100 นาทีของนาทีที่ 500 ของรายการ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย สดใสมีสีสัน เมื่อ 5 นักการเมืองหน้าใหม่มาดวลไมค์ แลกหมัด โชว์นโยบาย สนุกสนาน ไอเดียจากการบอกเล่านโยบายของ พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ พรรคพลังประชารัฐ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคเพื่อไทย เตช เตชะพัฒน์สิริ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และ คริส โปตระนันทน์พรรคอนาคตใหม่ น่าสนใจแตกต่างกัน และที่สำคัญ ช่วงตอบคำถามจากประชาชน — คนรุ่นใหม่ที่อยู่ต่างพื้นที่กับเขา สดผ่านทีมข่าวไทยพีบีเอสมาจาก ศูนย์หาดใหญ่ และส่งคำถามแดนไกลมาจากน่าน
ไม่ต้องเล่าซ้ำว่า นักการเมืองรุ่นใหม่ ตอบอะไร (เพราะคลิกดูจากคลิปนี่ได้อยู่แล้วhttps://www.youtube.com/watch?v=mVXsJukoiuY ) แต่อยากเล่าเบื้องหลังหรือที่มาเพิ่มเติมว่า “ทำไมตัวแทนคนรุ่นใหม่ต้องตั้งคำถามกันอย่างนี้ ?!” ….
คำถามจาก น้ำนิ่ง – อภิศักดิ์ ทัศนี’ กลุ่ม Beach for life
“การเมืองรอบนี้ มีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ก้าวสู่สนามการเมือง แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งเพื่อการแข่งขัน มากกว่าสร้างการมีสำนึกร่วมของพลเมือง มีคนจำนวนมากอยู่ในระบบการศึกษาแบบที่เป็นและมีคนจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษา อยากถามพรรคการเมืองว่ามองเห็นปรากฎการณ์คนรุ่นใหม่นี้อย่างไร ? และมีแนวคิดอะไร ในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและสร้างพลเมืองตื่นรู้ได้”
หลังฟังคำตอบจากนักการเมืองแล้ว น้ำนิ่งบอกว่า ก็มีคนที่ตีโจทย์ตอบโดนใจน้ำนิ่งอยู่บ้าง อย่างไรก็แล้วแต่ การมีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงใดใด เป็นได้ทั้งในระบบการเมือง และรูปแบบอื่น
ทำไมต้องถามกันแบบนี้ ? กลุ่ม Beach for life คือกลุ่มเยาวชนใน จ.สงขลาที่รวมตัวกันจากความรู้สึกรักชายหาด และลงมือลงแรงหาวิธีจัดการชายหาดอย่างยั่งยืน เพราะเชื่อว่าหากเริ่มลงมือจากตัวเอง กำหนดไปให้ถึงนโยบาย น่าจะยั่งยืนได้ วิธีการคือทำอย่างใช้ความรู้ จัดการอย่างมีฐานข้อมูล ตั้งแต่ปี 2555 น้ำนิ่งและเพื่อนศึกษาธรรมชาติของชายหาด และเกาะติดปัญหาการกัดเซาะชายหาด …จากการเรียนรู้ชายหาด น้ำนิ่งได้เรียนรู้ว่าตัวเองเกิดสำนึกพลเมืองนอกตำรา
“ สิ่งที่ผมเรียนรู้คือ เรื่องของความเป็นพลเมืองที่เติบโตจากการลงมือทำ ไปเรียนรู้จากเรื่องจริง ชีวิตจริง สถานการณ์จริง นี่คือสิ่งที่เราได้มาโดยตลอดและมันเป็นพื้นฐานของการเติบโตในชีวิตเราด้วย และเราคิดว่าเพื่อนๆ ที่ร่วมทาง ร่วมทำงานก็เติบโตในมิตินี้เช่นเดียวกัน เราเข้าใจเรื่องสิทธิ์มากขึ้น เราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น เราเคารพกฎหมาย เคารพกติกาที่อยู่ร่วมกัน เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ พวกเรามีสงขลาฟอรั่มเป็นพี่เลี้ยง โดยเอาประเด็นที่เราสนใจมาเป็นตัวเล่นกับเรา สิ่งที่ผมเติบโตอีกอย่างคือ ผมคิดว่าผมชัดในองค์ความรู้เรื่องชายหาดมากในระดับหนึ่ง ระดับที่เราสามารถที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุยหรือเสนอแนะในทางวิชาการในเชิงนโยบายได้ ซึ่งนี่ก็เป็นผลพวงจากการที่เราลงมือทำ เรารู้ในเรื่องนี้จริงๆ และเกิดการคุยกับเพื่อนๆ ว่าควรไปทิศทางไหน นี่คือสิ่งที่เราได้”
อีกคนที่ร่วมตั้งคำถามนักการเมืองในเวที 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทยอีกคนคือ วิศรุต เหล็มหมาด นักศึกษานิติศาสตร์ มอ.หาดใหญ่
”ผมเป็นนักศึกษาเเละเป็นกลุ่มนักกฎหมายอาสา (law long beach)ได้ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆที่มีปัญหาเช่น เรื่องปัญหาชุมชนชายฝั่ง พื้นที่ทำกิน หรือการที้วิถีชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างต่างๆของรัฐ ซึ่งไม่ได้รับการเเก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อาสาจะเข้าไปบริหารประเทศมีเเนวทางที่จะขับเคลื่อนเเละเเก้ปัญหานี้อย่างไร”
อีกคำถามจากภาคเหนือคือ น้องดรีม ชัยวัฒน์ ธรรมไชย เยาวชนตำบลปงสนุก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ขณะนี้กำลังศึกษา คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
คำถามของดรีมคือ .
“จากประสบการณ์ของผมเคยร่วมทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหลายลักษณะ. จึงเห็นความสำคัญของการสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนเพื่อนำกลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง. แต่ผมเห็นว่าโอกาสและพื้นที่ลักษณะนี้ในต่างจังหวัดมีไม่มากนัก คำถามผมคือ นักการเมืองรุ่นใหม่อย่างพี่ๆ จะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมให้เกิดรูปธรรมที่ทำให้เยาวชนมีโอกาสและมีบทบาทในพื้นที่ชุมชนของตัวเองได้อย่างไร ?
และนี่คือคำตอบจากพี่ๆ นักการเมือง – https://www.youtube.com/watch?v=D1Bg8usU2Zs
ทำไมต้องถามกันแบบนี้ ? “สำหรับประสบการณ์ของดรีมการมีบทบาทในชุมชนของดรีมเริ่มสนใจกิจกรรม ตั้งแต่ ป.6 ด้วยวิธีทำโครงการ ทำกิจกรรมในชุมชนของตัวเอง ร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง และพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลงไปด้วย กิจกรรมที่ดรีมทำ เช่น ยุวชนประชาธิปไตย รัฐสภา สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลกลางเวียง เยาวชนนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม เยาวชนต้นแบบแทนคุณแผ่นดิน ริเริ่มโครงการขยะทองคำ เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ร่วมกับมูลนิธิวัดโป่งคำ อำเภอสันติสุข มูลนิธิสยามกัมมาจล และยังฝึกผลิตสื่อเป็นนักข่าวพลเมือง กับไทยพีบีเอส
“ที่อยากถามคำถามนี้ดรีมว่า มันน่าจะเกี่ยวกับการศึกษานอกห้องเรียน และการสร้างพลเมืองแต่ละพื้นที่ครับ เพราะปัจจุบันนี้จะเห็นว่าเน้นการศึกษาในห้องเรียนมากเกินไปครับ ด้านการสร้างพลเมืองดรีมว่าสำคัญ และที่ดรีมเจอกับตัวเองคือ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล โครงการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชน จ.น่าน และ กิจกรรมนักข่าวพลเมือง ทำให้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ ชุมชน สังคม เช่น ทักษะในการพูด การสื่อสาร ซึ่งทักษะเหล่านี้ในโรงเรียนก็มีจริง แต่อยากจะให้มีพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่บ้าง จากกิจกรรมที่ผ่านมามันสามารถที่จะนำมาใช้ถึงทุกวันนี้ได้เหมือนกัน และอยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ว่า อยากให้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่สำหรับเขาบ้าง และตลอดการทำงานของผู้ใหญ่ในบางครั้งก็กีดกั้นเด็กจนเกินไป และถ้าเรามีการสร้างเครือข่ายในระดับชุมชน สังคม มันอาจจะส่งผลดีหลายๆอย่าง อยากจะให้เขาเห็นความสำคัญกับเด็กและเยาวชนครับ”
นอกจากคำถามหน้าจอ ทีมเรา ยังได้คุยกับน้องอีกหลายคน และมีคำถามคมคิดอีกมากมาย
เราแชตคุยกับ กอล์ฟ พชร คำชำนาญ — เรารู้จักกอล์ฟ ในฐานะนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาสาสิทธิ มอส.คลุกวงในอยู่ที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
“ถ้ากอล์ฟจะตั้งคำถามกับนักการเมืองรุ่นใหม่ถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์สังคมที่กอล์ฟอยู่ในอนาคต กอล์ฟจะถามว่าไง ? “เราถาม
“อยากถามว่าคิดอย่างไรถ้าในอนาคตข้างหน้า คนรากหญ้าจะขึ้นมามีบทบาทในการกำหนดทิศทางประเทศได้เท่านักการเมืองและคนรวย มั้งครับ มองถึงสังคมที่เหลื่อมล้ำอยู่ทุกวันนี้ แล้วคิดว่าอยากในสังคมในอุดมคติเป็นสังคมที่คนจนกำหนดอนาคตตัวเองได้”
“แล้วถ้าถามในเชิงนโยบายล่ะ ว่านักการเมืองจะออกนโยบายหรือสร้างรูปธรรมอย่างที่กอล์ฟว่าได้อย่างไร” เราแชตถาม
“คืออย่างเด็กในพื้นที่ห่างไกลอะพี่ บนดอย หรือสามจังหวัดอย่างเนี้ย งบมันดูไปไม่ได้ถึงนะ ถ้าถามก็คือ มีนโบายอะไรเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้เข้าถึงเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาหรือไม่ ต้องเป็นนโยบายที่ทำให้เข้าถึงได้จริงๆ นะพี่ ไม่ใช่แค่เอาเงินไปให้ มันคือพวกหลักสูตรด้วย แบบบางที่มันไม่มีโรงเรียน โรงเรียนโดนยุบเพราะไม่มีเด็กเรียน งบเลยไม่ไป แต่ไปกระจุกในเมืองอันนี้คือคำถามนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยยังเรียน”
“แบบเด็กบางคนคือแค่สัญชาติยังไม่มี พูดไทยก็ไม่ได้ แล้วจะให้เข้าถึงการศึกษายังไง ถ้าการศึกษามันไม่เข้าไปหาเขา”
ทำไมถึงคิดว่าตรงนี่สำคัญ เห็นไรที่ไหนมา – เราถามอีก
“ตอนนั้นผมพาชาวบ้านไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางลำพูน คัดค้านร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ แล้วทีนี้มีพี่คนนึงมาถามเรา ว่ามาทำอะไรกัน ผมก็ตอบไปว่า ชาวบ้านมายื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ เพราะได้รับผลกระทบ เค้าพูดลอยๆ ว่า พวกพม่าล่ะสิ ตอนนั้นคือก็โกรธมาก แต่คือเค้าเดินไปอย่างเร็ว เลยไม่ได้เถียง แต่รู้สึกว่า ทำไมยังมี attitude แบบนี้อยู่ คือตอนนั้นชาวบ้านเราใส่เสื้อกะเหรี่ยงกันเกือบหมดครับ”
“แล้วเหมือนเราได้ไปโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่ามาด้วย (โรงเรียนการศึกษาทางเลือกที่บ้านสบลาน จ.เชียงใหม่) ได้ตามๆ พวกมติครม เขตวัฒนธรรมพิเศษ 3 สิงหาคม 53 ที่คุ้มครองชาวกะเหรี่ยง บอกชัดว่าการศึกษาต้องจัดให้เหมาะสมกับคนกะเหรี่ยงด้วย เขามอบหมายให้กระทรวงศึกษาไปจัดการ ปรากฏว่าทุกวันนี้เด็กต้องเข้าไปเรียนในตัวอำเภอซะส่วนใหญ่ ลองคุยกับบางคนเค้าก็โดนบุลลี่ คือมันผลักให้เด็กๆไม่อยากไปโรงเรียนด้วย ผมเคยไปที่โรงเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง โรงเรียนของเด็กไทยใหญ่ที่ 100% ไม่มีสัญชาติ เด็กทุกคนมีประสบการณ์โดนบุลลี่ในโรงเรียน แล้วก็ประสบปัญหาว่าเรียนไม่ทันเพื่อน คือแค่ภาษาไทยก็ต้องมาเริ่มเรียนใหม่แล้ว มันเลยไม่ทัน
คือถ้าจะสร้างเด็กรุ่นใหม่ การศึกษามันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำคัญ ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเดียว อย่างน้อยคือเด็กเหล่านี้จะได้รับการยอมรับ ว่าผ่านระดับการศึกษาควรมีนโยบายที่ให้เข้าถึงการศึกษาให้ได้ แล้วไม่ใช่เข้าไปเจอระบบแย่ๆ คิดว่าควรเป็นระบบที่สอดคล้องกับเขาครับ ยกตัวอย่าง เช่น โรงเรียนทางเลือกอย่างโจ๊ะหรือไร่ส้มที่เป็นการเรียนการสอนที่เข้ากับเด็กๆ ก็ควรจะได้รับงบประมาณจากส่วนกลาง ไม่ใช่อ้างแต่ว่า มันต้องจัดให้เหมาะสมกับคนส่วนใหญ่ คนหมู่มาก”
ดังนั้นถ้ากอล์ฟจะสกัดเป็นคำถามล่ะ ถามว่าอะไร ?
“เนื่องจากระบบการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนในไทยยังไม่เหมาะสมต่อนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ท่านคิดเห็นอย่างไรหากจะมีการเปิดสถานศึกษานอกระบบสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะ โดยใช้งบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน” นี่คือคำถามจากกอล์ฟ
หมายเหตุ สนใจดูความคิดกอล์ฟเพิ่มเติม— คลิกดูรายละเอียด เมื่อครั้งกอล์ฟไปร่วมรายการ ชวนเปลี่ยน Let s change https://program.thaipbs.or.th/LetsChange/episodes/53785
อีกคนที่เราอยากคุยด้วยอีกคนคือ ณัฐ วีระวรรณ์ ประธานชมรม Chiangmai Maker Club กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คิดค้นเรื่องปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยี เราแชตคุยกับน้องแลกเปลี่ยนไปเดียต่อการเลือกตั้งครั้งนี้.
“ส่วนตัวผมเอง เป็นพวกนิสัย micro manage น่ะครับ เลยไม่ค่อยได้คาดหวังอะไรเชิงนโยบายนัก แต่สำหรับมุมนักการเมืองเราก็ดูนะครับว่านโยบายเป็นยังไง ผมคิดว่า การเมือง หรือนโยบาย มันเป็น top-down process แต่คงยังต้องมี และทำหน้าที่ของมัน ผมเชื่อใน bottom-up มากกว่า หมายถึงสิ่งที่มองเห็น และเริ่มได้จากตัวเรา… หรือเรามีส่วนร่วม หรือการเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างได้เลยและผมก็เชื่อมั่นว่ามันเกิดขึ้นได้ หรือเราทำภายใต้แนวคิดได้”
แต่ถ้าเราจะลองถามเพื่อทดสอบวิสัยทัศน์นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่เข้่าสู่สนามเลือกตั้งนี้ว่าเขามีวิธีการหรือแนวทางอย่างไรให้ตอบโจทย์หรือแก้โจทย์ที่น้องว่า. น่าจะถามว่าอะไรดีครับ เราแชตถาม
“ถ้าถามผม อยากถามเกี่ยวกับนโยบาย Thailand 4.0 ของเดิมเนี่ยแหละครับว่า เราไปถึงนั้นรึยัง ไปได้มั้ย แล้วองค์ประกอบ (Ecosystem) ที่จะไปให้ถึงจุดนั้น จะต้องมีอะไรบ้าง คำตอบที่ผมคาดว่าต้องมีการพูดถึงแบบมี Systematic ว่าจะมีกระบวนการยังไงที่เอื้อต่อการสร้าง Ecosystem นั้น ที่จะสนับสนุน Thailand 4.0 หรือ Startup ขึ้นมาได้อย่างไรครับ”
เสียดายที่เราไม่ได้โยนโจทย์นี้ให้นักการเมืองรุ่นใหม่ตอบ …แต่ถ้าพรรคไหนอยากมาตอบก็ได้นะ แชตมาได้ หรือติดตามสิ่งที่น้อง ณัฐ ทำได้ ในคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=5Kk9wGqEmYo
อีกคนที่เราได้แลกเปลี่ยน และเวียนหัว ฉุกคิดกับคำตอบของน้อง 5555 คือ นลธวัช มะชัยจากกลุ่มลานยิ้ม ปัจจุบัน เรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เราถามถึงคำว่า “คนรุ่นใหม่”
“สำหรับผมคำว่าคนรุ่นใหม่มันมีปัญหาในตัวมันอยู่ อาจต้องดูที่ “ใหม่” ในความหมายไหน บางพรรคการเมืองหน้าใหม่แต่ทีมนโยบายเรื่องคนรุ่นใหม่ไม่ได้ใหม่เลย แบบว่าหน้าใหม่แต่ไม่รุ่นใหม่ และถ้าเราคิดว่าคนรุ่นใหม่คือคนหนุ่มสาว อันนี้ผมว่าอันตรายในทางนโยบาย เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้คือคนหนุ่มสาวในบางพรรคนี่ความคิดเก่าแบบการเมืองแบบเก่าก็เยอะ แต่ถ้ารุ่นใหม่ในฐานะ ที่ยืน ที่ในการเติบโต อันนี้น่าสนใจ เพราะยากมากที่คนรุ่นผมจะโตได้ในแบบที่อยากโตในยุคนี้อันนี้เป็นความกังวลมากๆของผม”
“สำหรับคนรุ่นผม คนที่เกิดปี 38,39 เป็นต้นมา ไม่เคยเลือกตั้งและไม่อินกับเหลืองแดงเพราะโตไม่ทันตอนเขาทะเลาะกันเพิ่งจะเข้า ม.1 แต่ได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่มาเต็มๆ แต่ความอินมันต่อไม่ค่อยติด โตแล้วอยู่ในยุคพลเอกประยุทธ์เลย น่าจะช่วง ม.5 เป็นต้นมา ถ้าอยู่มหาลัยตอนนี้ (ปี 1-5)
“แต่ถ้าถามถึงนโยบายที่อยากได้ รุ่นผมหลากหลายมากเลย ไม่สามารถครอบคลุมได้ในนโยบายเดียวหยิบย่อยไปหมด แต่ก็ผูกอยู่กับเรื่อง อาชีพ (ที่เป็น start up) การเดินทาง การกลับไปทำงานที่บ้านได้หลายคนอยากกลับบ้าน แต่ไม่รู้จะกลับไปทำอะไรดี หนี้ กยศ ก็เยอะเลยต้องวิจัยเรื่องพวกนี้มาออกนโยบาย ด้วยความที่ระบบการศึกษามันลอยแพคนทิ้งทุกปีหลังเรียนจบ สิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรที่บ้านจึงสำคัญมากๆหลายคนที่กลับบ้านไม่ได้ ไม่พร้อม ยังต้องเดินต่อ ก็จะเป็นเรื่องการรองรับทางเศรษฐกิจแล้วทีนี้ผมคิดถึงเรื่องปากท้องเป็นหลักนะพี่ ส่วนตัวผมเองคิดว่าถ้าท้องอิ่ม โครงสร้างทางสังคมจะเปลี่ยนต้องมีความมั่นคงทางอาหารมันจะขยายต่อไปได้เยอะเลยนะผมว่า ทั้งทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา ฯ ที่พูดเพื่อจะเลี่ยงว่าออกนโยบายสำหรับใครนะพี่ (รุ่นใหม่ รุ่นเก่า) เพราะถ้าพูดถึงคนหนุ่มสาว การเตรียมตัวรับสังคมผู้สูงอายุของไทยก็สำคัญครับ”
—ได้แต่ตอบรับน้องว่า “ครับ”… แล้วพี่ก็สตันท์ไปนั่งคิดต่อ
ฟังวิธีคิดของน้องๆ แล้ว แม้ไม่ได้ก้าวเข้าสู่ระบบการเมือง แต่เราก็คิดว่ามีหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยวิธีคิด และวิธีทำกับสังคมนี้หลายรูปแบบ ซึ่งขอบคุณอย่างยิ่งที่แบ่งปันความคิดได้เราได้เรียนรู้ และคาดหวังให้นักการเมืองหนุ่มสาวและทุกวัยที่จะลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ได้เรียนรู้เหมือนกับเรา