปโดยปริยาย ในแง่มุมของความเชื่อมโยงถึงกันของสิ่งแวดล้อม
คล้ายกับนักสิ่งแวดล้อมคนอื่นๆ เธอหวังให้โปรเจ็กต์ห้องสมุดแห่งอนาคตส่งผ่านแรงบันดาลใจเป็นทอดๆ สะท้อนให้คิดถึงโลกใบงามที่เราทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง ซึ่งระยะเวลาอีก 100 ปีจนกว่าโปรเจ็กต์นี้จะสิ้นสุดลงก็ถูกคิดคำนวณมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว คุ้มค่าที่จะเดิมพันเวลาที่เหลือของชีวิตไว้กับผลลัพธ์ที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม
แพตเทอร์สันอธิบาย “ดูเหมือนเรื่องการอนุรักษ์นี้จะไปไกลกว่าวงจรชีวิตของพวกเรามาก แต่ก็ใกล้มากพอที่เราควรลองเผชิญหน้ากับมันสักตั้ง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงธรรมชาติกับเราเข้าหากัน”
สำหรับตอนนี้ ชีวิตเราง่ายดาย ไม่ใช่เรื่องประหลาดที่จะยอมรับว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าการกรีดหน้ากระดาษถี่ๆ เพราะคิดว่าเราคงดับสลายไปก่อนที่โลกนี้ไม่มีอะไรให้บริโภคอีก ไม่มีอะไรแน่นอนเลย เว้นแต่การรักษาแหล่งธรรมชาติที่ทดแทนกันไม่ได้ และความหรรษาในหนังสือและห้องสมุด สิ่งเหล่านี้ล้วนคุ้มค่าแก่การหวงแหนไว้เพื่อเด็กๆ ในยุคต่อไปเหมือนที่ห้องสมุดแห่งอนาคตให้แรงบันดาลใจกับเรา ณ ตอนนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่โปรเจ็กต์เติบโตสมวัย แพตเทอร์สันคงไม่ได้มีชีวิตอยู่ดูกิ่งก้านเป็นทิวแถวของต้นสนเหล่านั้น แต่เธอดูไม่สะทกสะท้านอะไรเลยกับวัฎจักรชีวิตที่เกินควบคุม
“ตอนที่ฉันคิดโปรเจ็กต์ห้องสมุดแห่งอนาคตขึ้นมาได้ ฉันก็รู้ทันทีเลยว่าฉันจะตายก่อนมัน (รวมถึงอีกหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ด้วย)” เธอเผย
ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงที่โปรเจ็กต์จะล่มไปก่อนปี 2657 ด้วย แต่ก็อีกนั่นแหละ ทัศนคติของแพตเทอร์สันมีเครื่องหมายบวกเยอะอย่างน่าเหลือเชื่อ
“เรามีผู้อำนวยการโปรเจ็กต์ที่สามารถเคลื่อนย้ายภูเขา (หรือในกรณีนี้คือ ปลูกป่าได้ยั่งยืนข้ามศตวรรษ) และกลุ่มนักปลูกป่าที่ฉันเทความเชื่อใจไปให้หมดหน้าตัก ที่สำคัญคือฉันมีศรัทธาที่มั่นคง เชื่อเถอะ เราจะผ่านมันไปได้”
คนที่คุณก็รู้ว่าใคร (เขียน)
การสร้างห้องสมุดแห่งอนาคตต้องมีวัตถุดิบสำคัญคือต้นฉบับที่จะต้องกักตุนไว้จนถึงปี 2657 โดยมีนักเขียนผู้ถูกเลือกไว้อยู่แล้ว
ถึงแม้โปรเจ็กต์ห้องสมุดแห่งอนาคตจะมีสำเนียงของไทม์ แคบซูล แต่มันก็คล้ายกับการสอบเข้าของนักเขียนเพื่อที่จะให้งานได้ปรากฎอยู่ในเล่ม Limited Edition มากกว่า เพราะในทุกๆ ปี นักเขียน 1 คนจะได้รับการประกาศชื่อไปเรื่อยๆ จนถึงวาระสิ้นสุด
“โปรเจ็กต์เราจะได้ไม่นิ่งไง” แพตเทอร์สันเติมเต็ม
เมื่อเดือนที่ผ่านมา คุณป้ามาการ์เร็ต แอทวูด (Margaret Atwood) นักเขียนหญิงคนแรกล็อกที่ทางในห้องสมุดแห่งอนาคตไปเรียบร้อยด้วยเรื่อง ‘Scribbler Moon’ ต้นฉบับจะได้รับการเก็บไว้อย่างดีที่หอกลางประจำเมืองออสโล โดยมี เดวิด มิตเชล (David Mitchell) เจ้าของเล่มเมฆาสัญจร (Cloud Atlas) เป็นนักเขียนชายคนที่ 2 ซึ่งตามมาติดๆ
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่นักเขียนแนวจินตนิยาย (Speculative fiction) ทั้ง 2 คนได้รับการคัดเลือก
“ผลงานของนักเขียนทั้ง 2 ท่านล้วนเดินทางข้ามกาลเวลาในมุมมองและลีลาที่แตกต่างกัน มีจินตนาการและฉากตอนของเวลา รวมถึงสถานที่ต่างๆ ในอนาคต” แพตเทอร์สันเจาะจง
“คีย์เวิร์ด 2 คำที่ใช้คัดเลือกนักเขียนของเราคือคำว่า ‘จินตนาการ’ และ ‘เวลา’”
มองในแง่ความเป็นจริง แผนการสร้างห้องสมุดแห่งอนาคตก็ยังดูไม่ค่อยเข้ากับความเป็นห้องสมุดแห่งอนาคตในจินตนาการของคนทั่วไป เพราะต้นฉบับที่ได้มาในแต่ละปีถูกเก็บไว้นานเกินความจำเป็น ราวกับว่าไม่อยากให้นักอ่านผลีผลามเข้าไปอ่าน กดดาวน์โหลดไม่ได้เหมือนต้นฉบับดิจิตอล เมื่อถึงคราวได้อ่านเข้าจริงๆ ประชาชนก็จะเข้าถึงแค่ 1,000 ก็อปปีเท่านั้น ซึ่งในปี 2562 ห้องสมุดจะเปิดให้ผู้เข้าชมยลโฉมต้นฉบับแบบออริจินัลในห้องอ่านหนังสือที่ห้องสมุดออสโลเป็นครั้งแรก
“ต้นฉบับจะอยู่ในห้องเล็กๆ อบอุ่น ใกล้ชิด เข้าไปได้แค่คนสองคนต่อครั้งเท่านั้น พวกเขาจะเห็นต้นฉบับที่ติดชื่อของนักเขียน ชื่อเรื่อง และปีที่เขียน เราจะใช้ต้นไม้ส่วนหนึ่งจากป่าของเรามาสร้างห้องเล็กๆ ก่อน ห้องจะได้อบอวลไปด้วยกลิ่นของเนื้อไม้”
เหนือสิ่งอื่นใด ห้องสมุดแห่งอนาคตสื่อสารให้เรารักษาโลกและวัฒนธรรม ความสำคัญของการเรียนรู้ที่จะอดทน รอคอย ปลูกเมล็ดพันธุ์ในวันนี้เพื่อรากฐานที่แข็งแรงสำหรับเด็กๆ ในอนาคต ถึงแม้ว่าเวลา 100 ปีดูเหมือนชั่วนิรันดร์ แต่การรอคอยที่น่าหงุดหงิด มักให้ผลลัพธ์ที่ควรค่าเสมอ
ที่มา+ รูป : http://www.huffingtonpost.com/2015/06/10/future-library_n_7532012.html?utm_hp_ref=arts