“เปิดตัวสภาลมหายใจเชียงใหม่” ร่วมแก้ฝุ่นควันระบุปัญหาซับซ้อนเกินกว่าหน่วยงานจะแบกรับ สร้างมาตรการสังคมร่วม
9 กันยายน 2562 (9/9/2019) ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด นับเป็นวันสำคัญของความพยามแก้ไขปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อภาคประชาชนทั้งภาคเมือง ชนบท ป่าและกลุ่มนักวิชาการ ถือเอาฤกษ์ที่หน่วยราชการในจังหวัดเชียงใหม่ มาจัดทำแผนแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าประจำปี 2563 เข้ารับฟังร่างแผน และเปิดตัว “สภาลมหายใจเชียงใหม่” ให้เป็นกลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหานี้อีกส่วนหนึ่งด้วย
นายบัณรส บัวคลี่ กล่าวในนามคณะประสานงานพลังชาวเชียงใหม่ ถึงการริเริ่มตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่
Chiangmai breathe council initiative ว่า เราทราบกันดีว่าปัญหาฝุ่นควันมลพิษอากาศเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเกินสิบปี ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมของชาวเหนือหลายจังหวัด ด้วยความซับซ้อนทั้งในแง่ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ พฤติกรรม และข้อจำกัดมากมายหลายปัจจัย โดยเฉพาะวิกฤติล่าสุดเมื่อต้นปี 2562 สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรง จำเป็นต้องใช้พลังของทุกภาคส่วนร่วมกัน และไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดจะแบกรับได้ การจะแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยพลังของสังคมทั้งมวลร่วมกันผลักดัน
แนวความคิดก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ มาจากบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษฝุ่นควันหลายภาคส่วน ทั้งภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ ภาคเอกชน (กกร.) และภาคประชาชน เห็นพ้องว่า นับจากนี้จะต้องรวมพลังประชาสังคมให้เป็นเอกภาพ ประสานเสริมพลังของชาวเมืองทุกฝ่าย เป็นอีกพลังที่ร่วมผลักดันการแก้ปัญหาในทุกระดับ มุ่งไปสู่เป้าหมายทำให้สังคมของเรามีอากาศสะอาดทุกฤดูกาล
“การมุ่งแก้ปัญหาที่การดับไฟ/ระงับการเผาในช่วงเวลา 3 เดือนของระยะเผชิญเหตุยังไม่เพียงพอ ต้องมีการทำงานต่อเนื่องระยะยาว มุ่งที่การแก้ต้นตอในระยะกลางและระยะยาวพร้อมกันด้วย เพราะลึกลงไปในปัญหาฝุ่นควันมีความขัดแย้งมากมายในทุกมิติและทุกระดับของสังคม”
นายบัณรสกล่าวด้วยว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่จะใช้แนวทางหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกัน แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง หนุนเสริม เสนอแนะ ผลักดัน และปฏิบัติการบนพื้นฐานของความร่วมมือ มองผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และพยายามออกแบบโครงการที่มุ่งประสานความเข้าใจระหว่างประชาชนในเมืองและชนบท มุ่งลดต้นตอแหล่งกำเนิดมลพิษจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าทั้งจากในเมืองและชนบท รณรงค์ให้สังคมเห็นภยันตรายจากปัญหานี้ และมองผลกระทบในภาพรวมของปัญหานิเวศแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ที่มีความสามารถระบายอากาศของเสียลดลง
นายบัณรสกล่าวด้วยว่า กุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาคือ มาตรการและกลไกรองรับ และวิธีการแก้ไขจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยประเด็นหลักๆ ที่จะดำเนินการลำดับต้นๆ คือ ร่วมผลักดันมาตรฐานค่าเตือนภัยมลพิษอากาศ นับจากนี้ชาวเชียงใหม่จะใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ที่มีมาตรฐานเข้มงวดกว่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ) ให้ใช้ โดยจะร่วมผลักดันกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านวิชาการ พยายามรณรงค์ และใช้ คำว่า “ฝุ่นควัน” แทน “หมอกควัน” ให้สังคมเกิดความตระหนักต่อพิษภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขึ้น และสืบสาน และ ดำเนินกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ที่สมาชิกและภาคประชาชนได้ทำมาก่อนหน้าต่อไป
และในเดือนตุลาคมที่จะถึงจะมีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการทำงานและขยายเครือข่ายความร่วมมือให้เพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าปัญหามลพิษฝุ่นควันสามารถแก้ไขได้ โดยต้องมองปัญหาในระยะยาวและมุ่งการแก้ไขอย่างยั่งยืน และต้องใช้มาตรการผลักดันทางสังคม ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมายและปฏิบัติการของราชการ บทบาทของสังคมในการรณรงค์ ผลักดัน ทำความเข้าใจกันและกัน เป็นหน้าที่ร่วมกันของประชาชนทุกภาคส่วน
น.พ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลทางวิชาการพบว่า ในปี 2552 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศจากฝุ่นมรณะจำนวน 38,410 คน สูงเป็น 4 เท่าของการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้ประชากรมีอายุสั้นลง 0.98 ปี ในขณะที่ภาคเหนือปี 2560 เสียชีวิต 93 ศพ มี 2561 เสียชีวิต 107 ศพ และมี 2562 เสียชีวิต 225 คน เป็นตัวเลขก้าวกระโดดหรือเพิ่มขึ้น 60% จากโรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ และติดเชื้อ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและคิดให้ออกว่าจะแก้ไขปัญหาฝุ่นมรณะที่ทำให้คนเสียชีวิตจริงๆ นี้อย่างไร โดยไม่คำนึงเพียงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและจิตวิทยาเท่านั้น
ด้านตัวเเทนภาคเมือง เช่น กลุ่มใจบ้านสตูดิโอ ได้ร่วมเสนอเเนวทางการออกแบบเมืองให้มีสภาพเเวดล้อมที่ดีอย่างเช่นการมีพื้นที่สีเขียว ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมออกแบบด้วยกันจะทำเมืองเชียงใหม่มีพื้นที่ที่มีส่งเเวดล้อมที่ดีและมีคุณภาพผ่านการออกแบบ นอกจากนั้นยังมีตัวแทนภาคประชาชนที่มีพื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินในเขต ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อร่วมสนับสนุนด้วยครั้งนี้ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหานี้ และแก้ไขอย่างยั่งยืน
ส่วนโจทย์ของการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้ตระหนักเรื่องฝุ่นควันนั้น จำเป็นที่จะต้องให้คนในพื้นที่สัมผัสได้ สภาลมหายใจเชียงใหม่จึงได้คิดระบบการเเจ้งเตือนแบบตัวมาสคอต เนื่องจากว่าการเตือนในพื้นที่แต่ละพื้นที่สามารถเข้าดูผ่านแอพพลิเคชั่นได้อยู่แล้ว แต่ว่า ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ ตัว”มาสคอต” จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะใช้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการเเจ้งเตือนกันเองผ่านการขึ้นธงสี บอกค่าคุณภาพอากาศ เป็นต้น
ขณะที่หน่วยราชการในจังหวัดเชียงใหม่ มีการเสนอแผนแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า 2563 โดย 5 กลุ่มงานคือ กลุ่มบริหารจัดการในพื้นที่ป่า กลุ่มบริหารจัดการในพื้นที่เกษตร กลุ่มบริหารจัดการในพื้นที่ชุมชนและเขตทาง และกลุ่มบริหารจัดการด้านสาธารณสุข และกลุ่มความร่วมมือด้านการสนับสนุนดอยหลวงเชียงดาวโมเดล นั้น
นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงงานของกลุ่มบริหารจัดการในพื้นที่ป่า ปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าเกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งช่วงที่เชียงใหม่เผชิญนั้นเป็นช่วงสภาวะที่อากาศปิด ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ปรากฎการณ์แอลนินโญ่ ซึ่งเหล่านี้เราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะจัดการได้ คือ การเผา ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่เมือง ซึ่งต้องใช้ทั้งมาตรการทางสังคมอย่างเข้มข้น และมาตรการทางกฎหมายด้วยเช่นกัน ส่วนการชิงเผา หรือการเผาในพื้นที่เกษตร คิดว่า ปีถัดไป ต้องมีการจัดการที่ดีขึ้น โดยจะใช้ภูมิปํญญาของชาวบ้านมาร่วมจัดการเผาร่วมด้วยอย่างไร
ด้านตัวเเทนสำนักงานเกษตร จังหวัดเชียงใหม่กล่าวถึงการบริหารจัดการในพื้นที่เกษตรว่า ในปี 2563 สำนักงานเกษตรฯ มีกลไกหน่วยงานในระดับตำบล โดยเน้นการนำนวัตกรรมการเกษตร ลดการเผาเเนะนำกับเกษตรกร สนับสนุนการทำการเกษตรปลอดการเผา เช่น การปลูกพืชทางเลือก ทดแทนการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง แต่โจทย์สำคัญคือ เชียงใหม่มีพื้นที่ผลิตผลิตเกษตรในพื้นที่ป่าซึ่งอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตร จึงจะต้องร่วมทำแผนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมด้วย และที่สำคัญ ทางเลือกที่มีให้กับเกษตรกรนั้น ตอบโจทย์รายได้ของพวกเขาหรือไม่
ส่วนตัวเเทนสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังปัญหาฝุ่นควันในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุข ได้ถอดบทเรียนกันมา 3ครั้ง เพื่อเตรียมทำเเผนรับมือในปี2563 ในช่วงวันที่ 12 กันยายน นี้ โดยภารกิจที่จะร่วมทำกับคณะวิศกรรม ม.เชียงใหม่ คือการจัดทำเพื่อที่ปลอดภัยจากฝุ่นควัน (SafetyZone)ในทุกตำบลที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และยกระดับให้เป็นศูนย์ส่งเสริมความรู้ด้านหมอกควันไฟป่า พร้อมกับการยกระดับค่าการเตือนภัยต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ให้เป็นมาตรฐานสากลโดยให้มีกลไกเตือนภัยในระดับตำบล
ร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่อย่างไร ?
สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นการรวมตัวกันของประชาคมชาวเชียงใหม่ที่มีเป้าหมายร่วมกัน ใช้ระบบอาสาสมัครผลักดันงานตามความถนัดและความสนใจ มีการประสานงานผ่านระบบสื่อสารภายในและแบบเปิดภายนอก และมีกิจกรรมที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
โดยจะมีกลไกการทำงานดังนี้
1.สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นองค์กรใหญ่ของประชาคมที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันเป็นเจ้าของ มีสมาชิกสองแบบคือ แบบองค์กร และแบบบุคคล จะมีกลไกงานเลขานุการ จัดการเรื่องเอกสาร รายชื่อ การรับสมัคร ประสานงานและสื่อสารภายใน สภาลมหายใจจะเปิดรับสมาชิกต่อเนื่อง เปิดประตูให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมตลอดเวลา
2.คณะทำงานทำงานร่วม 4 ฝ่าย คัดเลือกตัวแทนสมาชิกจากฝ่าย สาธารณสุข ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายองค์กรเอกชน (ธุรกิจ) และฝ่ายประชาชน ร่วมกันผลักดันงาน รักษาทิศทางของขบวนให้ไปสู่เป้าหมาย ในเบื้องต้นจะมีตัวแทนฝ่ายละ 5 คน
3.โครงการและกิจกรรมพิเศษ พื้นที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทำงานของภาคประชาสังคมและสมาชิก
ติดตามความเคลื่อนไหว ร่วมแลกเปลี่ยน สภาลมหายใจเชียงใหม่
กลุ่มเฟสบุ๊ค เชียงใหม่จะไม่ทน:ประชาคมสนทนา
กำหนดการความเคลื่อนไหว
9 กันยายน 2562 – เปิดตัวสภาลมหายใจเชียงใหม่ ประกาศข้อริเริ่มก่อตั้ง
กันยายน 2562 – สร้างระบบกลไกทำงาน ตั้งคณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย เพื่อผลักดันองค์กรระยะเริ่มต้น
ตุลาคม 2562 – เปิดประชุมสภาลมหายใจ ครั้งที่ 1 / ประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาล / แถลงกิจกรรมและทิศทางการต่อสู้กับปัญหาฝุ่นควันในปี 2563
กิจกรรมรณรงค์ ระยะแรก
- ร่วมผลักดันมาตรฐานค่าเตือนภัยมลพิษอากาศ นับจากนี้ชาวเชียงใหม่จะใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ที่มีมาตรฐานเข้มงวดกว่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ) ให้ใช้ โดยจะร่วมผลักดันกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านวิชาการ
- รณรงค์ และใช้ คำว่า “ฝุ่นควัน” แทน “หมอกควัน” ให้สังคมเกิดความตระหนักต่อพิษภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขึ้น
- สืบสาน และ ดำเนินกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์สมาชิกและภาคประชาชนได้ทำมาก่อนหน้าต่อไปอาทิเช่น “โครงการเขียวสู้ฝุ่นปลูกต้นไม้ล้านต้น” “โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส ปลูกไผ่” “โครงการเห็ดเพาะลดพื้นที่เผา” “โครงการชิงเก็บ-ใช้ประโยชน์จากใบไม้” ฯลฯ
- โครงการแก้ปัญหาระยะยาว ผสานความร่วมมือหลายภาคส่วน (พอช./ประชาชน/กกร./สถาบันนโยบายสาธารณะม.ช.) ปรับเปลี่ยนและพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลบนหลักการเข้าถึง เข้าใจ สมานฉันท์ เพื่อสร้างชีวิตและนิเวศอย่างยั่งยืน
- โครงการสถานีเรียนรู้ สู้ภัยฝุ่น สถานีเตือนภัยระดับชุมชน – กาสะลอง ซ้องปีป สู้ฝุ่น
- ชุมชนเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว ชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ – สภาเมืองสีเขียว
- ทำความเข้าใจวิถีไร่หมุนเวียนชาวบ้าน – เครือข่ายชาติพันธุ์
- แม่แจ่มโมเดลพลัส – มูลนิธิพัฒนาที่ยั่งยืน – มูลนิธิอักเมืองแจ๋ม
- การเตรียมตัว เตรียมบ้าน ลดฝุ่นควัน – เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
- ดนตรีในสวน – กลุ่มศิลปินเชียงใหม่ ดีเจเชียงใหม่ และระหว่าง 1-3 พ.ย. 62 กิจกรรมดนตรีแจ๊สเชียงใหม่ รณรงค์ลดฝุ่นควัน -กลุ่มJazz Bar ที่ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่
- เวิร์กชอบ ต้นไม้สู้ฝุ่น ลดฝุ่น – กลุ่มเขียวสวยหอม เทศบาลนครเชียงใหม่
- พฤศจิกายน 2562 – เก็บขยะ รักษาแม่น้ำปิง จากต้นน้ำปิง-เชียงใหม่ – นิคม พุทธา
- ธันวาคม 2562 – วิ่งสู้ฝุ่น เชียงดาว-เชียงใหม่ – นิคม พุทธา