จากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเสวนา “ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เป้าหมายลดการระบาดของโควิด-19 ด้วยพลังประชาชน โดยการสร้างธรรมนูญชุมชนในระดับตำบล ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมี 12 หน่วยงานเข้าร่วมเป็นภาคี
ทั้งนี้ 12 หน่วยงานด้านสุขภาพและสถาบันทางสังคม ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สภาองค์กรชุมชน และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าววว่าโควิด-19 ได้ระบบาดไปทั่วโลกว่า 200 ประเทศ และประเทศไทยก็มีผู้ป่วยเกือบ 2,000 รายแล้ว จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคระบาดระดับจังหวัดและอำเภอขึ้นมา และเพื่อให้เกิด “พลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติกู้ภัยโควิด” จึงต้องมีการประสานความร่วมมือกันในแนวราบ จากทุกภาคส่วน ตั้งแต่องค์กรปกครองท้องถิ่น พอช. และ 4 ส. (สปสช. สวรส. สช.และสสส.)
โดยมี อสม. 1 ล้านคนทั่วประเทศออกไปเคาะประตูให้ความรู้แก่ประชาชน และมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานร่วมขับเคลื่อนกับหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น มาช่วยต่อสู้กับภัยโควิด-19 ด้วย
ในปีนี้ พชอ.มีงบประมาณ จาก สสส.สนับสนุน อำเภอละ 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดประชุม วางแผนงาน เพื่อให้เกิดการเคลื่อนงานในระดับตำบล นำไปสู่ข้อตกลงความร่วมมือกันในระดับตำบล เป็นธรรมนูญตำบล หรืออาจเป็นธรรมนูญของเขตพื้นที่ ซึ่งจะเป็นบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือ สร้างความรู้ และมีมาตรการลงโทษสำหรับคนที่ไม่ปฏิบัติตาม เพื่อทำให้เกิดพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้กับภัยโควิด ซึ่งน่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ไวรัสกำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เข้าไปสู่ชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนเปราะบาง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และเด็ก ซึ่งคนกลุ่มนี้หากป่วยจะเป็นภาระหนักด้านการรักษาพยาบาล และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก จึงต้องมีมาตรการป้องกันของประชาชนในพื้นที่ ต้องตื่นตัวอย่างกว้างขวาง รวมตัวกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน อย่างที่เราเรียกว่า “ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด-19”
ธรรมนูญประชาชนเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และจะต้องประกอบด้วย 1.การจัดระบบข้อมูลการรับรู้ที่ถูกต้อง 2.การจัดระบบดูแลกลุ่มเผยแพร่เชื้อไวรัส หรือที่เคยสัมผัสเชื้อมาก่อน ช่วยเหลือในพื้นที่กักตัวให้ครบ 14 วันตามกำหนด 3.การดูแลกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสติดเชื้อ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง
4.การดูแลอนามัยส่วนบุคคล และครอบครัว และ 5.การร่วมด้วยช่วยกัน เพราะการรับมือโควิดไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่เป็นปัญหาทั้งสังคม เศรษฐกิจของแต่ละคน แต่ละครัวเรือนในชุมชนด้วย
จากมาตรการเหล่านี้ จึงต้องแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน ทั้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่น หน่วยงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครอบครัว และประชาชน ซึ่งจะต้องมีการระบุให้ชัดเจน เป็นระบบ มีข้อตกลงร่วม เราจะสามารถชนะไวรัสโควิด และผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมฯ มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าในส่วนจังหวัด เทศบาล ตำบล ในการดูแลประชาชน ช่วยเหลือการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่
บทบาทในเบื้องต้น คือ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง อปท.กับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้ประชาชน โดยตอนนี้ทำหน้ากากผ้าได้ 47 ล้านชิ้นแล้ว โดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกัน นอกจากนี้ อปท.จะมีบทบาทเป็นเจ้าพนักงานดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยมีงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่ถูกกักกัน
สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการเตรียมสถานที่ในกรณีโรงพยาบาลไม่เพียงพอ เพื่อจัดหาโรงพยาบาลสนามโดยใช้งบประมาณของ อปท. รวมทั้งการดูแลผู้ติดเชื้อ เมื่อลงไปในหมูบ้าน อปท. ก็สนับสนุน
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพ หรือกองทุนตำบล ตั้งมา 13 ปีแล้ว โดยให้บริการดูแลสุขภาพและด้านสาธารณสุขในชุมชน เน้นเรื่องการส่งเสริมป้องกันเป็นหลัก รวมถึงการฟื้นฟูชุมชน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ปัจจุบัน ในสถานการณ์โควิด-19 สปสช. ได้มีการออกหนังสือแจ้งให้กรรมการกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อให้เตรียมวางแนวทางนำงบประมาณไปใช้ โดยเบื้องต้นใช้กับการรณรงค์ให้ความรู้ การจัดหาและจัดทำอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย เจลและสบู่ล้างมือ เครื่องวัดอุณหภูมิ ให้ประชาชน รวมทั้งการติดตามเฝ้าระวัง คัดกรองกลุ่มเสี่ยง และมีงบประมาณสำหรับกิจกรรมลงไปเยี่ยมติดตามการรายงานผล ปัจจุบันมีการนำงบประมาณไปใช้ประมาณ 2,000 กว่าแห่ง รวมแล้วประมาณ 300 กว่าล้านบาท จากกองทุนที่มีทั่วประเทศประมาณ 7,000 กว่าแห่ง
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า ไวรัสโควิด เป็นภารกิจของหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับล่างไปถึงรัฐบาล สำหรับองค์กรชุมชนเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งใคร หรือรองบประมาณ เนื่องจากงบประมาณที่มีอยู่แล้วสามารถนำมาใช้ปฏิบัติการได้เลย โดยรวมพลังกับหน่วยงานในชุมชนท้องถิ่น เช่น รพ.สต. อสม. อพม. และขบวนองค์กรชุมชนที่มีอยู่เคลื่อนร่วมกัน
พอช.ในฐานเป็นกลไกของรัฐ แต่เป็นเครื่องมือของประชาชน ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันในเชิงนโยบายว่า งบประมาณที่ได้รับจากรัฐ ปี 2563 ประมาณ 1,121 ล้าน จะนำมาแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเต็มพื้นที่ได้ ด้วยการปรับแผนเดิม ปรับตัวชี้วัด ให้สอดคล้องกับบริบทการควบคุมป้องกันโรค ให้แต่ละพื้นที่ออกแบบการทำงาน สำหรับระดับตำบล/เมือง 3,137 แห่ง โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น และทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบการทำงานของ พอช.ที่จะไปสนับสนุนให้พื้นที่ได้ขับเคลื่อนอย่างมีพลังและแก้ไขปัญหานี้ได้ อีกทั้งยังมองไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะชุมชนในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการมีทั้งตำบล เมือง และจังหวัด เต็มพื้นที่ภูมิภาค
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 10 ร่วมพูดคุยสดจาก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ว่า สำนักงานสุขภาพแห่งชาติมีประสบการณ์ในการทำเรื่องของสมัชชาจังหวัด นโยบายสาธารณะ และรัฐธรรมนูญสุขภาพระดับตำบล และหมู่บ้านมาแล้วเกือบ 20 ปี ส่วนเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เรื่องโควิด-19 คือต้องลดการระบาด และป้องกันการกระจายของผู้ติดเชื้อ
ส่วนหัวใจสำคัญในการป้องกันการระบาด คือการทำงานในระดับตำบลหมู่บ้าน คณะกรรมการเขตสุขภาพประชาชนมีสมัชชาจังหวัดในแต่ละจังหวัด โดยทำงานกับคณะการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ บางจังหวัดตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด เช่นที่ จ.อุบลราชธานี โดยโครงสร้างตรงนี้เราสามารถประสานกับหน่วยงานของรัฐได้
ขณะนี้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่กฎมายอย่างเดียวไม่สามารถเข้ามาป้องกันและควบคุมการระบาดได้ ประเด็นสำคัญต้องมี 3 เรื่อง คือ 1.ต้องทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้าใจ และตระหนักในการดูแลตัวเอง หรือที่เรียกว่า Self-quarantine 2. Home quarantine คือการกักกัน 14 วัน กลุ่มผู้สุ่มเสี่ยง ต้องทำให้เขารู้ตัว มีข้อมูล มีการติดตาม และให้รู้หลักการในการกักตัว โดยไม่ต้องปิดบังซ่อนเร้นและให้ความร่วมมือ และ 3. social distancing การเว้นระยะห่างทางสังคม หากเราทำทั้ง 3 เรื่องได้อย่างเข้มงวด ภายในเดือนเมษายนนี้ กราฟผู้ติดเชื้อของไทยจะไม่พุ่งสูง สามารถควบคุมการระบาดได้
เมื่อมองเป้าหมายยุทธศาสตร์ตรงนี้ จึงมั่นใจว่าการทำธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลที่ทำมาแล้วร่วม 20 ปี มันจะเป็นระเบียบข้อตกลงที่เรานำมาพูดคุยกัน เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดอุบลราชธานีและอีก 4 จังหวัดในเขต 10 โดยมุ่งชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน ส่วนกระบวนการ ในระดับจังหวัดและระดับเขตได้ประสานกับ สปสช.เขต 10 เพื่อกระตุ้นให้กองทุนสุขภาพตำบล ที่มีเงินค้างท่ออยู่ คิดกิจกรรมควบคุมการระบาด และออกแบบเป็นธรรมนูญสุขภาพ
ดังนั้น ในพื้นที่ตอนนี้จึงมีการทำงานของ 6 ทหารเสือ คือ สาธารณะสุขอำเภอ รพ.สต. อสม. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และนายอำเภอ ในการทำงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับสมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่ ที่จะทำเรื่องธรรมนูญสุขภาพให้เกี่ยวข้องกับ 3 เรื่อง คือการควบคุมป้องกันตนเอง การกักกันตนเอง 14 วัน และการเว้นระยะห่างทางสังคมออกมาเป็นข้อกำหนดต่าง ๆ ในการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาตัวเอง รักษาชุมชน
“คนที่เดินทางมาจากกรุงเทพกลับบ้านที่ต่างจังหวัดตกงานมา ลำพังเงิน 5,000บาท 3 เดือน มันไม่พอสำหรับคนที่ต้องกินต้องใช้ ถ้าเราสามารถทำให้เขามีอาชีพได้ ทั้งเกษตร ฝึกวิชาชีพต่าง ๆ ในการทำงานในพื้นที่ ผมคิดว่าวิกฤติโควิด-19 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมิติใหม่ ให้คนอุบล หรือคนใน 5 จังหวัดอีสานใต้ กลับมาช่วยพัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชนให้มีความสุขมากขึ้น ปลอดจากภัยโควิด ในขณะเดียวกันก็สร้างความเจริญในพื้นที่ได้” นพ.นิรันดร์กล่าว
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าววา ความร่วมมือมีความจำเป็นต้องมีวงปรึกษาหารือ แต่วงปรึกษาหารือก็ไม่ได้จำกัดรูปแบบ วิธีการ เวลา สถานที่ หรือเครื่องมือที่ใช้ ขึ้นอยู่กับบริบทและความพร้อม โดยสามารถใช้กรุ๊ปไลน์ เฟซบุ๊ก วีดีโอคอล สามารถคุยกับชุมชนได้ ทำได้ทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล เพื่อการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ถ้าได้พูดคุยกันจะเกิดการมอบหมายงาน จัดทรัพยากรทั้งคนและเงิน
ทั้งนี้ สช.สามารถสนับสนุน “คู่มือกระบวนการปรึกษาหารือ” ซึ่งมี 2 ส่วน คือ 1.จัดบทบาทของชุมชน เรื่องความรู้ ความเข้าใจ การมีมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ และ 2.วงปรึกษาหารือในเรื่องของการจัดกระบวนการในพื้นที่ และมีตัวอย่างต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้เลย
ส่วนการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 (ศรค.)” จัดทำเพื่อสนับสนุนการทำงานของส่วนกลางและพื้นที่ ได้จัดทำฐานข้อมูลในการที่จะเอาข้อมูลต่าง ๆ นำไปใช้ กระจายข่าวสารต่อกลุ่มสื่อสารสาธารณะ นอกจากนี้ มีการร่วมมือกับ Thai pbs สามารถใช้แอพลิเคชั่น C-site โดยพื้นที่สามารถแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ลงในหัวข้อ “ชุมชนสู้ภัยโควิด”
อีกทั้ง มีการประสานงานในระดับพื้นที่ กรณีทีมีข้อสงสัยประสานงานกับทีมได้ มีชื่อ เบอร์ ไลน์ให้ติดต่อ ช่วยสนับสนุนแก้ไขปัญหา หรือประสานในส่วนที่เกี่ยวข้อง มีพี่เลี้ยงให้ความรู้ในเรื่องของกระบวนการฉันทามติ และเรื่องของกระบวนการในการจัดการ ตกลงธรรมนูญประชาชน
คลิกฟังการประชุม: