ไฟป่าแม่ฮ่องสอน บทเรียนก่อนควันมาใหม่

ไฟป่าแม่ฮ่องสอน บทเรียนก่อนควันมาใหม่

ฤดูฝนย่างกรายมาถึงแล้ว ปัญหาหมอกควันไฟป่า วิกฤติมลพิษทางอากาศครั้งที่รุนแรงมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งของภาคเหนือกำลังจะจางจากไป แต่ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะปีหน้าปัญหานี้ก็จะกลับมาใหม่ จะหนักกว่าเดิม หรือเบากว่าเดิม ไม่อาจมีใครคาดการณ์ได้

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดหนึ่งที่ปัญหาไฟป่าหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา ทีมงาน The North องศาเหนือ ได้เดินทางไปพูดคุยกับชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางในการแก้ไขในปีหน้า โดยหวังว่าความเห็นบางส่วนอาจเป็นภาพสะท้อนในภาพรวมของปัญหาในภาพใหญ่ หรืออาจนับเป็นทางออกแนวทางหนึ่ง เพื่อจะได้ร่วมกันรับมือในปีต่อไป

สถานการณ์ไฟป่าของ จ.แม่ฮ่องสอน

จากข้อมูลของการเปรียบเทียบจุดความร้อนสะสม 9 จังหวัดภาคเหนือ จากดาวเทียมระบบเวียร์ (VIIRS) ปี 2562  จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจุดความร้อนสะสม เกิดขึ้นมากถึง 16,313 จุด (นับตั้งแต่ 1 มกราคม – 21 พฤษภาคม 2562)  โดยสูงเป็นอันดับสอง รองจากจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีจุดความร้อนสะสมมากที่สุดของภาคเหนือ (จำนวน 16,847 จุด)

การเกิดจุดความร้อนสะสมมากขนาดนี้ทำให้แม่ฮ่องสอนได้รับผลกระทบมากมายหลายด้าน ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องยกเลิกเที่ยวบินในช่วงที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากปัญหากลุ่มหมอกควันไฟป่ามากถึง 84 เที่ยวบิน (หมายเหตุ : ข้อมูลระหว่าง 1 มกราคม – 13 พฤษภาคม 2562)  ได้แก่

สายการบินบางกอกแอร์เวย์         58        เที่ยวบิน

สายการบินนกแอร์                      6          เที่ยวบิน

สายการบิน RPS System            20        เที่ยวบิน

และเที่ยวบินล่าช้า  8  เที่ยวบิน ได้แก่

สายการบินบางกอกแอร์เวย์         2          เที่ยวบิน

สายการบิน RPS System            6          เที่ยวบิน

ในขณะที่ประชาชนต่างก็รู้สึกถึงภาวะมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อร่างกายอย่างที่รู้สึกกันได้อย่างชัดเจน  โดยปีนี้ พบว่า ค่า PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานเกิดขึ้นถึง 62 วัน (วัดค่า PM2.5 ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤษภาคม) ดังนี้

เดือนมกราคม 1 วัน  คือ              29 มกราคม 2562

เดือนกุมภาพันธ์ 7 วัน  คือ           16 , 22 – 26 และ 28 กุมภาพันธ์ 2562

เดือนมีนาคม 29 วัน  คือ             1 – 5 , 8 – 31 มีนาคม 2562

เดือนเมษายน 24 วัน  คือ            1 – 17, 19 , 23 – 27 และ 29 – 30 เมษายน 2562

เดือนพฤษภาคม                         0 วัน

วันที่ค่า PM2.5 สูงสุด คือ วันที่ 3 เมษายน 2562 มีค่า 277 ไมครอน

(เกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

มุมมองคนในพื้นที่ต่อสาเหตุของวิกฤติไฟป่า 2562

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นที่ราบแอ่งกระทะ ซึ่งพื้นที่ราบไม่กว้างนัก ขณะที่ภูเขาสูงรายล้อม ดังนั้น ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในหน้าแล้งส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มหมอกควันไฟป่า (ประมาณ 96 เปอร์เซ็นต์ จุดสะสมความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตรและชุมชน)

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นพรมแดนในป่าเขายาวถึง 483 กิโลเมตร จึงทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงกับกลุ่มหมอกควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงหลายแห่งไฟป่ายังลุกลามมาฝั่งไทย อันเป็นผลอีกส่วนหนึ่งทำให้แม่ฮ่องสอนเกิดหมอกควันไฟป่ามากในปีนี้
ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นได้ส่งผลด้านการท่องเที่ยวทุกปีมาอย่างยาวนาน  หากในระยะหลังพบว่าปัญหาเรื่องนี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และปีนี้ก็รุนแรงหนักที่สุดอีกปีหนึ่ง และประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด

ทวี ญาติมาก พนักงานสถานีควบคุมไฟป่าอำเภอแม่สะเรียง ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ปีนี้เกิดภาวะแห้งแล้งยาวนาน จึงทำให้เชื้อเพลิงในป่ามีสะสมจำนวนมาก ยิ่งนานยิ่งแห้ง ลุกติดได้ง่าย  แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านเข้าไปดับแต่ก็ไม่อาจดับได้หมดทุกครั้ง ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าอนุรักษ์และป่าสงวนจะเป็นภูเขา บางจุดที่เกิดไฟป่า มีความชันมาก ไม่สามารถดับได้ ต้องปล่อยให้ไฟลุกลามและดับเอง ดังนั้น เจ้าหน้าที่และชาวบ้านจึงทำได้เพียงผ่อนหนักเป็นเบาแต่ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้หมดทุกจุด”

อุดม ก่อนแสงวิจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กิ๊ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เล่าให้ฟังว่าตำบลแม่กิ๊มีพื้นที่ติดกับประเทศพม่า จะมีไฟป่าจากชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้านลุกลามมาทุกปี ซึ่งบางปีตนและสมาชิกหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลแม่กิ๊จะชวนกันไปทำแนวกันไฟที่เส้นเขตชายแดน แต่ปีนี้ไม่ได้ไป จึงทำให้มีไฟป่าลุกลามเข้ามาซึ่งไม่สามารถไปดับกันได้เนื่องจากมีระยะทางไกล

ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของนาย จีรศักดิ์ ทิพยวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ที่ได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาไฟป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินหลายจุด (พื้นที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.แม่ลาน้อย) ที่ไม่สามารถเข้าไปดับได้ เพราะมีความลาดชันมากเกินเจ้าหน้าไฟป่าจะเข้าไปได้ รวมถึงสาเหตุที่เกิดจากจากการลุกลามของไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังฝั่งไทย

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำสาละวิน เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้สะท้อนถึงสาเหตุไฟป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปีนี้ว่า นอกจากภัยแล้งยาวนานแล้ว ส่วนหนึ่งตนเชื่อในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน เกิดความกดอากาศต่ำ กระแสลมไม่ปกติ ทำให้ค่าฝุ่นละอองสูงกว่าเมื่อก่อน
“แต่ก่อนแม่ฮ่องสอนก็เคยมีไฟป่าแบบนี้แต่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าแสบตาแสบคออย่างที่เราเจอมาในปีนี้ ผมเชื่อว่าเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจนเกิดภาวะโลกร้อนมีผลต่อเรื่องค่าฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งมันคงไม่ใช่เพราะสาเหตุจากไฟป่าอย่างเดียว

อย่างชาวบ้านที่อยู่บนดอย เขาใกล้ชิดกับกลุ่มควันไฟมากกว่าคนเมือง แต่เขาก็ไม่รู้สึกว่าสภาพอากาศเลวร้ายอย่างในเมือง ผมคิดว่าพฤติกรรมในการใช้รถ เครื่องยนต์ต่างๆ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีผลต่ออากาศเป็นพิษ แต่เรามักโยนความผิดให้ชาวบ้าน ให้คนเผาป่า

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ใครเผาก็ไม่รู้ แต่มักจะบอกว่าเป็นชาวบ้านเผา ชาวเขาเผา ซึ่งไม่ถูก เพราะคนที่เผาอาจเป็นคนอื่น เป็นคนเมืองก็ได้ก็ได้  บางคนอาจอยากท้าทายกฎหมาย หรือท้าทายมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่ออกมา ก็อาจคึกคะนอง อยากจุดเพราะกลั่นแกล้งก็ได้ ดังนั้น การจะพูดว่าสาเหตุของไฟป่าเกิดจากอะไรต้องพิจารณาถ้อยคำที่ใช้ให้ดี ใช้แล้วควรทำให้รู้สึกอยากร่วมมือกันแก้ไข อยากช่วยกันดับไฟป่า ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่อยากทำแล้ว เพราะเขาไม่ได้ทำ แต่ไปว่าเขาทำ เขาก็ไม่อยากไปดับไฟแล้ว เพราะทำดีแล้วไม่ได้ดี ไปช่วยดับไฟให้เขา แต่เขากลับมาว่าเราเผา ก็อยู่เฉยๆ กันดีกว่า”

หาทางออกและรับมือปัญหาหมอกควันในปี 2563

“เราต้องเริ่มต้นคุยกันตั้งแต่ปีนี้เลย”
บุญยืน คงเพชรศักดิ์ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน  ก็ได้แสดงความเห็นต่อการรับมือปัญหาไฟป่าในปีหน้าว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเอาบทเรียนของปีนี้มาสรุปร่วมกันและหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้

“แต่ปัญหาของวงประชุมในหลายๆ ปีที่ผ่านมา มักจะหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างโทษกันไปมา ชาวบ้าน กับภาครัฐ ไม่เคยมีข้อตกลงร่วมกันได้ ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขปัญหาได้ผล ต้องยอมรับกัน เอาข้อเท็จจริงมาคุยกันทุกฝ่าย เอางานวิจัยมากางดูกันว่าสาเหตุมาจากอะไร และให้ข้อตกลงนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน การปฏิบัติถึงจะได้ผล”

ส่วนสาเหตุว่าใครเป็นคนเผาป่าสำหรับปีนี้นั้น ต้องเลิกโทษกันได้แล้ว เพราะคงไม่มีประโยชน์ และคงไม่มีใครออกมายอมรับว่าตนเองเผา แต่เราลองมามองหาสาเหตุร่วมกันและหาทางรับมือในปีหน้าร่วมกันดีกว่า

 

ขณะที่ ทวี ญาติมาก พนักงานสถานีควบคุมไฟป่าอำเภอแม่สะเรียง เห็นว่าเรื่องนี้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ให้ชาวบ้านมาร่วมมือช่วยกันดูแลไฟป่า เพราะลำพังให้เจ้าหน้าที่ไฟป่าดูแลเพียงอย่างเดียวไม่อาจเพียงพอต่อปัญหา ขณะเดียวกันในส่วนของประชาชนที่ได้อาศัยการหากินกับป่า ภาครัฐอาจต้องจัดสรรงบประมาณในเรื่องอาชีพเพื่อทำให้พวกเขามีรายได้ในช่วงหน้าแล้งและไม่เกิดแรงจูงใจในการเผาป่าเพื่อหาเห็ดหรืออื่นๆ

 

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำสาละวิน ก็ได้เสนอแนวทางต่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าว่า เรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องที่จะมารับมือหรือแก้ไขกันเพียงสองสามเดือนในช่วงหน้าแล้ง แต่ควรเป็นเป็นการจัดการป่าทั้งปี ให้ทุกฤดูเป็นการดูแลป่า ให้ชุมชนรู้สึกว่าป่าเป็นของตน ตนมีหน้าที่ดูแลป่า ถ้ามีไฟป่าเกิดขึ้นก็เป็นความรับผิดชอบของชาวบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่แต่ต้องจัดสรรงบประมาณมาให้ชาวบ้านด้วย เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านมักมาเป็นอาสาสมัครดับไฟป่าด้วยจิตอาสา เวลามีอุบัติเหตุครั้งหนึ่งก็ไม่ได้มีงบประมาณช่วยเหลืออะไร นอกจากต้องเรี่ยไรเงินทองช่วยกันเอง

“ผมว่ามันไม่ได้ผลที่จะมีออกกฎหมายห้ามแค่สองเดือนห้ามเผา เพราะชุมชนอยู่ใกล้ชิดป่า พวกเขารู้ดีว่าต้องจัดการกับป่าอย่างไร ถ้าภาครัฐจัดสรรงบประมาณลงมายังชุมชน ให้ชุมชนดูแลป่าทั้งปี ผมว่าน่าจะดีที่สุด อีกอย่างมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาอย่าง 60 วันอันตราย ห้ามเผา หลังจากนั้นถึงจะเผาได้ แต่บางปีอย่างปีที่แล้ว ฝนมาตั้งแต่เดือนเมษายน และตกหลายครั้ง พอหมดเดือนเมษายน คนบนดอยเผาไม่ได้เลย เพราะหญ้าฟางเปียกไปแล้ว เผาทีก็ควันไฟเยอะมาก ดังนั้น ถ้าให้ชุมชนเขาตัดสินใจเองว่าจะเผาช่วงไหนตอนไหน แล้วมีหน้าที่ดูแลไม่ให้ไฟป่าเกิด แบบนี้อาจจะดีกว่า คือ ถ้าเขาได้เผาช่วงที่แล้งจัด มันจะแป๊บเดียวเท่านั้นในการเผา ใช้เวลาไม่นาน ไม่ยืดเยื้อ”

(จากข้อมูลตรวจจับจุดสะสมความร้อนโดยสัญญาณดาวเทียมในระบบ Modis ของ Gisda พบว่า จุดสะสมความร้อนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปีนี้ มีเพียง 1.16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาจากภาคการเกษตร โดย 96 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากไฟป่า)

และต่อคำถามที่ว่า จริงหรือไม่ที่การเผาเพื่อให้เห็ดถอบ หรือเห็ดเผาะขึ้น พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ มองว่า ที่ผ่านมามีการเผาป่าตั้งไม่รู้เท่าไร แต่เห็ดถอบก็ขึ้นเป็นบางแห่งเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นทุกพื้นที่ที่เผา โดยส่วนตัวเขา เขาจึงไม่ค่อยเชื่อว่าการเผาป่าจะทำให้เกิดเห็ดถอบ แต่ก็ควรจะมีการรณรงค์ให้คนบริโภคเห็ดถอบแต่พอดี ไม่ต้องถึงขั้นทำเป็นเห็ดถอบกระป๋องหรือต้มแช่แข็งกินทั้งปี ขอให้กินตามฤดูกาลและเอาแค่พอดี 

บันทึกส่วนหนึ่งหมอกควันและไฟป่า จ.เเม่ฮ่องสอน
โดย สร้อยเเก้ว คำมาลา ทีมTheNorthองศาเหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ