ถ้า “น้ำ” ที่มีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะใช้สอย เราจะใช้ชีวิตอย่างไร? … นี่คือคำถามที่เราเริ่มหันมาขบคิดกันมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ก้าวเข้าสู่วิกฤติ สถาบันจัดการน้ำระหว่างประเทศ (IWMI) ประมาณการว่าในราวปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ.2568) ประชากร 4,000 ล้านคน ใน 48 ประเทศ (2 ใน 3 ของประชากรโลก) จะเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนน้ำ
ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำจืดของคนทั่วโลกจะมีมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ 40% ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) จากหลายปัจจัยประกอบกัน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกระทำของมนุษย์ และการขยายตัวของจำนวนประชากร
น้ำไม่ได้ไหลมาจากก๊อก แต่เป็นทรัพยากรที่ถูกจัดสรรมาเพื่อให้เราทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน รายการฟังเสียงประเทศไทยวันนี้ ชวนประชาชนคนเมืองผู้ใช้น้ำ ทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า คนใช้น้ำในระดับครั้งเรือน และเกษตรกรทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงในฐานะคนลุ่มน้ำที่พึงพาแม่น้ำสายเดียวกัน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์น้ำ ที่แต่ละคนต้องเจอ เพื่อหาทางออกในมิติของ “น้ำ” ที่เป็นหนึ่งในทรัพยากรสำคัญ กับ “อนาคตน้ำ คน และเมือง”
น้ำท่วม น้ำขัง น้ำเค็ม น้ำแล้ง ฯลฯ สารพัดปัญหาน้ำที่เคยได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ แล้ววันนี้คนกรุงเทพฯ มองเห็นปัญหาอะไร… เชิญชวนทุกท่านร่วมส่งเสียงแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงสแกนผ่าน QR CODE หรือ คลิกลิงก์
– สถานการณ์น้ำ คน เมือง –
ปัจจุบันความเจริญก้าวทาง การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะ “น้ำ” หนึ่งในปัจจัยหลักเพื่อการดำรงชีพ การเกษตร และอุตสาหกรรม การขาดแคลนน้ำ และการแย่งชิงจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาโดยเราอาจไม่รู้ตัว และภูมิภาคที่มีการใช้น้ำมากที่สุด คือ ภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในอดีตวิกฤตการณ์น้ำส่วนใหญ่คือ การขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งเท่านั้น แต่ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนน้ำกลับเกิดขึ้นนอกฤดูกาล โดยมีปัจจัยมาจาก 1.ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ 2.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 3.ปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และ 4.ภาคประชาชน ไม่มีส่วนร่วมกับเรื่องดังกล่าว
กรณีของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้วิธีผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ผ่านแม่น้ำท่าจีนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เฉลี่ย 1,000 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี เพื่อมาป้อนการผลิตน้ำประปาในเขตเมืองหลวงและปริมณฑล แต่ทั้งนี้ยังไม่เคยมีการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการดึงน้ำออกจากภาคการเกษตร
เมื่อน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงเกิดเป็น “สงครามแย่งชิงน้ำ” เกิดข้อพิพาทระหว่างเกษตรด้วยกันเอง ไปจนถึงเกษตรกรกับหน่วยงานของรัฐ ให้ชาวนางดทำนาปรังเพราะน้ำไม่พอใช้ หรือเกษตรกรหลายราย ต้องหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน
ในพื้นที่ภาคตะวันออก เคยมีปัญหาการแย่งชิงน้ำรุนแรงมาก สาเหตุเพราะรัฐบาลได้ตัดสินใจนำทรัพยากรน้ำสาธารณะในอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรกรรม ไปให้แก่เอกชนไปบริหารจัดการและขายให้นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหลายแห่ง
สำหรับภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จากข้อมูลงานวิจัยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน มีความต้องการน้ำใช้เฉลี่ยวันละ 200 ลิตรต่อคน เมื่อเทียบกับคนต่างจังหวัดที่ใช้น้ำเฉลี่ยต่อคนวันละ 50 ลิตร ขณะที่แหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของคนกรุงเทพฯ มาจากน้ำประปา และซื้อน้ำดื่มเป็นหลัก
ข้อมูลของ สกสว.ยังวิเคราะห์ว่า การกระจุกตัวของประชากร ส่งผลให้ความต้องการน้ำค่อย ๆ ทวีจำนวนมากขึ้นทุกปี คาดว่าในอีก 16 ปี ข้างหน้า ความต้องการใช้น้ำของคนกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นกว่า 11.9 % คือ จาก 692 ล้านลูกบาศ์กเมตรในปี 2563 เป็น 754 ล้านลูกบาศ์กเมตร ในปี 2581
นั่นหมายความว่า หากไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาระบบการจ่ายและใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพ คนกรุงเทพฯ จะต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำประปาที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว กรุงเทพมหานคร เผชิญกับวิกฤติน้ำประปาเค็ม สาเหตุมาจากน้ำทะเลหนุน ในขณะที่ระบบชลประทานไม่มีน้ำปริมาณมากเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็มได้เต็มประสิทธิภาพ หรือปัญหาเรื้อรัง กับคำถามที่ว่า “น้ำประปาดื่มได้หรือไม่” ยังคงเป็นข้อถกเถียง และประชาชนจำนวนมากต้องจ่ายเงินเพื่อการบริโภคน้ำสะอาด
ทำให้วันนี้เราต้องกลับมาตั้งหลัก กับการจัดการทรัพยากรน้ำกันอย่างจริงจัง
– 3 ฉากทัศน์ “อนาคตน้ำ คน เมือง” ในอีก 5 ปี –
ท่ามกลางหลากหลายปัญหากับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน รายการฟังเสียงประเทศไทย มี 3 ฉากทัศน์ “อนาคตน้ำ คน เมือง” ในอีก 5 ปีข้างหน้า ให้ทุกคนมาร่วมกันเลือกด้วยการโหวตว่า ฉากทัศน์ไหนที่คุณคิดว่าจะเกิดขึ้น
ฉากทัศน์ที่ 1 ต้นหญ้าใต้ต้นไม้ใหญ่
ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโดยรวม มีอิทธิพลกับปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จนเกิดภาวะไม่สมดุล ชาวบ้านได้รับผลกระทบกับความต้องการใช้น้ำในหน้าแล้ง เกษตรขาดน้ำ และคนเมืองไม่มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภค แม้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา เช่นการผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่นๆ แต่ก็ถูกต่อต้านจนบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้ง แผนบริหารจัดการน้ำภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดได้ทันท่วงที ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนที่เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดต้องใช้วิธีจัดสรรปันส่วนน้ำ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีรายได้น้อยและขาดอำนาจต่อรอง
ฉากทัศน์ที่ 2 ไม้พุ่มกระจายตัว
ประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เริ่มตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อผลิตทั้งในภาคเกษตร และการบริการ และอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ภาครัฐก็พยายามวางแผนบูรณาการการบริหารจัดการหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ โดยใช้เทคโนโลยี งบประมาณ และกำลังคนจำนวนมาก เพื่อประคองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้นทุนการจัดการที่เพิ่มขึ้นอาจกลายเป็นภาระของประชาชนที่ต้องยอมจ่ายเพิ่ม และกระทบกับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาในภาพรวม
ฉากทัศน์ที่ 3 กอไผ่ลู่ลม
การณรงค์ให้เกิดความตระหนักว่า น้ำสะอาดเป็นสิ่งมีค่า ต้องใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกภาคส่วน ทั้งยังยกระดับเป็นสำนึกในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน มีการออกแบบระบบสาธารณูปโภคของเมืองให้ผู้อาศัยเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ทั่วถึงกระทั่งผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าทุกภาคส่วนต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรกรรมต้องยกระดับการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเพาะปลูกและการบริหารจัดการน้ำของตนเอง ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพ ส่วนภาครัฐกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นหรือองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ พร้อม ๆ กับหนุนเสริมในด้านงานวิจัยและองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อรับมือวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
– 4 มุมมอง “อนาคตน้ำ คน เมือง” –
จากปัญหาเรื่องน้ำมุ่งสู่เรื่องการบริหารจัดการ ที่มาพร้อมกับคำถามว่าเราทุกคนจะมีส่วนร่วมอะไรได้บ้างหรือไม่ เพื่ออนาคตข้างหน้าที่เราต้องอยู่ร่วมกัน เมื่อทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ชวนมองประเด็นนี้ไปด้วยกันกับแขกรับเชิญ 4 ท่าน กับชุดข้อมูล 4 ด้าน กับภาพสะท้อน 3 ฉากทัศน์
- รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
- รศ. ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง
รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ข้อมูล
จากนี้ต่อไปประมาณ 7 ปี เราจะอยู่ในช่วงพีเรียด ซึ่งแล้ง ปีนี้ดูท่าน้ำจะดีหน่อย แต่จะทิ้งช่วงละ ปีหน้าถึง 2572 จะเป็นช่วงแล้ง ต้องคำนึงถึงเรื่องน้ำขาดแคลนเป็นหลัก แล้วปี 2573 กลับมาเจอกัน น้ำจะกลับมาแรงกว่าปี 2554 เนื่องจากธรรมชาติชี้บ่งบอกเพื่อให้เราเตรียมตัวรักษาการ
เราจะเห็นปี 2558 เราไม่เคยเจอประสบการณ์ มีน้ำบ่อเดียวแต่มีเครื่องสูบน้ำ 500 เครื่อง ไปถ่ายมาเห็นเลย เราเคยผ่านไปเห็นน้ำในคลองมะขามเฒ่า แต่ปี 2558 กับ 2562 เราไป มันมีแต่อากาศ เราจะเจอแบบนั้นในช่วง 7 ปี ภาพจะเป็นแบบนั้น
ฉากทัศน์ 5 ปี จะเป็นแบบนี้ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าฉากทัศน์ 30-50 ปี จะเปลี่ยนแบบมโหราฬ ชาวไทยพีบีเอสต้องเอาเรือมา ชาว กทม.ไม่มีที่จะอยู่ ถ้าไม่ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
- ความเห็นต่อฉากทัศน์
อยากฝากให้นึกถึงองค์ประกอบที่บอกไป องค์ประกอบแรกคือ ธรรมชาติ องค์ประกอบสอง คือ การจัดการ องค์ประกอบ 3 คือ ความล่อแหลม อนาคตข้างในองค์ประกอบแรก ธรรมชาติจะโหดมาก อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.2 องศา โดยเฉลี่ย เรามองว่านิดเดียว แต่ขั้วโลกมันเพิ่มมาตั้ง 5-7 องศา
อีก 8 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศา ใกล้ตัว เพราะว่า สงครามยูเครน จีน มหาอำนาจต่าง ๆ ประกาศเลยว่า จะใช้ถ่านหินให้มากที่สุด จนกระทั้ง 2030 การประชุมบอกว่า 2050 จะต้องกลับไปที่ไม่ปล่อยเลย ประเทศไทยบอกเขาว่าขอ 2065 แต่เขาไม่สนใจประเทศไทยหรอก เพราะประเทศเราปล่อยหรือไม่ปล่อยก็จน เหลื่อมล้ำ เราปล่อยแค่นิดเดียว
องค์ประกอบที่ 2 ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ดูสิวงแรกใหญ่ ถ้าวงสองไม่ปรับ ยังคงเท่าเดิม หรือความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก ก็จะหนัก
อยากเห็นจาก 1-3 ค่อย ๆ ปรับ แต่ภายใน 5 ปี เราเห็น 3 ยากมาก ไม่มีทาง ฝากคิดว่า เราคงหนีไม่พ้นเรื่องธรรมชาติแบบนี้ แต่ต้องปรับตัวเองให้อยู่ให้ได้ ตรงนี้สำคัญ เราจะทำยังไงที่จะกระจายอำนาจไปให้เขา ให้เขารู้ตัวว่าถ้าทำแบบนี้จะเกิดแบบนี้ ต้องบอกให้เขารู้ ถ้าไม่บอกก็จะหนักขึ้น เห็นได้จากกรุงเทพ ฝนตกหนักขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อน พฤติกรรมเปลี่ยน สิ่งนี้ต้องปรับทั้งรัฐและเอกชน
เมื่อกี้ที่บอกว่า ธรรมชาติ ไม่ได้โทษธรรมชาติ ที่เป็นแบบนั้น เพราะเรานั้นเองที่ทำให้ธรรมชาติเพี้ยน ยกตัวอย่างง่าย ๆ 80 เปอร์เซ็นต์ ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้อากาศเพี้ยน อยู่ในมือของประเทศมหาอำนาจ G20 ไม่ได้เกี่ยวว่าเราจะปล่อยมากปล่อยน้อย แต่เรามีผล
รศ. ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
- ข้อมูล
บนฐานงานวิจัยที่ทำ เปิดมาเราอาจจะไม่มีน้ำไหลออกมาจากก๊อกประปา เพราะถ้ามองต้นทุนของเขตเมือง น้ำที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นน้ำประปา แม้กระทั่งเกษตรเมือง ปลูกต้นไม้บนคอนโด เราก็ใช้น้ำประปา แล้วถ้าเปิดน้ำก๊อกออกมาแล้วไม่มีน้ำประปา เราจะเอาน้ำที่ไหนในการบริโภค และวันดีคืนดีเราก็ไม่รู้
นอกจากน้ำต้นทุนที่เราทำนายไม่ได้ว่าไปอยู่ตรงไหนแล้ว พฤติกรรมการบริโภคหรือ พฤติกรรมการใช้น้ำของคนก็เปลี่ยน รวมถึงรูปแบบการอยู่อาศัยของคนก็เปลี่ยน ส่วนใหญ่น่าจะมีบ้านมากกว่า 2 หลังแน่ ๆ สมัยก่อนเราอาจจะมี 1 หลังที่อยู่ เราอยู่ต่างจังหวัดก็มีหนึ่งหลังละที่อยู่ ข้างบ้านโตขึ้นมาเป็นคอนโด มีครัวเรือนเพิ่มขึ้น แล้วเวลาที่คอนโดใช้น้ำ ก็คือการสูบน้ำเข้าไป เพื่อกักเอาไว้แล้วปล่อยลงมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคาดเดาได้ยาก ว่าพฤติกรรมการใช้น้ำของคน หรือรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดนี้ก็ส่งผลต่อปริมาณความต้องการน้ำในอนาคตเช่นกัน
ตอนนี้เรามีประชากรตามที่มีชื่อประมาณ 5-6 ล้าน แต่คนที่มาอยู่จริง ๆ น่าจะ 8-10 ล้าน ตอนนี้มีใครอยู่ปริมณฑลแล้วมาทำงานกรุงเทพไหม มันจะมีรอยต่อ เนื่องจากคมนาคมที่สะดวกขึ้น เรามีรถไฟฟ้า รถยนต์ เพราะฉะนั้นเราจะบอกไม่ได้เลยว่า ที่เป็นกลางวัน หรือกลางคืน ตรงไหนที่ใช้น้ำเยอะหรือน้อย เราเดาไม่ได้ การเดินทางของคน ทำให้วันหนึ่งเรามีบ้านกรุงเทพฯ เสาร์-อาทิตย์ เราอยู่บ้านปริมณฑล ทำให้เราคาดเดาได้ยาก
จากข้อมูลตัวเลขที่อาจารย์สิตางค์พูด 594 ล้านลูกบาศก์เมตรที่หายไป จริง ๆ แล้ว เป็นตัวคาดประมาณการใช้น้ำของคนเมือง เกือบ ๆ พอ เพราะเราคาดว่า จะใช้ประมาณ 6-7 ร้อย สำหรับเขตเมือง สมมติว่าตรงนี้มันหายไปจริง ๆ ก็อาจจะพอด็ได้ ข้อมูลตรงนี้สำคัญมาก ๆ ต่อการกำหนดมาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐที่จะตามมา
ถ้าน้ำไม่พอ อาจจะต้องไปรณรงค์ให้เห็นคุณค่าของการใช้น้ำ หรือประสิทธิภาพของการใช้น้ำ หรือรวมถึงน้ำเสียที่เรายังไม่พูด เพราะน้ำเสียก็เป็นอีกเรื่องที่เรายังไม่ได้จัดการ ที่มันอาจจะเป็นแหล่งปนเปื้อนเข้ามาในการผลิตน้ำประปาก็ได้ อันนี้ก็เป็นอีกเรื่อง
สมมติว่า ถ้าเรารู้ตรงนั้นได้จริง ๆ เราอาจจะกำหนดมาตรการไปทางอื่น มาตรการ การเพิ่มค่าน้ำอาจจะไม่ต้องมาไหม หรือเราอาจจะเอาน้ำที่หายไป ทำสวัสดิการอื่น ๆ เช่น การบริโภคน้ำได้ฟรี อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ตามมา จากข้อมูลที่เราต้องมีมาก ๆ
- ความเห็นต่อฉากทัศน์
เมื่อสักครู่เราพูดถึงพฤติกรรมฝนเปลี่ยน จริง ๆ พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน อย่างที่เราพูดกันมาตลอด คือพฤติกรรมการบริโภคของคนก็เปลี่ยน ทั้งในเชิงของการใช้น้ำ จัดการน้ำต่าง ๆ และอีกประเด็นคือ เราทุกคน เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน เราอาจจะเป็นผู้บริโภคที่บริโภคน้ำประปา แต่เราก็ผลิตน้ำเสียออกไปสู่ชุมชนหรือธรรมชาติเช่นกัน
ตรงนี้อาจจะต้องคุยกันเรื่องของจิตสำนึก หรือเรื่องของการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะต่อไปในอนาคต ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งการเป็นคนใช้น้ำ และทำให้น้ำเสีย โดยอาจจะต้องเริ่มให้มีการบำบัดจัดการในครัวเรือนมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะทิ้ง หรือเทลงไปในท่อน้ำ เราอาจจะต้องคิดว่า สิ่งที่มันลงไป มันส่งผลต่อต้นทุนการจัดการน้ำอย่างที่แพงขึ้น เพราะน้ำยิ่งสกปรก ก็ต้องยิ่งทำให้สะอาด พอยิ่งสะอาดก็ต้องยิ่งเพิ่มต้นทุนในการผลิตขึ้นไปอีก
เรื่องของจิตสำนึกในการใช้น้ำ ทั้งเรื่องของการรณรงค์ให้เห็นคุณค่าน้ำ และรวมถึงการเห็นประโยชน์ของน้ำแต่ละอย่าง มันส่งผลต่ออนาคตของเราทั้งสิ้น สมมติถ้าเราไม่จัดการเรื่องพวกนี้อย่างดี ในอนาคตต้องแพง หรือไม่พอแน่นอน ถ้าเรายังเปิดน้ำทิ้งไว้ หรือปล่อยให้มันไหลออกไปจากระบบแบบนี้เรื่อย ๆ ต่อให้เราหาน้ำได้มากแค่ไหน หรือเราสามารถผันน้ำหลายแม่น้ำมารวมกันเพื่อเอามาผลิต ยังไงก็ไม่พอ เพราะทรัพยากรธรรมชาติมันมีจำกัด ในขณะที่ปริมาณคนเพิ่มขึ้น พฤติกรรมการใช้น้ำเพิ่มเป็นทวีคูณ อันนี้ต้องมีการจัดการตรงนี้
ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ข้อมูล
ภาคกลางเรามีทั้งน้ำขาดแคลนแล้วก็มีน้ำท่วม ย้อนกลับมาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปกติคนจะคิดว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำไม่พอ จนเป็นที่มาของแนวคิดภาครัฐจะผันน้ำข้ามลุ่ม อย่างภาคตะวันออกจะเข้าใจได้ เพราะว่ามีอุตสาหกรรมที่เติบโต มี EEC มีนิคมอุตสาหกรรมที่กระจายและใช้น้ำมาก ก็มีการผันน้ำข้ามลุ่ม และภาคตะวันออกมีอ่างเก็บน้ำค่อนข้างเยอะ การผันน้ำก็จะทำเป็นโครงข่ายจากอ่างเก็บน้ำ แต่เจ้าพระยาไม่เหมือนกัน เจ้าพระยามีเขื่อนหลัก แล้วพื้นที่ส่วนใหญ่ของเจ้าพระยา เราใช้น้ำเพื่อการเกษตร แต่จริง ๆ น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ขาด
น้ำของเจ้าพระยาเอง ดูเหมือนว่าน้ำจะน้อย ซึ่งเจ้าพระยามีลุ่มน้ำแค่บึงบอระเพ็ด และลุ่มน้ำภาคกลาง แต่จริง ๆ เจ้าพระยารับน้ำมาจากปิง วัง ยม น่าน เวลาที่พูดถึงว่าน้ำจะพอไม่พอ เราจะมองสองด้าน คือ น้ำต้นทุน คือน้ำฝน ตกลงมาเป็นแม่น้ำ ในคลอง อีกด้าน ดูความต้องการใช้น้ำ ถ้าพูดถึงน้ำที่มีเหมือนเงินในกระเป๋า น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่แค่เงินที่เราหาได้เอง ยังมีเงินที่พ่อให้ แม่ให้ ลูกหามาเสริม อย่างที่บอกว่า เรามี ปิง วัง ยม น่าน มีสแกกรังด้วย ที่เอาน้ำมารวมเป็นเจ้าพระยา เวลาดูสมดุล เราดูทั้งหมด
ที่สถานีที่ชัยนาท มีน้ำต้นทุนอยู่ 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ประมาณมาจากสถานีกรมชลประทานที่นครสวรรค์ ทั้งปีมี 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เจ้าพระยาใช้น้ำเพื่อการเกษตรประมาณ 8 พันลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นยังมีน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ การท่องเที่ยวต่าง ๆ ประมาณ 1 หมื่น 1 พัน ซึ่งพอ เพราะน้ำต้นทุนที่บอกไปเรามีประมาณ 2 หมื่น แต่น้ำเกษตรที่ สนทช. ประมาณการ เราทำหายระหว่างส่งน้ำด้วย เวลาลงมาชลประทาน มันหายไปจากการระเหย ซึมลงดิน จากการที่เกษตรกรเอาน้ำไปขังไว้ในพื้นที่นา เพื่อจำกัดวัชพืช
เวลาเราต้องการประเมินความต้องการใช้น้ำ เราจะมองไป 20 ปีข้างหน้า ซึ่งประชากรจะเพิ่มขึ้น ตามรายงานที่คาดการว่าพื้นที่เกษตร เราจะทำนาเพิ่มขึ้น ปี 2579 เรามีความต้องการใช้น้ำอยู่ 1 หมื่น 8 พัน เรามีอยู่ในกระเป๋า 2 หมื่น ถามว่าพอไหม พอ เพราะฉะนั้นปัญหามันอยู่ที่การบริหารจัดการ
น้ำต้นทุนที่บอกไปว่าเรามี 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ก็คือ ฝนตกลงมามีน้ำ แต่น้ำนั้นเราเก็บหรือไม่เก็บ ถ้าไม่เก็บก็คือ ขาดแคลนแน่นอน
จริง ๆ แล้วเรามีน้ำที่พอ แต่เราทำน้ำหายไป และยังมีการบริหารจัดการน้ำที่มีปัญหา เราไม่สามารถเก็บน้ำส่วนเกินในหน้าฝนได้ เรายังยึดติดกับวิธีการเก็บน้ำแบบเดิม มุ่งหวังจะเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ไม่พยายามที่จะเก็บน้ำในบ่อสระในทุ่งนา เราก็จะเป็นแบบนี้กันตลอดไปเรื่อย ๆ
- ความเห็นต่อฉากทัศน์
เรามี 3 ฉากทัศน์ ฉากทัศน์แรก เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โครงการของรัฐ การผันน้ำข้ามลุ่ม การต่อต้านคัดค้านจนเป็นปัญหา ต้องเริ่มที่เวลามีปัญหา เราต้องหาสาเหตุของมันก่อน ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร เกิดจากธรรมชาติ การผันแปรภูมิอากาศ เกิดจากฝนที่เปลี่ยนแปลงไป จากการท่วมแล้งที่คาดการณ์ได้ยากขึ้นใช่ไหม หรือมันเกิดจากคน ถ้ามันขาดจริง ๆ
เราสามารถให้ข้อมูลได้ว่า เจ้าพระยาไม่ได้ขาดน้ำ แต่มันมีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้นฉากทัศน์ที่ 1 ที่บอกว่า น้ำขาดแคลนจนรัฐต้องทำโครงการเกิดการต่อต้าน จริง ๆ มันไม่ใช่การต่อต้าน การต่อต้านอาจจะเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ทำกินตลอดชีวิต เขาต่อต้านอยู่แล้ว บางโครงการไม่ได้หมายถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่หมายถึงนักวิชาการ ที่เราดูแลทรัพยากรของประเทศ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ของเราโดยตรง แต่มันคือของทุกคน แต่ในบทบาทของนักวิชาการเราต้องสะท้อนว่า สิ่งที่จะทำ หรือเม็ดเงินที่จะลงไปตรงนี้คือการแก้ปัญหาจริงหรือ เป็นวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุดแล้วจริงหรือ
ดังนั้นเวลาที่มีโครงการขนาดใหญ่ อยากให้ทุกคนช่วยกันคิด ถึงแม้จะไม่กระทบกับชีวิตเราโดยตรง แต่มันกระทบทางอ้อมแน่นอน ยกตัวอย่าง อย่างผันน้ำยวมมาเติม เราอยู่กรุงเทพอาจจะไม่รู้ว่ามันกระทบ เพราะมันห่างไกลมาก แต่รู้ไหมว่า น้ำที่มาเติมเขื่อนภูมิพนธ์ ทุกลูกบาศก์เมตรมีต้นทุน และน้ำที่มีต้นทุนนั้น เขาเขียนในโครงการว่า เอามาปลูกข้าว ทำน้ำประปา ถามว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ใครรับผิดชอบ
การประปาไม่ได้ขึ้นค่าน้ำมา 10 ปี ถ้าวันหนึ่งต้นทุนมันเพิ่มขึ้นจากการสร้างเขื่อน 7 หมื่นล้านบาท ไม่รวมค่าไฟของการสูบน้ำ เราทุกคนพร้อมรับหรือเปล่า อันนี้คือผลกระทบโดยตรงกับเงินในกระเป๋าเราแน่นอน มากกว่านั้นบอกว่า ปลาจากลุ่มน้ำยวมจนมาที่เขื่อนภูมิพล ปลาที่ไหนแข็งแรงกว่ากัน เราเคยรู้หรือเปล่า ปลาตัวไหนที่ลุ่มน้ำยวม เขื่อนภูมิพล จนมาถึงท่าจีนตัวไหนแข็งแรง สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด เราตอบได้ไหมว่า ปลาอะไรจะสูญพันธ์บ้าง ในเมื่อเรายังไม่เคยมีคำตอบเรื่องนั้นเลย เราจะนิ่งดูดาย ว่าโครงการพวกนั้นไม่เกี่ยวกับเราโดยตรงได้หรือ
ถ้าวันนี้เรายังเป็นคนที่เปิดก๊อกน้ำประปา เรายังเป็นที่ซื้อปลาทูมากิน ยังเป็นคนที่กินข้าวของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกับเราหมด เพราะฉะนั้น เริ่มต้นโจทย์ต้องถูกก่อน
ฉากทัศน์ที่ 2 ไม้พุ่มกระจายตัว อันนี้ก็เห็นด้วยนะ แต่จะบอกว่า การจัดการน้ำต่าง ๆ ที่สุดท้ายจะกลายมาเป็นภาระประชาชน ต้องบอกว่า ต่อให้ทำแบบทุกวันนี้ มันก็เป็นภาระเราอยู่ดี งบประมาณเรื่องน้ำที่ใช้ทุกวันนี้ ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท ก็คือเงินภาษีเราอยู่ดี เพียงแต่เขาจะเอาไปใช้เรื่องอะไร เขาจะเอาไปทำโครงการขนาดใหญ่ หรือเอาไปกระจายเก็บน้ำลงดินตามท้องถิ่น เอาไปขุดบ่อเมตรคูณเมตร นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น นี่คือการใช้งบประมาณบางส่วน ต่อให้ไม่บริหารจัดการให้ดี มันก็มีตรงนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะจับตามอง คือ เขาเอางบประมาณตรงนี้ไปทำอะไรบ้างต่างหาก
ฉากทัศน์ที่ 3 เห็นด้วยมาก ๆ เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการแก้ปัญหาทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา เราจัดการปัญหาน้ำในบ้านอย่างไร เริ่มที่ตัวเราเป็นอันดับที่ 1 อันดับที่ 2 เมื่อใหญ่ขึ้น เป็นปัญหาระดับท้องถิ่น ชุมชน อันนี้ควรจะเป็นการจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ถ่ายโอนกระจายอำนาจที่จะให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาตัวเอง ตอนนี้เรามีกรรมการลุ่มน้ำ กรรมการลุ่มน้ำก็จะมาแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำในลุ่มน้ำ
ถัดจากนั้นใหญ่ขึ้นมาเป็นระดับชาติ เรามีหน่วยงานกว่า 30 หน่วยงานที่จัดการเรื่องน้ำ อันนี้เป็นระดับชาติที่ดูแลการจัดการน้ำ ตอนนี้มี สนทช. กำกับดูแล พยายามที่จะบูรณาการการทำงาน ทั้งเรื่องแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ที่ผ่านมาต่างคนต่างสร้าง ถึงขนาดมีเรื่องตลกว่า สร้างแก้มลิงเล็กในแก้มลิงใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าตรงนี้เคยเป็นแก้ลิงมาก่อน ขาดการบูรณาการกัน ซึ่งหน่วยงานก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็เป็นกำลังใจให้
ทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง
- ข้อมูล
ภาคเกษตร เขาบอก 75% ที่เขาตั้งเอาไว้ แต่น้ำที่เป็นหลักคือน้ำอุปโภค บริโภค ไม่ใช่ว่าแค่คนเมืองหลวงบริโภคน้ำ ภาคเกษตรก็ต้องบริโภคน้ำ ห่าง ๆ ก็น้ำบาดาล น้ำใต้ดิน แล้วถ้าน้ำใต้ดินเยอะ เกษตรกรเอาน้ำใต้ดินเยอะ ๆ ทำยังไง สมัยก่อน จ.อ่างทอง ขุดน้ำใต้ดิน 5 เมตร ก็เจอแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ต้องขุด 20-30 เมตร ไม่เจอน้ำ ถ้าได้ก็กลายเป็นน้ำกร่อย น้ำเปรี้ยว น้ำเค็ม
เกษตรกรเวลาไม่มีน้ำชลประทานช่วย ก็จะใช้น้ำใต้ดินช่วยทำการเกษตร คือ รอบแรกพอได้น้ำมาก็โอเค พอครั้งที่สองไม่มีน้ำ เกษตรกรต้องช่วยตัวเอง ใช้น้ำบาดาลเข้ามาช่วยพออยู่ได้ แต่ถ้าครั้งแรกใช้น้ำบาลรถน้ำต้นไม้ ตอนนั้นมะม่วงส่งออก ที่ อ.สามโคก ปีนั้นน้ำไม่ถึง ทางรัฐเลยเจาะน้ำบาดาลให้ เกษตรกรเอาไปรดมะม่วง รดเสร็จตายทั้งสวนเลย เอาน้ำไปเช็ค น้ำเปรี้ยว น้ำเค็ม น้ำกร่อย ไม่สามารถรถน้ำได้ ถ้าเอามาเจือจางก็สามารถอยู่ได้ แต่ต้นไม่โต นี่คือปัญหาภาคเกษตรที่เจอกันอยู่
ภาคกลางปีที่แล้ว อ่างทองทำนาได้ 3 แสนไร่ นาปี 2 แสน 8 หมื่นไร่ นาปรัง 1 แสน 1 หมื่นไร่ อ่างทองภาคกลาง เขตชลประทาน ริมคลองเท่านั้นที่ได้น้ำ พื้นที่ห่างไกลก็เหมือนภาคอีสาน 1 ปี ทำนา รอน้ำฝนได้ครั้งเดียว
เกษตรกรภาคกลางมีผักต้องทำ พอน้ำไม่มีทำยังไง เพราะอ่างทองถือเป็นครัวของกรุงเทพฯ เลย เกษตรกรจะมีที่ดินงานสองงานก็ปลูก เหลือก็จะมีรถมารับหน้าบ้านคนละ 5-10 กิโลกรัม เขาจะมีรายได้ตรงนี้ให้พออยู่ได้ แต่จะไม่สามารถส่งลูกหลาน หรือใช้หนี้ได้ พอถึงหน้าแล้งการบริหารจัดการน้ำของชลประทาน คลอง 20 กิโลเมตร มาแค่ 5 กิโลเมตร อีก 15 กิโลเมตรไม่เคยได้น้ำเลย แม้แต่ผักยังตาย ดีนะใช้น้ำบาดาล รดผักไม่โต แต่ไม่ตาย ก็ต้องจ่ายเงินของหมู่บ้าน ที่เขาขุดขึ้นมา 150 เมตร
ที่ จ.อ่างทองก็เลยประชุมกันหลาย ๆ รอบ ตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว ลองดูว่า คลองระยะทาง 20 กิโลเมตร น้ำมา 7-8 วันจะทำยังไง ให้ถึงท้ายคลอง ให้ชลประทานเป็นฝ่ายเลขา ก็ตกลงกัน น้ำมา 2 วันแรก ทำให้ถึงท้าย พออีก 2 วัน ปล่อยให้กลาง และอีก 2 วัน ให้ต้นน้ำ แรก ๆ ก็ทำได้ หลัง ๆ พอไม่ยอมก็มีตำรวจ ทหารเข้าไปช่วยดับเครื่อง เก็บเครื่อง พอถึงคิวก็ค่อยให้เครื่องกลับคืนมา ทำมา 3-4 ปีตอนนี้น้ำมาถึงปกติ ก็เกิดการบริหารจัดการน้ำที่ดี และก็พยายามทำให้ทั้งจังหวัดทำข้อตกลงร่วมกัน
- ความเห็นต่อฉากทัศน์
ฉากทัศน์ที่ 2 น้ำในครัวเรือนที่เหลือ ผมไปดูธนาคารน้ำใต้ดินมา จริง ๆ ถ้าต่างจังหวัดไม่เหลือครับ น้ำในครัวเรือน เฉพาะที่ล้างทำความสะอาดในครัวก็ต่อท่อลงไป ผมปลูกมะยงชิด กับขนุน แล้วผมไปปลูกหลุมตรงนั้นลึก 2 เมตร กว้าง 1 เมตร ใกล้ ๆ กันแล้วก็ต่อท่อลงไป เอาใบไม้ ใบหญ้า มูลสัตว์ลงไป ต้นไม้ไม่ต้องรดน้ำเลย แม้แต่ใบชะพลูก็งาม ไม่ต้องเอาไปทิ้ง มันจะกรองเองในนั้น ทิ้งไว้ 1-2 เราก็เอาไปเป็นปุ๋ยได้เลย น้ำซักผ้าผมก็เอาไปลงที่โคลนต้นกล้วย ขุดหลุมแบบนี้ เอาใบไม้ มูลวัวทับไว้ เหมือนเดิม น้ำก็ไม่เหลือไปไหน ไม่เหลือไปไหน ถ้าทุกบ้านทำหมด น้ำจะไม่มีลงไปเป็นน้ำเสีย แล้วต้นไม้ในบ้านเราก็จะงอกงามตลอด
ผมว่าบางอย่างเราทำเองได้เลย ถามว่าหน่วยงานรู้ไหม รู้ ผมเคยไปคุยกับเทศบาล เขาบอกดีมากเลย ซึ่งถ้าเทศบาลนำร่องแต่ละพื้นที่ทำ พื้นที่นั้นจะไม่มียุงลายเลย น้ำตรงนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร นอกจากบ้านจัดสรรที่ต้องเอาไปรวมกันที่ใดสักที่ ไม่ใช่เอาลงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นจุดเล็ก ๆ ตรงนี้ แต่ถ้าคนแก้จะเป็นประโยชน์ทันที มองวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้
– ชวนโหวต –
เราทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกฉากทัศน์ “อนาคตน้ำ คน เมือง” ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผ่านแบบสอบถามด้านล่างนี้