สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงวันที่ 17 – 22 ตุลาคม 2565 โดยในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ จัดขึ้น ณ หอประชุมอำเภอสะเมิง ช่วงเวลา 13.30 – 16.30 น. โดยมีการมอบหมายให้คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ดำเนินการนั้น
ประชาชนในพื้นที่กว่า 300 คนได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมแสดงพลังไปในทิศทางคัดค้านการกำหนดพื้นที่ในเขตอำเภอสะเมิงให้เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน เนื่องด้วย ความไม่ชัดเจน ความไม่จริงใจ ไม่โปร่งใส และไม่มีความเป็นธรรมต่อสิทธิของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าที่พวกเขาดูแลจัดการมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นเวลาหลายร้อยปี และที่ผ่านมาการนำป่าไปให้สัมปทานโดยรัฐ ชาวบ้านก็เดือดร้อนมาครั้งหนึ่งแล้ว และพวกเขาช่วยฟื้นฟูป่าจนเป็นป่าสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง จู่ๆ ภาครัฐโดยกรมอุทยานแห่งชาติ จะเอาพื้นที่ป่าผืนนี้ไปเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่พวกเขาจะต้องได้รับผลกระทบตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ถือเป็นการไม่ยุติธรรมสำหรับชาวบ้าน
ทั้งนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอในหม่บ้านแม่ลานคำหมู่ 6 และบ้านป่าคาหมู่ 11 ต.สะเมิงใต้ ซึ่งประกอบด้วย 8 หย่อมบ้าน ประชากรกว่า 1300 คน ได้เดินขบวนเพื่อแสดงพลังของชาวบ้านในการยืนยันให้กันพื้นที่ป่า 24,513 ไร่ออกจากพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ พวกเขาประสงค์ให้พื้นที่ป่าลุ่มน้ำแม่ขานตอนบเป็นพื้นที่ทำกินตามวิถีวัฒนธรรมและใช้เป็นพื้นที่จิตวิญญาณของพวกเขา ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และป่าไม้ได้เช่นเดียวกัน โดยที่ภาครัฐไม่ต้องสูญเสียงบประมาณ
อีกทั้งนายศิระ พงศ์วานิช ผู้ใหญ่บ้านทรายมูล หมู่ที่ 5 ต.สะเมิงใต้ ได้ลุกขึ้นอภิปรายกระบวนการการจัดทำแนวเขตอุทยานแห่งชาติออบขานที่ไม่มีความโปร่งใส และไม่ใส่ใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ เนื่องจากไม่เคยเห็นแผนที่แนวเขตอุทยานฯ ออบขานเลย ตั้งแต่มีการเดินสำรวจแนวเขตร่วมกับชาวบ้านมาเป็นสิบปี และเพิ่งได้เห็นแผนที่ครั้งแรกในวันจัดประชุมนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และจากการดูแผนที่พบว่าจะกระทบกับชุมชนอย่างมาก ตนในฐานะผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านทรายมูล จึงเป็นตัวแทนชาวบ้านยืนยันไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติออบขานที่ซ้อนทับพื้นที่ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าและได้ยืนยันให้กันแนวเขตป่าที่ชุมชนดูแลนี้ออกจากเขตอุทยาน
“อยากให้เจ้าหน้าที่มองชาวบ้านเป็นผู้รักษาป่า อย่ามองชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกแล้วคิดว่าเจ้าหน้าที่คือผู้พิทักษ์ ถ้ามองเราเป็นผู้บุกรุก เราก็อยู่ในบทผู้ร้าย แต่ถ้ามองเราเป็นผู้รักษาป่า เราจะทำงานร่วมกันได้” คำอภิปรายส่วนหนึ่งของผู้ใหญ่บ้านทรายมูล ในวันรับฟังความคิดเห็น 18 ต.ค. 2565
หลังจากนั้น คุณนิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ได้นำเสนอกระบวนการทำงาน โดยระบุว่าที่ผ่านมาได้มีกลไกระดับอำเภอในการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามตนได้รับมอบหมายจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มาดำเนินการสำรวจแนวเขตและจัดทำข้อเสนอไปยังกรมฯ โดยย้ำว่า การประกาศอุทยานฯ ออบขานจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย รายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 5% ของอุทยานจะถูกถ่ายโอนมายังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นด้วย และย้ำว่าการรับฟังความเห็นของประชาชนในวันนี้มีความสำคัญ และขอยืนยันว่าจะนำเสนอทุกประเด็นไปยังผู้บังคับบัญชา คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และอธิบดีฯ ต่อไป
สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่อำเภอสะเมิง ประชาชนยังยืนยันคัดค้านการกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติออบขานในพื้นที่สะเมิง และหากกรมอุทยานแห่งชาติจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ขอให้ประกาศในพื้นที่อื่นที่ประชาชนเห็นชอบด้วย สำหรับชาวสะเมิงไม่ยินยอมให้พื้นที่ป่าสะเมิงเป็นอุทยานแห่งชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ดำเนินการจัดประชุมได้ส่งผลสรุปการจัดเวทีในวันนี้มาให้ชาวสะเมิงได้ตรวจสอบก่อนนำเสนออธิบดีกรมอุทยานหรือคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติด้วย
ก่อนการปิดการรับฟังความคิดเห็น ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำได้อ่านแถลงการณ์เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอในการรักษาผืนป่าสะเมิงโดยไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ มีใจความสรุปได้ว่า
“เราขอประกาศต่อสาธารณะว่า พวกเราชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคา ต่างได้พิสูจน์ต่อสังคมอย่างชัดแจ้งว่าเป็นผู้ปกป้องสมดุลแห่งการใช้ประโยชน์ ดูแลและรักษาอย่างเกื้อกูลป่าจนมีความอุดมสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการทำแนวกันไฟ จัดการไฟป่าและหมอกควัน การจัดการพื้นที่ต้นน้ำให้ยังคงมีความชุ่มชื้น ลดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน จนเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้พวกเราดูแลจัดการมาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วอายุคน
แม้กระทั่งผ่านช่วงระยะเวลาที่พื้นที่ของเราถูกนำไปเป็นป่าสัมปทานโดยรัฐร่วมกับเอกชน เราก็ยังฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยวิถีวัฒนธรรมของชุมชนเอง ชุมชนขอยืนยัน ไม่เห็นด้วยกับการเตรียมประกาศอุทานแห่งชาติออบขานทับในพื้นที่ชุมชน และขอให้กันพื้นที่ชุมชน ออกจากการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน จำนวนพื้นที่ 24,513 ไร่ และให้บันทึกข้อเสนอของชุมชนในรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงและจัดส่งสรุปรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นให้ชุมชนเพื่อตรวจสอบต่อไป”
ภาพ/เนื้อหา : เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (IMN)